18 ส.ค. 2021 เวลา 04:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อย่าเที่ยวทะเลอทะล่าขึ้นกันนะ เครื่องที่จอดนานไม่ได้รับการดูแลมาเป็นแรมปี มันน่าสะพึงเชียวหล่ะ เชื่อซิ ถ้าไม่อยากแลนด์ดิ้งลงข้างสนามบิน หรือ สถานที่ไม่ใช่สนามบิน เราเตือนคุณแล้วนะ
เครื่องบินที่ถูกจอดทิ้งไว้ในช่วงโควิดระบาด มีจุดจบอย่างไร
การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้การเดินทางทางอากาศหยุดชะงักไป ทำให้ราว 1 ใน 4 ของเครื่องบินไอพ่นโดยสารทั่วโลกถูกจอดทิ้งไว้เฉย ๆ ตามสนามบินและโรงเก็บเครื่องบิน ขณะที่บรรดาเจ้าของเครื่องบินกำลังตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับเครื่องบินเหล่านี้ ซึ่งบางส่วนจะไม่ได้กลับมาบินอีกต่อไป
เจมส์ ค็อบบอลด์ ผู้อำนวยการที่วิลลิส ลีส บริษัทเช่าซื้อเครื่องยนต์ระดับโลก กล่าวว่า "เจ้าของไม่อยากจะจ่ายค่าธรรมเนียมการจอดและค่าธรรมเนียมการเก็บเครื่องบิน"
"พวกเขาต้องนำเครื่องบินไปใช้งานหรือไม่ก็ตัดออกจากบัญชี ซึ่งอาจหมายถึงการขายแยกชิ้นส่วน"
ร็อบ มอร์ริส หัวหน้าที่ปรึกษาของแอสเซนด์ บาย ซีเรียม (Ascend by Cirium) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและการบิน กล่าวว่า ข้อมูล ณ เดือน ก.ค. พบว่ามีเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ 5,467 ลำ ที่ถูกจอดเก็บรักษาไว้เฉย หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนเครื่องบินทั่วโลก
แม้จะฟังดูเยอะ แต่จำนวนเครื่องบินที่ถูกเก็บรักษานี้ก็ลดลงมาแล้วจากระดับ 35% ของเครื่องบินทั่วโลกในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2021 และลดลงจาก 64% ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 2020
อย่างไรก็ตาม ยังมีเครื่องบินจำนวนหนึ่งที่จอดนิ่งอยู่ทั่วโลก ซึ่งอาจจะถูกนำไปแยกชิ้นส่วน
หนึ่งในสถานที่แยกชิ้นส่วนเครื่องบินคือ สนามบินคอตส์โวลด์ ใกล้กับเมืองไซเรนเซสเตอร์ในมณฑลกลอสเตอร์เชียร์ และเป็นที่ตั้งของแอร์ ซัลเวจ อินเตอร์เนชันแนล (Air Salvage International) บริษัทที่เชี่ยวชาญในการแยกชิ้นส่วนเครื่องบิน
แบรดลีย์ เกรกอรี กรรมการผู้จัดการที่สกายไลน์ แอโร (Skyline Aero) บริษัทจัดจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องบินและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจแอร์ ซัลเวจ อินเตอร์เนชันแนล อธิบายว่า มีสถานการณ์ที่จะเป็นไปได้ 3 อย่าง เมื่อเครื่องบินถูกจอดทิ้งไว้
สถานการณ์ที่ดูแย่น้อยที่สุดคือ มันจะถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพที่จะนำไปทำการบินได้ โดยจำเป็นต้องตรวจสอบก่อนนำกลับไปบินเท่านั้น
สถานการณ์ที่สองคือการเก็บรักษาเครื่องบินไว้เป็นเวลานาน ซึ่งจะมีการถอดเครื่องยนต์ออกและมีการดูแลรักษาเครื่องบินในแบบที่ลดความเข้มงวดลง
สถานการณ์สุดท้ายคือ การแยกชิ้นส่วน ซึ่งจะมีการนำเครื่องบินไปยังสถานที่ในการแยกชิ้นส่วนเครื่องยนต์และชิ้นส่วนอื่น ๆ ของเครื่องบินอาจจะถูกนำกลับไปใช้งานในเครื่องบินลำอื่นหรืออาจถูกนำไปรีไซเคิลก็ได้
โบอิ้ง 747: จากเครื่องบินขนส่งทางทหาร กลายเป็นเครื่องบินโดยสารพลเรือน
กองทัพอากาศจ้างการบินไทยปรับปรุงห้องที่ประทับในเครื่องบินพระที่นั่ง มูลค่า 750 ล้านบาท
ทดสอบรถบินได้ระหว่างสนามบินในสโลวาเกีย
"ราว 75-80% ของเครื่องบินที่เข้ามาในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ โดยเจ้าของเครื่องบินไม่ได้มีแผนการอะไร" นายเกรกอรีอธิบาย
ตอนนี้เขามีเครื่องบินที่เก็บรักษาไว้ 29 ลำ ในจำนวนนี้ 14 ลำรอการแยกชิ้นส่วน และอีก 6 กำลังถูกแยกชิ้นส่วน และรอที่จะถูกนำไปทำลายทิ้ง
บริษัทซีเรียมระบุว่าในปี 2020 มีเครื่องบิน 449 ลำทั่วโลก ถูกส่งไปแยกชิ้นส่วน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจาก 508 ลำในปี 2019
สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าอยู่ที่ขั้นตอนสุดท้ายในการแยกชิ้นส่วนเครื่องบินไอพ่นโดยสาร เพราะทางอุตสาหกรรมต้องการที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและมีความยั่งยืนขึ้น จากการเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อน
"มีชิ้นส่วนจำนวนมากที่จะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ ขึ้นอยู่กับประเภทและรุ่นของเครื่องบิน" นายเกรกอรีกล่าว
"จำนวนชิ้นส่วนที่ถูกแยกออกมามีตั้งแต่ 200 ชิ้นในเครื่องบินรุ่นเก่าที่มีอุปกรณ์ที่เป็นที่ต้องการน้อยกว่า จนถึง 1,200 ชิ้นในเครื่องบินรุ่นใหม่กว่า บางครั้งก็มากกว่านั้น"
นอกจากเครื่องยนต์ อุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ รวมถึงระบบล้อในการแล่นลงจอดของเครื่องบิน เบรก อุปกรณ์ทำการบินในห้องนักบิน ไปจนถึงล้อเครื่องบิน
"อุปกรณ์หลายร้อยชิ้นจากเครื่องบินลำหนึ่งอาจจะถูกนำไปเข้าร้านซ่อม และตราบใดที่พวกมันผ่านการตรวจสอบและไม่ได้เสียหายเกินกว่าที่จะซ่อมแซมได้ พวกมันก็อาจจะถูกนำไปใช้ในเครื่องบินอีกลำหนึ่งได้" เขากล่าว
สมาคมรีไซเคิลเครื่องบิน (Aircraft Fleet Recycling Association--AFRA) กำลังมีบทบาทสำคัญ โดยทาง AFRA ได้เข้ามาตรวจสอบบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการแยกชิ้นส่วนเครื่องบิน และได้จับตามองอย่างใกล้ชิ้นเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทเหล่านี้ปฏิบัติตามขั้นตอนการบริหารจัดการที่เหมาะสมที่สุด
ขณะที่ปริมาณและประเภทของชิ้นส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้งานใหม่ในเครื่องบินมีจำนวนมาก แต่ก็มีความท้าทายหลายอย่าง
"สิ่งเดียวที่ไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ในตอนนี้คือ วัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร เพราะมันทำมาจากพลาสติกผสม" นายค็อบบอลด์อธิบาย
ไมก์ คอร์น จาก อีคิวบ์ โซลูชันส์ (eCube Solutions) บริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ทำงานในช่วงขั้นตอนสุดท้ายของเครื่องบินที่จะถูกแยกส่วน กล่าวว่า การรีไซเคิลเครื่องบินไอพ่นน่าจะมีปัญหามากกว่า เพราะเครื่องบินลำใหม่ใช้วัสดุผสม ซึ่งยากในการผ่านกระบวนการ"
"ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการที่ประหยัดต้นทุนวิธีใดในการรีไซเคิลคาร์บอนไฟเบอร์ได้" เขาอธิบาย
เขากล่าวว่า กำลังมีการลงทุนมหาศาลในการหาวิธีการรีไซเคิลวัสดุประเภทนี้ และบางทีในอนาคต อาจจะมีการนำคาร์บอนไฟเบอร์กลับไปใช้งานใหม่ได้
นายมอร์ริส จากซีเรียมทำนายว่า จำนวนเครื่องบินพาณิชย์ที่ถูกเก็บรักษาไว้จะเพิ่มจาก 5,467 ลำในเดือน ก.ค. เป็น 6,120 ลำในปลายปีนี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเกรกอรี จากสกายไลน์ แอโร เพิ่งได้รับคำสั่งให้รื้อเครื่องบิน 3 ลำ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าปริมาณความต้องการเครื่องบินยังน้อยอยู่
หากมีการสั่งให้รื้อเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมรีไซเคิลก็พร้อมที่จะรับงานนี้
"ขณะนี้เราสามารถรีไซเคิลได้ระหว่าง 92-95% ของเครื่องบินทั้งลำ โดยใช้กระบวนการรีไซเคิลตามปกติหรือผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียน" นายค็อบบอลด์ให้ข้อมูลและกล่าวทิ้งท้ายว่า คนนอกวงการการบินหรืออุตสาหกรรมนี้อาจไม่รู้ว่าตัวเลขนี้สูงแค่ไหน และอุตสาหกรรมการแยกชิ้นส่วนเครื่องบินมีความสร้างสรรค์มากเพียงใด
ในบางกรณี ชิ้นส่วนในเครื่องบินลำหนึ่งสามารถนำกลับไปใช้งานใหม่ได้มากกว่า 1,000 ชิ้น
วัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ส่วนใหญ่ต้องทิ้ง
โฆษณา