15 ส.ค. 2021 เวลา 03:54 • ท่องเที่ยว
ตามรอย 10 สถานที่สำคัญในทีเซอร์ โอลิมปิก ปารีส 2024 แบบช็อตต่อช็อต
5
นาทีนี้ไม่มีเมืองไหนฮอตฮิตเท่าปารีสอีกแล้ว เพราะหลังจากทีเซอร์ “โอลิมปิก ปารีส 2024” ถูกปล่อยออกมาในค่ำคืนวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.2021 คำค้นหาเกี่ยวกับสถานที่สำคัญใน “ปารีส” เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสก็ขึ้นท็อปเสิร์ชรัวๆ กับมุมมองใหม่ในสถานที่ประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่นักท่องเที่ยวหลายคนอาจไม่เคยนึกถึง
3
ในทีเซอร์เปิดมาด้วยเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise ที่ได้รับการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่และบรรเลงโดยวงออร์เคสตราแห่งชาติ พร้อมกับฉายภาพภายในคอนเสิร์ตฮอลล์ เมซง เดอ ลา คราดิโอ (Maison de la Radio) ในขณะที่นักดนตรีหญิงโชว์เป่าฟลุตเดี่ยวบนหลังคาของสตาดเดอฟร็องส์ (Stade de France) ที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับพิธีเปิดและปิดโอลิมปิก ปารีส 2024 รวมทั้งการแข่งขันกรีฑาและรักบี้ รวมไปถึงนักดนตรีกำลังเล่น Marimba (คล้ายระนาด) ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และวงเครื่องสายบรรเลงเพลงบริเวณสวนสาธารณะ สะแกวร์ ดู แวร์ กาล็องต์ (Square du Vert-Galant)
2
จากนั้นตัดภาพมาที่นักกีฬาจักรยาน BMX หญิงระดับแชมป์เปียน เอสเตล มาฌาล (Estelle Majal) ที่ปั่นจักรยานบนหลังคาอาคารสำคัญในปารีส เช่น กร็องปาแล (Grand Palais) ซึ่งจะใช้เป็นสนามแข่งขันเทควันโดและฟันดาบ โรงละคร โล เปคร่า การ์นิเย่ (L’Opera Garnier) และพิพิธภัณฑ์มิวเซ่ย์ ดอร์กเซย์ (Musée d’Orsay) เพื่อฉายภาพมุมสูงของมหานครพร้อมกับบทเพลงชื่อ Prologue ประพันธ์โดยนักดนตรีชื่อดัง Woodkid
2
Sarakadee Lite ขอเปิด ทัวร์ทิพย์ ชวน “ดรุณี คำสุข” นักเขียนผู้อาศัยอยู่ในเขต 18 ของกรุงปารีส และคลุกคลีกับซอกหลืบในปารีสกว่า 14 ปี มาเป็นไกด์พิเศษพาเราไปตามรอย 10 สถานที่สำคัญที่ปรากฏในทีเซอร์โอลิมปิก ปารีส 2024 บอกเลยว่าแต่ละที่ไกด์เราจัดเต็มด้วยแง่มุมประวัติศาสตร์ที่ทำให้อยากไปปารีสเดี๋ยวนี้ ตอนนี้กันเลย
2
01 Les toits de Paris
1
หลังคาสังกะสี เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของปารีส
การนำเสนอภาพจากบนหลังคาของสถานที่ต่าง ๆ นั้น ไม่ได้เพียงแค่ถ่ายทอดความสวยงามของเมืองและสถาปัตยกรรมจากภาพมุมสูงเท่านั้น แต่หลังคาของอาคารในกรุงปารีสมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและทางเทศบาลนครปารีสพยายามผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
3
ความเป็นมาของหลังคาแห่งความภาคภูมิใจของชาวปารีเซียงที่เรียกว่า เลส์ ตัวส์ เดอ ปาครี (Les toits de Paris) เริ่มขึ้นเมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 19 ในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoléon III) ผู้ต้องการสร้างปารีสให้เป็นเมืองที่สวยที่สุดในยุโรปจึงได้ให้มีการปรับปรุงและสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ โดยมี บารง โอสมานน์ (Baron Haussmann/Georges Eugène Haussmann) เป็นผู้รับผิดชอบในการวางผังเมืองและสร้างเมืองใหม่ เช่น มีการสร้างและขยายถนน ปรับตัวเมืองให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพิ่มเติมพื้นที่สีเขียวให้ปารีส และช่วงนี้นี่เองที่มีอาคารที่เรียกว่า สไตล์โอสมานน์ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วเมือง
2
สำหรับหลังคาของอาคารหรือตึกส่วนใหญ่ โอสมานน์เลือกใช้แผ่นสังกะสีเป็นวัสดุหลักเพราะมีน้ำหนักเบาและสะดวกต่อการติดตั้งและปรับปรุง แผ่นสังกะสียังเป็นวัสดุที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นจึงใช้เป็นสัญลักษณ์แทน “ปารีสสมัยใหม่” ตามแบบฉบับของโอสมานน์ ด้วยคุณสมบัติของสังกะสีที่มีน้ำหนักเบาช่วยให้สถาปนิกไม่จำเป็นต้องสร้างคานจำนวนมากเพื่อรองรับหลังคาทำให้เกิดพื้นที่ใช้สอยของอาคารมากขึ้นนี่จึงเป็นที่มาของการสร้างห้องเล็ก ๆ ใต้หลังคาที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ช้อมป์ เดอ บอนน์ (chambres de bonnes) ส่วนสีที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของหลังคาแห่งปารีสคือสีเทา เนื่องจากเป็นการผสมผสานของสีเทาสว่างของสังกะสีกับสีเทาเข้มของกระดานชนวนนั่นเอง
1
เมื่อปี ค.ศ.2014 เทศบาลนครปารีสและชาวปารีเซียงได้พร้อมใจกันเสนอต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อให้ภูมิปัญญาของช่างมุงหลังคาด้วยสังกะสีนี้เป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมแต่ยังไม่ได้รับเลือก หลังจากนั้นมีการเสนอใหม่อีกครั้งใน ค.ศ.2020 และยังไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดิม อย่างไรก็ตามชาวปารีเซียงยังไม่ถอดใจและจะยื่นใหม่อีกครั้งใน ค.ศ.2022
1
พิกัด: บริเวณหลังคาของตึกและอาคารส่วนใหญ่ในกรุงปารีส
02 L’Opera Garnier
1
สถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3
1
L’Opera Garnier (โล เปคร่า การ์นิเย่) เป็นโรงละครแห่งชาติของฝรั่งเศส สถานที่ยอดนิยมสำหรับการแสดงโอเปรา อาคารนี้สร้างเมื่อ ค.ศ.1862 ในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoléon III) และเป็นผลงานการออกแบบของ ชาร์ลส์ การ์นิเย่ (Charles Garnier) ในสไตล์ที่เรียกว่าแบบนโปเลียนที่ 3 ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสไตล์นีโอบาโรก (Néo-Baroque) กับสไตลส์โบซาร์ (Beaux-Arts) แต่เพราะด้วยสงครามและการล่มสลายของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สองทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้าและลากยาวต่อเนื่อง จนเมื่อค.ศ. 1875 จึงได้มีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่โดยประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในสมัยนั้นคือ จอมพล มัค มาฮง (Le maréchal de Mac-Mahon) ในขณะที่การ์นิเย่ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารได้เข้ามาชมการแสดงในวันนั้นด้วย ทว่าเขาต้องซื้อบัตรที่นั่งชั้นสองด้วยตัวเอง
พิกัด: Place de l’Opéra 75009 Paris
การเดินทาง: Métroสาย 3,7 และ 8 สถานี Opéra หรือ RER A สถานี Auber
03 Le Grand Palais
โดมกระจกอลังการ สถานที่ประจำจัดแฟชั่นโชว์ของ Chanel
Le Grand Palais (เลอ กร็อง ปาแล) เป็นหนึ่งในอาคารที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับการจัดงานเวิลด์เอกซ์โปเมื่อ ค.ศ.1900 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ในครั้งนั้นสยามได้นำสินค้ามาร่วมจัดแสดงภายใต้บรรยากาศของการจัดพาวิลเลียนแบบศาลาไทยด้วย ส่วนในโอลิมปิก ปารีส 2024 สถานที่นี้จะใช้เป็นสนามแข่งขันเทควันโดและฟันดาบ
ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมคือหลังคารูปโดมกระจก โครงสร้างหลักประกอบด้วย หิน เหล็ก และแก้ว ในปีค.ศ. 2000 Le Grand Palais ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส พื้นที่การใช้สอยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็นเหมือนวิหารลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาวถึง 240 เมตร ใช้สำหรับจัดงานสำคัญระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ การแข่งม้า งานแสดงมหกรรมสินค้า และแฟชั่นโชว์ (โดยเฉพาะแบรนด์ Chanel) ส่วนที่ 2 เป็นแกลเลอรีใช้สำหรับแสดงนิทรรศการศิลปะของจิตรกรชื่อดัง อาทิ ปิกัสโซ่ (Picasso) ฮอปเปอร์ (Hopper) โกแก็ง (Gauguin) และ โลเทร็ก (Lautrec) เป็นต้น และส่วนสุดท้ายใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ผ่านนิทรรศการและงานศิลปะที่จัดแสดงถาวร
1
พิกัด: 3 Avenue du Général Eisenhower 75008 Paris
การเดินทาง: Métro 1 และ 13สถานี Champs-Élysées – Clemenceau
04 Palais-Royal
อดีตแมนชันของขุนนางชั้นสูงและที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ.1624 คาร์ดินัลริเชลิเยอ (Cardinal de Richelieu) หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 (Louis XIII) ซื้อโอเต็ล เดอ ครอมบุยเย่ต์ (Hôtel de Rambouillet) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เพื่อจะนำมาปรับปรุงให้เป็นแมนชั่นหรูส่วนตัวโดยมอบหมายให้ ฌาค เลอแมร์คซิเย่ร์ (Jacques Lemercier) เป็นผู้ออกแบบปรับปรุง
1
ต่อมา คาร์ดินัลริเชลิเยอ มีความประสงค์จะให้แมนชันของเขาเป็นที่ประทับของกษัตริย์ฝรั่งเศส ตั้งแต่ ค.ศ. 1643 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์อยู่ และพระมารดา คือ พระนางอานน์ โดทริช (Anne d’Autriche) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยจึงได้ประทับอยู่บริเวณปีกด้านทิศตะวันตกของที่นี่ จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1661 จึงได้ย้ายไปประทับที่พระราชวังลูฟวร์ก่อนที่จะย้ายไปประทับถาวรที่พระราชวังแวร์ซายในปี ค.ศ. 1677
ปัจจุบัน Palais-Royal (ปาเล่ส์ ครัวยัล) เป็นแหล่งรวมร้านค้า แกลเลอรี ร้านอาหารและคาเฟ่ อีกทั้งยังมีสวนที่ร่มรื่นเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ปิกนิกของชาวปารีเซียงโดยเฉพาะในวันที่อากาศดี ที่นี่เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป
พิกัด: Place Colette 75001 Paris ใกล้พิพิธภัณฑ์ลูฟร์
การเดินทาง: Métro 1 และ 7 สถานี PalaisRoyal – Musée du Louvre
05 Musée d’Orsay
จากพระราชวังสู่สถานีรถไฟและพิพิธภัณฑ์อิมเพรสชันนิสต์
1
Musée d’Orsay (มิวเซ่ย์ ดอร์กเซย์) เดิมเป็นพระราชวังของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoléon Bonaparte) และพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นภายใต้การควบคุมของฌาค ชาร์ลส์ โบน์นาร์ด (Jacques-Charles Bonnard) เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) ภายในบริเวณพระราชวังยังเป็นสถานที่ตั้งของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติและสำนักงานบัญชีและทรัพย์สินแห่งชาติ ต่อมาในช่วงสงครามคอมมูนปารีสในช่วงปลายคริสตวรรษที่ 19 พระราชวังเกิดไฟไหม้และถูกทำลายในปีค.ศ.1871
3
ในช่วงปีค.ศ.1898-1900 บริษัทเดินรถรางปาครี-ออร์คเลองส์ (La Compagnie du chemin de fer de Paris à Orléans) ได้ปรับปรุงพระราชวังเดิมให้เป็นสถานีรถไฟเพื่อใช้เดินทางไป-กลับระหว่างเมืองปารีสกับเมืองออร์เลอ็องเพื่อรองรับการจัดงานเวิล์ดเอกซ์โปในปีค.ศ.1900 ต่อมาในสมัยของประธานาธิบดี วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง (Valéry Giscard d’Estaing) ได้ให้ วิคตอร์ ลาครูส์ (Victor Laloux) เป็นผู้ออกแบบปรับปรุงสถานีรถไฟแห่งนี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ (L’artimpressionniste) ส่วนนาฬิกาที่ปรากฏในทีเซอร์นั้นตั้งอยู่ชั้นบนสุดของอาคาร
1
พิกัด: 1 rue de la Légion d’Honneur75007 Paris
