17 ส.ค. 2021 เวลา 12:07 • ท่องเที่ยว
ไหวไหม ‘ท่องเที่ยวไทย’โคม่ายาวถึงปี 67
สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยในช่วง6เดือนแรกของปี64 ที่ยังคงลดลงอย่างมาก หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งยังคาดว่ากว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาเติบโตอีกครั้งเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด ต้องรอไปอีกจนถึงปี65
ผ่านมาครึ่งปีแล้วสำหรับการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่ม.ค.-มิ.ย.64 อยู่ที่เพียง 40,447 คน ลดลง 99.40% ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 24.59 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 38.45%
ขณะที่อัตราการเข้าพักในธุรกิจโรงแรมไทย ลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยครึ่งปีแรก มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 12.20% ลดลง 17.23% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยังต้องรอไปอีกจนถึงปี 67 กว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาเติบโตอีกครั้งเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด
นับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก3 ตั้งแต่เม.ย. 64 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการชะงักงันของการเดินทางเที่ยวในประเทศ ช่วงไตรมาส2ของปีนี้ ซึ่งลดลง 13.20% โดยมีการเที่ยวในประเทศ 7.43 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 56.79% จากไตรมาส 1 ปี 64
ทั้งยังจะกระทบต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 ปีนี้ จากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มสูงแตะ 2 หมื่นคนต่อวัน ทั้งยังไม่เห็นแนวโน้มการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์และการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น
สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 2 ปีนี้ที่เห็นสัญญาณขยายตัวจากไตรมาส 1 เล็กน้อยคิดเป็น 0.51% โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 20,275 คน และนับจากวันที่ 1 ก.ค.64 การเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ก็เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทย
แม้ว่าจะมีหลายอุปสรรคเกิดขึ้นก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-10 ส.ค.64 รวม 41 วัน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว 19,166 คน ซึ่งเกือบจะเป็นครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา
การนำร่องเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และ “สมุยพลัส” จากการสำรวจของสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) พบว่าโรงแรมในภูเก็ตกว่าครึ่งมองว่า ผลของ Phuket Sandbox ต่ออัตราการเข้าพักเป็นไปตามที่คาด ต่างกับ Samui Plus ที่แย่กว่าคาด
โดยพบว่าโรงแรมในภูเก็ตที่รับนักท่องเที่ยวในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น มีอัตราการเข้าพักมากกว่า 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรมในภาพรวมของไทยที่อยู่ที่ 8% และยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 56% และโรงแรมในภาคใต้ที่มีรายได้กลับมาเกินกว่า 70% มี 8 แห่งจากการสำรวจเป็นโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่ราคาห้องพักสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก
ดังนั้นการผลักดันการเปิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือ 7+7 ต่อไปยังเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ จ.กระบี่ เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา และเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฏร์ธานี ที่เริ่มรับนักท่องได้ตั้งแต่วันที่23 ส.ค.นี้ ก็จะทำให้มีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตไปยังพื้นที่อื่นๆได้เพิ่มขึ้น ที่อย่างน้อยธุรกิจในพื้นที่เหล่านี้ก็จะได้ อนิสงส์
แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยปีนี้ก็จะเดินแบบค่อยๆ ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางและการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวในปีนี้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทย 90 ล้านคน-ครั้ง แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะประเด็นที่ควรให้การติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 คือ ผู้ประกอบการโรงแรมจะยังไปต่อกันได้แค่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ทยอยปิดกิจการชั่วคราวต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มองจะกลับมาเปิดอีกครั้งช่วงปลายปี และที่สำคัญคือสภาพคล่องของธุรกิจที่ส่วนใหญ่มีเหลือกันไม่ถึง 3 เดือน
เมื่อดูจากสถานการณ์การติดเชื้อใหม่ของไทยในวันนี้ ไตรมาส 3 ปีนี้ก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก จึงจะเห็นหลายสถาบันออกมาปรับลดตัวเลขอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ เหลือ 0.7 % สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดเหลือ 1% จากปัจจัยเชิงลบที่สำคัญ
ได้แก่ การแพร่ระบาดทั่วโลกและการแพร่ระบาดภายในประเทศที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ และทั้งธปท., สศช.และศูนย์วิจัยต่างๆ ต่างปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ปีนี้ จาก 3 ล้านคน เหลือเพียง 5-7 แสนคน
วันนี้ต้องหวังว่ารัฐบาลจะลดการติดเชื้อในประเทศลง และเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยว แน่นอนว่าช่วง 3 ปีนี้การท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาฟื้นเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งกว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแตะ 40 ล้านคนเหมือนปี 62 กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดการณ์ไว้ว่าจะกลับมาเติบโตปกติในปี 67 และกลับมามีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวแตะ 3 ล้านล้านบาทอีกครั้ง (ตารางประกอบ)
สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกUNWTO คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวของโลกจะกลับมาสู่จุดเดิมก่อนการระบาด ได้ภายหลังปี 2567 จากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศในหลายที่เกิดขึ้น แต่ในระหว่างนั้นการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกก็จะเป็นในลักษณะหดตัวน้อยลง เพราะประเทศต่างๆ เร่งฉีดวัคซีน และเปิดรับการท่องเที่ยวคู่ขนานกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น
โฆษณา