14 ส.ค. 2021 เวลา 09:08 • ประวัติศาสตร์
133 ปี ปริศนา ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์’ กับหลักฐานใหม่ ‘DNA’ ที่จะชี้ว่าใครคือฆาตกรต่อเนื่องที่ทั่วโลกตามหา
***คำเตือน เนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
2
เวลา 03.40 นาฬิกา ของวันที่ 31 สิงหาคม 1888 ความมืดมิดยังปกคลุมทั่วเขตไวท์ชาเปล (Whitechapel) ย่านคนจนที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
1
ชายคนหนึ่งเร้นกายอยู่ในความมืด และหายตัวไปราวกับเงาที่ไม่อาจจับต้อง เลือดจากบาดแผลที่ถูกเชือดโดยมีดขนาด 12 นิ้ว ไหลซึมอยู่บนถนน ร่างที่ไร้วิญญาณของเหยื่อรายแรกยังคงอุ่น เธอคือ ‘แมรี แอนน์ นิโคลส์’ (Mary Ann Nichols) หญิงขายบริการผู้โชคร้าย และจุดเริ่มต้นตำนานฆาตกรต่อเนื่องแห่งไวท์ชาเปลที่ตำรวจไม่อาจปิดคดีได้มาจนถึงปัจจุบัน
2
นี่คือปริศนาของฆาตกรที่คนทั่วโลกจับตามากว่า 133 ปี ‘แจ็ค เดอะ ริปเปอร์’ เขาสังหารหญิงขายบริการอย่างโหดเหี้ยมไปถึง 5 ศพ แต่หลายคนเชื่อว่ามีเหยื่อมากกว่านั้น และอาจมากถึง 11 ศพตามจำนวนแฟ้มคดีของตำรวจนครบาลของกรุงลอนดอน (London’s Metropolitan Police Service) ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 1888 - 13 กุมภาพันธ์ 1891
ภาพยนตร์เรื่อง Jack The Ripper (1959)
// เหยื่อทั้ง5
เธอทั้ง 5 คน คือเหยื่อที่สังเวยชีวิตให้กับแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ และได้รับการยืนยันจากตำรวจว่าเป็นฝีมือของฆาตกรคนเดียวกัน โดยพวกเขาเรียกเธอทั้ง 5 คนว่า ‘The Canonical Five’ ส่วนหญิงสาวรายอื่น ๆ ที่เสียชีวิตในไวท์ชาเปล ทางตำรวจยังไม่ยืนยันแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์
3
เนื่องจากมีหลายแนวคิดและทฤษฎีจากคนที่ตามหาตัวฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ บางคนบอกว่าเหยื่อของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์มีแค่ 5 ราย บางคนบอกว่ามีมากถึง 11 ราย บางคนบอกว่ามีมากกว่านั้น หรือแม้กระทั่งบางคนเชื่อว่าแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่เป็นฆาตกรหลายคนที่ลงมือฆ่าเหยื่อของตัวเอง เพราะเมื่อพิจารณาจากสภาพศพอย่างละเอียดพบว่า วิธีการฆ่าและวิธีการเลือกเหยื่อนั้นไม่เหมือนกันและไม่มีแบบแผน เว้นแต่ว่าพวกเธอล้วนเป็นโสเภณี กระนั้น การตายของหญิงสาวทั้ง 5 ก็มีส่วนที่ถูกใช้เป็นหลักฐาน และเป็นข้อสันนิษฐานในการเฟ้นหาแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ตัวจริง
11
ภาพยนตร์เรื่อง Jack The Ripper (1959)
เหยื่อรายแรกถูกพบเป็นศพช่วงเช้ามืดของวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 1888 เธอคือหญิงขายบริการอายุ 43 ปี นามว่า แมรี แอนน์ นิโคลส์ (Mary Ann Nichols) เธอเดินอยู่บนถนนไวท์ชาเปลท่ามกลางความมืดคนเดียว และมีพยานพบเห็นเธอ 1 ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะพบเป็นศพ
1
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือร่างไร้วิญญาณนั้นยังคงอุ่น หมายความว่าคนร้ายเพิ่งจะลงมือได้ไม่นาน โดยสภาพศพของแมรีมีร่องรอยถูกปาดที่คอเป็นแผลลึก 2 รอย และลึกถึงขนาดที่คอของเธอเกือบจะหลุดออกมา นอกจากนี้เธอยังถูกแทงที่บริเวณช่องคลอด 2 ครั้ง และที่บริเวณท้อง ซึ่งการกระทำอันโหดร้ายนี้เกิดขึ้นภายใต้ความเงียบสงัด ไม่มีใครได้ยินเสียงร้องของหญิงสาว และแน่นอนว่าไม่มีใครได้ยินแม้กระทั่งเสียงฝีเท้าของฆาตกร ในจุดนี้ ตำรวจคาดการณ์ว่าแมรีอาจถูกบีบคอจนเสียชีวิต ก่อนที่ฆาตกรจะลงมือเชือดคอของเธอทีหลัง
5
หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ ในวันเสาร์ที่ 8 กันยายน 1888 ศพของเหยื่อรายที่สองก็ปรากฏขึ้นที่ถนนเส้นเดิม เธอมีชื่อว่า ‘แอนนี แชปแมน’ (Annie Chapman) ร่างของหญิงสาววัย 28 ปีคนนี้ถูกพบในเวลาประมาณ 6 โมงเช้า โดยสภาพศพถูกกระทำรุนแรงขึ้นกว่าศพแรก เพราะนอกจากจะมีรอยปาดลึกที่คอจำนวน 2 รอยแล้ว หน้าท้องของเธอยังถูกเปิดออก ลำไส้เล็กถูกนำมากองทิ้งไว้ที่บริเวณไหล่ขวา มดลูก ช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะถูกชำแหละออกจากร่าง
6
ความโหดเหี้ยมของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์เริ่มเป็นที่กล่าวขานกันมากขึ้น แต่หญิงขายบริการตามถนนไวท์ชาเปลยังคงทำงานของพวกเธอต่อไป โดยวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 1888 เอลิซาเบธ สไตรด์ (Elizabeth Stride) ในวัย 45 ปี ถูกพบเป็นศพราวตี 1 คอของเธอมีรอยถูกปาดเป็นแผลยาว 6 นิ้ว แต่ไม่มีร่องรอยของการถูกชำแหละเหมือนเช่นเหยื่อรายอื่น ๆ ซึ่งคาดเดาว่าระหว่างที่คนร้ายกำลังจะลงมือ อาจมีคนมาพบเห็นเข้าเสียก่อน ทำให้ฆาตกรถูกขัดจังหวะและต้องหนีไป นอกจากนี้ตำรวจยังเผยอีกว่า สาเหตุการตายของเอลิซาเบธมาจากการเสียเลือดมาก ซึ่งต่างจากเหยื่อสองรายแรกที่คาดว่าถูกบีบคอจนตายก่อนจะใช้มีดปาดคอทีหลัง
6
แต่ไม่ถึง 1 ชั่วโมงหลังจากนั้น ศพของแคทเธอรีน เอดโดวส์ (Catherine Eddowes) เหยื่อในวัย 46 ปีก็ถูกพบในสภาพที่น่าสลดกว่าทุกศพที่ผ่านมา เพราะเธอไม่เพียงถูกปาดคอ แต่หน้าท้องของเธอยังถูกกรีดออก ลำไส้ถูกควักออกมาวางบนหัวไหล่ด้านขวา แถมบางส่วนยังถูกตัดออกมาวางทิ้งไว้ข้างลำตัว หน้าของเธอถูกกรีดจนเสียโฉม จมูกถูกตัด แก้มถูกเฉือนเป็นรูปสามเหลี่ยมชี้ขึ้นไปที่ดวงตา นอกจากนี้ ไตและกระเพาะปัสสาวะของเธอยังถูกตัดออกมา การกระทำนี้เองที่ทำให้ตำรวจสันนิษฐานได้ว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์น่าจะเป็นคนที่มีความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ เพราะเขาทราบตำแหน่งของอวัยวะ และตัดมันออกภายใต้ความมืดได้อย่างคล่องแคล่ว
8
ภาพยนตร์เรื่อง Jack The Ripper (1959)
10.45 นาฬิกาของวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 1888 ราวกับเป็นการทิ้งทวนของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ เหยื่อรายสุดท้ายของเขาถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด ถึงขนาดที่ตำรวจไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าผู้หญิงรายนี้เป็นใคร แต่ต้องอาศัยพยานวัตถุที่อยู่ในที่เกิดเหตุแทน ซึ่งคาดว่าเธอคือ ‘แมรี เจน เคลลี’ (Mary Jane Kelly) หญิงสาววัย 25 ปีที่เสียชีวิตอยู่ในห้องพักของตัวเอง
5
แมรีถูกพบในสภาพนอนกางขาอยู่บนเตียง ใบหน้าเละจนไม่อาจระบุได้ว่าเป็นใคร ช่องท้องของเธอถูกเปิดออก คอถูกกรีดลึกถึงกระดูกสันหลัง มดลูก ไต และเต้านมข้างหนึ่งถูกตัดออกมาวางไว้ใกล้ศีรษะ อวัยวะภายในอื่น ๆ ถูกวางไว้ที่เท้า เนื้อบริเวณหน้าท้องและต้นขาถูกวางเอาไว้ที่โต๊ะข้างเตียง ส่วนหัวใจถูกควักออกจากร่างและหายไป
2
จากหลักฐานที่ได้จากศพและที่เกิดเหตุทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีมากมาย ทั้งตำรวจและพลเรือนต่างพยายามระบุตัวแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ให้ได้ แต่ด้วยหลักฐานที่ยังไม่มากพอ ประกอบกับเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 133 ปี ทำให้การตามหาตัวฆาตกรในยุควิกตอเรียนคนนี้ไม่ง่ายเลย
2
ภาพยนตร์เรื่อง Jack The Ripper (1959)
// รู้จักแจ็คเดอะริปเปอร์จากหลักฐานเพียงน้อยนิด
ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ฝั่งตะวันออกของกรุงลอนดอนเป็นพื้นที่ของคนยากจนที่เต็มไปด้วยปัญหาชุมชนแออัด การทะเลาะวิวาท และอาชญากรรม เหล่าหญิงสาวต่างผันตัวมาเป็นโสเภณีให้บริการแขก นั่นทำให้พวกเธอหลายคนติดโรคซิฟิลิส นอกจากนี้ ไวท์ชาเปลยังเป็นเขตที่ผู้อพยพชาวยิวและรัสเซียเดินทางมาตั้งรกราก หลายทฤษฎีจึงมีการคาดคะเนว่าแจ็ค เดอะ ริปเปอร์อาจไม่ใช่ชาวอังกฤษโดยกำเนิด แต่ก็มีคนแย้งว่า หากฆาตกรต่อเนื่องคนนี้พูดอังกฤษได้ไม่ดี เขาน่าจะมีโอกาสถูกจับมากกว่า และไม่น่ารอดมาจนถึงทุกวันนี้
5
ส่วนพฤติกรรมการฆ่าเหยื่อในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในเวลาเช้าตรู่ ทำให้เกิดการคาดเดาว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์น่าจะเป็นคนธรรมดาที่ต้องทำงานในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจเป็นเพียงการตบตาของฆาตกรที่ต้องการทำให้ตำรวจสับสนเท่านั้น
3
อย่างไรก็ตาม วิธีการตัดอวัยวะภายในของเหยื่อทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์อาจเป็นหมอศัลยกรรม หรือเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์เป็นอย่างดี เพราะเขารู้ว่าอวัยวะอะไรอยู่ส่วนไหน และสามารถตัดมันออกมาแม้จะอยู่ในที่มืดได้
2
นอกจากนี้ พยานที่เคยพบเห็นแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ยังบอกว่า เขาเป็นชายที่ไว้หนวดเล็ก ๆ บนใบหน้า แต่จากการที่มีคนพบเห็นฆาตกร และฆาตกรกระทำการสังหารเหยื่อในที่โล่งแจ้งอย่างไม่เกรงว่าจะถูกจับได้ ทำให้บางคนสันนิษฐานต่อว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์น่าจะเป็นคนที่ไม่ได้วางแผนก่อนการฆ่า ทั้งยังฆ่าโดยไม่มีแบบแผน เนื่องจากลักษณะการเลือกเหยื่อของเขาไม่เหมือนกัน บางคนอายุมาก บางคนอายุน้อย บางคนรูปร่างสมส่วน บางคนร่างอวบ บางคนผมสีดำ บางคนผมสีบลอนด์ เป็นต้น
4
แต่สำหรับคนที่คิดว่าทั้ง 5 ศพนั้นเป็นฝีมือของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ พวกเขาได้ให้ความเห็นว่า ที่ศพของแมรี แอนน์ นิโคลส์ และเอลิซาเบธ สไตรด์ ยังไม่ถูกชำแหละเช่นเดียวกับศพที่เหลือ เป็นเพราะฆาตกรถูกขัดจังหวะจึงยังกระทำการไม่สำเร็จ แต่หากเขาทำสำเร็จ ทั้ง 5 ศพจะถือว่าเป็นการฆ่าที่มีแบบแผนเดียวกัน
4
จากหลักฐานทั้งหมดที่ถูกเก็บรวบรวมมากว่า 1 ศตวรรษจึงนำไปสู่ตัวผู้ต้องสงสัยที่มีมากกว่า 31 คน โดยมีตั้งแต่คนในสลัมไปจนถึงเศรษฐี คนยกปลา ศิลปิน แพทย์ ไปจนถึงเจ้านายแห่งราชวงศ์อังกฤษ
12
ภาพยนตร์เรื่อง Jack The Ripper (1959)
// เปิดรายชื่อผู้ต้องสงสัยและหลักฐานชิ้นล่าสุด
เขามีใบหน้าที่อ่อนเยาว์ รูปร่างที่สูงสง่า และฐานันดรศักดิ์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ‘เจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ คริสเตียน เอ็ดเวิร์ด’ (Prince Albert Victor Christian Edward) หลานชายของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย คือหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ คำกล่าวอ้างบางส่วนบอกว่า เจ้าชายเดินทางมาใช้บริการซ่องในเขตไวท์ชาเปล และต้องการปกปิดเรื่องที่เจ้าชายมีความสัมพันธ์กับโสเภณี โดยการตามฆ่าโสเภณีทุกคนที่ทราบเรื่อง แต่กระนั้นก็ไม่มีเครื่องยืนยันว่า เจ้าชายอยู่ในลอนดอนตลอดระยะเวลาที่แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ปรากฏตัว และไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างหญิงสาวแต่ละคนที่เสียชีวิต ทั้งลักษณะภายนอกของเจ้าชายยังอ่อนเยาว์กว่าที่พยานเคยระบุเอาไว้
10
ผู้ต้องสงสัยอีกคนคือจิตรกรชื่อดังระดับโลกนามว่า ‘วอลเตอร์ ซิคเคิร์ต’ (Walter Sickert) เขาถูกกล่าวถึงโดยนักเขียนนามว่า ‘แพทริเซีย คอร์นเวลล์’ (Patricia Cornwell) ซึ่งเธอเป็นผู้ที่มีโอกาสได้สัมผัสกับหลักฐานชั้นต้นของคดีทั้งหมดด้วยตัวเอง และเขียนออกมาเป็นหนังสือเรื่อง ‘Portrait of a Killer: Jack the Ripper, Case Closed’
2
โดยแพทริเซียระบุว่า DNA บนจดหมายที่แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ส่งไปยังตำรวจนั้นตรงกับ DNA ของวอลเตอร์ ทั้งเขายังเดินทางไปวาดภาพสถานที่ในลอนดอน และระบุวันตรงกับช่วงที่เกิดเหตุฆาตกรรมพอดี นอกจากนี้ภาพวาดบางส่วนยังมีลักษณะเหมือนสภาพศพของหญิงสาวที่ถูกฆ่าตาย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่วอลเตอร์ชื่นชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมและแจ็ค เดอะ ริปเปอร์มาก ทำให้หลายคนเชื่อว่าเขาเพียงแค่อยากมีส่วนร่วมโดยการส่งจดหมายไปแกล้งตำรวจเท่านั้น และเขาเองยังมีพยานที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสจากจดหมายที่เขียนตอบกับญาติอีกด้วย
4
สำหรับผู้ต้องสงสัยอีกคน เธอมาพร้อมกับการคาดเดาของนายตำรวจคนหนึ่งที่สืบคดีของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์อยู่ แต่ในเคสนี้คงต้องเรียกว่า ‘จีล เดอะ ริปเปอร์’ เพราะผู้ต้องสงสัยอย่าง ‘แมรี เพียร์ซี’ (Mary Pearcey) นั้นเป็นผู้หญิง โดยจุดเริ่มต้นของทฤษฎีนี้มาจากคดีของแมรี เจน เคลลี ซึ่งมีคนพบเห็นแมรี เจนถึง 2 ครั้งในเวลาหลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า จิล เดอะ ริปเปอร์จะสังหารเธอ และปลอมตัวเป็นแมรี เจนเพื่อหลบหนี นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า แมรี เพียร์ซีมีความรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ เธอจึงสามารถชำแหละอวัยวะภายในออกมาได้อย่างง่ายดาย
10
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพยานหลักฐานที่ไม่เพียงพอ ทำให้ทุกคนยังเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย และเรื่องราวของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ยังคงเป็นกระแสให้ผู้คนกลับไปค้นคว้าเป็นระยะ กระทั่งล่าสุดในปี 2019 หลักฐานชิ้นใหม่อย่าง DNA ที่ได้มาจากผ้าคลุมไหล่ของแคทเธอรีน เอดโดวส์ที่ถูกฆ่าโดยแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ก็นำพาตำรวจไปสู่ผู้ต้องสงสัยคนเดิมอีกครั้ง
2
‘รัสเซล เอ็ดเวิร์ด’ คือนักเขียนผู้ได้รับผ้าคลุมไหล่ของแคทเธอรีน เอดโดวส์มาไว้ในครอบครอง เขาได้ใช้หลักการทางนิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์หลักฐานจากการเก็บคราบเลือดและคราบอสุจิที่ติดอยู่บนผ้าไปตรวจสอบ จนค้นพบว่าคราบเลือดนั้นเป็นของแคทเธอรีน ส่วนคราบอสุจิก็ไปตรงกับ DNA ของลูกหลานชายผู้มีนามว่า ‘อารอน คอสมินสกี’ (Aaron Kosminski) ผู้ต้องสงสัยชาวโปแลนด์ที่เคยถูกจับกุมเมื่อร้อยปีก่อน
9
ในสมัยที่อารอนเป็นช่างตัดผม เขาได้อาศัยอยู่ที่ถนนไวท์ชาเปล และถูกตำรวจเข้าจับกุม ก่อนจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อรักษาอาการป่วยทางจิตในปี 1891 จนกระทั่งในปี 2007 รัสเซลได้รับผ้าคลุมไหล่นั้นมาตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า ผ้าคลุมไหล่ผืนนั้นอยู่ในที่เกิดเหตุจริง นอกจากนี้ผ้าคลุมไหล่ยังอาจได้รับการปนเปื้อนจากใครก็ได้ที่จะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยมาตลอด 133 ปี ดังนั้นหลักฐานจาก DNA ชิ้นล่าสุดก็ยังไม่อาจไขปริศนาได้ว่า แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ตัวจริงคือใคร?
5
แต่ไม่ว่าโฉมหน้าของฆาตกรต่อเนื่องคนนี้จะถูกเปิดเผยหรือไม่ ความสูญเสียที่เกิดขึ้น และความโหดเหี้ยมบนหน้าประวัติศาสตร์ของอังกฤษจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกัน ตำนานของเขาจะเป็นเครื่องย้ำเตือนสังคมให้ตระหนักได้ถึงความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกัน และพยายามหาทางป้องกันไม่ให้เกิดแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ขึ้นอีก ไม่ว่าจะที่มุมใดของโลกก็ตาม
2
ภาพยนตร์เรื่อง Jack The Ripper (1959)
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
#ThePeople #History #JackTheRipper
โฆษณา