Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
•
ติดตาม
27 ส.ค. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
นครปฐม : เมืองท่าแห่งสหพันธรัฐทวารวดี
1
: เส้นทางน้ำแห่งเมืองท่าภายในฝั่งตะวันตกของลุ่มเจ้าพระยา
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือ Chaopraya Delta บริเวณภาคกลางของประเทศไทย เป็นแผ่นดินที่ราบต่ำซึ่งกำเนิดที่ปากแม่น้ำทั้งใหญ่หรือเล็กบริเวณปลายสุดของลำน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล ลักษณะทางกายภาพเป็นรูปพัดเพราะมีลำน้ำสาขาของลำน้ำใหญ่น้อยแผ่กระจาย นอกจากลำน้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักแล้ว ยังมีลำน้ำขนาบข้างคือแม่กลองและท่าจีนทางตะวันตก บางปะกงทางตะวันออก ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาทั้งสองฝั่ง
ภูมิภาคฝั่งตะวันตกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำนี้ มีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดีในสภาพภูมิศาสตร์บริเวณที่เป็นภูเขาและแนวเชิงเขา, ที่ราบน้ำท่วมถึงและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า
ซึ่งเป็นเขตที่สูงกว่าแนวชายฝั่งทะเลและเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่อันเป็นที่ลุ่มเต็มไปด้วยหนองบึงและน้ำท่วมอย่างยาวนานในช่วงฤดูฝน ไม่เหมาะจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สามารถพัฒนาการขึ้นเป็นรัฐแรกเริ่มหรือนครรัฐได้ในช่วงเวลาตั้งแต่ราว ๒,๕๐๐ ปีลงมา
มีการศึกษามนุษย์และชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินที่พบในเขตภูเขาและแนวเชิงเขาหลายแห่ง เช่นบริเวณต้นน้ำแควน้อยและแควใหญ่ที่กำหนดอายุตั้งแต่สมัยไพลสโตซีนราว ๒๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว
1
จนถึงยุคโฮโลซีนที่เป็นยุคหินใหม่ราว ๔,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เรื่อยมาจนถึงสมัยยุคโลหะที่มีทั้งยุคสำริดและยุคเหล็กที่เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่กำหนดอายุไว้ตั้งแต่ราว ๔,๐๐๐-๒๕๐๐ ปีมาแล้ว
และในยุคโลหะนี้เองที่เริ่มมีการติดต่อระยะทางไกลในการแลกเปลี่ยนวัตถุทางวัฒนธรรมหรือสินค้าต่างๆ จากโพ้นทะเลในแหล่งอารยธรรมทั้งทางตะวันตกและตะวันออกของแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเห็นได้ชัดและต่อเนื่องในยุคเหล็กตอนปลายเมื่อราว ๒,๕๐๐-๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว จนชัดเจนอย่างยิ่งในสมัยทวารวดี
ฝั่งตะวันตกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ลาดสูงไล่ระดับมาบรรจบกับที่ราบต่ำน้ำท่วมถึงซึ่งเป็นดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ มีลำน้ำสายเล็กๆ หลายสายไหลลงจากที่สูงแต่ลุ่มน้ำแม่กลองมาออก และตามลำน้ำเหล่านี้มีที่ราบลุ่มต่ำที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้เกิดชุมชนโบราณที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยทวารวดี-ลพบุรีมากมาย ในแถบอำเภออู่ทอง สองพี่น้อง ทุ่งคอก กำแพงแสน บางเลน และดอนตูม
โดยเฉพาะบริเวณอำเภอกำแพงแสนมีเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมมนสมัยทวารวดี อยู่ติดกับฝั่งใต้ของลำน้ำคลองยาง เป็นเมืองบนเส้นทางน้ำแบบบรรดาเมืองทวารวดีในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมเก่าทั่วไป
ภายในเมืองมีโคกเนินโบราณสถานที่เป็นพระสถูปกระจายหลายแห่ง และโบราณวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี มีร่องรอยของชุมชนโบราณขนาดเล็กกระจายอยู่ตามริมคลองยาง บางแห่งก็เป็นของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายคือสมัยเหล็กที่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากประเพณีฝังศพที่มีมาแต่เดิมกับการเผาศพตามคติทางพุทธ-ฮินดูในสมัยทวารวดี
จากอำเภอกำแพงแสน-ดอนตูมลงมายังบริเวณอำเภอเมือง มีลำน้ำเก่าหลายสายที่ไหลจากภูเขาและที่สูงจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองมาออกลำน้ำท่าจีนหรือลำน้ำนครชัยศรี เช่น “ลำพะเนียงแตก” เป็นต้น ที่มีร่องรอยของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อสมัยทวารวดี-ลพบุรีกระจายอยู่
น่าสนใจเกี่ยวกับร่องรอยของลำน้ำเก่าจากที่สูงทางฝั่งน้ำแม่กลองมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนครชัยศรีก็คือ การมีร่องรอยของทางน้ำเก่าหลายสายแยกจากลำน้ำแม่กลองตั้งแต่บ้านท่าเรือ ผ่านเขาตะพายแล่ง มาออกลำน้ำท่าจีน
ซึ่งทำให้เห็นว่าเส้นทางออกทะเลของลำน้ำแม่กลองในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดีส่วนหนึ่งนั้น มาออกทะเลทางแม่น้ำท่าจีนแทนที่จะไปออกปากน้ำแม่กลองอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
มีลำน้ำเก่าอย่างน้อยสองสายคือ “ลำพะเนียงแตก” และ “ลำท่าหลวง” ซึ่งมารวมกันเป็น “ลำน้ำบางแก้ว” ไหลผ่านตัวเมืองโบราณขนาดใหญ่สมัยทวารวดีที่เป็นเมืองนครปฐมโบราณอันมีชื่อในตำนานว่าเมืองนครชัยศรี ซึ่งนับเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (๓,๐๐๐ x ๒๐๐๐ เมตร) เมืองนี้นับเป็นเมืองอกแตก ที่มีลำน้ำบางแก้วไหลผ่านกลาง เป็นลำน้ำที่ไหลมาจากที่สูงทางตะวันตกเฉียงเหนือ
2
ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองนครปฐมโบราณอยู่ในระหว่างชายขอบของพื้นที่ราบตะกอนรูปพัดและที่ราบขั้นบันไดและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ซึ่งเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ความสูงโดยเฉลี่ยของตัวเมืองราว ๗-๙ เมตรจากระดับน้ำทะเล
เมืองนครปฐมโบราณมีขนาดคูน้ำล้อมรอบราว ๓,๗๐๐x๒,๐๐๐ เมตร จากการสำรวจโบราณสถานรอบๆ เมืองพบว่ามีการกระจายตัวห่างจากตัวเมืองในรัศมีเกือบๆ ๑๐ กิโลเมตรทีเดียว จึงถือว่าเป็นเมืองยุคทวารวดีที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่ง
: ภูมิวัฒนธรรมแห่งเมืองนครปฐมโบราณ
ก่อนผ่านตัวเมือง ๒ กิโลเมตร มีพระสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยทวารวดีตั้งอยู่บนฝั่งใต้ของลำน้ำ พระสถูปองค์นี้ชาวบ้านเรียก “พระประธม”
มีตำนานเล่าขาน ทั้งมีปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เรียกว่า “พระธม” เป็นศาสนสถานเพื่อการแสวงบุญ มีการก่อสร้างสิ่งใหม่ทับบนของเก่ามาช้านาน
ด้วยประเพณีการจาริกแสวงบุญไปไหว้พระประธมนี้ จึงเกิดตำนานและการเขียน “นิราศพระประธม” ของสุนทรภู่ขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวในตำนานเกี่ยวข้องกับการเป็นบ้านเมืองสำคัญ จึงเป็นเหตุให้เชื่อกันว่า บริเวณพระปฐมเจดีย์นี้เคยเป็นเมืองใหญ่เมืองสำคัญมาก่อน
1
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังผนวชอยู่ก่อนขึ้นครองราชย์ เสด็จไปนมัสการและตั้งพระทัยที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ เพราะต่อมาเมื่อมีการศึกษาบรรดาโบราณสถานวัตถุที่พบทรงเชื่อว่า น่าจะเป็นพระสถูปเจดีย์แรกเริ่มของการแพร่พระพุทธศาสนามาสุวรรณภูมิแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย
ครั้งรัชกาลที่ ๕-๖ จึงทำให้เกิดเป็นเมืองนครปฐมขึ้น ได้มีการศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบรรดาโบราณสถานสำคัญในบริเวณพระปฐมเจดีย์และบริเวณใกล้เคียงอีกมากมาย แต่ทั้งหมดนี้ก็เชื่อกันว่า บริเวณที่ตั้งพระปฐมเจดีย์คือตัวเมือง
