17 ส.ค. 2021 เวลา 13:14 • ประวัติศาสตร์
การต่อต้านสงคราม อารยะขัดขืน และ 1 คืนในคุกของธอโร
ข่าวกลุ่มตาลีบันและเรื่องราวของอัฟกานิสถาน ทำให้ภาพการเป็นชาติมหาอำนาจที่มีส่วนในสงครามของสหรัฐอเมริกากลับมาเด่นชัดอีกครั้งในสายตาชาวโลก ระยะเวลายาวนานในการคุมเชิง และการสูญเสียทหารอเมริกันเพื่อแลกกับเสถียรภาพของประเทศอื่น เป็นสิ่งที่อเมริกันชนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล อันนำไปสู่การถอนกำลัง และครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกกับการต่อต้านการทำสงคราม
1
เพจ เขาคนนั้นในวันวาน จะขอเล่าเรื่องราวการต่อต้านนโยบายการทำสงครามของรัฐ อันนำไปสู่การอารยะขัดขืนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับมหาตะมะ คานธี, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และนักปฏิวัติในศตวรรษที่ 20 คนอื่นๆในภายหลัง ซึ่งนั่นก็คือเรื่องราวความเป็นมาของ “Civil Disobedience” โดยเฮนรี เดวิด ธอโร
การต่อต้านสงคราม อารยะขัดขืน และ 1 คืนในคุกของธอโร
หลายคนอาจรู้จักเฮนรี เดวิด ธอโร ในฐานะชายที่เขียนบันทึกเรื่อง “วอลเดน” หรือเคยได้ยินคำว่า “วอลเดน” แต่ไม่รู้จักธอโร ซึ่งแอดขอขายของ (ขายดื้อๆแบบนี้แหละ) นำผู้อ่านไปปูพื้นกันที่บทความ ย้อนมอง Social Distancing เมื่อสองศตวรรษก่อนของเฮนรี เดวิด ธอโร https://www.blockdit.com/posts/6117f190017c8d0c864e603f
ถ้าปูพื้นพร้อมแล้ว เรามารู้จักอีกบทบาทหนึ่งของธอโรนอกเหนือจากการเป็นชายผู้หลงรักธรรมชาติที่เดินเข้าป่าไปใช้ชีวิตริมบึงวอลเดนกันดีกว่าค่ะ
สงครามเม็กซิโกคือจุดเริ่มต้น
ก่อนอื่นเราต้องกล่าวถึงสงครามเม็กซิโก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมในยุคสมัยนั้นและเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1846-1848 ครั้งนั้นนับเป็นสงครามแรกๆที่กองทัพสหรัฐต้องทำสงครามนอกผืนแผ่นดินตัวเอง โดยต้นเหตุของสงครามเกิดจากประธานาธิบดีเจมส์ น็อกซ์ โพล์ก มีความเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาต้องขยายเขตแดนให้มากกว่านี้ (และอาจอยากฮุบแร่ทองคำที่ถูกค้นพบภายหลังจากที่เม็กซิโกแพ้สงครามเพียงไม่กี่วันนั้นด้วย)
ภาพประธานาธิบดีเจมส์ น็อกซ์ โพล์ก ที่มา https://learnodo-newtonic.com/james-k-polk-accomplishments
อีกทั้งก่อนหน้านั้นไม่นานรัฐเท็กซัสก็เพิ่งแยกตัวออกจากเม็กซิโก และขอเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโพล์กจึงมีความคิดที่จะขยายพื้นที่เข้าไปทางเม็กซิโกเพิ่มอีก โดยเล็งพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นรัฐแคลิฟอร์เนีย และนิวเม็กซิโกเอาไว้
ทว่าเนื่องจากรัฐต่างๆดังกล่าวยังสนับสนุนให้มีการค้าทาส นักต่อต้านการค้าทาสและรัฐต่างๆทางเหนือจึงปฏิเสธการรวมรัฐดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แต่นั้นก็ห้ามท่านประธานาธิบดีไว้ไม่อยู่ เขาส่งผู้เจรจาเป็นการลับเพื่อไปขอซื้อรัฐที่เขาหมายตาจากรัฐบาลเม็กซิโก และเมื่อไม่สำเร็จเขาก็ส่งกองทัพทหารอเมริกันไปตั้งค่ายในพื้นที่ที่อยู่ในเขตแดนของเม็กซิโก แน่นอนว่าเมื่อถูกรุกล้ำ เม็กซิโกย่อมต้องตอบโต้และโดนท่านประธานาธิบดีล่อซื้อเข้าให้
ประธานาธิบดีโพล์กใช้ข้ออ้างของการโดนทหารเม็กซิกันล้อมโจมตีมาเกลี้ยกล่อมให้สภาอนุมัติให้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ ด้วยการอภิปรายอันเร้าอารมณ์ปลุกความรักชาติ สภาจึงประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามแผนของท่านประธานาธิบดี ทว่าก็ไม่ได้มีแต่ผู้ที่เห็นด้วยกับแผนล่อซื้อนี้ โดยหนึ่งในผู้ต่อต้านอย่างหนักก็คือวุฒิสมาชิกอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งตั้งคำถามอย่างตรงประเด็นว่า จุดที่เกิดการโจมตีมันอยู่ในเขตแดนเม็กซิโกไม่ใช่หรือ (แปลง่ายๆคือ ท่านล่อซื้อเขาไม่ใช่หรือครับ)
ภาพประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งในตอนนั้นเป็นวุฒิสมาชิก ที่มา https://www.history.com/topics/us-presidents/abraham-lincoln
นอกสภาเอง กระแสไม่เห็นด้วยก็รุนแรงไม่แพ้กันโดยเฉพาะกับนักเคลื่อนไหวในรัฐทางตอนเหนือ เกิดเป็นกระแสต่อต้านการทำสงคราม พร้อมๆไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบรรดารัฐที่ยังสนับสนุนการค้าทาสที่อยู่ทางใต้ รวมถึงรัฐที่กำลังจะถูกรวมเข้ามาในอนาคต ธอโรที่เพิ่งออกจากป่ามาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต่อต้านนี้
กำเนิดอารยะขัดขืนและ 1 คืนในคุก
ธอโรโดนขังจากการต่อต้านนโยบายทำสงครามของรัฐด้วยการไม่จ่ายภาษี ที่มา https://medium.com/@nvilane853/the-night-thoreau-spent-in-jail-4b53c67e8131
ทางด้านธอโร เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักคิดที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ และต่อต้านเรื่องการค้าทาสอย่างไม่มีข้อกังขา เขายืนหยัดอย่างมั่นคงในการต่อสู้ให้มีการเลิกทาส และให้เลิกเก็บภาษีเพื่อไปใช้กับนโยบายที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งธอโรก็ไม่ได้จ่ายภาษีให้รัฐจริงๆเพื่อประท้วงนโยบายการทำสงครามกับเม็กซิโก เจ้าหน้าที่สรรพากรท้องที่พยายามไม่สนใจเขา จนกระทั่งเขาแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งและเริ่มวิจารณ์หนักขึ้น ในปี 1846 นั้นเอง ธอโรจึงโดนนายอำเภอโยนเข้าไปนอนในคุก 1 คืน (ก่อนที่จะมีคนไปช่วยจ่ายภาษีที่เขาค้างอยู่แทนและทำให้เขากลับมาเป็นอิสระ)
ซึ่งค่ำคืนนั้นในคุก ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าปฏิบัติการประท้วงเล็กๆน้อยๆของเขาไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมใดๆ เขาจึงลงมือเขียนข้อคิดของเขาออกมาเป็นร่างของ Civil Disobedience หรืออารยะขัดขืน
หลังจากนั้น Civil Disobedience จึงปรากฏสู่สาธารณชนครั้งแรกในรูปแบบของการแสดงปาฐกถาในปี ค.ศ.1848 ในชื่อ “The relation of the individual to the State” และถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Aesthetic Papers ในปีต่อมา โดยมีใจความสำคัญว่า “ในขณะที่บางส่วนของคนที่อพยพมาหาเสรีภาพในชาติเรายังคงตกเป็นทาส และเม็กซิโกถูกบุกยึดภายใต้การควบคุมของกองทัพอย่างไม่ยุติธรรม ผมคิดว่ามันไม่เร็วเกินไปหากผู้คนจะลุกฮือขึ้นมาก่อกบฏและปฏิวัติ…
… รัฐบาลต้องยุติการกระทำอันไม่ชอบธรรม เพื่อที่จะได้รับความชอบธรรมในการจัดเก็บภาษีจากประชาชน ตราบใดที่รัฐบาลยังคงกระทำการอย่างไร้ความชอบธรรม ประชาชนที่ยังมีจิตสำนึกย่อมมีสิทธิเลือกที่จะจ่ายหรือไม่จ่ายภาษี หรือต่อต้านรัฐบาล…
… หากรัฐบาลกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับความอยุติธรรม ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ประชาชนย่อมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั้น แม้นั้นจะทำให้เขาลงเอยในคุก ภายใต้รัฐบาลที่โยนคนเข้าคุกด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม คุกย่อมเป็นที่สำหรับคนเที่ยงธรรม”
นับแต่นั้น ธอโรถือเป็นผู้สร้างการขัดขืนและต่อต้านรัฐโดยไม่ได้ใช้กำลัง แต่เป็นการต่อต้านด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแสดงจุดยืนชัดเจนอันกลายมาเป็นอารยะขัดขืนที่ถูกใช้ในการประท้วงเรื่อยมา และเป็นแรงบันดาลใจให้นักปฏิวัติคนอื่นๆได้นำไปต่อยอดในบริบทของตนต่อไป
เรื่องราวของการกำเนิดอารยะขัดขืนก็เป็นไปแบบนี้เอง จากการต่อต้านของคนๆเดียว สู่การครุ่นคิดระหว่างโดนขัง 1 คืน สู่การแสดงปาฐกถาที่เปรียบเสมือนแถลงการณ์สำหรับนักปฏิวัติทั้งหลาย ผู้อ่านคิดเห็นยังไงกันบ้างคะ คิดว่าธอโรสุดโต่งเกินไป หรือคิดว่าประชาชนอย่างเราๆนอกจากจะรวมกำลังกันแสดงจุดยืน ก็ไม่อาจหาวิธีการแสดงออกที่ดีกว่านี้แล้ว หรือคิดเห็นอย่างไรก็คอมเม้นมาคุยกันได้นะคะ
ฝากเพจ เขาคนนั้นในวันวาน ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ มาเป็นเพื่อนกันเยอะๆนะคะ (แอดเหงา 555) แล้วพบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีค่ะ
โฆษณา