16 ส.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อโลกเปลี่ยนไป แต่ไทยไม่เปลี่ยนตาม
3
หรือว่าเรากำลังจะถูกโลกทิ้งไว้ข้างหลัง …. ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่ระบาดของโควิดเป็นวิกฤตทางสาธารณสุขที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต ตลอดจนเศรษฐกิจ หลายต่อหลายคนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน
เมื่อโลกเปลี่ยนไป แต่ไทยไม่เปลี่ยนตาม….ในวันที่ทั้งโลกอาจทิ้งเราไว้ข้างหลัง
อย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ มาตรการล็อกดาวน์และการรักษาระยะห่างที่ถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งกระทบกับการใช้ชีวิตปกติของมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน
📌 อะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา
การเดินทางระหว่างประเทศเต็มไปด้วยข้อจำกัดต่างๆ มากมาย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด จากเดิมในปี 2019 ที่เคยมีผู้โดยสารกว่า 4,500 ล้านคนทั่วโลก จองเที่ยวบินกว่า 38 เที่ยวบิน แต่ในปี 2020 การท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงไปถึง 75.6%
แม้ว่าในช่วงปี 2021 หลายประเทศทั่วโลกจะทะยอยฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงได้รับผลประทบอย่างหนักอยู่ จากการที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในหลายประเทศ ส่งผลให้ยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวดอยู่ในบางพื้นที่ ซึ่งหากเราดูข้อมูลการเดินทางระหว่างประเทศจาก Flightradar24 ก็จะเห็นว่าหนทางยังคงอีกยาวไกลกว่าที่การบินทั่วโลกจะกลับไปยังจุดเดิมก่อนเกิดโควิด
หลายๆ ธุรกิจ เริ่มเคลื่อนย้ายฐานการผลิต เนื่องจากเล็งเห็นว่าการไปฝากความหวังไว้กับซัพพลายเออร์ (Supplier) ที่เดียวนั้น เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงเกินไป บางธุรกิจอาจตัดสินใจจะย้ายฐานการผลิตกลับจากจีนไปอยู่ใกล้กับประเทศแม่ (Reshoring) ย้ายให้มาอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน (Regionalization) หรือย้ายไปยังประเทศที่เป็นตลาดกลุ่มเป้าหมาย
โควิดได้ทำให้ชีวิตการงานของหลายๆ คนเปลี่ยนไป หลายคนต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน (Work From Home) ซึ่งจากสถิติแล้วคาดว่ามีถึง 558 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราวๆ 17.4% ของการจ้างงานทั่วโลก
ถึงแม้สัดส่วนการ WFH จะดูไม่เยอะมาก แต่ก่อให้เกิดความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐอเมริกาคิดเป็นราวๆ 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา และกว่าครึ่งเป็นการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ นั่นจึงทำให้จำนวนเงินที่บริษัทต่างๆ ใช้ไปกับการโฆษณาออนไลน์เพิ่มมากขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
จากที่เล่ามาคร่าวๆ ข้างต้น หลายท่านคงจะเห็นได้ว่าโลกไปใหม่นี้ดูแตกต่างไปจากโลกเก่าเกือบสิ้นเชิง ในโลกที่เต็มไปด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน การจะนำเศรษฐกิจของเราไปผูกไว้กับเศรษฐกิจของประเทศอื่นก็คงจะทำได้ยากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดก็มักจะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกปกติใหม่นี้ (New Normal)
1
📌 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยต้องเปลี่ยน…ก่อนที่จะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน
เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ไทยเคยเกือบจะได้เป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียหากไม่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเสียก่อน แต่มาในวันนี้ เศรษฐกิจไทยก็ยังคงยึดติดอยู่กับภาพอุตสาหกรรมเดิม ๆ ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งอาจจะไม่สามารถพาเราให้กลายเป็นเสือตัวที่ 5 ได้ดังเดิมอีกแล้ว และในความจริง ไทยอาจจะโดนเพื่อนๆ แซงได้
หลังทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่ไปมีส่วนต่อ GDP อยู่ที่ราวๆ 20% และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากกว่า 50%
2
สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทย ต่อ GDP
สัดส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่ไปมีส่วนต่อ GDP ของไทย อยู่ที่ราว ๆ 20%
เมื่อโควิดเข้ามา ก็ทำให้เห็นภาพชัดว่าการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมากเกินไป ได้กลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของไทย เพราะการพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ อีกทั้งเมื่อมองลึกลงไปแล้ว ไทยเรายังส่งออกสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง (High-Technology Exports) อยู่ในระดับต่ำ
1
สินค้าส่งออกที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง คือสินค้าที่มีทำ R&D อย่างเข้มข้น ได้แก่ อากาศยาน คอมพิวเตอร์ ยา เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และเครื่องจักรกลไฟฟ้า สินค้าเหล่านี้ได้กลายเป็นที่ต้องการอย่างมากในช่วงที่เกิดโควิด และน่าจะยังเป็นที่ต้องการต่อไปในโลกใบใหม่หลังจากนี้
1
หากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม ในปี 2008
ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอยู่ที่ 33,513 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
1
ในขณะที่ของเวียดนามอยู่ที่เพียง 3,013 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
1
แต่ในวันนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 40,263
1
ในขณะที่ของเวียดนาม กลับขึ้นมาถึง 90,436 ดอลลาร์สหรัฐฯ
1
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High-technology exports)
และถ้ามองในรูปของมูลค่าของส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่อ GDP ของไทยยังอยู่ในระดับแค่ 20-30% มาโดยตลอด ในขณะที่ 3 ปีให้หลังมานี้ สัดส่วนของเวียดนามอยู่ที่ 40% แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบ (ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด) ขณะที่สำหรับเวียดนามยังใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะไปถึงจุดนั้น ยังไม่นับรวมว่าเวียดนามมีค่าแรงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไทย จึงทำให้ในโลกใบใหม่นี้ ไทยอาจจะดูน่าสนใจน้อยลงไปอีกในสายตานักลงทุนหากเราไม่ปรับเปลี่ยนอะไร
สัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High-technology exports) ต่อ GDP
คู่แข่งอีกคนที่น่าจับตามองไม่แพ้กันก็คือ อินโดนีเซีย ด้วยจำนวนคนที่มากกว่า เศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตอีกมาก มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องสร้างอีกหลากหลาย แรงงานที่อายุน้อย กลุ่ม Startups ที่เข้มแข็ง รวมถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการปรับปรุงกฏหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งได้เมื่อปีที่แล้วได้ออก Omnibus Law มากกว่า 1,000 หน้า มาแก้ไข (และกำลังเขียนเพิ่มอีกฉบับ) จึงไม่น่าแปลกใจว่า อินโดนีเซียเป็นเป้าหมายสำคัญในการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ และเป็นคู่แข่งที่เราประมาทไม่ได้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้ประสบกับวิกฤตมาหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา แต่วิกฤตครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งสำคัญ ที่ไทยต้องหันมาลองทบทวน และปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถรองรับกับแรงกระแทกที่จะเข้ามาอย่างไม่คาดคิดอีกในอนาคต เพื่อให้ในวันที่เราล้มลง ก็สามารถลุกขึ้นมาได้เร็ว
การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในชีวิต แต่คงจะดีกว่า ถ้าเรามีการวางแผนเตรียมการเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้อย่างทันท่วงที แล้วยิ่งเป็นเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว หากเราไม่เปลี่ยน แต่ทั้งโลกเปลี่ยน เราก็อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังอยู่ประเทศเดียวก็เป็นได้
1
ในวันต่อๆ ไป Bnomics จะมาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ไทยควรจะเริ่มปรับหลังจากนี้ ทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนรูปแบบของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ๆ และการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและลงทุน เพื่อให้รับกับแนวโน้มในอนาคตที่เศรษฐกิจจะไม่ได้มีหน้าตาเหมือนเดิมอีกต่อไป
#ประเทศไทย #GDP #New_Normal #เศรษฐกิจไทย
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคนเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา