16 ส.ค. 2021 เวลา 12:10 • สุขภาพ
จุฬาฯ เผยผลวิจัยวัคซีน ChulaCov19 ระยะแรก พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันเทียบเท่า "ไฟเซอร์"
16 ส.ค. 2564 ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับ Pfizer และ Moderna จนสามารถเรียกได้ว่า ChulaCov19 เป็นวัคซีน mRNA สัญชาติไทยรุ่นแรก
ระบุว่า ผลการวิจัยเบื้องต้นของการทดลองในระยะที่ 1 กับอาสาสมัครจำนวน 36 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมา 7 วันแล้ว พบว่ามีความปลอดภัยดี ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ มีเพียงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง และจะดีขึ้นภายใน 1-3 วัน
ขณะเดียวกันยังพบว่า เมื่อตรวจวัดภูมิคุ้มกันในอาสาสมัครที่ฉีด ChulaCov19 พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงถึง 94% เทียบเท่ากับไฟเซอร์ ส่วนแอสตราเซเนกา 84% ซิโนแวค 75%
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม กล่าวว่า “วัคซีนจุฬาคอฟสามรถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบกับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ กระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมถึงการข้ามสายพันธุ์ทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ที่ติดเชื้อแล้วได้ อย่างไรก็ตามการทดสอบนี้ยังเป็นผลเบื้องต้น ทดสอบในจำนวนคนไม่มาก และยังไม่ได้ตีพิมพ์”
สำหรับจุดเด่นวัคซีน ChulaCov19 สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์
หลังจากนี้ ทีมผู้วิจัยจะทำการทดสอบเฟสที่ 2 เริ่มฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครประมาณวันที่ 25 ส.ค.นี้ ส่วนการดำเนินการในเฟส 3 อยู่ระหว่างการหารือว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องมีขั้นตอนของ อย.อย่างไรบ้าง โดยตั้งเป้าให้ ChulaCov19 เป็น 1 ใน 4 วัคซีนที่ได้รับการรับรองของคนไทย ที่จะเริ่มใช้ได้จริงภายในเดือน เม.ย. 2565
ขอบคุณเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โฆษณา