16 ส.ค. 2021 เวลา 11:25 • ประวัติศาสตร์
‘Maritime Trade and Security
ตอนที่ 3 - เส้นทางสายไหมใหม่ และประเทศจิบูติ
ปี 2013 โลกต้องตื่นตะลึงกับความท้าทายจากจีน - แผนพัฒนาและยุทธศาสตร์แห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายสีจิ้นผิง-ประธานาธิบดีของจีน ได้ประกาศรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมในอดีต มาต่อยอดและพัฒนาเป็น “เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road Economic Belt and New Maritime Silk Road) หรือเรียกโดยย่อว่า (One Belt One Road : OBOR)
ยิ่งใหญ่ขนาดไหน - หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยของยุโรป สหรัฐได้นำเสนอ โครงการมาร์แชล (The Marshall Plan - officially the European Recovery Program, ERP) ซึ่งถือเป็นโครงการที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด ซึ่งมีมูลค่า (ณ ปัจจุบัน) 130 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่น่าตกใจมากครับเพราะเมื่อเทียบกับ One Belt One Road จะมีขนาดเพียง 1 ใน 11 ของ One Belt One Road เท่านั้น
One Belt One Road แบ่งเป็น เส้นทางสายไหมทางบก (One Belt) และทางทะเล (One Road) มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน เส้นทางสายไหมใหม่นี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประชาคมโลก เนื่องจากเป็นนโยบายการพัฒนาที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นนโยบายที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากที่สุดของโลก ทั้งนี้ เพราะเส้นทางสายไหมใหม่ จะพาดผ่าน 65 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาค เมื่อรวมสถิติของทุกประเทศเข้าด้วยกันจะพบว่า ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทางสายไหมใหม่ มีประชากรรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 62.3 ของทั้งประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกันคิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP โลก และมีการบริโภคภาคครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 24 ของการบริโภคในครัวเรือนของทั้งโลก
มันมาเริ่มสนุกตรงนี้ครับ หลังจากจีนประกาศแผนดังกล่าว จีนได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลทั้งในแบบให้เปล่า เงินกู้ และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับนานาประเทศที่อยู่บนเส้นทางทั้งทางบกและทางทะเล จนไปถึงทวีปแอฟริกาครับ - หมุดสำคัญเล็ก ๆ ประเทศหนึ่งที่ชื่อว่า จิบูตี (Djibouti)- ประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 3 ของแอฟริกา (ประเทศเล็กๆ ขนาด 25,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน) ที่ในอดีตเคยรู้จักเรียกขานกันในชื่อว่า “โซมาลีแลนด์ของฝรั่งเศส” (French Somaliland) ด้วยสถานที่ตั้งที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยอยู่ตรงปากทางเข้าทะเลแดง และพวกเส้นทางเดินเรือที่แล่นผ่านไปทะลุคลองสุเอซ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางการสัญจรแออัดหนาแน่นที่สุดของโลก
ยิ่งไปกว่านั้นความได้เปรียบในเรื่องที่ภายในประเทศค่อนข้างสงบเรียบร้อยโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพ พวกเขาได้ค้นพบวิถีทางอีกวิถีหนึ่งในการก้าวขึ้นสู่ความมั่งคั่ง โดยนำเอาที่ดินซึ่งอันที่จริงแล้วแห้งแล้งเต็มไปด้วยก้อนหินของตน ให้ประเทศต่างชาติเข้ามาจัดตั้งฐานทัพทางทหาร ต้องขอบคุณโจรสลัดโซมาเลียที่ทำให้นานาชาติพร้อมใจกันมาเช่าที่ตั้งฐานทัพ โดยเอาเหตุผลหนึ่งคือการช่วยปราบโจรสลัดที่ช่วงนั้นชุกชุม ไม่เพียงฝรั่งเศส มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมเก่าของจิบูตียังคงมีฐานทัพในประเทศนี้ เช่นเดียวกันสหรัฐฯ, อิตาลี, และญี่ปุ่น ก็มีฐานทัพชาติละแห่งเหมือนกัน สำหรับเยอรมนีและสเปนนั้นมีกองทหารตั้งประจำการอยู่ภายในฐานทัพเดียวกันกับของฝรั่งเศส
เรื่องมันคงไม่สนุก ถ้า จิบูติ หยุดความต้องการของตัวเองอยู่เพียงแค่นั้น ซึ่งประจวบเหมาะในช่วงเวลาเดียวกัน จีนประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ที่รับรู้ภายในประเทศตนและเรียกว่า “strategic strongpoint” โดยเล็ง จิบูติ เพื่อสร้าง China’s first overseas military base เช่นเดียวกัน จีนก็อยากให้ความช่วยเหลือป้องกันเรือสินค้าของตน รวมถึงเรือนานาชาติ จากโจรสลัดในห้วงทะเลดังกล่าว เช่นกัน
จีนคือจีน เฮียสีไม่เคยเล่น ๆ จีนเสนอเช่าพื้นที่ จิบูติ เพื่อสร้างฐานทัพเรือนอกประเทศแห่งแรก ในระดับที่สามารถนำเรือบรรทุกเครื่องบินมาซ่อมบำรุงระดับโรงงานที่นี่ได้ โดยใช้งบประมาณราว 590 ล้านเหรียญสหรัฐ (โดยสร้างเสร็จและเปิดใช้งานเป็นทางการเมื่อ 2017) ไม่เพียงเท่านั้นต้นปีที่ผ่านมา จีนประกาศจะร่วมมือกับจิบูติและลงทุนอีกราว 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาเมืองใหม่ - เขตการค้าเสรี DIFTZ ซึ่งจีนเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนแห่งนี้ เปิดขึ้นก่อนหน้านี้ในปีนี้ ครอบคลุมพื้นที่ราว 4,800 เฮกตาร์ (ประมาณ 30,000 ไร่)(คอนเซ็ปท์ประมาณ EEC ของเรา)
แผนการดังกล่าวยังเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนกำลังพยายามจัดตั้งระบบการค้าระหว่างประเทศและระบบความมั่นคงในแบบของจีนแทนที่ระบบแบบของสหรัฐฯ ที่ทรงอิทธิพลมานาน เนื่องจากจีนทำข้อตกลงกับจิบูตีโดยอาศัยการอุปถัมภ์ด้านการค้าเพื่อช่วยขยายอิทธิพลของตัวเอง และทำให้จีนได้รับผลประโยชน์ โดยการอุปถัมภ์ดังกล่าวคือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจและการจัดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงเพื่อช่วยเกื้อหนุนการค้าระหว่างประเทศของจีน
ถึงตอนนี้ จิบูติ จึงกลายเป็นอีกหนึ่ง HOTSPOT ของโลกอย่างแท้จริง ไม่มีแห่งหนไหนบนพื้นพิภพแห่งนี้อีกแล้วที่มีฐานทัพทางทหารจำนวนมากซึ่งดำเนินการโดยพวกชาติที่เป็นปรปักษ์กัน ตั้งอยู่ประชิดใกล้เคียงกันและกันถึงขนาดนี้ ความใกล้ชิดใกล้เคียงกันนี้หมายความว่าอะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้และน่าที่บังเกิดขึ้นมาด้วย ขณะที่สหรัฐฯกับเหล่าพันธมิตรของตนเผชิญหน้ากับจีนที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมา ภายใต้สภาวการณ์ซึ่งบางคนบางฝ่ายมองว่าคือระยะแรกของสงครามเย็นครั้งใหม่ และน่าสนใจกว่าว่าการนี้ จิบูตีอาจติดกับดักหนี้ของจีนเฉกเช่นหลายๆ ชาติไหม เนื่องจากสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของจิบูตีเพิ่มขึ้น โดยปี 2559 อยู่ที่ 50% ขณะที่ปี 2562 อยู่ที่ 100%
โฆษณา