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๙ ข้าพเจ้าทำงานวิจัยสอบค้นตำแหน่งเมืองโบราณในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้พบบริเวณที่ตั้งของเมืองนครปฐมโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศว่า ตั้งอยู่ห่างจากพระปฐมเจดีย์มาทางตะวันออกราว ๒ กิโลเมตร โดยมี “วัดพระประโทน” ที่มีพระสถูปใหญ่ตั้งอยู่กลางเมืองอยู่ทางฝั่งใต้ของลำน้ำบางแก้วที่ไหลผ่านตัวเมือง
วัดพระประโทนเป็นกลุ่มวัดขนาดใหญ่ที่มีซากเจดีย์เก่าๆ รวมอยู่อีกมากมาย เช่น “เจดีย์จุลประโทน” ที่อยู่ห่างมาทางตะวันออกของเจดีย์พระประโทนราว ๕๐๐ เมตร ทางด้านตะวันตกของวัดพระประโทนมีลำคลองพระประโทนตัดผ่ากลางเมืองเชื่อมคูเมืองด้านเหนือและด้านใต้ รวมทั้งเป็นคลองที่ตัดผ่านลำน้ำบางแก้วภายในบริเวณเมืองด้วย คลองพระประโทนที่ผ่ากลางเมืองที่มีความยาว ๒ กิโลเมตร อันเป็นส่วนกว้างของตัวเมือง
“ลำน้ำบางแก้ว” ไหลผ่านตัวเมืองทางด้านเหนือมาออกคูเมืองทางด้านตะวันออกบริเวณบ้านธรรมศาลาที่มีวัดและพระสถูปโบราณสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จากนั้นก็ไหลผ่านที่ราบลุ่มไปทางตะวันออกเฉียงใต้ผ่านบ้านตะโก บ้านเพนียด บ้านบางแก้ว บ้านท่าตำหนักไปออกแม่น้ำนครชัยศรีที่อำเภอนครชัยศรี ตามลำน้ำบางแก้วจากบ้านท่าศาลาลงไปนั้นมีวัดเก่าและสถูปเจดีย์สมัยทวารวดีริมฝั่งน้ำหลายแห่ง เช่นที่วัดท่าตำหนัก เป็นต้น
1
นอกจากลำน้ำบางแก้วอันเป็นลำน้ำโบราณที่ไหลผ่านกลางเมืองไปออกแม่น้ำนครชัยศรีแล้ว ก็มีลำน้ำเก่าสายใหญ่อีกลำหนึ่งที่ไหลแยกจากแม่น้ำแม่กลองมายังตัวเมืองนครปฐมโบราณนี้คือ “ลำน้ำคลองบางแขม” ต้นน้ำนี้มาจาก คลองท่าผาที่แยกมาจากแม่น้ำแม่กลองในบริเวณบ้านท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดกาญจนบุรี
7
เหนือบ้านท่าผาเป็นที่ลุ่มต่ำของหนองสองตอนอันเป็นที่รับน้ำจากลำห้วยต่างๆ ที่มาจากทางเหนือ มีชุมชนที่ พงตึก ซึ่งอยู่ในมณฑละ [Mandala] ของเมืองนครปฐมโบราณ
พงตึกอยู่ห่างจากเมืองนครปฐมโบราณราว ๓๕ กิโลเมตร ยังคงเหลืออาคารศาสนสถานขนาดเล็ก ๒ แห่งและอยู่ในเส้นทางคมนาคมสำคัญริมน้ำแม่กลองของภูมิภาคตะวันตก ร่องรอยของชุมชนที่เป็นสถานีการค้าในเส้นทางเดินทางสำคัญยุคทวารวดีที่พงตึกนี้ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบชุมชนเมืองร่วมสมัยกับทวารวดีที่ใช้เส้นทางผ่านพงตึกขึ้นไปทางลำน้ำแควน้อย แล้วตัดผ่านไปยังที่ราบลุ่มลำน้ำทวาย
1
เมืองทั้งสองแห่งนี้ร่วมสมัยกับบ้านเมืองในอีกฟากฝั่งหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรีและมีการติดต่อสัมพันธ์ข้ามภูมิภาคกับเมืองต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเห็นได้ชัดโดยเส้นทางการเดินทางนั้นต้องผ่านสถานีที่พงตึกในช่วงเวลาดังกล่าว
และเป็นบริเวณที่มีเมืองโบราณสมัยลพบุรีรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ คือ “เมืองโกสินารายณ์” มีโคกเนินปราสาทที่เคยประดิษฐานเทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี มีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และหลักโบราณสถานที่ถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว ศาสนสถานพุทธมหายานแห่งนี้ ร่วมสมัยกับปราสาทเมืองสิงห์ ปราสาทวัดกำแพงแลง เนินทางพระ และพระปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรี
อิทธิพลทางศิลปกรรมทางศาสนาแบบเขมรเข้ามาสู่บ้านเมืองต่างๆ ในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ และเป็นการเข้ามาแบบผสมผสานกับศิลปกรรมที่มีอยู่เดิม ดังที่กล่าวไปแล้วว่าพบปูนปั้นที่วัดพระเมรุ วัดพระประโทนที่มีอิทธิพลแบบเขมรในเมืองนครปฐมโบราณ
เมืองโกสินารายณ์นั้นอยู่ในปริมณฑลของเมืองนครปฐมโบราณซึ่งช่วงเวลานี้ไม่ได้รุ่งเรืองดังเช่นเมื่อแรกเริ่มแล้ว เพราะมีหัวเมืองอื่นๆ เกิดขึ้นตามลำดับเวลา และอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาคที่เดินทางขึ้นเหนือไปยังต้นน้ำแควน้อยที่ปราสาทเมืองสิงห์ได้ ไปยังเมืองราชบุรี เพชรบุรีและนครปฐมได้ เดินทางไปยังเมืองสุพรรณภูมิ เมืองไร่รถและเนินทางพระ แล้วตัดข้ามไปยังเมืองลพบุรีได้
ร่องรอยเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการก่อเกิดนครรัฐขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนครรัฐขนาดใหญ่เพื่อแทนที่ศูนย์กลางบ้านเมืองที่โรยราไปแล้ว เช่นเมืองนครปฐมโบราณและเมืองร่วมรุ่นทวารวดีสมัยอื่นๆ ในเขตภาคกลางในรูปแบบสหพันธรัฐทวารวดี
คลองท่าผาไหลผ่านที่ราบลุ่มมาทางตะวันออกผ่านบ้านหว้าเอน บ้านปากไก และบ้านวังเย็น ลำน้ำมีชื่อใหม่ว่า คลองหนองดินแดงมายังบ้านบางแขม บ้านมะขาม บ้านคลองขาหย่าง ขึ้นเหนือผ่านบ้านท่าข้าม บ้านบางเตย ไปยังบ้านหัวถนนซึ่งอยู่ริมคูเมือง ด้านตะวันออกสบกับคูเมืองด้านใต้ของเมืองนครปฐมโบราณ
7
ทำให้ลำน้ำนี้มาออกคูเมืองด้านใต้ของเมืองโบราณ โดยมีร่องรอยให้เห็นว่ามีการขุดคลองจากบ้านบางเตยมาต่อกับคูเมืองที่บ้านหัวถนนเพื่อให้การเดินทางตามลำน้ำไปสู่คลองคูเมืองอันเป็นศูนย์รวมเส้นทางคมนาคมที่จะเดินทางตามลำน้ำบางแก้วจากตัวเมืองไปยังแม่น้ำนครชัยศรีหรือท่าจีน ที่เมืองนครชัยศรีอีกทางหนึ่ง
1
จากการที่มีลำน้ำหลายสายจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านมารวมกันที่เมืองนครปฐมโบราณก็ดี และไหลลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำของลำน้ำท่าจีนก็ดีนั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบรรดาบ้านเมืองส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำแม่กลองที่อยู่เหนือเขตอำเภอเมืองราชบุรีขึ้นไปนั้น
กระจายตัวกันในลักษณะจากที่ลาดสูงทางตะวันตกผ่านที่ลาดต่ำลงสู่ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงทางตะวันออก อันอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนหรือนครชัยศรีหรืออาจเรียกว่าบริเวณลำน้ำท่าจีน
โดยกำหนดเอาบริเวณอำเภอนครชัยศรีที่มีลำน้ำบางแก้วไหลมาบรรจบ บริเวณนี้คือเมืองนครชัยศรีที่มีมาแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครั้งกรุงศรีอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ลงมา
1
ดังมีระบุไว้ในพระราชพงศาวดารถึงการรื้อกำแพงเมืองนครชัยศรีเก่า (นครปฐมโบราณ) ที่ตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำบางแก้วและย้ายมาสร้างเมืองใหม่ตรงปากน้ำบางแก้วคือตัวอำเภอนครชัยศรีปัจจุบันและจากบริเวณปากน้ำบางแก้ว ลำน้ำนครชัยศรีก็ไหลคดเคี้ยวลงสู่ที่ลุ่มต่ำไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน
2
ลักษณะภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้เห็นถึงตำแหน่งที่ตั้งของเมืองนครชัยศรีโบราณว่าตั้งอยู่ตรงชายขอบของหาดชายทะเลเก่าที่โค้งเว้าลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปในเขตอำเภอท่าแพ จังหวัดราชบุรี
พื้นที่ดังกล่าวที่มีการกระจายตัวของชุมชนแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ลงมาจนถึงสมัยทวารวดีและลพบุรีอีกหลายแห่ง ชุมชนทวารวดีที่อยู่ชายขอบของดินดอนสามเหลี่ยม เช่นที่ต่ำที่สุดคือบริเวณ “บ้านโคกยายหอม” ที่อยู่ต่ำจากคูเมืองด้านใต้ของเมืองนครชัยศรีลงมา ๙ กิโลเมตร มีร่องรอยของการสร้างทำนบแบ่งน้ำ นับแต่คูเมืองด้านใต้ลงมาจนถึงบ้านโคกยายหอมที่มีพระพุทธรูปและธรรมจักรสมัยทวารวดี
ทำนบนี้คนปัจจุบันเรียกว่า “ถนนโบราณ” แบ่งและชะลอน้ำจากลำน้ำเล็กๆ หลายสายที่มาจากทางตะวันตกไม่ให้ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำทางตะวันออก และช่วยทำให้ลดระดับน้ำให้ไหลลงทางใต้ในพื้นที่หาดเก่า ตั้งแต่บ้านตากแดด บ้านดอนคา ไปจนถึงบริเวณอำเภอท่าแพ
