Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Amarinbooks
•
ติดตาม
21 ส.ค. 2021 เวลา 12:00 • สิ่งแวดล้อม
มหาสมุทรของเราเป็นเหมือนฟองน้ำยักษ์ที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไว้ได้มากกว่าอากาศถึง 150 เท่า แทนที่เราจะทุ่มเทกับการดึงเอาคาร์บอนออกจากอากาศอย่างเดียว ทำไมเราไม่ลองดึงมันออกจากทะเลบ้างละ จากนั้นฟองน้ำยักษ์นั้นก็จะซับคาร์บอนให้เราเพิ่มได้อีกเพื่อให้ไปถึงจุดดุลยภาพเดิมของมัน นี่คือไอเดียที่วิศวกรสิ่งแวดล้อมและทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง ตอนนี้มันอาจเป็นเพียงประกายความหวัง แต่ถ้าเราขยายผลและต่อยอดถูกทิศทาง ประกายความหวังอาจกลายเป็นหนทางแห่งอนาคต
โจทย์เร่งด่วนที่สุดที่มนุษยชาติกำลังผนึกกำลังกันแก้คือ ทำอย่างไรจะลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศได้ เพราะคาร์บอนคือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนขึ้น ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าหากเราไม่อาจทำตาม "ความตกลงปารีส" ได้ (ซึ่งหลักๆ คือลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์สุทธิในปี 2050 เพื่อคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงไปกว่า 2 องศาเซลเซียส) เราทั้งหมดและสรรพชีวิตที่เรารู้จักจะพบจุดจบเป็นแน่ และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ นำโดยสาวน้อยเสื้อกันฝนเหลืองอย่างเกรต้า ธุนเบิร์ก หรือมหาเศรษฐีอย่างบิล เกตส์ ที่กลายเป็นผู้หมกมุ่นกับปัญหาโลกร้อน โดยให้ทุนวิจัยโครงการจำนวนมากผ่านมูลนิธิของเขา และยังมีคนเก่งอีกหลายแขนงทั่วโลก ที่ต่างก็ทุ่มเทสรรพกำลังสมองแก้ปัญหาเรื่องนี้ในแนวทางของตน
แน่นอนการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์สุทธิดูเป็นเรื่องเพ้อฝัน เราจะลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดนั้นได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตมากมายบนโลกยังต้องดำเนินต่อไป คำตอบคือเป็นไปได้ เพราะนอกจากลดกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนแล้ว หนทางที่เรากำลังทำไปพร้อมกันคือขจัดคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาแล้วด้วย และหนึ่งในกรรมวิธีที่หลายคนอาจเคยได้ยินกันบ้างแล้วคือ Direct Air Capture หรือ DAC ที่เป็นเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนในระดับอุตสาหกรรม ปัจจุบันเรามีเจ้าเครื่องที่ว่านี้อยู่ 15 เครื่องเปิดใช้งานอยู่ทั่วโลก ดักจับคาร์บอนออกจากอากาศได้ราวปีละ 9,000 ตัน ฟังดูเยอะ แต่ปัญหาคือเราปล่อยออกมาตั้ง 5.1 หมื่นล้านตันแน่ะ แปลว่าวิธีนี้อย่างเดียวไม่พอ และที่สำคัญคือมันยังมีต้นทุนแพงมหาศาล
ต้นปีที่ผ่าน ศาสตราจารย์กุสตาฟ ซอนต์ ผู้อำนวยการสถาบันจัดการคาร์บอนแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย จึงนำเสนอการงานวิจัยล่าสุดของเขาและทีมงานที่จะช่วยแก้ปัญหานี้อีกทาง ด้วยการดึงเอาคาร์บอนออกจากมหาสมุทรโดยทำให้มันกลายเป็นหินซะ หลักการคือน้ำทะเลมีองค์ประกอบเป็นแคลเซียมและแมกนีเซียมอยู่แล้ว เมื่ออิออนของมันผสมเข้ากับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับไปจากอากาศ จะเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้มันกลายสภาพเป็นแคลไซต์หรือแมกนีไซต์ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการก่อตัวของเปลือกหอยแข็งๆ หรือหินปูน ซอนต์และทีมพบว่าหากเพิ่มส่วนผสมเข้าไปอีกอย่าง นั่นคือไฟฟ้า มันจะกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยานี้ให้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้น
นอกจากเป้าหมายเพื่อลดอุณหภูมิโลกแล้ว วิธีการนี้ยังมีผลพลอยได้น่าสนใจ นั่นคือในกระบวนการทางเคมี พวกเขาจะได้แก๊สไฮโดรเจนซึ่งสามารถนำไปขายและสร้างรายได้ให้โครงการเลี้ยงตนเองได้ อีกทั้งน้ำทะเลปราศจากคาร์บอนที่พวกเขาส่งกลับคืนมหาสมุทรจะมีค่าเป็นด่าง ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหามหาสมุทรเป็นกรดได้อีกด้วย
ปัญหาที่อาจยังต้องขบคิดต่อคือ เมื่อแปลงคาร์บอนจากทะเลเป็นของแข็งได้แล้ว เราจะทำอะไรดีกับของแข็งเหล่านั้น การดึงคาร์บอนหนึ่งพันล้านตันออกจากมหาสมุทร จะทำให้เราได้คาร์บอนเนตแข็งๆ สองพันล้านตัน ดร.ซอนต์แนะไอเดียว่าสามารถนำไปผ่านกระบวนการเคมีเพื่อทำเป็นคอนกรีตสำหรับสร้างอาคารบ้านเรือนได้ แต่ด้วยสัดส่วนแล้ว แม้จะนำไปใช้เพื่อการก่อสร้างได้จริง ก็น่าจะยังเหลืออีกมากที่อาจต้องถูกทิ้งกลับลงทะเล และย่อมเป็นการทำร้ายระบบนิเวศน์ทางทะเลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน และนั่นคือผลข้างเคียงที่ทีมวิจัยของซอนต์พยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด
ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และไม่เพียงแต่ทีมของศาสตราจารย์ซอนต์เท่านั้น ยังมีอีกหลายทีมร่วมสร้างโปรโตไทป์ทำนองเดียวกัน เพื่อเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปริมาณคาร์บอนที่จะลดลง เวลาที่ต้องใช้ พลังงานที่ต้องใช้ ด้วยความหวังว่าถ้าต่อยอดได้จริงจัง เราอาจสร้างกระบวนการนี้ได้ในระดับมหภาค และมันอาจประกอบรวมกับหนทางอื่น เพื่อเป็นทางรอดของเรา
ข้อมูลอ้างอิง
https://pubs.acs.org/doi/full/10.1021/acssuschemeng.0c08561
https://www.sciencedirect.com/.../abs/pii/S175058361730436
https://www.iea.org/reports/direct-air-capture
https://www.hakaimagazine.com/?xid=PS_smithsonian
สำนักพิมพ์ Sophia
12 บันทึก
27
2
11
12
27
2
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย