23 ส.ค. 2021 เวลา 10:30 • ประวัติศาสตร์
คณะราษฎร ตอนที่ 5 : การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทย ทำไมเราอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น ?
การที่ประเทศไทยเราเข้าร่วมกับประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายๆ คน อาจจะเคยได้ยินมาแล้วว่า ญี่ปุ่นบุกสายฟ้าแลบยกพลขึ้นบกมาหลายๆ จังหวัดที่ภาคใต้ของไทย มีการปะทะต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นโดย ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ และชาวบ้านอาสาอยู่หลายชั่วโมงตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 หรือ ค.ศ. 1941 ถึงช่วงสายของวันรุ่งขึ้นถึงหยุดยิง ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นทำการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ต่อมารัฐบาลไทยขณะนั้นก็ยอมให้ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านไปแนวรบพม่าที่เป็นของอังกฤษ ก่อนที่ในอีกไม่กี่วันต่อมาเราจะถูกบังคับ(เขาบอกมาว่างั้น) ให้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเป็นเพื่อนญี่ปุ่น
แต่ในความเป็นจริงเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น ? ทำไมญี่ปุ่นบุกมาหาเราง่ายจัง กองทัพเรือเราหายไปไหนหมด อย่าลืมนะ! การที่เราไม่ได้รบกับญี่ปุ่นจริงจัง มันก็น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจในช่วงจบสงครามไม่ใช่เหรอ แล้วไหนว่าโดนบังคับไง ?
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือก่อนญี่ปุ่นจะบุกประมาณหนึ่งเดือน ข่าวสารในบ้านเมืองตอนนั้นก็เป็นที่แน่ชัดว่ามหาสงครามมาแน่ เหลือแค่ว่าเราจะถูกบุกวันไหนเท่านั้นเอง สัมพันธมิตรจะชิงบุกก่อนหรือญี่ปุ่นจะบุกก่อนและในที่สุดญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่ชุมพรในช่วงเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941)
เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมายของฝ่ายสัมพันธมิตร มีเอกสารจากคณะรัฐมนตรีอังกฤษส่งไปวอชิงตันดีซีตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม แจ้งและขอคำยืนยันความสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่าอังกฤษจะขอให้ไทยต่อสู้กรณีที่ถูกญี่ปุ่นบุก และอังกฤษยืนยันจะช่วยปกป้องเอกราชของไทยอย่างเต็มที่ และนอกจากนั้นก็ยังมีบันทึกของทูตอังกฤษในไทย (Sir Josiah Crosby) แจ้งข่าวไปยังรัฐบาลอังกฤษในช่วงก่อนจะมีการโจมตี ซึ่งก็เป็นการยืนยันว่าทุกฝ่ายก็รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทางการไทยโดยนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ตอนนั้นได้ขอร้องกับทางทูตอังกฤษว่า ขออย่าให้กองกำลังของอังกฤษบุกมาในไทยก่อนเลย ไม่อยากให้บริเตนเป็นฝ่ายละเมิดความเป็นกลางของไทยและก็บอกว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลไทยก็รับรู้ว่าญี่ปุ่นจะโจมตีตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม แต่ญี่ปุ่นเลื่อนออกไปในนาทีสุดท้าย
ทูตครอสบี้ยังได้เสนอรัฐบาลอังกฤษว่า อังกฤษควรเสนอตัวส่งกำลังทหารอังกฤษมาร่วมปกป้องภาคใต้และทูตครอสบี้ก็เชื่อว่าไทยจะย้ายไปตั้งรัฐบาลที่ภาคเหนือแทน สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นตอนกลางดึกคืนวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ราวๆ สี่ทุ่ม เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในตอนนั้น และทูตทหารอีกหนึ่งคน เดินทางมาขอเข้าพบคณะรัฐมนตรีแบบฉุกเฉินที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตอนนั้นอยู่ที่วังสวนกุลาบ ทูตญี่ปุ่นแจ้งกับรัฐบาลไทยว่าจะมีการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาตี 1 และยื่นคำขาดขอเดินทัพผ่านประเทศไทย เพื่อโจมตีพม่าและมลายูของอังกฤษโดยไม่ต้องการปะทะกับฝ่ายไทย หรือจะให้ดีก็ให้ไทยเข้าร่วมกับทางญี่ปุ่นไปด้วยเลย
รัฐบาลไทย ณ จังหวะนั้น ไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีจอมพล ป. อยู่ที่ไหน รู้แต่ว่าไปราชการต่างจังหวัด รัฐมนตรีที่เหลืออยู่ก็พยายามเจรจาว่า ให้ญี่ปุ่นเลื่อนเวลาบุกออกไปก่อน เพราะทางไทยบอกว่ามีเพียงนายกรัฐมนตรีซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารสูงสุดเท่านั้นที่ออกคำสั่งทางการทหารได้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ก็มีโทรเลขจากวินสตัน เชอร์ชิล ถึงนายกรัฐมนตรีของไทยอีกด้วย ยืนยันให้ไทยสู้ญี่ปุ่น โดยมีใจความว่า “เราจะถือว่าการโจมตีต่อท่านเหมือนการโจมตีต่อเรา” (we shall regard an attack on you as an attack upon ourselves) ดูเหมือนจะเป็นความห่วงใย แต่ก็คือคำขาดบอกให้เลือกข้างได้แล้วนั่นแหล่ะ
สำหรับญี่ปุ่น เจอเหตุผลไทยไปว่าคนตัดสินใจไม่อยู่ ให้กลับไปรอก่อนได้มั้ย ? ก็คงจะแบบว่า แบบนี้ก็ได้เหรอ ? สรุปว่าญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกในเวลาตีสองของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ในหลาย ๆ พื้นที่ของภาคใต้ตั้งแต่ ปัตตานี, สงขลา, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์ มาถึงใกล้กรุงเทพมาก ๆ ก็คือบางปูนี่เอง ซึ่งแม่ทัพเรือพลเรือโทสินธ์ กมลนาวิน หรือ หลวงสินธุสงครามชัย ถูกญี่ปุ่นกักตัวไว้ที่นี่หลายชั่วโมง และความแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งของวันนั้นคือ ไม่มีการปะทะของกองทัพเรือไทยกับกองทัพญี่ปุ่นเลย ไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้ แต่ทะลุมาเกือบถึงกรุงเทพ คำอธิบายส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าญี่ปุ่นใช้เรือขนสินค้าบังหน้า อำพรางการป้องกันของไทยจึงสามารถเข้ามาได้
ทางด้านผู้นำไทย กว่าจะเจอตัวจอมพล ป. ว่ากำลังเดินทางมาจากจังหวัดพระตะบอง กว่าจะมาประชุม ครม. จนตัดสินใจออกคำสั่งหยุดยิงตามที่ญี่ปุ่นต้องการก็คือตอน ช่วง 8 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น หลังจากมีการปะทะกันของกองกำลังของไทยยาวนานถึง 6 ชั่วโมง และในพื้นที่ห่างไกลที่ติดต่อกันยาก อย่างเช่นที่สงขลากับปัตตานีก็ยังคงมีการปะทะต่อจนดึก ส่วนทางน้ำก็ถือว่าโชคดีนะครับที่ทหารเรือไทยไม่ต้องเสียสละเลือดเนื้อชีวิตเพราะทหารญี่ปุ่นปลอมตัวเป็นเรือสินค้าก็เลยไม่รู้
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการตัดสินใจภายในคณะรัฐมนตรีก็มีความเห็นไปในแนวทางว่า ลดความเป็นเอกราชลงไปบ้าง ดีกว่าเสียไปเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือ ยอม ๆ ไปดีกว่าจะฆ่าตัวตาย สำหรับโทรเลขคาดคั้นให้เลือกข้างพร้อมเสนอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล แห่งสหราชอาณาจักรก็มาถึงมือจอมพล ป. หลังการตัดสินใจหยุดยิงได้ออกมาเรียบร้อยแล้ว เป็นอีกหนึ่งความล่าช้า ที่ยังหาคำตอบไม่ได้พอ ๆ กันกับที่กองทัพเรือใส่เกียร์ว่างในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน
1
วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) สามเดือนก่อนเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก มีการออกกฎหมายเรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ” มีเพียงไม่กี่มาตราแต่ดุมาก
มาตรา 5 คนไทยทุกคนต้องทำการต่อต้านข้าศึกทุกวิถีทางด้วยกำลังอาวุธ กำลังทรัพย์ หรือกำลังอื่นใดตามคำสั่งของราชการ แต่เมื่อตกอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถรับทราบคำสั่งของราชการได้ ก็ต้องจัดการต่อต้านต่อไปตามวิถีทางที่ทำได้จนถึงที่สุด อย่างเช่น ถ้าหานายกรัฐมนตรีไม่เจอ คณะรัฐมนตรีไม่ยอมตัดสินใจ ก็ให้ประชาชนสู้ให้ถึงที่สุดไปก่อน อะไรแบบนี้หรือเปล่า ?
มาตรา 7 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฎิบัติตามมาตรา 4 หรือ มาตรา 5 มีความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ทรัพย์สินสมบัติส่วนตัวของผู้ที่กระทำผิดตามวรรคก่อน ให้ริบเสียสิ้น
ก่อนจะเป็น พรบ. ยังมีแถลงการณ์มาพร้อม ๆ อีกกันด้วย มาลองดูบางช่วงกัน
“ในกรณีอันร้ายแรงเช่นนี้ (หมายถึงการถูกรุกรานโดยชาติอื่น) ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับความเป็นตายของชาติ ประชาชนชาวไทยก็ตกอยู่ในฐานะจำเป็นที่จะต้องต่อสู้จนกว่าจะหมดลมหายใจ ถึงศัตรูจะมีอำนาจใหญ่หลวงเพียงใดก็ตาม เมื่อเกิดมาเป็นไทยแล้ว ต้องสู้จนสิ้นกำลัง ชาติไทยย่อมรู้สึกว่าเป็นชาติเล็ก ไม่มีกำลังอำนาจมากมาย แต่ก็ยินตีที่จะยอมตายด้วยความเป็นไท ดีกว่าอยู่ด้วยความเป็นทาสเมื่อจำเป็น ถึงชาติไทยจะต้องสู้จนสิ้นชาติ ชื่อของไทยก็คงดำรงอยู่ตลอดชั่วกาลปาวสานว่าเป็นนักสู้จนตัวตาย” ยังไม่นับพวกเพลงปลุกใจ ที่เปิดทางวิทยุต่าง ๆ โหมกระพือความรักชาติ เราสู้จนตัวตาย เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว กระหน่ำใส่ประชาชนแบบไม่ยั้งมาเป็นเวลานาน
วันนั้นการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น ในช่วงที่รัฐบาลหาตัวนายกฯ ไม่เจอ ครม.ไม่ยอมตัดสินใจนั้น มีคนไทยรบกับญี่ปุ่นจนตัวตายตามหน้าที่ที่รัฐบาลออกกฎหมายสั่งไว้ถึง 222 คน บาดเจ็บอีก 164 คน
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา หลวงวิจิตรวาทการ นักสร้างละครปลุกใจคนสำคัญก็ยังรายงานจอมพล ป.ว่า “ครอสบี้ (ทูตอังกฤษ) ก็เห็นใจ แต่พูดเยาะเย้ยว่า ไม่ควรไปโม้แต่แรกว่าจะสู้จนคนสุดท้าย แต่พอ 6 ชม. เท่านั้นก็ยอมแล้ว”
จอมพลป. ตอบว่า “ก็ไม่มีใครสู้จนคนสุดท้ายทั้งนั้น” แล้วก็หันไปพูดเรื่องอื่นต่อ ...
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ก่อนที่จะเล่าต่อ ต้องหยุดตรงนี้ก่อนครับ เพราะถ้าไม่หยุดจะกลายเป็นว่า เรากำลังบอกว่าจอมพล ป. นี่เป็นผู้ร้ายคบหาไม่ได้ ขอย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นของคณะราษฎรที่น่าจะอธิบายที่มาที่ไปของเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเละเทะนี้ ว่ามันเป็นความเละเทะหรือเป็นความเละเทะที่เกิดจากการวางแผนหรือเปล่า ?
ย้อนกลับไปเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 หรือ ค.ศ. 1932 และแน่นอนทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเองแบบโดด ๆ แต่ล้วนเป็นเหตุหรือเป็นผลต่อกันเสมอ สยามหรือประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เหตุการณ์สำคัญที่ต่อมาส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ในประเทศไทยโดยตรงในห้วงเวลานั้นก็หนีไม่พ้นสงครามญี่ปุ่นจีน ซึ่งในปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) ญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดแมนจูเรีย ตั้งประเทศชื่อว่า ‘แมนจูกัว’ แล้วก็จัดการเชิญจักรพรรดิผูอี๋จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงขึ้นครองราชย์ นี่คือ 1 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม ในตอนนั้นญี่ปุ่นเรียกว่าเป็นมหาอำนาจในเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ดูจะต่อกรกับจักรวรรดินิยมตะวันตกได้
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มขึ้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมดก็ล้วนเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิใดจักรวรรดิหนึ่ง พม่าเป็นของอังกฤษ อินโดจีนเป็นของฝรั่งเศส ดินแดนทางใต้ตั้งแต่มลายูลงไปเป็นของอังกฤษและดัทช์ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎรเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดพื้นฐานว่าชาติคืออะไร จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่บอกว่า ชาติ คือ พระมหากษัตริย์ กษัตริย์คือเจ้าของของทุกสิ่งทุกอย่างและคนทุกคนในดินแดนนี้ เปลี่ยนมาเป็น ชาติ คือ ประชาชน และประชาชนคือเจ้าของของทุกสิ่งทุกอย่างในดินแดนนี้และคนทุกคนมีเจตจำนงค์เสรี บางครั้งเราลืมไปนะครับว่า แนวคิดของ 2475 มันยิ่งใหญ่และให้เกียรติภูมิต่อความเป็นมนุษย์ของเรามากขนาดไหน
คราวนี้ เมื่อชาติเปลี่ยนมือจากของที่เป็นของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวมาเป็นของ ๆ ประชาชนทุกคนเสียแล้ว ความสูญเสียดินแดน พื้นที่ อาณาบริเวณ สิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งในประวัติศาสตร์ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ย่อมจะไม่ใช่ความสูญเสียเฉพาะของครอบครัวกษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นความสูญเสียของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศด้วย นี่คือสิ่งที่คณะราษฎรตระหนักและพยายามชี้ให้ประชาชนเห็นและรู้สึก นโยบายชาตินิยมของคณะราษฎรที่มีความเข้มข้นสูงมากในยุคที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งอยู่บนบริบทเช่นนี้เอง
เราจะไม่พูดถึงความย้อนแย้งเกี่ยวกับการปกครองแบบรัฐโบราณและรัฐชาติสมัยใหม่ที่การเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเรียกว่า “เสียดินแดน” ได้จริงหรือไม่ และดินแดนที่ว่าเราเสียไป มันเคย “เป็นของเรา” ในบริบทของรัฐชาติสมัยใหม่ด้วยหรือเปล่า ? ในกระบวนการสร้างชาติอันเป็น รัฐชาติ ยุคใหม่ของคณะราษฎร เค้านับว่าเหตุการณ์ ร.ศ. 112 นั้น เป็นความเสียหายของชาติและของคนไทยทุกคน
นอกจากนี้การสูญเสียเอกราชทางด้านการศาลด้วยการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และเอกราชทางเศรษฐกิจจากการถูกจักรวรรดินิยมกำหนดอัตราภาษีเอง ทำให้คนไทยต้องเสียเปรียบและอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เมื่อคิดจากฐานที่ว่าชาติคือประชาชน ก็สรุปได้เพียงอย่างเดียวว่าศัตรูของชาติจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศส
การที่คณะราษฎรประกาศตนเป็นนักชาตินิยม และประกาศว่าชาติคือประชากรและอาณาบริเวณของรัฐชาติ รัฐชาติ(ไม่ใช่พระมหากษัตริย์) นั้นทำให้รัฐบาลจอมพล ป. ต้องเป็น anti-imperialists และไป "ทวงคืน" ดินแดนที่เสียไปเพราะกษัตริย์มัวแต่ประนีประนอมกับจักรวรรดินิยมมากเกินไป ดังนั้นตามตรรกะนี้มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ความรักชาติแบบคณะราษฎรจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรก็คือฝ่ายจักรวรรดินิยมนั่นเอง ส่วนการออกกฎหมายว่าประชาชนต้องสู้กับข้าศึกศัตรูของชาติก็เป็นไปตามตรรกะดังกล่าวข้างต้น คือประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ดังนั้นก็ต้องช่วยกันปกป้องประเทศ จะมานั่งอยู่เฉยๆ รอให้เจ้าเอาประเทศไปยกให้คนอื่นเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิไม่ได้
ดังนั้น จอมพล ป. ออกกฎหมายมา จะตั้งใจให้คนทำตามจริง ๆ หรือไม่คงไม่มีใครรู้เพราะจอมพล ป. ก็ไม่อยู่ให้ถามแล้ว แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ดูเหมือนจะมีความตั้งใจให้ทุกอย่างช้าและไม่มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้เกิดการเสียเลือดเนื้อชีวิตกันไปจำนวนหนึ่งเพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างในภายหลังได้ว่าเราถูกบังคับให้ร่วมกับญี่ปุ่นในกรณีที่ซวยแล้วญี่ปุ่นแพ้จริง ๆ
แต่เอาจริง ๆ ในช่วงต้นใคร ๆ ก็คิดว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม ไม่เพียงแค่การถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ แต่ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ถึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นรุกหนักมาก สามารถจมเรือรบอังกฤษได้หลายลำ (10 ธันวาคม) ยึดเกาะกวมและเกาะเวคที่ตั้งของฐานทัพอเมริกัน (13และ20ธันวาคม) ยกพลขึ้นบกที่ฟิลิปปินส์ (22 ธันวาคม) ยึดเกาะฮ่องกง (25 ธันวาคม) และยกพลขึ้นบกที่อินโดนีเซีย (11 มกราคม) ด้วย ส่วนรัฐบาลไทยนั้นก็ตัดสินใจเข้าข้างญี่ปุ่นหลังการยกพลขึ้นบกเพียง 13 วัน จากที่สัญญาให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเฉยๆ รัฐบาลไทยก็ยอมรับข้อเสนอในการร่วมรบกับญี่ปุ่น ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) และ ถัดมาอีกเพียงหนึ่งเดือน เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มทิ้งระเบิดในไทย ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ไทยก็ประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรอังกฤษและสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ
ข้อดีและข้อเสียของการเข้าข้างญี่ปุ่น
คุณว่าเราได้อะไร และเสียอะไรไปบ้าง ? ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองกับทางญี่ปุ่น ถ้าเริ่มมองจากสิ่งที่ดูเป็นข้อดีหรือข้อได้เปรียบคือ ญี่ปุ่นสามารถตอบโจทย์รัฐบาลของจอมพล ป. ในการสานต่อนโยบายชาตินิยม ช่วยต่อต้านชาติตะวันตก ซึ่งสำหรับสงครามภายในประเทศก็เป็นการต่อต้านระบอบเก่าซึ่งก็คือระบอบนิยมเจ้าไปด้วย สิ่งที่ฮิตที่สุดในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ก็คือการ “ทวงคืน” ดินแดนที่เคยเสียไปคืนมา
การทวงคืนดินแดนภาคสองเริ่มในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ไทยช่วยญี่ปุ่นยกทัพไปทางเหนือรุกเข้าไปในรัฐฉาน พร้อมๆ กับที่ญี่ปุ่นบุกมัณฑเลย์ และอีกหนึ่งปีต่อมา ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสงครามญี่ปุ่น โตโจ ฮิเดกิ ก็เดินทางมากรุงเทพฯ ดำเนินการยกดินแดนจากอังกฤษให้ไทย ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยอาณาเขตของประเทศไทยในมาลัยและภูมิภาคฉาน (20 สิงหาคม พ.ศ. 2486) ซึ่งได้แก่เชียงตุงและเมืองพานในพม่า และสี่รัฐในมลายูคือ กลันตัน ตรังกานู เคดาห์ และเปอร์ลิส
มีบันทึกโดยแม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (นากามูระ อาเคโตะ) บอกว่า การต้อนรับนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นยังไม่ยากเท่าการต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทย เพราะจอมพล ป.ระวังตัวมาก ไม่กินอาหารนอกบ้าน เวลามางานเลี้ยงที่ญี่ปุ่นจัดให้ ก็เอาอาหารมาเองจากบ้านทุกครั้ง แต่ก็อย่างว่า คนโดนวางยาพิษมาแล้วถึง 2 ครั้ง จะเที่ยวไปกินอะไรซี้ซั้วก็คงจะหวาดเสียวเกินไป
อย่างไรก็ตามทั้งดินแดนของฝรั่งเศสและอังกฤษที่ไทย “ได้คืนมา” ด้วยความช่วยเหลือของมหามิตรญี่ปุ่น ทำให้แผนที่ประเทศไทยในยุคจอมพล ป. และคณะราษฎรมีความยิ่งใหญ่กว่าในสมัยอดีตไม่ว่าจะในรัชกาลไหนๆ พูดง่ายๆ จอมพล ป. และคณะราษฎร สามารถคุยโวได้เต็มที่ว่าทำให้ประเทศไทยยิ่งใหญ่กว้างไกลไฮโซได้มากกว่าผู้นำทุกคนที่ผ่านมานั่นแหละ ซึ่งจอมพล ป. และคณะราษฎรรวมทั้งปรีดี พนมยงค์เองก็ร่วมรับความดีความชอบนี้ไปเต็ม ๆ ในห้วงเวลานั้น ส่วนสี่จังหวัดใหม่ในอินโดจีนซึ่งได้มาจากการทวงคืนครั้งแรกที่ได้มาจากการช่วยเหลือจากญี่ปุ่นเช่นกัน ได้แก่ จังหวัดล้านช้าง, พระตะบอง, พิบูลสงคราม และจําปาศักดิ์ ก็คือที่มาของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอันใหญ่โตกลางเมืองหลวงนี่แหละ