ในขณะที่บริเวณทางตะวันออกของบ้านตากแดดตั้งแต่บ้านใหม่ตลาดจินดาและบ้านคลองจินดา ที่ตั้งอยู่บนคลองจินดา เชื่อมลำคลองกระทุ่มกับลำน้ำท่าจีนในเขตอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม คือพื้นที่ป่าชายเลนที่กลายเป็นที่นาและสวนของดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ในปัจจุบัน
จากบ้านตากแดดส่วนเว้าของชายหาดเก่าในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมเก่าต่อเนื่องไปจนถึงบ้านโพหัก บ้านตาลเรียง บ้านดอนข่อย บ้านโคกกลาง บ้านโคกแขก ไปจนถึงบ้านคลองดำเนินสะดวก อันเป็นบริเวณที่มีลำคลองดำเนินสะดวกตัดผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำแม่กลองตรงบ้านโพหัก อำเภอท่าแพ มีลำน้ำคลองท่าใหญ่ไหลมาจากที่สูง แต่บริเวณอำเภอบ้านโป่ง-โพธาราม ผ่านบ้านท่าใหญ่มาออกที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง
บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว ๒,๘๐๐ ขึ้นไป โดยมีแหล่งฝังศพของชุมชนอยู่ที่ “โคกพลับ” ซึ่งได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี พบโครงกระดูก เครื่องประดับ ภาชนะดินเผาที่มีอายุดังกล่าว แหล่งโบราณคดีที่โคกพลับในตำบลโพหักนี้ คือแหล่งชุมชนชายทะเลที่มีลำน้ำลำคลองและทะเลเข้ามาถึง
: นครรัฐแห่งการค้า
เมืองนครปฐมโบราณถือว่าเป็นเมืองยุคทวารวดีที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่ง และอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เดินทางจากปากแม่น้ำใหญ่และเล็กเข้าสู่คูเมืองที่ถูกปรับมาจากลำน้ำธรรมชาติและลำคลองที่ขุดขึ้นได้หลายสายหลายแห่ง
2
ถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางน้ำ [Riverine Port City] ที่สามารถเดินทางจากแผ่นดินภายในและจากโพ้นทะเลได้อย่างสะดวกและชัดเจน พบโบราณวัตถุที่สำคัญจำนวนมาก ตลอดจนหลักฐานทั้งศาสนสถานและศาสนวัตถุเนื่องในความเชื่อทางพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู
เมืองทวารวดีอีกจำนวนไม่น้อยทั้งที่อยู่ใกล้เคียงในแถบภูมิภาคตะวันตก เมืองขนาดใหญ่ เช่นอู่ทองที่เป็นเมืองท่าและอยู่ลึกเข้าไปภายในแผ่นดิน ห่างจากเมืองนครปฐมโบราณในรัศมีกว่า ๖๕ กิโลเมตร เมืองคูบัวที่อยู่ในอีกลุ่มน้ำหนึ่งคือแม่กลองห่างไปราว ๔๕ กิโลเมตร เมืองกำแพงแสนอยู่ห่างราว ๒๐ กิโลเมตร
ยังมีเมืองทวารวดีในภาคกลางในเขตลุ่มแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงเมืองทวารวดีขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่เมืองลพบุรีและอีกหลายเมืองในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก และมีเมืองทวารวดีขนาดใหญ่ที่เมืองศรีเทพ ตลอดจนทางฝั่งตะวันออกของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแถบลุ่มน้ำบางปะกงไปจนถึงต้นน้ำพระปรงแถบสระแก้ว ซึ่งมีเมืองศูนย์กลางที่เมืองศรีมโหสถ
แต่ละแห่งจะมีเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าและอยู่ในเส้นทางการเดินทางสำคัญที่ติดต่อกับภูมิภาคอื่นได้สะดวกเป็นศูนย์กลางของมณฑละ [Mandala] แต่ละแห่ง ซึ่งเมืองทวารวดีในแต่ละมณฑละดังกล่าวนั้นล้วนต่างเติบโตกลายเป็นเมืองสำคัญของบ้านเมืองในยุคหลังๆ ลงมาทั้งสิ้น
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยการขุดคลองเจดีย์บูชา การทำทางรถไฟ การสร้างถนนเพชรเกษมที่ตัดผ่านกลางเมืองและการลบความสำคัญของเมืองแม่น้ำลำคลองออกไปจนหมดสิ้น และกลายเป็นเมืองเพื่อการอยู่อาศัยและการพาณิชย์เช่นในปัจจุบัน
เราจะเห็นร่องรอยแห่งความเจริญถึงขีดสุดของบ้านเมืองในยุครุ่งเรืองเมื่อราวพันสามร้อยกว่าปีมาแล้วอย่างชัดเจน และทำให้เห็นความสำคัญของการเป็นเมืองท่าการค้าที่มีนักเดินทาง พ่อค้า สมณะ พราหมณ์ นักบวช ผู้คนหลากกลุ่มชาติพันธุ์เดินทางไปมาหาสู่ยังเมืองนครปฐมโบราณแห่งนี้
จนสมด้วยปัจจัยต่างๆ ในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสังคมและความเชื่อทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่สืบรากเหง้ามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคตะวันตกอย่างแน่นอน
เมืองนครปฐมโบราณไม่มีคันดินเช่นเดียวกับเมืองทวารวดีในพื้นที่อื่นๆ เพราะอยู่ในเขตลุ่มน้ำลำคลองทั้งธรรมชาติและการขุดปรับแต่งให้กลายเป็นคลองคูเมืองที่มีขนาดใหญ่จนเรือใบขนาดย่อมๆ ที่เป็นเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเลสามารถเดินทางเข้ามาถึงได้ เพราะอยู่ในจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำสายใหญ่คือแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน
3
โดยใช้เส้นทางน้ำหลักเช่น คลองบางแขมที่ออกแม่น้ำแม่กลองทางท่าผาไม่ไกลจาก ‘พงตึก’ ที่เป็นชุมชนสถานีการค้าในเส้นทางสู่ชุมชนภายในทางลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่และเขตภูเขาที่สูงแถบเมืองกาญจนบุรีปัจจุบัน ลำน้ำทัพหลวงที่ไปออกแม่น้ำแม่กลองบริเวณอำเภอท่าเรือในปัจจุบัน คลองบางแก้วที่ไปออกแม่น้ำท่าจีนแถบเมืองนครไชยศรีในเวลาต่อมา
1
และยังมีคลองแนวตั้งที่ไปออกคลองจินดา โคกพลับที่บ้านแพ้ว ยกกระบัตรจนถึงคลองบางโทรัดและออกลำน้ำท่าจีนและชายฝั่งทะเลได้อีกหลายทาง
ตัวอย่างของสมมิตฐานดังกล่าวคือการพบเรือโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นเรือเดินทะเลเลียบชายฝั่งแบบอาหรับที่เรียกกันว่า “เรือพนมสุรินทร์” บริเวณใกล้คลองพันท้ายนรสิงห์ทางฝั่งขวาของลำน้ำท่าจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖
บริเวณเหล่านี้เป็นเส้นทางสู่ดินแดนภายในแต่โบราณเพราะมีลำน้ำธรรมชาติสายต่างๆ อยู่มากและสามารถลัดเลาะเข้าสู่แผ่นดินภายในโดยไม่ต้องใช้ลำน้ำใหญ่หรือเดินทางเลียบชายฝั่งออกทางปากอ่าว ซึ่งใช้กันเป็นปกติทั้งในอ่าวไทยและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีใต้น้ำ, เอิบเปรม วัชรางกูร กล่าวว่า เป็นเทคนิคการต่อเรือเป็นแบบไคโรหรืออาหรับ
โดยวิธีการต่อใช้การผูกเชือกยึดกง (โครงเรือ) กับกระดูกงูเข้าด้วยกันและยังคงพบเชือกที่ใช้ในการผูกเรืออยู่ด้วย รวมทั้งพบภาชนะดินเผาแบบ แอมโฟร่า [Amphora] เป็นไหก้นแหลมซึ่งเป็นไหรูปทรงที่แตกต่างไปจากภาชนะที่ผลิตกันในแถบนี้ และภาชนะแบบราชวงศ์ถังและแบบทวารวดี ซึ่งพบได้ทั่วไปในเขตชุมชนทวารวดีในเขตนครปฐมโบราณและลำน้ำแม่กลองใกล้กับอาณาบริเวณเมืองคูบัว
1
ด้วยลักษณะที่ตั้งและกายภาพของเมืองโบราณนครปฐม ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่งทะเลมากกว่าบริเวณอื่นๆ
ในช่วงสมัยทวารวดีนี้ การเดินทางข้ามผ่านที่ใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรแบบในช่วงยุคเหล็กตอนปลายนั้นอาจหมดความนิยมลงไป เพราะพบร่องรอยว่าในสมัยทวารวดีเป็นการเดินอ้อมแหลมมลายูกันเป็นพื้น จนปรากฏเมืองแบบทวารวดีเมืองใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรมลายู-สยามที่เมืองโบราณยะรัง ในจังหวัดปัตตานี
ซึ่งร่วมสมัยกับการเติบโตของบ้านเมืองในสหพันธรัฐศรีวิชัย ซึ่งมีเมืองท่าในรูปแบบ Port City ที่อยู่บนคาบสมุทรมลายู-สยามและหมู่เกาะทางสุมาตราไปจนถึงบ้านเมืองแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการเติบโตร่วมสมัยกับเมืองในรูปแบบวัฒนธรรมแบบทวารวดี
ทั้งเมืองนครปฐมโบราณและเมืองคูบัว ต่างปรากฏร่องรอยของผู้คนจากต่างถิ่น เช่นชาวตะวันออกกลางที่อาจจะเป็นชาวอาหรับผู้เดินทางค้าขายและนับถือศาสนาอิสลามในรูปแบบปูนชั้นประดับฐานพระเจดีย์แบบทวารวดีหลายแห่งในและนอกตัวเมือง การพบลายปูนปั้นและเหรียญที่มีรูปเรือสำเภาจำนวนหนึ่ง
การตั้งมั่นของพุทธศาสนาแบบเถรวาทรวมไปถึงมหายานตามเนื้อหาคัมภีร์ต่างๆ ที่ผสมผสานกันจนกลายเป็นพุทธศาสนาแบบทวารวดีที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน เช่น การจารึกคาถาที่สรุปแก่นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้อย่างเรียบง่ายและรวบรัด เช่น อริยสัจ ๔, ปฏิจจสมุปบาท และที่พบมากที่สุดปรากฏในแผ่นดินเผา แผ่นอิฐ แผ่นหิน เสาหิน ฐานธรรมจักร หรือพระพิมพ์แพร่ไปตามศาสนสถานและแหล่งที่อยู่อาศัยในเมืองแบบทวารวดีต่างๆ คือ
พุทธลักษณะที่ปรากฏในรูปเคารพ เช่น ใบหน้าและการครองจีวรที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปแบบคุปตะและหลังคุปตะ จนถึงการเลือกพุทธประวัติในการแสดงมุทราแบบวิตรรกะหรือการแสดงธรรมเป็นพื้น ความนิยมสร้างพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทขนาดใหญ่ พระพุทธรูปยืนที่ทำจากหินปูน การสร้างเสาและธรรมจักรที่พบในบริเวณเมืองโบราณสมัยทวารวดีแทบทุกแห่ง
3
รวมทั้งการใช้เหรียญเงิน ทอง หรือโลหะมีค่าชนิดอื่นๆ แสดงสัญลักษณ์มงคลต่างๆ เนื่องในรูปแบบการค้า เช่น ความโชคดี โชคลาภ ความร่ำรวย ความรุ่งเรือง รวมถึงที่มีจารึกข้อความว่า ‘ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺย’ แปลว่า ‘พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ’ ซึ่งแพร่ไปทั่วที่มีชุมชนในสมัยทวารวดีปรากฎอยู่
สิ่งเหล่านี้คือการแพร่กระจายวัฒนธรรมทางความเชื่อที่หลั่งไหลไปพร้อมกับเศรษฐกิจการค้า รวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตและอาจรวมถึงสถานภาพทางสังคมสู่บ้านเมืองร่วมสมัย โดยไม่อาจตีความไปได้ว่าเป็นตัวแทนอำนาจทางการเมืองจากวัตถุและแนวคิดทางวัฒนธรรมเหล่านี้
สิ่งเหล่านี้คือการแพร่กระจายวัฒนธรรมทางความเชื่อที่หลั่งไหลไปพร้อมกับเศรษฐกิจการค้า รวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตและอาจรวมถึงสถานภาพทางสังคมสู่บ้านเมืองร่วมสมัย โดยไม่อาจตีความไปได้ว่าเป็นตัวแทนอำนาจทางการเมืองจากวัตถุและแนวคิดทางวัฒนธรรมเหล่านี้
เมืองนครปฐมโบราณนี้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมความเชื่อ การค้าและเศรษฐกิจสืบเนื่องเรื่อยมาไม่แต่เฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ อันเป็นช่วงที่เริ่มปรากฏวัฒนธรรมแบบทวารวดีอย่างชัดเจนโดยมีการสันนิษฐานว่าน่าจะมีการติดต่อกับแหล่งอารยธรรมอินเดียก่อนหน้านั้นตั้งแต่ยุคอมราวดีในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙
นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานร่วมสมัยกับวัฒนธรรมแบบศรีวิชัยที่มีการนำพระพุทธรูปแบบปาละในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองของวัฒนธรรมแบบศรีวิชัยที่มักพบพระพุทธรูปแบบมหายานที่มีทั้งพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ พระธยานิพุทธเจ้าในคติแบบมหายาน อิทธิพลศิลปะแบบปาละทั้งลายปูนปั้นรอบฐานเจดีย์จุลประโทน พระพุทธรูปและพระพิมพ์แบบที่นิยมสร้างปางสมาธิและมีสถูปจำลองใต้ซุ้มวงโค้งต่างๆ
อันเป็นรูปแบบงานศิลปกรรมทางศาสนาที่แพร่กระจายไปพร้อมๆ กับการค้าทางทะเลซึ่งพบได้ตามเมืองท่าสำคัญๆ ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ ในบ้านเมืองร่วมสมัยของสหพันธรัฐศรีวิชัย
ความสืบเนื่องเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยาวนานของเมืองนครปฐมโบราณไม่หยุดอยู่เพียงนั้น เพราะพบร่องรอยรูปแบบศิลปกรรมในความเชื่อในอิทธิพลเขมรสมัยบายนและศิลปกรรมแบบลพบุรีที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ อีกด้วยดังพบรูปปูนปั้นที่ประดับเจดีย์วัดพระเมรุ บางส่วนจากวัดพระประโทน ตลอดจนพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย
บางองค์เป็นแบบทรงเครื่องในอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรแบบนครวัดและบางองค์เป็นแบบบายนลงมาแล้ว และยังมีพระพุทธรูปหินทรายแบบทรงเครื่องประทับยืนปางประทานอภัยแบบอิทธิพลศิลปะแบบบายน พระพิมพ์แบบอิทธิพลเขมรหรือที่เคยเรียกกันว่าแบบลพบุรี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ตรงกลางและมีพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดเล็กขนาบข้างอีกสององค์ในซุ้มปราสาท ซึ่งกล่าวกันว่าขุดพบที่วัดพระเมรุ
บางพิมพ์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิใต้ซุ้มโพธิ์ ซึ่งเคยพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ ราชบุรี ตลอดจนที่ปราสาทเมืองสิงห์เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ที่มีพระพุทธรูปนาคปรกด้านบนมีเหวัชระ เทพผู้พิทักษ์ ๘ พักตร์ ๑๖ กร ล้อมรอบด้วยนางโยคินี ๘ ตน ซึ่งพบทั้งที่เมืองนครปฐมและในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา โดยถูกกำหนดอายุไว้ในช่วงวัฒนธรรมเขมรแบบบายนในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ความสืบเนื่องในการเป็นเมืองทางพุทธศาสนาในคติแบบเถรวาทปะปนกับคติแบบมหายานที่ได้อิทธิพลมาจากบ้านเมืองในระดับนครรัฐขนาดใหญ่ที่มีศูนย์กลางบริเวณเหนือทะเลสาบเขมร คือเมืองพระนคร
โดยผ่านทางเมืองละโว้หรือลพบุรี ที่เป็นเมืองมาตั้งแต่ยุคสมัยทวารวดีและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความเชื่อในลุ่มลพบุรี-ป่าสักและอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน และมีความสัมพันธุ์ในทางเครือญาติกับกษัตริย์เมืองพระนครมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ (พ.ศ. ๑๕๔๕-๑๕๙๓) แล้ว
เมืองนครปฐมโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นอย่างน้อยนี้จึงไม่ได้ร้างผู้คน แต่หากสืบต่อการเป็นเมืองใหญ่ในรอยต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่กลอง และเป็นส่วนหนึ่งในมณฑละหรือสหพันธรัฐของบ้านเมืองที่รับอิทธิพลการสร้างเมืองรูปสี่เหลี่ยมและพุทธศาสนสถานแบบคติมหายานซึ่งรับมาอย่างชัดเจนจากเขมรสมัยบายนที่เมืองพระนคร
โดยมีเมืองสุพรรณภูมิที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบันนี้เป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองในลุ่มน้ำท่าจีนฝั่งตะวันตกคู่ขนานไปกับเมืองละโว้หรือลพบุรีที่อยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ตลอดไปจนถึงพระมหาธาตุใกล้ลำน้ำแม่กลองที่เมืองราชบุรี วัดกำแพงแลงที่เมืองเพชรบุรี เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ ตลอดจนเมืองครุฑที่ต้นน้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในภูมิภาคตะวันตกและเติบโตขึ้นมาจากการเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งสิ้น
พื้นฐานทางเศรษฐกิจและมีเส้นทางการค้าที่สำคัญทั้งทางบกแบบข้ามภูมิภาคและทางทะเลในการเดินเรือเลียบชายฝั่งของบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยานี้เอง ที่เป็นพื้นฐานการสถาปนานครรัฐขนาดใหญ่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ คือ ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’ ในเวลาต่อมา
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/สยามเทศะ-โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ-วิริยะพันธุ์-323215901674254
https://www.youtube.com/user/lekprapai/featured
https://siamdesa.org
https://www.instagram.com/siamdesa_lekprapai/?hl=th
https://lek-prapai.org/home
30 บันทึก
27
38
30
27
38
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย