24 มิ.ย. 2022 เวลา 13:16 • ประวัติศาสตร์
#23 The Brain Club : DYK? " เบียร์ที่เก่าที่สุดในโลก "
ในปี 2018 โรงเบียร์ในออสเตรเลียได้นำยีสต์จากขวดเบียร์ที่ค้นพบในซากเรือโบราณอายุ 220 ปี มาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเบียร์สูตรพิเศษสุดพรีเมียมที่คอเบียร์ต้องอยากลิ้มลองกันสักครั้ง
5
ย้อนกลับไปในปี 1796 เรือขนส่งสินค้า " Sydney Cove " ได้ออกเดินทางจากท่าเรือกัลกัตตา ประเทศอินเดียมุ่งหน้าไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ โดยมีจุดหมายอยู่ที่เมืองซิดนีย์ นครหลวงของออสเตรเลีย
การเดินทางผ่านน่านน้ำในศตวรรษที่ 18 นั้นใช้เวลายาวนาน คงไม่มีใครคาดคิดว่าเรือธรรมดาๆ ลำนี้จะกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อการค้นพบสุดแปลก ทั้งในแง่โบราณวัตถุ และโศกนาฏกรรมที่คนบนเรือต้องพบเจอในอดีต
การเดินทางครั้งนี้ไม่เคยไปถึงจุดหมาย ด้วยสาเหตุอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่คาดว่าเป็นฝีมือของพายุที่ทำให้เรือจมสู่ก้นทะเลลึกพร้อมชา ข้าว ยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์กว่าสามหมื่นลิตรที่สลายไปกับสายน้ำอย่างน่าเสียดาย
1
แต่ถือว่ายังโชคดีที่เหล่าลูกเรือ และสินค้าจำนวนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือไว้ทัน แต่ก็มีหลายคนต้องสังเวยชีวิตในซากปรักหักพังของเรือ
1
เวลาผ่านล่วงเลยไปนานหลายปี จนกระทั่งในยุค 90 มันก็ได้โอกาสตื่นมาพบกับผู้คนอีกครั้ง โดยพิกัดที่ค้นพบซากเรือคือบริเวณเกาะ " Preservation " ที่อยู่ใกล้กับรัฐแทสเมเนีย
ทีมนักประดาน้ำถูกส่งเข้าไปสำรวจตัวเรืออย่างละเอียด ด้านในพบข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่หลายชิ้น โดยไฮไลท์เด็ดที่ดึงดูดสายตามากที่สุดคือขวดแก้วจำนวนหนึ่งที่นอนจมอยู่ใต้ผืนทราย
โดยขวดจำนวนหนึ่งยังบรรจุของเหลวบางอย่างเอาไว้ายใน เพียงแค่มองครั้งแรกก็พอจะเดาได้ว่ามันคือของมึนเมา
การค้นพบขวดใบดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บรรจุขวดที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยมีการบันทึกมา สร้างความประหลาดใจให้เหล่านักประดาน้ำเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นเรื่องยากที่เครื่องดื่มจำพวกนี้จะถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพสมบูรณ์ได้นานขนาดนี้ โดยเฉพาะเมื่อต้องนอนเป็นเพื่อนปลาใต้ทะเลนานถึงสองศตรวรรษ
ขวดที่ค้นพบถูกขนย้ายขึ้นบกเพื่อนำไปตรวจสอบ โดยผลตรวจระบุว่ามันคือพอร์ตไวน์ในสภาพสมบูรณ์
เมื่อมีสมบัติล้ำค่าอยู่ในมือ จึงเกิดความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ควีนวิคตอเรีย สถาบันวิจัยไวน์แห่งออสเตรเลีย และโรงผลิตเบียร์ที่รู้จักกันในชื่อ " James Squire "
ที่มาร่วมผนึกไอเดียสุดบรรเจิดโดยใช้ประโยชน์จากตัวอย่างยีสต์ที่พบ สำหรับชุบชีวิตเบียร์สูตรพิเศษมาจำหน่ายอีกครั้งในฐานะ " เบียร์ที่เก่าที่สุดในโลก "
ซากเรืออับปางซิดนีย์โคฟในเกาะ Preservation รัฐแทสเมเนีย
สำหรับขั้นตอนในการผลิตเบียร์คร่าวๆ นักวิจัยจะทำการตรวจสอบแอลกอฮอล์ในขวดอีกครั้งอย่างละเอียด เพื่อทำการแยกยีสต์ออกมาพักไว้
นอกจากอายุของยีสต์ที่เก่าแก่กว่า 220 ปี นักวิจัยพบว่ามันคือยีสต์สายพันธุ์ไฮบริดที่หายากมากๆ หากนำมาเทียบเคียงกับยีสต์ที่ใช้ผลิตเบียร์สมัยใหม่จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
เมื่อนักวิจัยทำความเข้าใจกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ในขวดครบถ้วน ภายหลังกระบวนการแยกและวิเคราะห์ยีสต์เสร็จสิ้น ในที่สุดก็สามารถเริ่มขั้นตอนการผลิตเบียร์ได้
การผลิตสูตรเบียร์ที่อร่อยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการคิดค้นลองผิดลองถูกมากมาย โดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ที่ต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ
" การเอาใจใส่จะช่วยให้การสกัดและปลูกยีสต์มีประสิทธิภาพ ทำให้มันกลายเป็นเบียร์ที่มีลักษณะเฉพาะ "
เบียร์ถูกวางจำหน่ายในเดือนมิถุนายน 2018 โดยใช้ชื่อ " The Wreck Preservation Ale "
จากข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์สินค้า ระบุว่ามันคือเบียร์สไตล์พอร์เตอร์ที่มีสีเข้ม รสมอลต์นุ่มนวลลิ้น ผสมรสชาติขมเล็กน้อย และมีจำนวนจำกัด
ทางผู้ผลิตเบียร์มีคำโปรโมทที่เป็นเอกลักษณ์ว่า " รสชาติครั้งหนึ่งในชีวิต " ที่แสดงถึงการตลาดที่ชี้ให้เห็นว่าเบียร์สูตรนี้มันน่าลิ้มลองมากแค่ไหน
📌 เรียบเรียงโดย : สโมสรสมอง
** กรุณาแชร์ต่อ ห้ามคัดลอกบทความไปเผยแพร่ซ้ำ
📗อ่านบน Facebook : เพจสโมสรสมอง
โฆษณา