14 ส.ค. 2021 เวลา 09:16 • กีฬา
ประโยชน์ 10 ประการของการเล่นสตรีทฟุตบอล
การเล่นสตรีทฟุตบอล (Street Football) หรืออาจเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่าฟุตบอลข้างถนนนั้นแม้ไม่มีรายงานอย่างแน่ชัดว่าเกิดขึ้นมาเมื่อใด แต่หากได้ลองพิจารณาศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของกีฬาฟุตบอลในปัจจุบันก็น่าจะเชื่อได้ว่า ”กิจกรรม” ที่บรรพบุรุษร่วมโลกของเรานั้นได้ ”คิดค้น” และ”ริเริ่ม” คือลักษณะ และวิธีการส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดที่พวกเราคนยุคปัจจุบันเรียกมันว่า “สตรีทฟุตบอล” นั่นเอง
แม้ว่าจะยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ว่า “กีฬาฟุตบอล” ที่เป็นกีฬายอดนิยมของมวลมนุษยชาติในปัจจุบันนั้นถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศใดแต่จากหลักฐานที่ปรากฏตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในประเทศจีนช่วงสมัยจักรพรรดิ์ เซิงติ (Emperor Cneng Ti) หรือช่วง 32 ปีก่อนคริสตกาล ก็มีการเล่นกีฬาที่คล้ายกับฟุตบอลซึ่งเรียกว่า”ซือ-ซู” (Tsu-Chu) ซึ่งหมายถึงการเตะลูกหนังด้วยเท้า หรือจะเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ซูเลอ” (Soule) ในประเทศฝรั่งเศส หรือการละเล่นที่เรียกว่า “จิโอโค เดล คาซิโอ” (Gioco Del Calcio) ในประเทศอิตาลี ฯลฯ นั้นต่างก็มีลักษณะการเล่นที่คล้ายคลึงกับกีฬาฟุตบอลในปัจจุบันจนอาจเรียกได้ว่าเป็น Ancient Football (ฟุตบอลโบราณ) ที่ยังไม่มีกติกา ข้อกำหนดที่เป็นรูปเป็นร่าง และมีโครงสร้างเหมือนอย่างฟุตบอลสมัยใหม่ (Modern Football) ในทุกวันนี้
จากความเชื่อมโยงข้างต้นนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ “สตรีทฟุตบอล” กับ “ฟุตบอล” ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และจากความสำคัญดังกล่าวทำให้ผมได้ใช้เวลาในการคิด และวิเคราะห์ในเนื้อหาของ “สตรีทฟุตบอล” ซึ่งผมเองพบว่า “สตรีทฟุตบอล” นั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมาก และสามารถที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนศักยภาพการเล่นฟุตบอลได้ถึง 10 ประการ ดังนี้
1. ใช้จำนวนผู้เล่นที่น้อยกว่าฟุตบอลปกติ ทำให้ลดข้อจำกัดในการฝึกซ้อมหรือการเล่น ซึ่งหากเป็นการเล่นฟุตบอลเต็มรูปแบบนั้นอาจจะต้องรอให้มีผู้เล่นครบ 11 คนทั้ง 2 ทีม
2. สามารถเล่นได้ทุกสถานที่ และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นลานหน้าบ้าน, ใต้สะพาน, ถนนแคบๆ ในซอย ฯลฯ ต่างก็สามารถใช้เป็นพื้นที่ในการเล่นสตรีทฟุตบอลได้ทั้งหมด
3. เนื่องจากขนาดสนามที่จำกัด จึงช่วยให้ผู้เล่นพัฒนาเรื่อง “การตัดสินใจ” ได้เป็นอย่างมากทั้งในสถานการณ์ที่มีลูกฟุตบอลหรือไม่มีลูกฟุตบอล รวมถึงสถานการณ์ของการเปลี่ยนจากรุกเป็นรับหรือรับเป็นรุกอีกด้วย โดยในบางรายงานกล่าวว่า ในการเล่นสตรีทฟุตบอลเพียง 10 นาทีนั้นอาจทำให้ผู้เล่นต้องใช้การตัดสินใจในการเคลื่อนที่ใน 3 สถานการณ์ถึง 1,000 ครั้งเลยทีเดียว
4. ไม่มีการกำหนดตำแหน่งการเล่นตายตัว จึงทำให้การเล่นสตรีทฟุตบอล นั้นจึงเปรียบเสมือนห้องทดลองให้กับผู้เล่นในการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตนเองว่ามีความเหมาะสมในการเล่นตำแหน่งใดในการแข่งขันฟุตบอลจริง
5. สามารถทดลองทักษะการเล่นใหม่ที่ตัวเองคิดขึ้นหรือได้ดูจากผู้เล่นคนอื่นๆทางโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต โดยความผิดพลาดของการเล่นจะเป็นบทเรียนที่ดีให้กับผู้เล่นคนนั้นได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป
6. สามารถใช้เป็นกิจกรรมในการรักษาสภาพร่างกายในช่วงพักได้เป็นอย่างดี โดยที่อัตราความหนักของชีพจรในการเล่นสตรีทฟุตบอลนั้นจะอยู่ระหว่าง 50-70% ของชีพจรสูงสุดของนักกีฬาคนนั้น
7. สามารถใช้เป็นกิจกรรมนันทนาการที่มีเป้าหมายเพื่อการผ่อนคลายทางจิตใจภายหลังจากการทำงานหนักมาตลอดทั้งฤดูกาล ทั้งนี้เนื่องจากการเล่นสตรีทฟุตบอลนั้นไม่มีกติกา และไม่มีข้อกำหนดของการเล่น ดังนั้นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน การได้หัวเราะ และเล่นอย่างมีความสุขจึงช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกผ่อนคลาย และได้ฟื้นฟูสภาพจิตใจได้เป็นอย่างดี
8. ช่วยพัฒนาด้านสังคมเนื่องจากการเล่นสตรีทฟุตบอลนั้นทำให้ได้พบกับคู่แข่งขันที่อาจจะเก่งกว่าหรืออาจจะอ่อนกว่าเรา ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้เล่นได้คิดเพื่อเตรียมตัวรับมือ และได้เลือกวิธีการในการเผชิญหน้ากับผู้เล่นในแบบต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตไม่เพียงแต่ในสนามเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิตจริงได้ด้วย นอกนั้นการเล่นสตรีทฟุตบอลยังอาจทำให้เราได้พบกับมิตรภาพที่แปลกใหม่ออกไปจากผู้เล่นที่หลากหลาย รวมถึงเราอาจได้เห็นถึงแก่นแท้พฤติกรรมของใครหลายคนที่จะแสดงออกมาในขณะที่เล่น ฟุตบอลร่วมกัน
9. การเล่นสตรีทฟุตบอลนั้นเปรียบเสมือนบ้านของความคิดสร้างสรรค์ (Home of Creativity) ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากฟุตบอลในปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบ และวิธีการตามทฤษฎี ทั้งนี้หากได้ลองพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเมื่อพูดถึงทีมชาติบราซิลหรือทีมชาติอาร์เจนตินาในอดีตกับปัจจุบันนั้นก็จะพบว่า “ความสวยงาม” อันเป็นเอกลักษณ์ทางฟุตบอลของทั้ง 2 ชาตินั้นลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณการเล่นสตรีทฟุตบอลด้วยเช่นเดียวกัน โดยนักฟุตบอลเยาวชนของทั้ง 2 ประเทศต่างก็เข้าสู่ระบบอะคาเดมี่มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจมองได้ว่า “ผู้ฝึกสอน” ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการ “จำกัด” และเป็น “อุปสรรค” ต่อการพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่นด้วยเช่นเดียวกัน
10. เหมาะสำหรับการใช้เป็นการบ้านในกีฬาฟุตบอล เนื่องจากการเล่นสตรีทฟุตบอลนั้น จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการสัมผัสบอลที่มากขึ้นซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้เรียนจะได้สัมผัสบอลเฉลี่ยน้อยกว่า 1 นาที ซึ่งนั่นหมายความว่าทุกๆ 60 วินาทีผู้เล่นจะได้สัมผัสบอลซึ่งจะแตกต่างไปจากการเล่นฟุตบอลสนามใหญ่ที่โดยเฉลี่ยตลอด 90 นาทีฟุตบอลจะอยู่ที่ผู้เล่นคนละไม่ถึง 1 นาที
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเล่นสตรีทฟุตบอลจะมีคุณประโยชน์เพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะแทนที่ฟุตบอลในปัจจุบันได้เพราะทั้ง 2 อย่างนี้เป็นส่วนที่แตกต่างกัน โดยที่แม้ว่านักฟุตบอลที่เก่งในการเล่นประเภทสตรีทฟุตบอลก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จ และเล่นได้ดีในการแข่งขันฟุตบอล 11 คนตามกติกาสากล ในทางตรงกันข้ามนักฟุตบอลที่เก่งในการแข่งขันฟุตบอลปกติก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อลงไปเล่นในแบบสตรีทฟุตบอลแล้วจะประสบความสำเร็จด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การดึงประโยชน์ของสตรีทฟุตบอลมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองในการเล่นฟุตบอลปกติให้มากที่สุดหรือเรียกได้ว่าเป็นส่วนเสริมที่สำคัญโดยเฉพาะนักฟุตบอลในระดับเยาวชนที่จำเป็นต้องค้นหาตัวเอง และจำเป็นต้องฝึกเสริมให้มากกว่าที่เรียนรู้จากการฝึกซ้อมปกติ
โฆษณา