การเดินทาง: Métro 12 สถานี Solférino หรือ RER C สถานี Musée d’Orsay
06 Le Panthéon
สถานที่เก็บศพของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อชาติ
Le Panthéon (เลอ ปองเตอง) เป็นวิหารแห่งชาติของฝรั่งเศสที่สร้างในสไตล์นีโอคลาสสิกและออกแบบโดย ฌาค แฌร์คแมงต์ ซุฟโฟลต์ (Jacques-Germain Soufflot) เพื่อตอบโจทย์แนวคิดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่ต้องการเชิดชูราชวงศ์ในฐานะแซ็งต์ เฌินวิแยร์ฟ (Saint-Geneviève) หรือนักบุญผู้ปกป้องคุ้มครองปารีส
1
ต่อมาในปีค.ศ. 1791 หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่แห่งนี้กลายเป็นสถานที่สำหรับเก็บศพของรัฐบุรุษหรือผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาติ อาทิ นักคิด นักเขียน นักการเมือง นักการทหาร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย บริเวณห้องใต้ดินของวิหารนี้มีศพของบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น โวลแตร์(Voltaire) ฌ็อง ฌาค ครุสโซ่ (Jean-Jacques Rousseau) เอมิล โซล่า (Émile Zola) อะเล็กซร็องด์ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) วิคตอร์ ฮูโก้ (Victor Hugo) ปิแอร์ มาครี กูครี่ (Pierre et Marie Curie) และล่าสุดคือ ซิมอน เวยล์ (Simone Veil)
1
พิกัด: Place de Pathéon75005 Paris
การเดินทาง: RER B สถานี Luxembourg
1
07 L’Arc de Triomphe de l’étoile
1
ประตูชัยและวงเวียนปราบเซียนของผู้ขับขี่
L’Arc de Triomphe de l’étoile (อาร์ก เดอ ทรียงฟ์ เดอ เลตวล) เป็นประตูชัยรูปโค้งที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoléon Bonaparte) ทรงให้สร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะของทหารฝรั่งเศสในยุทธการเอาสเทอร์ลิทซ์ (La bataille d’Austerlitz) โดยพระองค์ได้มอบหมายให้ ฌ็อง ฟรองซัวร์ แตแครส ชาลแกร็ง (Jean-François-Thérèse Chalgrin) และ ฌ็อง อาร์คโนล์ เครย์มงด์ (Jean-Arnaud Reymond) เป็นสถาปนิกร่วมกันออกแบบในปี ค.ศ. 1806 แต่ทั้งสองคนมีความเห็นไม่ลงรอยกันในที่สุดจึงเหลือเพียง ฌ็อง ฟรองซัวร์ แตแครส ชาลแกร็ง ได้สานต่อโครงการนี้จนเสร็จสิ้น ประตูชัยนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประตูชัยแบบโรมันของจักรพรรดิติตุส (Titus) และเปิดอย่างเป็นทางการในสมัยของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป (Louis-Philippe) ในปีค.ศ.1836
1
ประตูชัยมีความสูง 50 เมตร ยาว 45 เมตร และกว้าง 22 เมตร เป็นสถานที่ฝังศพของทหารนิรนามในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทุก ๆ วันเปลวไฟที่แสดงความระลึกถึงต่อทหารในสงครามจะถูกจุดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ส่วนบนดาดฟ้าเปิดให้ผู้สนใจสามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์ของปารีสได้ซึ่งจะมองเห็นถนนสายใหญ่ที่เรียกว่า อะเวนู (Avenue) ถึง 12 สายมาบรรจบกันเป็นวงกลมที่บริเวณนี้ด้วย
ชาวปารีเซียงถือว่าวงเวียนแห่งนี้เป็นวงเวียนปราบเซียนสำหรับผู้ขับขี่ โดยมีคำกล่าวว่าใครก็ตามที่สามารถขับรถในวงเวียนนี้ได้อย่างปลอดภัยจะสามารถใช้ถนนได้ในทุกสายในปารีส เพราะที่นี่ไม่มีเส้นแบ่งเลนและถือเป็นวงเวียนแห่งการวัดใจและวัดดวงกันเลยทีเดียว
พิกัด: Place Charles de Gaulle 75008 Paris
การเดินทาง: Métro 1,2 และ 6 หรือ RER A สถานี Charles de Gaulle – Étoile
08 La Victoire de Samothrace
ประติมากรรมชิ้นเอกในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
La Victoire de Samothrace (ลา วิกตัวร์ เดอ ซาโมทราสซ์) เป็นรูปปั้นหินอ่อนของหญิงสาวกางปีกเหมือนจะล่องลอยไปในอากาศโดยไม่มีส่วนศีรษะ ค้นพบบริเวณเกาะซาโมเทรซ (Île de Samothrace) ในทะเลเอเฌ่ (La merÉgée) หรือทะเลอีเจียน (Aegean Sea) ในภาษาอังกฤษสันนิษฐานว่ารูปปั้นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นบรรณาการถวายแก่เทพเจ้าบนเกาะซาโมเทรซของประเทศกรีก มีอายุราว 190 ปีก่อนคริสตกาล
พิกัด: พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์บริเวณบันได ดาครู (Escalier Daru) ปีกเดอนง (Denon) ชั้น 1
การเดินทาง: Métro 1 และ 7 สถานี Palais-Royal – Musée du Louvre
09 Stade de France
สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส
Stade de France (สตาดเดอฟร็องส์) สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1995เพื่อรองรับการแข่งขันFIFA World Cup และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.1998 โดยประธานาธิบดี ฌาค ชีรัค (Jacques Chirac) ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสกับทีมชาติสเปน
สตาดเดอฟร็องส์เป็นสนามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงปารีส และสามารถจุผู้ชมได้ถึง 81,300 คน ด้านฝั่งอัฒจันทร์มีหลังคาคลุมแต่บริเวณกลางสนามแข่งขันเปิดโล่งถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยหรือคอนเทมโพรารี(Contemporary) ที่นี่ใช้เป็นสนามแข่งขันฟุตบอล รักบี้ และกรีฑา อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดคอนเสิร์ตและละครเวทีด้วย
พิกัด: 93200 Seine Saint-Denis
การเดินทาง: Métro 13 สถานี Seine Saint-Denis – Porte de Paris, Métro 14 สถานี Saint-Denis Pleyel, RER B สถานี La Pleine- Stade de France หรือ RER D สถานี La Pleine- Stade de France
10 Square du Vert-Galant
พื้นที่สีเขียวดีเด่นทางนิเวศวิทยา
Square du Vert-Galant (สะแกวร์ ดู แวร์ กาล็องต์) สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระเจ้าเฮนรีที่ 4 (Henri IV) และเหล่าบรรดานางสนมของพระองค์ และได้รับการยกย่องให้เป็นพื้นที่สีเขียวดีเด่นในเชิงนิเวศวิทยาเมื่อ ค.ศ. 2007 ที่นี่เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กที่มีต้นไม้และดอกไม้สวยงามแห่งหนึ่งของปารีสด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ตรงส่วนปลายสุดของเกาะซิเต ทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่โรแมนติกและเป็นที่นิยมของคู่รักที่นิยมมาเดินเล่นและพักผ่อนเพื่อชมความสวยงามของเมืองปารีสโดยเฉพาะทิวทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และโรงกษาปณ์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน
พิกัด: 15 Place du Pont Neuf 75001 Paris ส่วนปลายแหลมของเกาะซิเต (Île de la Cité) บริเวณสะพานปงเนิฟ (Pont Neuf) ด้านหลังรูปปั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 4
1
การเดินทาง: Métro 7 สถานี Pont Neuf
นอกจากสถานที่ทั้ง 10 แห่งข้างต้นแล้ว ยังมีแลนด์มาร์กของ ปารีส ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกปรากฏในทีเซอร์ คือ หอไอเฟล (Eiffel Tower) ซึ่งบริเวณสวนสาธารณะบริเวณฐานของหอไอเฟลที่เรียกว่า ช็องเดอมาร์ส (Champ de Mars) จะปรับเป็นสนามชั่วคราวสำหรับแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดในกีฬาโอลิมปิก รวมทั้งจัตุรัสคองคอร์ด ปลัสเดอลากงกอร์ด (Place de la Concorde) ที่มีจุดเด่นคือเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัสจะเป็นสนามสำหรับแข่งขันสเกตบอร์ด เบรกแดนซ์ จักรยาน BMX และบาสเกตบอล 3×3
โฆษณา