15 ส.ค. 2021 เวลา 06:26 • การศึกษา
ในสมัยโบราณ
คำว่า “แพ้” เดิมหมายถึง “ชนะ” ส่วนคำว่า “พ่าย” หมายถึง “แพ้” ในอดีต “แพ้” และ “พ่าย” เป็นคำที่มีความหมายตรงข้ามกัน แต่ในปัจจุบันมีความหมายเดียวกัน บางครั้งใช้ว่า “พ่ายแพ้”
ต่อมาเมื่อภาษาไทยรับเอาคำว่า “ชนะ” เข้ามาใช้ ความหมายของคำว่า “แพ้” (ในอดีต) ที่เคยหมายถึง “ชนะ” จึงกลายเป็นความหมายว่า “แพ้” (ในปัจจุบัย)
คำว่า “ชนะ” เป็นคำที่ภาษาไทยน่าจะรับมาจากภาษาเขมรโบราณ เนื่องจากในภาษาเขมรโบราณมีรูปเขียนเหมือนภาษาไทยปัจจุบันคือ “ชฺนะ” หากแต่ภาษาเขมรปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบการสะกดเป็น “ฌฺนะ” หมายถึง “ชนะ”
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายคำว่า “แพ้” ในสมัยโบราณว่า (ไทยเดิม) ก. ชนะ เช่น อนนเรืองใสงามหนักหนา แพ้พระอาทิตย์ (จารึกสยาม)
คำว่า “แพ้” เป็นคำมรดกใช้อยู่ในภาษาถิ่นไทยในประเทศและนอกประเทศ มีความหมายว่า “ชนะ มีชัย” เหมือนกับสมัยสุโขทัย ตัวอย่างคำว่า “แพ้” ในสมัยสุโขทัย
ตัวอย่างของคำว่า “แพ้” ที่เดิมหมายถึง “ชนะ”
- ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า “...ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนีไป...”
- ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ ว่า “...พระคีวาธาตุเสด็จจากเจดีย์ทองพุ่งขึ้นไปยัง-เห็นดังตะวันสิองอันเรืองใสงามนักหนาแพ้พระอาทิตย์...”
- ในศิลาจารึกหลักที่ ๓ ว่า “...ด้วยกล้าด้วยหาญหาที่แพ้ตนแพ้ท่าน ...”
คำว่า “แพ้” ในภาษาอีสานและภาษาคำเมือง ยังใช้คำว่า “แพ้ ” ในความหมาย “ชนะ มีชัย” ภาคอีสานจะออกเสียงว่า “แพ้” เช่น “บาปบ่แพ้บุญ” แปลว่า บาปไม่ชนะบุญ
ส่วนภาษาคำเมือง ไทยลื้อ ไทยขื่อ ออกเสียงเป็น “แป้” หรือ “แป๊ ” ที่แปลว่า “ชนะ มีชัย” เช่น “บ่าแป๊เปิ้น” แปลว่า “ไม่ชนะเขา” นอกจากนั้น “แป๊” ในคำเมืองยังมีความหมายว่า “ทนไหว ยังไหว” เช่น “แป๊ก่อ มันหนักหนา” แปลว่า ไหวไหม มันหนักนะ
ที่มา
(๑) วิวัฒนาการภาษาไทยและอักษรไทย (ธวัช ปุณโณทก)
(๒) เพจ ร่วมอนุรักษ์ภาษาไทยและวรรณคดีไทย
สามารถติดตาม คําไทย ได้ผ่านช่องทางดังนี้
Facebook : คำไทย (facebook.com/kumthai.th)
Twitter : @kumthai_ (twitter.com/kumthai_)
Blockdit : คำไทย (blockdit.com/kumthail.th)
โฆษณา