31 ส.ค. 2021 เวลา 07:00 • กีฬา
NBA 103 - ทำความรู้จักกับคำศัพท์ในวงการ NBA (ตอนที่ 11) - ศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับ NBA Free Agency ตอนที่ 3
สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ
ในบทความนี้ยังอยู่กับคำศัพท์ที่เกี่ยวกับ NBA Free Agency นะครับ ซึ่งนับเป็นตอนที่ 3 แล้ว
หลังจากที่ตอนที่แล้วได้ทำการอธิบายเกี่ยวกับ "ข้อยกเว้น" ที่ทำให้แต่ละทีมสามารถทำการเซ็นสัญญาผู้เล่นทั้งๆ ที่มีเพดานค่าเหนื่อยเกินเส้นไปแล้วได้ รวมแล้วทั้งหมด 10 จาก 11 วิธีที่สามารถใช้ได้
ตอนนี้จะทำการกล่าวถึงวิธีสุดท้าย เนื่องจากเป็นวิธีที่ถือว่ายุ่งยากมากที่สุด จึงต้องขอแยกมาไว้ต่างหากครับ
11. Traded Player Exception
ก่อนหน้านี้ทาง Page เคยทำบทความเกี่ยวกับข้อจำกัดในการ Trade เอาไว้แล้ว สามารถติดตามได้จากด้านล่างนี้ครับ ซึ่งจะเอามากล่าวถึงก่อน และใส่รายละเอียดให้มากขึ้นนั่นเอง
ในส่วนนี้จะขอกล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Exception เท่านั้นนะครับ
หลักการของ Exception นี้ คือ หลังจากที่ปล่อยผู้เล่นไปให้กับทีมอื่นผ่านการ Trade แล้ว ทีมนั้นจะมีระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ Trade ออกไปอย่างเป็นทางการ (ไม่จำเป็นต้องเป็นฤดูกาลเดียวกัน) ที่จะทำการเซ็นสัญญาผู้เล่นผ่านการ Trade เข้าสู่ทีม โดยจะมีเงื่อนไขคร่าวๆ ดังนี้
-มูลค่าที่จะได้ Exception จากวิธีนี้ จะได้เท่ากับมูลค่าสัญญา "ปีปัจจุบัน" ของสัญญาฉบับปัจจุบันของผู้เล่นคนดังกล่าวเท่านั้น รวมกับส่วนต่างได้อีกไม่เกินหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐฯ
ตัวอย่าง เช่น หากทีม A ส่งผู้เล่นที่มีมูลค่าสัญญา 10 ล้านเหรียญให้ไปกับทีม B ผ่านการ Trade แต่ได้กลับมาแค่สิทธิ์ Draft หรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้เล่นด้วยกัน ทีม A จะสามารถใช้สิทธิ์ Exception ในการเติมผู้เล่นได้สูงสุด 10.1 ล้านเหรียญด้วยกัน โดยมีเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่ผู้เล่นได้ถูก Trade ออกจากทีม
-การเติมผู้เล่นที่จะสามารถใช้เงื่อนไขนี้ได้ จะต้องทำผ่านการ Trade เท่านั้น ไม่สามารถทำผ่านการเซ็นสัญญา Free Agents ได้
-การเติมผู้เล่นให้เข้าเงื่อนไข ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียว และไม่จำเป็นที่จะต้องได้มาจากทีมคู่กรณีในการ Trade ตอนแรกเท่านั้น ขอแค่มูลค่าสัญญารวมกันต้องไม่เกินจากที่ได้รับสิทธิ์เป็นพอ
วิธีการได้มาซึ่ง Exception อันนี้ จะมีความเกี่ยวข้องกับกรณีหลักๆ ดังต่อไปนี้
11.1 การ Trade ที่ทีมคู่กรณีทำการส่งผู้เล่นตอบแทนด้วยในเวลาเดียวกัน (Simultaneous Trades)
A. หากทีมไหนที่หลังจากการ Trade สัมฤทธิ์ผลแล้ว ทีมนั้นยังคงมีเพดานค่าเหนื่อยไม่เกินเส้นภาษี (แต่เกินเส้นเพดานค่าเหนื่อย) จะถือว่าทีมนั้นเข้าข่ายเป็น Non-Taxpaying Team
-หากการ Trade เข้าข่ายเงื่อนไขนี้ ทั้งสองทีมจะสามารถตกลงทำการแลกผู้เล่นกันได้ โดยมูลค่าของสัญญารวมกันจะต้องไม่ห่างกันเกินที่ทางลีกกำหนดจาก 1 ใน 2 เงื่อนไขต่อไปนี้ (ขึ้นกับว่าเงื่อนไขไหนมีมูลค่ามากกว่า)
A-1 มูลค่าสัญญาแตกต่างกันไม่เกิน 175% ของสัญญาค่าเหนื่อยปัจจุบันของผู้เล่นที่จะทำการ Trade รวมเงินพิเศษอีกไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ หรือ มูลค่าสัญญาของผู้เล่นที่จะทำการ Trade รวมเงินพิเศษไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขึ้นกับว่าเงื่อนไขไหนมีมูลค่าน้อยกว่า)
A-2 มูลค่าสัญญาแตกต่างกันไม่เกิน 125% ของสัญญาค่าเหนื่อยปัจจุบันของผู้เล่นที่จะทำการ Trade รวมเงินพิเศษไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ
B. หากทีมไหนที่หลังจากการ Trade สัมฤทธิ์ผลแล้ว ทีมนั้นกลายเป็นว่ามีเพดานค่าเหนื่อยเกินเส้นภาษี จะถือว่าทีมนั้นเข้าข่ายเป็น Taxpaying Team การ Trade จะยังคงสามารถทำได้ แต่มูลค่าของสัญญาจะต้องแตกต่างกันไม่เกิน 125% เหมือนกับเงื่อนไข A-2 เท่านั้น
สาเหตุที่ข้อ A ต้องมีเงื่อนไข A-2 ขึ้นมา ทั้งที่ดูแล้วมูลค่าสัญญาน่าจะน้อยกว่า A-1 อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากว่าการ Trade นั้น ไม่จำเป็นที่ทีมคู่กรณีทุกทีมจะเป็น Non-Taxpaying Team เหมือนกันทั้งหมด จึงต้องใส่เงื่อนไขนี้เพิ่มเข้ามาเพื่อให้สามารถทำการ Trade กับ Taxpaying Team ได้นั่นเอง
C. สำหรับทีมที่ยังไม่ถึงเพดานค่าเหนื่อย (ค่าเหนื่อยรวมยังไม่เกินเส้นเพดานค่าเหนื่อย) เมื่อทำการ Trade มูลค่าสัญญาจะยังคงสามารถเติมผู้เล่นเพิ่มเติมได้ตามจำนวนค่าเหนื่อยที่ยังคงเหลืออยู่ รวมกับเงินพิเศษไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ (เป็นการเพิ่มพิเศษจากเงื่อนไข A เข้ามาอีก)
แต่ต้องดูทางคู่กรณีด้วยว่าจะสามารถส่งผู้เล่นตามเงื่อนไขนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาตามเงื่อนไข A B C นั้น จะทำการแยกพิจารณาเป็นรายทีม (ทุกทีมที่ทำการ Trade) ไม่ได้เป็นการพิจารณาแค่ทีมใดทีมหนึ่ง ทำให้โดยปกติแล้ว เงื่อนไขนี้มักจะพ่วงกับการ Trade แบบ Non-Simultaneous ไปด้วย
การ Trade ในข้อ 11.1 ปกติแล้วจะไม่สามารถเกิดสิทธิ์ Traded Player Exception ได้ เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนผู้เล่นระหว่างทีมแล้วนั่นเอง เพียงแต่ในบางกรณี ทีมจะยังคงสามารถใช้ Exception อื่นๆ ประกอบในการ Trade ได้ ตามที่เงื่อนไขระบุไว้ในแต่ละวิธี
11.2 การ Trade ที่ทีมคู่กรณีไม่ได้ทำการส่งผู้เล่นตอบแทนด้วยในเวลาเดียวกัน (Non-Simultaneous Trades)
การ Trade แบบนี้จะทำให้ทีมที่ทำการ Trade ผู้เล่นออกสามารถได้รับ Player Traded Exception และสิทธิ์ที่ได้ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นบทความ
การ Trade แต่ละครั้งจะเกิดขึ้นได้ทั้ง 11.1 และ 11.2 พร้อมกัน เพียงแต่ทั้งสองเงื่อนไขนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันกับคู่กรณีเดิมได้
ทำให้ในบาง Trade อาจจะต้องมีทีมมากกว่าสองทีมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ทีม A ทำการ Trade กับทีม B และเกิดเงื่อนไขตามข้อ 11.1 แล้ว จะไม่สามารถใช้เงื่อนไขของข้อ 11.2 กับทีม B ได้อีก แต่ยังสามารถใช้เงื่อนไขของข้อ 11.2 กับทีม C ได้ (ปกติแล้วมักจะมีการเสนอสิทธิ์อื่นๆ พ่วงไปด้วย เพื่อจูงใจให้ทีม C เข้ามามีส่วนร่วมในการ Trade มากขึ้น)
ทำให้ในบางครั้ง อาจจะมีถึง 3 หรือ 4 บางทีก็อาจจะพ่วงไปถึง 5 ทีมได้ ในกรณีที่มีการ Trade แบบ Lot ใหญ่เพื่อที่จะทำการรื้อสร้างทีมใหม่ หรือมีการปล่อยผู้เล่นสัญญาราคาแพงออกจากทีม แต่ทีมคู่กรณีที่ต้องการกลับไม่สามารถเสนอของตอบแทนที่เข้าข่ายได้
ยกเว้นแต่ว่าการ Trade นั้นจะแบ่งย่อยออกไปอีก ซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบจากทางลีกก่อนถึงจะทำได้ เช่น ทีม A ส่งผู้เล่น 3 คนให้ทีม B โดยฝ่ายหลังส่งกลับมาแค่ผู้เล่นคนเดียว โดยสองคนแรก เป็นการแลกกับผู้เล่นทีม B ตามเงื่อนไข 11.1 ส่วนผู้เล่นคนที่ 3 เป็นการ Trade ตามเงื่อนไข 11.2 เป็นต้น อย่างไรเสียสุดท้ายแล้วการรับรองจากทางลีกก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
11.3 กรณี Sign-and-Trade (การเซ็นสัญญาใหม่เพื่อทำการ Trade ให้เข้ากับเงื่อนไขสัญญาตามข้อ 11.1) ปกติแล้วจะไม่ถูกนำมาคำนวณใน Exceptions ในส่วนนี้
ยกเว้นแต่ ถ้าทีมที่ใช้สิทธิ์ Bird หรือ Early-Bird ในการ Sign-and-Trade และสัญญาในปีแรกมีมูลค่ามากกว่า 120% ของค่าเหนื่อยในสัญญาฉบับก่อนหน้านี้ ทีมนั้นจะได้ Trade Exceptions เท่ากับค่าจ้างครึ่งหนึ่งของปีแรกในสัญญา Sign-and-Trade หรือเท่ากับค่าจ้างของสัญญาฉบับก่อนหน้า (ขึ้นกับว่าอันไหนมีมูลค่ามากกว่า)
11.4 กรณี Extension-and-Trade (การขยายสัญญาใหม่เพื่อทำการ Trade ให้เข้ากับเงื่อนไขสัญญาตามข้อ 11.1 หรือ 11.2 ซึ่งการขยายสัญญาจะทำได้ก็ต่อเมื่อเข้าสู่ปีสุดท้ายของสัญญาฉบับปัจจุบันแล้วเท่านั้น)
ถ้าค่าจ้างสัญญาในปีแรกของการขยายสัญญา ไม่ใช่สัญญาแบบการันตีเต็มจำนวน (การันตีค่าจ้างแค่บางส่วน) ถ้าหากมีการ Trade เกิดขึ้น ทีมที่เป็นสังกัดเดิม จะได้ Trade Exception เท่ากับจำนวนค่าจ้างที่มีการการันตีเท่านั้น (ได้แค่บางส่วน ไม่ใช่ได้ทั้งหมดของสัญญาในปีนั้น)
11.5 กรณีที่ทำการ Trade ผู้เล่นหลังจากที่วันสุดท้ายของฤดูกาลปกติประจำปีนั้นๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว (ปกติจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเลย Trade Deadline แต่ในบางกรณีจะทำให้ทีมยังสามารถทำการ Trade ได้ผ่านทาง Trade Exception ถึงแม้จะเลยกำหนดไปแล้วก็ตาม)
หากสัญญาดังกล่าวไม่ใช่สัญญาการันตีเต็มจำนวน สิทธิ์ Exception จะได้ตามค่าเหนื่อยการันตีของผู้เล่นคนนั้นในฤดูกาลถัดไปแทนฤดูกาลปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี Case แบบนี้เราจะไม่ได้เห็นบ่อยนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะจากการ Trade ในลักษณะนี้ ซึ่งค่อนข้างจะวุุ่นวาย ส่วนมากจะทำการ Trade ถึงแค่ข้อ 11.4 มากกว่า
จะเห็นได้ว่าแค่ข้อยกเว้นข้อเดียว แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกแขนงออกไปค่อนข้างมาก จึงต้องทำการขอแยกบทความออกมาต่างหากนั่นเองครับ เพียงเท่านี้ข้อยกเว้นต่างๆ ก็ได้นำเสนอจนครบหมดแล้ว
เพียงแต่ว่าบางเงื่อนไขจะมีความเกี่ยวข้องกับประเภทของการเซ็นสัญญาผู้เล่นด้วย ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับสัญญาหรือ Contracts ถ้ามีโอกาสจะหยิบมานำเสนอกันต่อไปในภายหลังครับ
ขอให้สนุกกับการเตรียมตัวของแต่ละทีมสู่ฤดูกาล 2021/22 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมนะครับ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนไปเสียก่อน)
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าครับ
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
โฆษณา