18 ส.ค. 2021 เวลา 07:00 • สุขภาพ
โรคไขมันในเส้นเลือด หนึ่งในโรคที่คนไทยเป็นกันมาก นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแล้ว โรคนี้ยังเกิดจากพันธุกรรมได้ ซึ่งไขมันในเลือดสูงเป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดมากกว่าปกติ อาจมาจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol) หรือ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) อย่างใดอย่างหนึ่งสูงผิดปกติ หรือสูงทั้งสองอย่างก็ได้ และถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดตีบอุดตัน เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
📌พันธุกรรม ภัยร้ายซ่อนเงียบ จุดเริ่มต้นของภาวะไขมันในเลือดสูง
สำหรับสาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคประจำตัว ยาบางชนิด และอีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรมองข้ามคือพันธุกรรม ภัยร้ายซ่อนเงียบที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในแบบที่คุณไม่รู้ตัวมาก่อน
นั่นหมายความว่าคุณอาจได้รับภาวะนี้จากกรรมพันธุ์ของบุคคลในครอบครัว เพราะยีนจะถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก โดยยีนบางตัวสั่งการร่างกายเกี่ยวกับวิธีการแปรรูปคอเลสเตอรอลและไขมัน หากพ่อแม่ของเรามีคอเลสเตอรอลสูง ลูกก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งปกติแล้วภาวะนี้สามารถทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดได้ตั้งแต่วัยเด็ก
โดยภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรมเป็นชนิดที่พบได้บ่อย (Familial hypercholesterolemia: FH) และเป็นภาวะที่เกิดจากการสร้างยีนผิดปกติ หรือมีการกลายพันธุ์ของยีน ทำให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงตลอดเวลานั่นเอง
นอกเหนือจากพันธุกรรมแล้ว สาเหตุที่ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง มีดังนี้
- เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
- เกิดจากการใช้ยาบางชนิด หรือโรคบางอย่าง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย โรคไต เป็นต้น
- เกิดจากการทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป เป็นไขมันอิ่มตัวสูง กินอาหารที่มีใยอาหารน้อย กินผลไม้น้อย
- เกิดจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในปริมาณมากและเป็นประจำ
- เกิดจากการแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ไทรอยด์ ตับอักเสบ โรคไต
📌เช็กสัญญาณเสี่ยง ภาวะไขมันในเลือดสูง จากพันธุกรรม
ความจริงแล้วผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรมจะไม่ทราบว่าเกิดภาวะนี้กับตัวเอง หากไม่ได้รับการตรวจ แต่อย่างน้อยยังพอมีสัญญาณเตือนและอาการบอกเหตุของภาวะ
- มีประวัติการเกิดภาวะนี้กับคนในครอบครัว
- เกิดโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย
- มีประวัติของคนในครอบครัว ที่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย
- ระดับคอเลสเตอรอล LDL สูง
- ระดับคอเลสเตอรอล LDL สูง ในพ่อหรือแม่ หรือทั้งคู่
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด คืออาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ
- ไขมันเกาะที่ผิวหนัง (Xanthomas) คือภาวะที่คอเลสเตอรอลสะสมที่บริเวณหัวเข่า ข้อศอก และก้น
สำหรับภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรมอาการรุนแรงที่สุดคือ หัวใจวายเฉียบพลัน แต่ทั้งนี้ยังสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยยาลดไขมัน ส่งผลให้อัตราการเกิดหัวใจวายในผู้ป่วยลดลงมาก รวมถึงการตรวจยีนเพื่อหาความเสี่ยงว่ามีการถ่ายทอดมาจากครอบครัวหรือไม่
📌ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง
พฤติกรรมการใช้ชีวิต อีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการของผู้ที่มีความเสี่ยงหรือกำลังอยู่ในภาวะนี้ ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คุณลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้
- เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันต่ำ ไม่ติดหนัง โดยเฉพาะปลาทะเล เลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีคอเลสเตอรอลสูง ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เช่น เมนูกะทิ เนื้อสัตว์แปรรูป ขนมอบ (ขนมปัง พาย เค้ก คุ้กกี้ โดนัท) เป็นต้น
- ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง สามาถรับประทานไข่ได้ แต่ไม่ควรรับประทานไข่แดงเกิน 1 ฟองต่อวัน ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถรับประทานไข่แดงหรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลได้ในปริมาณที่เหมาะสม (ไม่เกิน 1-2 ฟองต่อวัน) โดยต้องเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
- เลือกวิธีการปรุงอาหารด้วยการต้ม อบ นึ่ง ตุ๋น ยำ ย่าง แทนการทอด และการผัดที่ใช้น้ำมันมาก
- เลือกใช้น้ำมันให้ถูกประเภท เช่น น้ำมันปาล์มใช้สำหรับทอด น้ำมันถั่วเหลืองใช้สำหรับผัด (น้ำมันที่ใช้ถึงจะเป็นไขมันชนิดที่ดี แต่ควรใช้แต่น้อยเท่าที่จำเป็น ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา) เลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงในสัดส่วนที่พอดี ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย รับประทานผักและผลไม้เพียงพอ (400 กรัมต่อวันหรือเทียบเท่ากับผัก 3 ทัพพีและผลไม้ 2 จานกาแฟต่อวัน)
- บริโภคเมล็ดธัญพืช ผลไม้และผัก เพราะสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอล โดยทานผักและผลไม้ทั้งผล วันละ 5 สี (ดีที่สุด คือ ให้ครบสีรุ้ง 7 สี และบวกสีขาวของพืชหัวใต้ดิน ได้แก่ หอม กระเทียม กล้วย) ปริมาณ 5 ฝ่ามือ
- เลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- การลดน้ำหนักในผู้ป่วยน้ำหนักเกินและผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุง สามารถลดไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride, TG) และเพิ่มระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL-C) และยังสามารถลดความดันโลหิตได้ด้วย
- รับประทานยาลดระดับไขมันในเลือดตามคำแนะนำของแพทย์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อลดระดับไขมันแอลดีแอล (LDL-C) เพิ่มระดับไขมันเอชดีแอล (HDL-C)
- ผู้ใหญ่ที่ค่าไขมันปกติควรจะตรวจซ้ำทุก 5 ปี หากไขมันในเลือดสูงควรตรวจซ้ำอีก 2-6 เดือน
ดังนั้น หากใครรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงควรปฎิบัติตัวและทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหมั่นตรวจหาคอเลสเตอรอลอย่างสม่ำเสมอจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้
ที่มา : สืบค้นเมื่อวันที่ 02/07/64
Nakhonnayok Hospital
🔖 bit.ly/36bEHUN (ข้อมูล ณ วันที่ 02/07/64)
VIBHARAM HOSPITAL
🔖 bit.ly/3hvIFwy (ข้อมูล ณ วันที่ 02/07/64)
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
🔖 bit.ly/3ylGjHH (ข้อมูล ณ วันที่ (24/11/63)
HelloKhunmor
🔖 bit.ly/3jAaWEY (ข้อมูล ณ วันที่ 08/02/63)
โรงพยาบาลสมิติเวช
🔖 bit.ly/3wafcxt (ข้อมูล ณ วันที่ 21/09/62)
🔖 bit.ly/3wdwKsw (ข้อมูล ณ วันที่ 04/12/63)
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
🔖 bit.ly/3qUltww (ข้อมูล ณ วันที่ (26/11/63)
สสส.
🔖 bit.ly/3dJxhfL (ข้อมูล ณ วันที่ (08/04/61)
ติดตามสาระดีๆ และข่าวสารน่ารู้จากเมืองไทยประกันชีวิต ได้ที่
- Facebook: @muangthailife
- Twitter: @MuangThaiLife
- IG: @muangthailife
- Blockdit: muangthailife
โฆษณา