ได้ดินแดนมาเยอะ ๆ มันก็คงดี แต่เมื่อได้ก็ต้องมีเสียเป็นธรรมดา มาดูกันว่าราคาที่ประเทศไทยต้องจ่ายในการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นคืออะไรบ้าง
อันดับแรก แน่นอน เอกราชของประเทศที่ “ต้องลดลงมาบ้าง” เพื่อรักษาเอกราชทั้งหมด อันดับต่อมาที่น่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกกันมากคือเรื่องของเศรษฐกิจ คู่ค้าที่เคยขายข้าว ยาง ดีบุก และเราได้ดุลการค้า เช่น อังกฤษ จีน สหรัฐ ก็เลิกกันไป เหลือค้าขายกับญี่ปุ่นประเทศเดียว ทำให้รายได้ของประเทศหายไปเยอะมาก ภาษีศุลกากรที่เคยเก็บได้ก็ลดฮวบ เหลือเพียง 50% ในปี พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) จนสงครามจบลงในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ภาษีศุลกากรที่เก็บได้ก็เหลือเพียง 1 ใน 5 ที่เคยเก็บได้ก่อนสงคราม เงินสำรองระหว่างประเทศประมาณ 60% ถูกเก็บไว้ในบัญชีที่ลอนดอนและนิวยอร์ก
และเมื่อถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงขึ้น สินค้าญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน สินค้าอุปโภคบริโภคแพง เสื้อผ้า, ยา, น้ำตาล, ไม่ขีดไฟ, น้ำมันก๊าด, สบู่, แปรงสีฟัน, เหล็ก, ตะปู อะไหล่รถยนต์ กลายเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมอย่างหนัก ภาวะเงินเฟ้อก็รุนแรงมาก ๆ เมื่อสิ้นสุดสงคราม มูลค่าเงิน 100 บาทมีค่าเท่ากับ 9 บาท ก่อนเข้าสู่สงคราม เรียกว่าเฟ้อถึง 10 เท่า เลยทีเดียว
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ สาเหตุใหญ่อันนึงก็คือ กองทัพญี่ปุ่นต้องการที่จะกู้เงินไทยมาใช้โดยขอกู้เป็นเงินบาท โดยมีหลักประกันเป็นทองและเงินที่เก็บไว้ที่ญี่ปุ่น พูดง่ายๆ ก็คือเราต้องพิมพ์แบงค์เงินบาทออกมาให้ญี่ปุ่นใช้เป็นจำนวนมหาศาล ทั้ง ๆ ที่มันมีวิธีการแก้ปัญหาที่เอาเปรียบไทยน้อยกว่าและปลอดภัยกว่า นั่นก็คือกองทัพญี่ปุ่นสามารถพิมพ์แบงค์พิเศษเองและใช้เองเป็นเงินเยน หรือที่เรียกว่า Invasions note เพื่อจะได้ไม่กระทบกระเทือนเงินบาท พอสงครามจบจะเคลียร์หนี้กันยังไงก็ว่ากันไป
ตอนนั้นการพิมพ์แบงค์ใหม่ เยอะมากชนิดที่ว่าโรงพิมพ์ต่อเนื่องถึงวันละ 20 ชั่วโมงเลย เงินเฟ้อจนประเทศไทยต้องพิมพ์แบงค์พันใช้เป็นครั้งแรก จากก่อนหน้านี้ที่มูลค่าสูงสุดอยู่ที่แบงค์ร้อย โดยรวมจนสงครามจบไทยก็ให้ญี่ปุ่นกู้ไปทั้งหมด 1,500 ล้านบาทด้วยกัน มหามิตรยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น การทำสงครามนี่มันแพงมากกกก ญี่ปุ่นยังขอให้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินเป็น 1 บาท เท่ากับ 1 เยนอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้น 100 บาทจะอยู่ที่ประมาณ 150 เยน เท่ากับว่าเราต้องลดค่าเงินบาทให้ญี่ปุ่น ถึง 33% ต้องซื้อสินค้าอุปโภคผูกขาดจากญี่ปุ่นในราคาสูงกว่าเดิม และก็ต้องขาย ข้าว, ยาง, ดีบุก ให้ญี่ปุ่นในราคาต่ำกว่าเดิม
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
เงินกู้ที่ว่านี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟที่ญี่ปุ่นสร้างเพิ่มขึ้นสองสาย ก็คือสายใต้ ชุมพร-กระบุรี (หรือทางรถไฟสายคอคอดกระ) และสายพม่า คือหนองปลาดุก-กาญจนบุรี-ทันบีอูซายัต หรือที่เรารู้จักกันในนามทางรถไฟสายมรณะ ที่กว่าจะสร้างเสร็จก็ต้องสูญเสียชีวิตเชลยและแรงงานจำนวนมหาศาล
เพื่อให้การพิมพ์แบงค์และปรับอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น คนที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ปรีดี พนมยงค์ ก็ต้องถูกปรับออกจาก ครม. เอาไปเก็บไว้โดยให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
นอกจากนี้นายวิลาศ โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม ก็ถูกปรับออก เช่นเดียวกัน ดิเรก ชัยนาม พ้นจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ไปเป็นทูตที่โตเกียวแทน จากบันทึกต่างๆ และคำให้การในชั้นศาลอาชญกรรมสงคราม มีการอธิบายในทำนองว่าจอมพล ป. ทำตามความคิดเห็นของฝ่ายญี่ปุ่นที่ไม่สบายใจและไม่ไว้ใจรัฐมนตรีหลาย ๆ คนว่า จะเข้าข้างอังกฤษ จอมพล ป.จึงตั้ง คณะรัฐมนตรีสงครามตามคำแนะนำของญี่ปุ่น ก็ทำให้รัฐมนตรีที่เป็นคณะราษฎรสายพลเรือนหายไปหลายคน ก็เรียบร้อยโรงเรียนญี่ปุ่นกันไป
มีการประมาณการว่า ช่วงเวลานั้นน่าจะมีทหารญี่ปุ่นประจำการในไทยทั้งหมดกว่า 5 หมื่นนาย และเมื่อมีการถอยทัพร่นลงมาจากพม่าและทางตอนเหนือ ก็อาจจะมีจำนวนถึง 1.2 แสนนาย ทหารต่างชาติจำนวนห้าหมื่นนายในประเทศเป็นจำนวนเดียวกันกับจำนวนทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในไทยตอนสงครามเวียดนาม
นอกจากความเสียหายในทางเศรษฐกิจแล้ว ความลำบากของคนไทยโดยเฉพาะคนภาคกลางและภาคเหนือก็คือ การโดนฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งเครื่องบินมาจากฐานทัพของอังกฤษและสหรัฐฯ ในพม่าอินเดียและจีน ทิ้งระเบิดตลอด 3 ปี มีการบันทึกว่าเฉพาะในกรุงเทพและธนบุรี มีการเปิดหวอเตือนภัยกว่า 143 ครั้ง กรุงเทพถูกระเบิดหนักที่สุด ไม่ว่าจะที่สถานทูตญี่ปุ่น, โรงงานรถไฟที่มักกะสัน, สะพานพระราม 6, สะพานพุทธฯ, สะพานที่ราชบุรี, พระบรมมหาราชวัง, พระที่นั่งอัมพรฯ, สภากาชาด, วังสระปทุม, ไปรษณีย์กลาง, โรงพยาบาลบางรัก(ทุบไปแล้ว), โรงพยาบาลจุฬาฯ, หัวลำโพง, สถานีบางกอกน้อย, โรงไฟฟ้าวัดเลียบ และสามเสน หรือภาคเหนือโดยเฉพาะที่สถานีรถไฟเชียงใหม่มีคนตายเป็นร้อย (21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486)
ทุกท่านก็ทราบตอนจบกันอยู่แล้วว่าฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ช่วงต้นปี พ.ศ. 2486 สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ฝ่ายอักษะเริ่มเสียเปรียบมากขึ้นทุกวัน ด้วยความมั่นใจนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 เหล่าผู้นำชาติสัมพันธมิตร ได้แก่เชอร์ชิลล์, รูสเวลต์, เจียงไคเชค และ สตาลิน ได้พบปะประชุมกัน ที่ ไคโร, เตหะราน และยัลต้าในไครเมีย เพื่อหาวิธีจัดการกับเยอรมันนาซีและญี่ปุ่นหลังสงครามโลกจบ
พูดง่ายๆ ก็เริ่มแบ่งเค้กกันแล้ว ใครจะเข้าไปปลดอาวุธและจัดระเบียบประเทศไหนที่ญี่ปุ่นยึดครอง เยอรมันต้องถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน การจะไปหักคอให้เซ็นสนธิสัญญา ชดเชยค่าปฏิกรรมสงคราม จนประเทศเป็นหนี้ชั่วลูกชั่วหลาน มันเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามโลก อันนี้มีบทเรียนแล้ว การให้แต่ละชาติสัมพันธมิตรเข้าแบ่งประเทศไปควบคุมเองจะเป็นการแก้ปัญหาป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งก็เกิดสงครามในรูปแบบใหม่แทน กลิ่นของสงครามเย็นเริ่มโชยขึ้นมาแล้ว
ตัดภาพกลับมาเมื่อไทย การหาวิธีแพ้แบบดูไม่แพ้ก็เริ่มเป็นเรื่องหลัก การจะตีกันเชียงหนีจากญี่ปุ่น ก็ต้องมีคนที่โดนโบ้ย คนๆ นั้นจะเป็นใครไปได้นอกจาก ตัวผู้นำสูงสุด จอมพล ป. นั่นเอง จอมพล ป. เริ่มถูกโดดเดี่ยวจากทุกฝ่ายในเกมการเมืองไทย โดยเฉพาะจากคณะราษฎรด้วยกันเอง ที่ยังมีอิทธิพลทั้งในสภาผู้แทนราษฎร ในคณะรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการ ที่เคยค้ำจุนอำนาจให้จอมพล ป. มาตลอด พอเริ่มถูกลอยแพ จอมพล ป. เลยหวาดระแวง จนเกิดเหตุการณ์ไม่อ่านไลน์กลุ่มขึ้นครั้งแรกในการเมืองไทย นั่นก็คือในค่ำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 อยู่ดีๆ ก็มีข่าวใหญ่ออกวิทยุว่า จอมพล ป. ขอลาออกจากการเป็นนายกฯ แต่ในเช้าวันต่อมา ก็ออกข่าวใหม่บอกว่าเรื่องเมื่อวานเป็นเรื่องการข่าวคลาดเคลื่อน นั่นแหละ การไม่อ่านไลน์กลุ่มและแก้ตัวว่าสื่อสารคลาดเคลื่อนมีมาตั้งนานแล้ว
ในการประชุม ครม. เช้าวันนั้นคือ(15 กุมภาพันธ์ พศ. 2486 ) ก็มีการบันทึกไว้ว่า ตัวจอมพล ป. นั้น เขียนใบลาออกจริง ๆ แต่โกรธมากที่ผู้สำเร็จราชการ รีบเซ็นแล้วก็รีบประกาศไปเลย จอมพล ป. บอกว่า “จะชมเชยสักนิดก็ไม่มี ทำกับผมหยั่งกับหมาตัวหนึ่ง” ดูจากความน้อยใจ ก็พอจะเดาได้ว่าจอมพล ป. ตั้งใจจะลาออกเพื่อให้คนอื่นห้าม คือใช้การลาออกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะกำลังกลัวว่าตัวเองกำลังโดนลอยแพจากฝ่ายการเมือง กลิ่นของการมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยกำลังแรงขึ้น แม้แต่สมาชิกสภาหลายคน ก็แอบเข้าร่วมไปแล้วเรียบร้อย(คือ 4 ส.ส. ภาคอีสาน) และเพื่อให้มีภาพว่าเราต่อต้านญี่ปุ่นจริงในสายตาชาวโลก จอมพล ป. ก็ต้องรับไปเต็มๆ ในฐานะเป็นคนตัดสินใจเข้าข้างญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียว อาจจะเป็นการกระทำที่ดูใจร้ายมาก เมื่อเทียบกับตอนทำสงครามอินโดจีนชนะฝรั่งเศส ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ยังยินดีด้วยกันอยู่เลย
แต่สำหรับเกมการเมืองไทยหลังสงครามโลกนั้น ถ้ากลุ่มผู้ก่อการคณะราษฎรโดนเช็คบิล โละไปหมดตามญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งหมดที่ทำมาก็อาจจะกลับไปสู่จุดเดิม ที่ฝ่ายนิยมเจ้าสามารถกลับมายืนอยู่ในเกมอำนาจได้สำเร็จ ซึ่งไม่ว่าจะพยายามเลี้ยวไปเลี้ยวมาอีท่าไหน สุดท้ายก็ดูเหมือนทุกอย่างก็กลับไปสู่จุดเดิมจนได้
การใช้มุกแก้ตัวว่าผู้นำเผด็จการประเทศนั้นๆ นำชาติเข้าสู่สงครามโดยตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียวนั้น มีตัวอย่างให้เห็นในช่วงเวลาเดียวกันคืออิตาลีนั่นเอง ในช่วงที่ฝ่ายอักษะเริ่มล่าถอยในปี ค.ศ. 1943 ซึ่งก็อยู่ในช่วงเดียวกันนี้ที่จอมพล ป. กำลังโดยลอยแพ พรรคฟาสซิสต์ก็ยกมือในสภาไล่มุโสลินีออกจากตำแหน่งและจับเข้าคุกด้วย นายพลปีเอโตร บาโดลโย นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็นำอิตาลีเข้าเจรจาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าสถานการณ์นี้มีผลไม่น้อยในความรู้สึกของเหล่าผู้นำในไทย ณ ขณะนั้นโดยเฉพาะตัวจอมพล ป. เอง
นอกจากนี้คนรอบตัวจอมพล ป. ในระดับรัฐมนตรีก็ถูกจับติดคุกในคดีทุจริต ถึงสองกรณี ได้แก่ พลอากาศตรี บุญเจียม อธึกเทวเดช (14 เมษายน พ.ศ. 2486) และ นายวนิช ปานะนนท์ ซึ่งนายวนิชนี้ เป็นทั้งคณะราษฎร เป็นน้องเขยของหลวงสินธุสงครามชัย เป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิงคนแรก หรือ ปตท.ในปัจจุบัน ตำแหน่งสุดท้ายคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่ากันว่าเป็นนักการเมืองที่เป็นสะพานเชื่อมคนสำคัญระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เคยเป็นหัวหน้าคณะทูตเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องการให้ญี่ปุ่นกู้เงินอีกด้วย นายวนิช เสียชีวิตในเรือนจำในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ตำรวจในตอนนั้นบอกว่าเป็นการฆ่าตัวตาย เรียกได้ว่าน่ากลัวมาก และเก้าอี้ของจอมพล ป. ก็ดูจะโยกเยกขึ้นเรื่อย
เมื่อจอมพล ป. ถูกลอยแพจากเหล่าคณะราษฎร ก็ทำให้มีปัญหากับสภาผู้แทนราษฎรไปด้วยนะครับ จอมพล ป. ในแบบที่ไม่พึ่งอำนาจการเมือง ก็มาในสไตล์ทหารการเมืองเต็มรูปแบบ โครงการที่แสดงถึงความพยายามเอาตัวรอดเมื่อฝ่ายอักษะกำลังจะแพ้สงครามก็คือโครงการย้ายเมืองหลวง โครงการนี้มีเจ้าภาพเป็นกองอำนวยการของกองบัญชาการทหารสูงสุด ตั้งใจย้ายทุกสิ่งอย่างขึ้นไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ ทั้งค่ายทหาร ทำเนียบ สภา พระราชวัง โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โดยใช้อำนาจออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2486 และก็ออกเป็นพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ยกฐานะเพชรบูรณ์เป็นนครบาลในปี พ.ศ. 2487 และก็ยังมีการสร้างพุทธบุรีมณฑล ขึ้นที่จังหวัดสระบุรีควบคู่กันไปด้วย โดยบอกว่าจะเป็นพระนครแห่งพุทธศาสนา
การสร้างเมืองใหม่ ก็คือการหาทางรับมือการเปลี่ยนแปลง เมื่อญี่ปุ่นใกล้แพ้สงคราม ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตร เข้ามาปลดอาวุธการที่รัฐบาลจอมพล ป. เปลี่ยนไปตั้งเมืองหลวงที่อื่นแล้ว โดยเฉพาะเพชรบูรณ์และสระบุรีซึ่งอยู่ใกล้กับลพบุรีที่เป็นเมืองทหารมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 อาจจะมีการย้ายค่าย หันกลับมาทำการโจมตีญี่ปุ่นบ้าง จะได้รอดพ้นจากการต้องรับสภาพเป็นอาชญกรสงครามแต่เพียงผู้เดียว หรือถ้าไม่ไปทางนั้นยังไงก็อาจจะมีกำลังพลมากพอที่จะทำรัฐประหารก็ได้
มหกรรมการย้ายเมืองหลวงกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงความนิยมที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในตัวจอมพล ป. การก่อสร้างและอพยพคนกรุงเทพดำเนินไปประมาณ 1 ปี ก็แทบไม่มีอะไรคืบหน้า นอกจากจะทำไม่สำเร็จเพราะขาดแคลนทุน ระบบราชการก็เริ่มไม่รองรับอำนาจของจอมพล ป. อีกต่อไป อย่างเช่นการเกณฑ์แรงงานเรือนแสนมาก่อสร้างถนนและโครงสร้างพื้่นฐานต่างๆ จากตอนแรกเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อไม่ได้ผล ไม่มีความคืบหน้า ก็เปลี่ยนให้เป็นหน้าที่ของทางฝ่ายทหารโดยตรง
ในที่สุดจอมพลป.ก็ต้องพยายามขอความร่วมมือจากสภาอีกครั้ง โดยจะให้ผ่านกฎหมายนครบาลเพชรบูรณ์เป็นพระราชบัญญัติให้ได้ ซึ่งก็ล้มเหลวในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรยกมือไม่เห็นด้วย คว่ำร่าง พรบ. ทั้งนครบาลเพชรบูรณ์และพุทธมณฑลที่สระบุรีในอีกไม่กี่วันต่อมา
เมื่อกฎหมายสำคัญของฝั่งรัฐบาลไม่ผ่านสภาถึงสองครั้ง จอมพล ป. ก็ต้องลาออกในที่สุด การลาออกครั้งนี้เป็นการลาออกจริงๆ ไม่ได้เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดอีกแล้ว เพราะถึงขั้นที่ว่าประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาที่ทำงานใกล้ชิดคณะราษฎรและจอมพล ป. ก็ลาออกจากตำแหน่งไปด้วย
ภายใต้การผลักดันของปรีดี รัฐสภาก็ได้เลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกคนใหม่ ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของพรรคประชาธิปปัตย์ นายควงนั้นรู้จักกับเหล่าสมาชิกคณะราษฎรมาตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ เป็นนักเรียนกันอยู่ที่ฝรั่งเศส แต่นายควงนั้นเพื่อนไม่ได้ชวนเป็นสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร 7 คนแรก กว่าจะชวนก็ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีใครไว้ใจนายควง เพราะพื้นฐานของควง อภัยวงศ์ อยู่ในแวดวงคนชั้นสูง นามสกุลอภัยวงศ์ก็สืบมาจากชนชั้นสูงในพระตะบองและสนิทกับเจ้ามาก เช่นหลานสาวของนายควงคือพระนางเจ้าสุวัทนาในกษัตริย์รัชกาลที่ 6 ทำไมปรีดีจึงผลักดันให้คนฝ่ายเจ้าที่คณะราษฎรไม่ค่อยจะไว้ใจเท่าไหร่มารับตำแหน่งสำคัญนี้? เราคงได้คำตอบกันในตอนต่อๆ ไป
อย่างไรก็ตาม เราน่าจะสรุปได้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ จอมพล ป. ในแบบที่เป็นทหารบกครึ่งหนึ่ง เป็นนายกที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคณะราษฎรครึ่งหนึ่ง นั้นได้หายไปและกลายเป็นจอมพลป.ที่มีความเป็นทหารบกล้วน ๆ และไม่ยอมเลิกเล่นการเมือง หลังจากยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จอมพล ป. ก็ยังคงยื้อตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่มีอำนาจอย่างมากไว้ถึง 1 เดือน ก่อนจะถูกปลดออก รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ตอนนั้น ต้องเรียกพระยาพหลฯ ที่ไม่มีบทบาทแล้วเพราะป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก มารับตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เรียกว่าตำแหน่ง “แม่ทัพใหญ่” เพื่อคานอำนาจกับเหล่านายพลที่ยังเป็นฝ่ายจอมพล ป. ที่เกรงกันว่าจะยกกำลังจากลพบุรีมาทำอะไรแปลก ๆ อย่างเช่นการรัฐประหารหรือเปล่า ? อะไรทำนองนั้น
ตลอดระยะเวลาที่จอมพล ป. อยู่ในตำแหน่งนานเกินไปถึงหกปี นอกจากทำประโยชน์มากมาย และต่อต้านอำนาจเก่าจนอยู่หมัด แต่ในอีกทางหนึ่งก็ยกเอากองทัพบกมาอยู่บนแกนหลักของการเมืองไทย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยเขียนถึงช่วงเวลานี้ไว้ว่า “จอมพล ป. เป็นเสมือนตัวแทนของกองทัพบก ในขณะที่กองทัพบกในแง่องค์กรก็มองจอมพลป. เป็นสัญลักษณ์ที่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ขององค์กร การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสร้างความหวั่นไหวให้กับกองทัพบกไม่น้อย”
นอกจากนั้นยังมีอีกกองทัพหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อนร่วมรบกับญี่ปุ่น เรียกว่า ‘กองทัพพายัพ’ โดยมีหน้าที่ขึ้นไปยึดดินแดนในพม่าหรือที่เรียกกันว่าสหรัฐไทยเดิม ก็เป็นกองกำลังที่ใหญ่ มีถึง 5 กองพล คือกองพลทหารม้าที่ 2(นครสวรรค์) กองพลที่ 3(โคราช) กองพลที่ 4(เชียงราย) และกรมทหารม้าที่ 12 บรรดาทหารในกองทัพพายัพซึ่งเป็นลูกน้องจอมพล ป. ในยุคนี้ ต่อมา ก็ล้วนแต่มีชื่อเสียงไปในทาง… ไม่แน่ใจเหมือนกันจะเรียกว่าอะไรดี ดูชื่อแล้วกัน ได้แก่ ผิน ชุณหะวัณ, สฤษดิ์ ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจร แหม่ มีแต่นักรัฐประหารทั้งนั้นเลย “น้าชาติ” ชาติชาย ชุณหะวัณ ตอนหนุ่ม ๆ ก็ประจำการอยู่ที่สหรัฐไทยเดิม เช่นกันด้วย
นอกจากนี้ การสร้าง ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ก็เริ่มขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน งบประมาณมากมายถูกดึงออกจากมือรัฐบาลไปสู่ทหาร อย่างเช่น โครงการเพชรบูรณ์ งบประมาณใช้จ่ายตั้งไว้กับกองบัญชาการทหารสูงสุดแทนที่จะเป็นสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น หรือช่วงที่จอมพล ป. ลาออกใหม่ ๆ ผิน ชุณหะวัณ ที่ตอนนั้นเป็นข้าหลวงทหารของสหรัฐไทยเดิม เขียนเล่าไว้ในหนังสืองานศพของตัวเองว่าต้องรีบเดินทางจากเชียงตุงเข้ามากรุงเทพ เพราะทหารบกในกรุงเทพกำลังชุลมุนและ “เชิญข้าพเจ้าไปประชุมด้วยคิดจะล้มรัฐบาล” แต่ก็ทำไม่ได้เพราะโอกาสไม่อำนวย คือตอนนั้นทหารญี่ปุ่นยังเต็มเมืองและกำลังอยู่ในภาวะจะแพ้สงคราม สัมพันธมิตรก็กำลังจะเข้ามา เรียกว่าไม่มีคนหนุนว่างั้นเหอะ ลาออกแปปเดียวก็คิดจะทำรัฐประหารซะแล้ว นั่นแหละครับสารตั้งต้นดี ๆ เริ่มจากตรงนี้นี่เอง จุดเริ่มต้นของการสำคัญตัวผิด มันเริ่มมาจากตรงนี้หรือเปล่า ลองคิดกันดูครับ เชื่อผู้นำชาติพ้นภัยไหมล่ะ?
ตอนนี้เราจะเอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ ตอนหน้าเรามาดูกันว่าชาติไทย เราพลิกข้างไปอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรสำเร็จได้อย่างไร ถ้า จอมพล ป. เลือกข้างผิดไป แล้วใครเลือกข้างถูก ?
ข้อมูลเพิ่มเติม:
ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
หนังสือพิมพ์เก่าจาก D-library หอสมุดแห่งชาติ:
นายปรีดี พนมยงค์ เล่าเรื่องขบวนการเสรีไทย : สุพจน์ ด่านตระกูล
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา