20 ส.ค. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
รัฐตามพรลิงค์ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
การศึกษามานุษยวิทยาโบราณคดี ที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ศึกษานั้น มุ่งใช้การสำรวจร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองตามลักษณะและสภาพทางภูมิวัฒนธรรมเพื่อการสร้างประวัติศาสตร์การเมือง (Political History) เกี่ยวกับพัฒนาการของรัฐในดินแดนประเทศไทย (Formation of States)
1
เพราะเรื่องราวของรัฐและอาณาจักรที่เรียกกันอยู่ในประเทศปัจจุบัน แลไม่เห็นโครงสร้างและพัฒนาการ เช่น เรื่องของอาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี และอยุธยา ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลด้านเอกสาร เช่น จารึก ตำนาน พงศาวดาร และคำบอกเล่าที่แลไม่เห็นสภาพทางภูมิวัฒนธรรมของบรรดาบ้านเมืองโบราณ ที่ส่วนใหญ่เพียงอ้างความเป็นเมืองและรัฐมาจากเมืองใดเมืองหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลาง เช่น เมืองสุโขทัย เมืองนครศรีธรรมราช เมืองนครปฐม ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่คิดกันว่าเป็นอาณาจักร (Kingdom) ทั้งสิ้น โดยไม่เห็นโครงสร้างทางพื้นที่กายภาพและโครงสร้างทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
การเน้นเมืองสำคัญ เช่น เมืองนครปฐม เมืองลพบุรี และเมืองสุโขทัยเป็นอาณาจักร ยังเกี่ยวพันกับสมัยเวลาทางวัฒนธรรมอีกด้วย เช่น ศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเมืองนครปฐมคือสมัยทวารวดี เมืองลพบุรีเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมลพบุรี และเมืองสุโขทัยคือตัวแทนของสมัยสุโขทัย เป็นต้น
การศึกษาแหล่งโบราณคดีของบ้านเมืองโบราณทั่วประเทศของอาจารย์ศรีศักรในปัจจุบันนี้ พอเพียงที่จะนำมาตีความให้เห็นถึงพัฒนาการเชิงโครงสร้างทั้งกายภาพ และโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ ของบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นเป็นนครรัฐ (city state) สหพันธรัฐ และอาณาจักรได้พอสมควร ดังเช่นรัฐศรีวิชัยที่ไชยาที่แสดงให้เห็นว่า ไชยาคือนครรัฐหนึ่งในสหพันธรัฐศรีวิชัย ที่มีอาณาบริเวณอยู่รอบอ่าวบ้านดอน ซึ่งประกอบด้วยเมืองอื่นๆ เช่นที่เวียงสระ เขาศรีวิชัย ควนสราญรมย์ และกาญจนดิษฐ์ อาณาบริเวณรอบอ่าวบ้านดอนนี้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นสังคมของคนส่วนใหญ่ในสมัยนั้น คือพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ลงมา มีพุทธศาสนามหายานเป็นศาสนาหลัก
ทั้งนี้นครรัฐร่วมสมัยกับไชยา คือตามพรลิงค์ ที่มีหลักฐานทางภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก รัฐนี้อยู่บนพื้นที่สันทรายชายฝั่งทะเลตั้งแต่อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอปากพนัง ลงมาถึงอำเภอชะอวด ต่อพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระและทะเลสาบสงขลา ที่อยู่ในเขตจังหวัดพัทลุงและสงขลา โดยมีเทือกเขาหลวงที่เริ่มตั้งแต่อำเภอขนอมขนานกับชายฝั่งทะเลไปจนถึงอำเภอควนขนุน ต่อกับทิวเขาบรรทัดที่ผ่านจังหวัดพัทลุงไปต่อกับเทือกเขาสันกาลาคีรีในเขตอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ทิวเขาหลวงของจังหวัดนครศรีธรรมราชและเทือกเขาบรรทัดของจังหวัดพัทลุงและสงขลา คือเทือกเขาสันปันน้ำระหว่างฝั่งทะเลอันดามันทางตะวันตกกับฝั่งอ่าวไทยทางตะวันออก มีช่องเขาที่เป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างบ้านเมืองกับรัฐหลายช่องที่ข้ามคาบสมุทร จากฝั่งทะเลตะวันตกมายังฝั่งทะเลตะวันออก
3
: บ้านเมืองตามแนวสันทรายจากขนอมถึงนครศรีธรรมราช
การสำรวจศึกษาแหล่งโบราณคดีของข้าพเจ้าและคณะพบว่า พื้นที่ตามแนวสันทรายจากอำเภอขนอมลงไปจนถึงอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อันเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ และในช่วงเวลานี้รัฐตามพรลิงค์เปลี่ยนมาเป็นนครศรีธรรมราช
การก่อตัวของชุมชนบ้านและเมืองเกิดขึ้นตามลำน้ำและลำห้วยที่ไหลลงจากเทือกเขาหลวงสู่ที่ลาดลุ่ม ผ่านสันทรายมาออกทะเล และแหล่งที่เป็นชุมชนเมืองใหญ่มักตั้งอยู่บนแนวสันทรายที่ลำน้ำไหลไปออกทะเลซึ่งเป็นอ่าวเล็กๆ หรือ “ลากูน” ที่เรือเดินทะเลเข้ามาจอดได้ อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นเมืองท่านั่นเอง
บ้านเมืองเก่าแก่ในระยะแรกนี้สัมพันธ์กับศาสนสถานทางศาสนาฮินดู พบมากตั้งแต่บริเวณอำเภอท่าศาลาไปจนถึงอำเภอสิชล เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นตามลำน้ำสำคัญที่ไหลลงจากเทือกเขาหลวง ได้แก่ คลองกลาง คลองท่าน้อย คลองท่าทน คลองท่าควาย และคลองท่าเรือรี บริเวณดังกล่าวมีแนวสันทรายทั้งใหม่และเก่าซ้อนกันอยู่ ทำให้การเกิดของชุมชนบ้านเมืองกระจายกันอยู่ตั้งแต่เชิงเขาตามลำน้ำลงมาจนถึงชายฝั่งทะเล บริเวณที่เป็นชุมชนบ้านเมืองในยุคแรกพบในลุ่มน้ำคลองท่าเรือรีและคลองท่าควาย ที่มีปากน้ำออกสู่ทะเลที่อำเภอสิชล ลำน้ำตอนออกทะเลเรียกคลองปากน้ำสิชล มีแหล่งโบราณคดีที่เป็นเมืองสำคัญอยู่ที่บ้านนาขอม อันเป็นบริเวณที่ดอน แวดล้อมไปด้วยพื้นที่ลุ่มทำนาได้
โบราณสถานที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนาและพิธีกรรมของเมืองอยู่บริเวณที่มีกลุ่มเทวาลัย อันประกอบด้วยเนินดินที่พบศาสนสถานหลายแห่ง ปรากฏฐานศิวลึงค์ กรอบธรณีประตู และสระน้ำ ล้วนเป็นเทวาลัยที่สร้างด้วยเครื่องไม้เป็นอาคารโถงแบบง่ายๆ สิ่งที่นำมาพิจารณากำหนดอายุก็คือฐานโยนี ศิวลึงค์ และมุขลึงค์ ที่มีอายุแต่สมัยทวารวดีขึ้นไป ไม่พบโบราณสถานสำคัญทางพุทธศาสนา
3
ลำคลองท่าเรือรีที่ไหลผ่านบ้านนาขอมมีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีเขาจอมทองเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ มีถ้ำซึ่งเป็นศาสนสถานสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นที่ซึ่งผู้คนท้องถิ่นมากราบไหว้กันเป็นประจำ แต่ในการศึกษาของข้าพเจ้าและคณะ เขาจอมทองหรือเขาพลีเมืองเป็นเขาลูกหนึ่งในกลุ่มเขา ๓ ลูกที่บริเวณโดยรอบมีร่องรอยการปรับที่ดินให้เป็นแหล่งชุมชนและพื้นที่ทำนา เมื่อเร็วๆ นี้มีการพบศิวลึงค์ทองคำในถ้ำด้านหลังของเขาจอมทอง จากการที่ชาวบ้านได้ไปขุดหาขี้ค้างคาวและพบกรุหินขนาดเล็ก ๓ กรุ ภายในบรรจุศิวลึงค์ทองคำ ทางกรมศิลปากรได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน นครศรีธรรมราช
1
ศิวลึงค์ทองคำและกรุที่พบในถ้ำนี้มีรูปแบบคล้ายกับที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยฟูนันบริเวณปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ข้าพเจ้าวิเคราะห์และตีความว่าแหล่งศาสนสถานฮินดูทั้งที่บ้านนาขอมและที่เขาจอมทองในลุ่มน้ำคลองท่าเรือรี ที่สามารถออกสู่ทะเลบริเวณปากน้ำอำเภอสิชล คือตำแหน่งบ้านเมืองแรกเริ่มของรัฐหรือแคว้นตามพรลิงค์ ที่มีเส้นทางจากปากน้ำสิชลขึ้นไปตามคลองท่าควาย อันเป็นส่วนหนึ่งของคลองท่าเรือรี (เป็นคลองที่ไหลมารวมกันก่อนไปออกสู่ทะเลที่ปากสิชล) มีต้นน้ำมาจากช่องเขาหลวงไหลไปยังแม่น้ำตาปีอันเป็นบริเวณบ้านเมืองภายใน ช่องเขานี้อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นช่องทางข้ามคาบสมุทรในระยะแรกของรัฐตามพรลิงค์ก็เป็นได้
: นครรัฐเมืองท่าที่เขาคา
กลุ่มบ้านเมืองแห่งที่ ๒ รองจากบริเวณลุ่มน้ำคลองท่าเรือรี คลองท่าควาย ก็คือชุมชนโบราณในลุ่มน้ำคลองท่าน้อยและคลองท่าทน ที่อยู่ต่ำลงจากเขตตำบลคลองท่าน้อย ซึ่งลำน้ำได้แยกมาจากคลองท่าควายบริเวณวัดเขาใหญ่ ผ่านตำบลเขาน้อยและไหลสมทบกับคลองท่าทนบริเวณแนวสันทรายในเขตตำบลกลาย คือเป็นลำน้ำที่ไหลคู่ขนานไปออกทะเลที่วัดเสาเภา (วัดคงคาวดี) ณ บริเวณเขาคา ตำบลเขาคา อำเภอสิชล ซึ่งเป็นเขาเตี้ยๆ มีลักษณะยาวรี กว้างราว ๓๐๐ เมตร ยาวราว ๘๕๐ เมตร ด้านเหนือของภูเขาติดกับลำคลองท่าทน ก่อนที่ลำน้ำจะไหลไปทางตะวันออก ผ่านวัดปากด่านบนแนวสันทรายไปออกทะเลในเขตวัดเสาเภา
บนเขาคามีศาสนสถานฮินดูตั้งอยู่เป็นระยะต่อเนื่องตั้งแต่เชิงเขาไปจนถึงยอดเขา โดยมีทางเดินต่อถึงกันหลายแห่ง คล้ายกับเทวสถานบนเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ แต่ต่างกันตรงที่เขาคาเป็นเทวสถานที่ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ โดยส่วนบนสร้างลักษณะอาคารโถง ไม่มีผนัง หลังคาทำเป็นยอดปราสาท เทวาลัยสำคัญตั้งอยู่ตอนกลาง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในอาคารเทวาลัยแต่ละแห่งมีแท่นศิวลึงค์และฐานตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังพบเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขกที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ศาสนสถานที่เขาคาแห่งนี้คือศูนย์กลางสำคัญทางพิธีกรรมของบ้านเมืองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา โดยมีตัวเมืองตั้งอยู่ ณ บริเวณรอบเขา เห็นได้จากบริเวณสองฝั่งคลองท่าทนและด้านหน้าเขาที่เป็นที่ลาดลุ่มกว้างใหญ่ สามารถทำนาและเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ได้ รวมทั้งมีศาสนสถานฮินดูกระจายอยู่ทั่วไป
ในการสำรวจศึกษาของข้าพเจ้าแต่เริ่มแรกที่เขาคา พบว่าตั้งแต่บริเวณเขาขึ้นไปจนถึงทางทิศเหนือใกล้กับบ้านนาขอม อำเภอสิชล เป็นบริเวณที่พบแท่งศิวลึงค์และฐานเทวรูปมากกว่าแห่งอื่นๆ เมื่อเทียบกับบริเวณที่อยู่ต่ำจากเขาคาลงมา เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่พื้นที่ลาดเขาหลวงลงมายังแนวสันทรายชายฝั่งทะเลในเขตอำเภอสิชลนี้ เป็นแหล่งที่ตั้งของบ้านเมืองแว่นแคว้นที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลัก และคงเป็นเมืองสำคัญของรัฐตามพรลิงค์ที่มีการกล่าวถึงในศิลาจารึก หลักที่ ๒๔ วัดหัวเวียง เมืองไชยา เอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์ผู้ครองแคว้นว่า “ตามพรลิงเคศวร” หรือพระผู้เป็นใหญ่แห่งตามพรลิงค์ เช่นเดียวกับจารึกที่กล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีวิชัยที่เมืองชยา และพระเจ้ากรุงศรีทวารวดีที่เมืองนครปฐม ลพบุรี และเมืองอื่นๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ตำแหน่งของเมืองที่เขาคานี้มีระยะห่างจากชายฝั่งทะเลที่เป็นแนวสันทราย ในลักษณะเป็นนครรัฐเมืองท่า เช่นเดียวกันกับเมืองไชยาที่อ่าวบ้านดอน โดยตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำที่ไหลออกสู่ทะเลในบริเวณสันทรายชายทะเลในเขตวัดเสาเภา อันเป็นแหล่งเรือจอด เช่นเดียวกับบริเวณแหลมโพธิ์ของอ่าวบ้านดอนที่ห่างจากเมืองนครรัฐราว ๖-๗ กิโลเมตร เพราะถ้าล่องตามลำคลองท่าทนไปจนถึงชายฝั่งทะเลที่เป็นแนวสันทรายในเขตตำบลอันเป็นที่ตั้งของวัดเสาเภา ที่หมายถึงเรือสำเภานั้น ด้านหน้าของแนวสันทรายเป็น “ลากูน” ที่เกิดจากแนวสันทรายใหม่ก่อตัวขึ้นจนปิดทางน้ำของคลองเสาเภา กลายเป็นเวิ้งน้ำใหญ่ภายในสันทรายใหม่ ลากูนดังกล่าวมักเป็นแหล่งจอดเรือสมัยโบราณ เช่นเดียวกันกับบริเวณหัวเขาแดงเมืองสงขลา และบรรดาเมืองท่าชายฝั่งทะเลของเวียดนาม ตั้งแต่ดานังลงมาจนถึงญาจาง
สำหรับลากูนอันเป็นแหล่งท่าจอดเรือของเมืองโบราณที่เขาคานี้ ปัจจุบันมีผู้เปลี่ยนแปลงให้เป็นบ่อเลี้ยงกุ้งตามชายฝั่งทะเลไปเสียมากแล้ว
อาณาบริเวณของลากูนจากคลองเสาเภากินพื้นที่ต่ำลงไปจนถึงปากน้ำคลองหินของอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่ไหลลงมาจากเขาหลวง ไหลจากบริเวณต้นน้ำผ่านลงมาจนถึงวัดเขายวนเฒ่า กลายเป็นคลองท่าลาด แล้วไหลจนถึงบริเวณแนวสันทรายกลายเป็นคลองหินเข้าสู่ลากูน มีร่องรอยของการขุดคลองดึงน้ำจากคลองหินไปออกทะเลตามลำน้ำคลองเปลี่ยน
คลองท่าลาดและคลองหินดังกล่าวยังไม่มีการสำรวจศึกษาแหล่งโบราณคดีที่เป็นชุมชนโบราณ ต่ำจากปากคลองหินลงมาทางใต้ตามแนวสันทรายเป็นปากน้ำคลองกลาย ซึ่งเป็นลำน้ำใหญ่ที่สุดในบรรดาลำน้ำที่กล่าวมา คลองกลายมีต้นน้ำลึกเข้าไปในบริเวณหุบเขาที่กว้างใหญ่ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ กรุงชิง เป็นพื้นที่ภายในที่มีที่ราบลุ่มพอให้มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนได้ จนมีตำนานและความเชื่อว่าเป็นเมืองนครศรีธรรมราชเก่า ก่อนที่จะเกิดบ้านเมืองบนแนวสันทราย แต่ยังไม่มีการสำรวจทางโบราณคดีให้เห็นหลักฐานว่ามีอายุเก่าแก่กว่าสมัยอยุธยาขึ้นไป
ในการศึกษาสำรวจของข้าพเจ้าพบว่า ร่องรอยของชุมชนโบราณเริ่มมีตามแนวสันทรายที่คลองท่าศาลา ในบริเวณที่เป็นชุมชนเมืองท่าศาลาในปัจจุบัน บริเวณลำคลองท่าศาลาคือจุดที่แนวสันทราย ๒ เส้นทั้งเก่าและใหม่มาบรรจบกัน เส้นใหม่เริ่มตั้งแต่พื้นที่ชายทะเลในเขตอำเภอหัวไทร ผ่านแหล่งโบราณคดีที่เป็นชุมชนโบราณตำบลท่าเรือจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ดังในตำนานพงศาวดารกล่าวว่าเมืองนครศรีธรรมราชนั้นสร้างขึ้นบนหาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นสันทรายใหม่ ในขณะที่สันทรายเก่าเริ่มตั้งแต่บริเวณอำเภอชะอวด อันเป็นต้นน้ำของลำน้ำปากพนัง ผ่านที่ราบลุ่มและป่าพรุไปออกทะเลที่แหลมตะลุมพุก สันทรายเก่านี้เป็นบริเวณที่พบร่องรอยชุมชนโบราณซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นไป เห็นได้จากหลักฐานจารึกหุบเขาช่องคอย อันเป็นจารึกในศาสนาฮินดู ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมา
: ตุมปังและโมคลาน บนสันทรายใกล้ทะเลชุมชนใหญ่ทั้งศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามหายาน
ในการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรมของข้าพเจ้าพบว่า ฝั่งลำคลองท่าศาลาลงมาทางทิศใต้ มีร่องรอยของชุมชนโบราณอยู่ในพื้นที่สบกันของสันทรายเก่าและใหม่ ๒ บริเวณ แห่งแรกคือแหล่งโบราณสถานตุมปังในเขตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งอยู่ห่างจากแนวสันทรายที่มีลำน้ำจากเขาหลวงไหลผ่านไปรวมกับลำคลองท่าศาลาก่อนจะไหลออกทะเล ตุมปังเป็นควนศาสนสถานขนาดใหญ่ซึ่งมีการปรับและยกระดับพื้นดินให้สูง รายล้อมด้วยคันดินและกำแพงโดยรอบศาสนสถาน ที่อาจจะเป็นได้ทั้งศาสนสถานในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามหายาน
พบฐานศิวลึงค์และเทวรูปพระโพธิสัตว์ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา อีกทั้งยังพบฐานวิหารและฐานมณฑปที่อาจเป็นได้ทั้งของศาสนาพุทธและฮินดู แต่ไม่พบหินกรอบประตูและธรณีประตู เช่นที่ศาสนสถานบ้านนาขอมและเขาคา ศาสนสถานตุมปังคงเป็นศูนย์กลางของชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนโดยรอบ และมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา ไม่ห่างไกลจากตุมปังมีโคกเนินซึ่งเคยเป็นวัด พบซากพระสถูปที่พังแล้ว และทางวัดได้สร้างพระสถูปและพระพุทธรูปใหม่ครอบทับ วัดนี้คือวัดนางตรา พบพระพุทธรูปสำริดและพระพิมพ์สมัยลพบุรีเช่นเดียวกับที่พบในพระสถูปเจดีย์วัดท้าวโคตร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จากพระพุทธรูปและพระพิมพ์ที่พบ เห็นได้ว่าศาสนสถานแห่งนี้มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่นเดียวกันกับโบราณสถานตุมปัง
แห่งที่ ๒ ได้แก่ บริเวณวัดโมคลาน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างสันทรายเก่ากับสันทรายใหม่ มีลำน้ำปากพยิงไหลผ่าน เป็นอาณาบริเวณที่มีพื้นที่เป็นโคกเนินสลับที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง อันเนื่องมาจากการคดเคี้ยวของลำน้ำตอนใกล้จะออกทะเล และยังเป็นบริเวณที่เรือใหญ่จากทะเลสามารถเข้ามาถึงได้ หลักฐานโบราณคดีที่วัดโมคลานเป็นศาสนสถาน ๒ สมัยด้วยกัน สมัยแรกเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา เช่นเดียวกับที่พบที่นาขอมและเขาคา เป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนเนินดิน มีขอบเขตกว้างใหญ่เช่นเดียวกับตุมปัง พบหินกรอบธรณีประตูแบบเดียวกับนาขอมและขนอมแล้ว
ยังพบชิ้นส่วนของโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นแท่งหินอัคนีมากมาย แสดงให้เห็นว่ามีโครงสร้างที่ไม่ใช่อาคารโถงเช่นที่พบที่เขาคาและบ้านนาขอม ส่วนโบราณสถานที่สร้างทับของเก่าเป็นโครงสร้างก่อด้วยอิฐ มีกำแพงล้อมรอบและมีอาคารที่เป็นวิหารและเจดีย์แต่สมัยอยุธยาขึ้นไป จากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิวัฒนธรรม บริเวณวัดโมคลานคือเมืองเก่าที่สำคัญของรัฐตามพรลิงค์ เป็นตำแหน่งเมืองท่าที่ตั้งอยู่ในแนวสันทรายใกล้ทะเลกว่าการเป็นเมืองสำคัญดังเช่นเขาคาและนาขอม เห็นได้จากทางน้ำที่ไหลออกปากน้ำ คือลำคลองปากพยิง สันทรายและป่าชายเลนที่เกิดจากการทับถมของโคลนตะกอนมากกว่าบรรดาชายฝั่งทะเลอื่นๆ นอกเหนือจากที่แหลมตะลุมพุก ปากพนัง
ชายฝั่งทะเลของปากพยิงที่เกิดจากการทับถมเป็นป่าชายเลน มีปากน้ำที่ลำน้ำจากเขาและที่สูงไหลไปออกทะเล ๒ สาย คือ คลองปากพยิง ที่ไหลผ่านวัดโมคลานไปออกทะเลที่ปากพยิงดังที่กล่าวไปแล้ว ระยะห่างจากเมืองซึ่งอยู่บริเวณวัดโมคลานไปยังปากน้ำราว ๗ กิโลเมตร ส่วนลำน้ำอีกสายหนึ่งคือคลองท่าแพ อยู่ต่ำจากปากน้ำพยิงลงไปราว ๓ กิโลเมตร เรียกว่า ปากน้ำท่าแพ คลองท่าแพไหลผ่านตำบลปากพูนที่อยู่บนสันทรายใหม่อันเป็นที่ตั้งเมืองนครศรีธรรมราชราว ๙ กิโลเมตร ผ่านไปทางตะวันตกเฉียงใต้กลายเป็นคลองคอน ไหลผ่านที่ราบทางตะวันตกของเมืองนครศรีธรรมราชเข้าหาต้นน้ำที่มาจากลำห้วยใกล้กับช่องเขาหลวงที่ลานสกา
จากตำแหน่งและทางเดินของลำน้ำ ๒ สาย ที่กล่าวมาคือคลองปากพยิงและคลองท่าแพ สามารถพูดได้ว่าคลองปากพยิงที่ไหลผ่านสันทรายใหม่ไปสันทรายเก่า อันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่วัดโมคลาน คือลำน้ำที่แสดงให้เห็นความเป็นเมืองท่าของเมืองที่คาดว่าคือตามพรลิงค์ในระยะที่ ๒ รองจากระยะแรกที่เขาคา ส่วนลำคลองท่าแพที่อยู่ต่ำลงมาและไหลผ่านสันทรายใหม่อันเป็นที่ตั้งของเมืองนครศรีธรรมราช คือคลองเส้นหนึ่งที่เป็นเส้นทางคมนาคมไปออกทะเลที่ปากพยิง ลำคลองท่าแพนี้มีต้นกำเนิดจากบริเวณเวิ้งเขาที่ลานสกา อันเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากแม่น้ำตาปี-คลองจันดี ผ่านช่องเขาหลวงมายังรัฐตามพรลิงค์ที่มีอายุกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ขึ้นไป
: เมืองพระเวียงที่มีมาก่อนเมืองนครศรีธรรมราช
เมืองท่าตามพรลิงค์ระยะที่ ๒ ที่วัดโมคลาน น่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองมาจนสิ้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ก่อนที่ตำแหน่งเมืองสำคัญจะพัฒนาขึ้นมาแทนอีก ๒ เมืองบนแนวสันทรายใหม่ และเป็นเมืองที่มีหลักฐานทางโบราณคดี จารึก และตำนาน
โดยพงศาวดารชี้ให้เห็นว่าคือเมืองพระเวียงและเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา จากการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรม ทั้งสองเมืองตั้งอยู่บนแนวสันทรายที่เป็นเส้นทางคมนาคมข้ามคาบสมุทรจากแม่น้ำตาปี ผ่านคลองจันดีที่ตำบลช้างกลาง ผ่านช่องเขาในเขตตำบลเขาแก้ว ที่มีลำคลองเขาแก้วไหลลงสันปันน้ำสู่ที่ลาดเขาลานสกาในเขตอำเภอลานสกา อันเป็นพื้นที่สูงในหุบเขา มีลำน้ำไหลลงสู่ที่ลาดเขาผ่านสันทรายไปออกทะเลหลายสาย เช่น คลองเสาธงที่ต่อมาจากคลองเขาแก้วไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านแนวสันทรายในเขตตำบลท่าเรือ ผ่านที่ราบลุ่มชายฝั่งไปออกทะเลในเขตตำบลบางจาก ที่มีลำคลองหัวตรุดเป็นลำน้ำสำคัญ
ใช้เป็นเส้นทางไปออกทะเลบริเวณสันทรายใหม่ทางตอนเหนือ อันเป็นที่ตั้งของเมืองพระเวียงและเมืองนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนโบราณที่รู้จักกันในนามบ้านท่าเรือ บริเวณที่พบศาสนสถานฮินดูและโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องมือหิน ชิ้นส่วนกลองมโหระทึกสำริด ลูกปัดและเศษภาชนะดินเผา ที่อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นชุมชนที่เรือจากทะเลเข้ามาจอดได้
และเหนือชุมชนโบราณแห่งนี้ขึ้นไปราว ๓.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงเมืองโบราณที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งในตำนานท้องถิ่นเรียกชื่อว่า เมืองพระเวียง ถัดจากเมืองพระเวียงห่างกันประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นที่ตั้งของเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวกว่าเมืองพระเวียง มีคูน้ำ กำแพงอิฐ และป้อมปราการแบบผังเมืองทางตะวันตก มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา คือเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้แลเห็นได้ว่าเมืองพระเวียงเป็นเมืองเก่า ในขณะที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหม่ อันเกิดจากการทิ้งเมืองเก่ามาตั้งเมืองใหม่ เช่นเดียวกันกับเมืองอโยธยามายังเมืองอยุธยา และเมืองธนบุรีที่ย้ายจากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตกมาสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออก ทั้งเมืองพระเวียงและเมืองนครศรีธรรมราชนี้ คือเมืองท่าของรัฐตามพรลิงค์ในระยะที่ ๓ ก่อนที่ชื่อรัฐตามพรลิงค์จะหายไป กลายเป็นเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา
พัฒนาการของรัฐตามพรลิงค์ในช่วงเมืองสำคัญ เคลื่อนจากกลุ่มของบ้านเมืองในระยะแรกที่เกิดขึ้นตามแนวสันทราย ตั้งแต่เขตอำเภอขนอมและสิชลลงมาถึงอำเภอท่าศาลา มีสภาพทางภูมิศาสตร์อันเกิดจากการงอกของชายฝั่งทะเล เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังเห็นได้ว่าสันทรายตั้งแต่ฝั่งเหนือของคลองท่าศาลาขึ้นไปถึงสิชลเป็นแนวสันทรายที่อยู่ติดทะเล การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองและพื้นที่ทำกินทางการเกษตรจะเกิดขึ้นตามแนวลำน้ำที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ที่ลาดและที่ลาดลุ่มมาจดกับแนวสันทราย
ส่งผลให้ตำแหน่งของเมืองสำคัญต้องตั้งอยู่ในบริเวณริมลำน้ำใหญ่ในพื้นที่ลาดลุ่ม ไม่ได้อยู่ที่แนวสันทราย โดยเฉพาะตำแหน่งเมืองที่เขาคาและนาขอม ในส่วนตั้งแต่บริเวณฝั่งใต้ของลำคลองท่าศาลาลงมาเป็นแนวสันทรายใหม่ อันเป็นที่ตั้งของเมืองพระเวียงและเมืองนครศรีธรรมราช กับแนวสันทรายเก่าที่เป็นแนวยาวแต่อำเภอชะอวดมาสบกัน จนเป็นบริเวณที่มีการงอกของชายฝั่งทะเลซึ่งเกิดจากการทับถมของโคลนทรายจากคลื่นลม เกิดเป็นพื้นที่ราบลุ่มและป่าชายเลนที่ขยายตัวออกจากแนวสันทรายไปในทะเลราว ๖-๗ กิโลเมตร เป็นแนวสันทรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่าแต่เดิม
ดังเห็นได้จากตำแหน่งเมืองสำคัญที่วัดโมคลานนั้น ตัวเมืองตั้งอยู่บนสันทรายเก่าที่มีลำน้ำปากพยิงไหลคดเคี้ยวผ่านช่องว่างจากสันทรายเก่าสู่สันทรายใหม่ และผ่านไปออกปากพยิงที่เป็นป่าชายเลน ซึ่งห่างจากสันทรายใหม่เกือบ ๗ กิโลเมตร ต่ำลงมาตามแนวสันทรายใหม่จากปากพยิงมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพระเวียง และเลยไปจนถึงชุมชนท่าเรือที่ตำบลท่าเรือ ความห่างหรือความหนาของแผ่นดินที่งอกเป็นที่ราบชายทะเลกว้างเกือบ ๑๒ กิโลเมตร และตัวเมืองที่ตั้งบนสันทรายก็อยู่ห่างฝั่งทะเลราว ๑๒-๑๓ กิโลเมตรเช่นเดียวกัน เป็นพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่น้ำท่วมถึง ที่มีลำน้ำจากเทือกเขาหลวงไหลผ่านสันทรายมาออกทะเลหลายสาย เช่น คลองท่าแพที่ผ่านตำบลปากพูน ตอนเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช ไหลขึ้นเหนือมาออกบริเวณใกล้กันกับปากลำน้ำปากพยิง ต่ำจากคลองท่าแพลงมาเป็นคลองลัด คลองท่าซัก คลองปากนคร คลองบางควาย คลองบางใหญ่ และคลองชะเมา
ในบรรดาคลองที่ไหลออกทะเลเหล่านี้มีคลองสำคัญ ๓ คลอง คือ คลองปากนคร ที่เป็นคลองสำคัญจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพระเวียงมาออกทะเล ต่ำลงมาคือคลองบางใหญ่ ที่สัมพันธ์กับเส้นทางออกทะเลของเส้นทางข้ามคาบสมุทร จากคลองเขาแก้วผ่านลานสกามายังท่าเรือ แล้วไปออกทะเลเช่นเดียวกันกับคลองที่แยกบริเวณลานสกา ผ่านเมืองพระเวียงและเมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นคลองปากนคร ที่เส้นทางสินค้าข้ามช่องเขามาออกทะเลและพื้นที่ชายทะเลทางตะวันออกของแนวสันทราย ระหว่างลำน้ำที่ออกทะเลตามที่กล่าวมานั้น มีร่องรอยของการขุดคลองซอยและคลองลัดมากมาย แสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ขยายตัวของบ้านเมืองและที่ทำกิน อันส่งผลให้รัฐตามพรลิงค์และนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งที่มีประชากรหนาแน่น
: รัฐตามพรลิงค์ หนึ่งในสหพันธรัฐชายทะเลศรีวิชัย
การสำรวจของข้าพเจ้าและนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ได้พบเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากฝั่งทะเลอันดามันมายังฝั่งอ่าวไทย ซึ่งได้เสนอบทความในวารสารเมืองโบราณฉบับที่แล้ว คือสิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐตามพรลิงค์มีพัฒนาการเป็นเมืองท่า (port city) เช่นเดียวกันกับรัฐศรีวิชัยที่ไชยาบริเวณอ่าวบ้านดอน ที่มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากเกาะคอเขาและเมืองตะกั่วป่า ข้ามเทือกเขาสกอันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี
แต่ที่รัฐตามพรลิงค์ ทางข้ามคาบสมุทรไม่ได้ผ่านช่องเขาของเทือกเขาตะนาวศรี หากผ่านช่องเขาบรรทัด-เขาหลวง อันเป็นแนวสันปันน้ำที่ต่ำลงมา และมีเมืองท่าทางฝั่งทะเลอันดามันซึ่งอยู่บริเวณอ่าวกระบี่และพังงา เช่นที่ตำบลคลองท่อม อันเป็นแหล่งโบราณคดีท่าจอดเรือที่สำคัญ มีอายุถึงพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ นับเนื่องเป็นสมัยฟูนัน ในส่วนเส้นทางตามลำน้ำที่มาจากคลองท่อมคือคลองสินปูน ซึ่งมาสบกับแม่น้ำตาปีที่มีเมืองเวียงสระเป็นสำคัญ และจากลำน้ำตาปีก็มีคลองจันดีจากเขาหลวงที่มาสบกับแม่น้ำตาปีที่อำเภอฉวาง ตามลำคลองจันดีขึ้นไปยังตำบลช้างกลาง ผ่านช่องเขาแก้วของเทือกเขาหลวงมาออกลานสกา ผ่านนครศรีธรรมราชและเมืองชายทะเลของรัฐตามพรลิงค์ไปออกทะเล
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ศิลาจารึก ตำนาน พงศาวดาร และแหล่งโบราณคดี อันเป็นหลักฐานภายในท้องถิ่น ตามพรลิงค์เป็นนครรัฐเมืองท่าที่เป็นแว่นแคว้นร่วมสมัยกับรัฐศรีวิชัยที่ไชยาของอ่าวบ้านดอน ซึ่งในศิลาจารึก หลักที่ ๒๔ วัดหัวเวียง เมืองไชยา กล่าวถึงตามพรลิงเคศวร หรือพระเจ้ากรุงตามพรลิงค์ เช่นเดียวกันกับพระเจ้ากรุงศรีวิชัยที่เมืองไชยา โดยอายุเวลาและความใกล้ชิดกันในตำแหน่งทางพุทธศาสนา รัฐตามพรลิงค์น่าจะเป็นรัฐหนึ่งในสหพันธรัฐชายทะเลศรีวิชัย ร่วมสมัยกับไชยา แต่มีวัฒนธรรมทางศาสนาต่างกันในลักษณะที่ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลักของบ้านเมือง
คือเป็นรัฐฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของคาบสมุทร มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ นับเนื่องเป็นสมัยฟูนันที่สืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ และในตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามหายานและเถรวาทแบบลังกาวงศ์
ในจารึกหลักที่ ๒๔ วัดหัวเวียง เมืองไชยา นั้น ด้านหน้ากล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีวิชัย ส่วนด้านหลังกล่าวถึงชื่อรัฐตามพรลิงค์และพระมหากษัตริย์ผู้ครองแคว้น คือพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ซึ่งระบุศักราชอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พระเจ้าจันทรภาณุเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ที่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นราชาธิราชคือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และมีพระยาจันทรภาณุอยู่ในตำแหน่งมหาอุปราช ลักษณะตำแหน่งและพระนามของราชวงศ์กษัตริย์ร่วมสมัยกับที่อยู่ในภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น สมเด็จพระรามาธิบดีครองเมืองอยุธยา และพระราเมศวรครองละโว้ (ลพบุรี) พระบรมราชาครองเมืองสุพรรณภูมิ ในขณะที่เมืองแพรกศรีราชามีพระอินทรราชาหรือเจ้านครอินทร์ปกครอง
ในความเห็นของข้าพเจ้า คิดว่าทางราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชของทางนครศรีธรรมราชก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชครองเมืองนครศรีธรรมราชที่ขณะนั้นคือเมืองพระเวียง ส่วนพระยาจันทรภาณุน่าจะครองเมืองคู่ที่รองลงมาจากเมืองหลวง ซึ่งน่าจะอยู่ที่สทิงพระในเขตสงขลา-พัทลุง อันเคยเป็นกลุ่มเมืองรัฐอิสระมาก่อน เพราะบ้านเมืองของรัฐนี้มีวัฒนธรรมการนับถือพุทธศาสนามหายานเช่นเดียวกันกับรัฐศรีวิชัยที่เมืองไชยา
แต่ที่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ วัดหัวเวียง เมืองไชยา กล่าวพระนามพระเจ้าจันทรภาณุนั้น คงเป็นเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์หลังการสวรรคตของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และมีเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น ทำให้พระเจ้าจันทรภาณุต้องเสด็จมายึดเมืองหลวงและสถาปนาตนเป็นพระมหากษัตริย์แทน ดังมีข้อความในศิลาจารึกหลักนี้ที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม บิดาของข้าพเจ้าได้บอกว่ามีถ้อยคำที่เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งศาสตราจารย์ ร.ต.ม. แสง มนวิทูร ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตของกรมศิลปากร แปลไว้ว่า พระเจ้าจันทรภาณุทรงปราบปรามขับไล่ชนชาติต่ำช้าที่ยึดครองเมืองให้ออกไป ซึ่งชนชาติต่ำช้าในจารึกนี้น่าจะหมายถึงพวกมทิฬโจฬะจากอินเดียที่ทำสงครามได้ชัยชนะต่อศรีวิชัย และคงยึดครองตามพรลิงค์ซึ่งนับถือศาสนาฮินดูเหมือนกันมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘
อาจารย์มานิตและคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ผู้รู้เรื่องตำนานท้องถิ่นและแหล่งโบราณคดีรอบทะเลสาบสงขลามีความเห็นว่า ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชคือราชวงศ์กษัตริย์ที่เคยอยู่สทิงพระมาก่อน ได้ยกกองทัพจากสทิงพระไปตีและขับไล่พวกทมิฬโจฬะที่ครองเมืองนครศรีธรรมราช หากเรื่องราวในตำนานใกล้กับความเป็นจริง ก็พออธิบายได้ว่าเมืองพระเวียงที่ตั้งอยู่บนสันทรายใหม่ (ในตำนานเรียกหาดทรายแก้ว) ก็คือเมืองตามพรลิงค์ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งพระเจ้าจันทรภาณุในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ วัดหัวเวียง เมืองไชยา ปกครอง เป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงจากการนับถือศาสนาฮินดูมาเป็นพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์
1
จากบทความ “รัฐตามพรลิงค์” ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา