18 ส.ค. 2021 เวลา 11:00 • กีฬา
กีฬาฟุตบอลในสมัยรัชกาลที่ ๖ (ตอนที่ ๒)
พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับนักฟุตบอลชุดสโมสรเสือป่าม้าหลวง
จากความนิยมกีฬาฟุตบอลที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ ทำให้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวง ซึ่งถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานครั้งแรก ณ สนามสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต
การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวง ใช้วิธีแข่งขันเป็นรอบๆ เพื่อคัดชุดที่ชนะเข้าแข่งขันรอบต่อไป ซึ่งสโมสรที่ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ (ถ้วยทองหลวง) ได้แก่ นักเรียนนายเรือ, รางวัลที่ ๒ ได้แก่ กรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์ และรางวัลที่ ๓ ได้แก่ กองเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแข่งขันทุกรอบ และได้พระราชทานรางวัลแก่นักกีฬาทุกคนด้วยพระองค์เอง
หลังจากนั้นไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชฐานะนายกพิเศษราชกรีฑาสโมสร มีพระราชดำริที่จะให้จัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ ชิงถ้วยทองของราชกรีฑาสโมสร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมนักฟุตบอลชาวสยามจากสโมสรต่างๆ จัดเป็นคณะฟุตบอลสยาม ซึ่งถือเป็นนักฟุตบอลทีมชาติชุดแรก เพื่อลงแข่งขันกับนักฟุตบอลชาวยุโรป ในนามคณะราชกรีฑาสโมสร ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๘
ภาพวาดคณะฟุตบอลสยามกับคณะราชกรีฑาสโมสร ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สำหรับบรรยากาศการแข่งขัน มีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ความตอนหนึ่งว่า
“…เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง ลงมือเล่น ฝ่ายไทยได้ด้านเหนือ ชาวยุโรปได้ด้านใต้ ครึ่งแรกต่างไม่ได้ประตูซึ่งกันและกัน หยุดพักเหนื่อยครู่หนึ่ง แล้วเปลี่ยนแดนตามธรรมเนียม ครึ่งหลังเวลาราว ๕ นาที นายศรีนวล ร.ร.ราชแพทย์ แนวหน้าฝ่ายสยามยิงเข้าประตูได้ ๑ สักพักใหญ่หม่อมเจ้าสิทธิพร (กฤดากร) แนวหน้าและหัวหน้าชุดฝ่ายสยาม ยิงเข้าประตูได้อีก ๑ ต่อมานายวอลซ์ แนวหน้าฝ่ายยุโรปยิงได้ ๑ ต่อไปนี้ฝ่ายสยามรุกขนาบได้เตะมุม ๒ ครั้ง
ก็พอหมดเวลา รวมฝ่ายสยามได้ ๒ ฝ่ายยุโรปได้ ๑ จึงเป็นอันว่าฝ่ายสยามชนะได้เห็นแถวเฝ้าอีกครั้ง ๑ คนดูต่างโยนหมวกตบมือโห่ร้องไชโยวิ่งตรงไปหน้าพลับพลา โปรดพระราชทานถ้วยทองของราชกรีฑาแก่คณะฟุตบอลสยาม หม่อมเจ้าสิทธิพร (กฤดากร) รับพระราชทานต่อพระหัตถ์ และพระราชทานเหรียญที่ระลึกเป็นรางวัลแก่ฝ่ายชนะเรียงตัว คนดูซึ่งห้อมล้อมอยู่โห่ร้องไชโยทุกครั้งที่พระราชทาน…”
คณะฟุตบอลสยาม
ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมจัดตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยาม โดยทรงร่างบันทึกหัวข้อว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม แล้วพระราชทานให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - ภายหลังเป็นเจ้าพระยารามราฆพ) นำไปแถลงในที่ประชุม
ร่างบันทึกหัวข้อว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม ลายพระราชหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผลจากการประชุมในครั้งนั้น นำไปสู่การสถาปนาคณะฟุตบอลแห่งสยาม และการตราข้อบังคับลักษณะปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม รวมถึงระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลเพื่อส่งเสริมผู้เล่นเข้าแข่งขันสำหรับถ้วยของคณะฟุตบอลแห่งสยาม เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดเลือกตั้งกรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม ซึ่งพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - ภายหลังเป็นเจ้าพระยารามราฆพ) ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสภานายกคณะฟุตบอลแห่งสยามคนแรก
พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - ภายหลังเป็นเจ้าพระยารามราฆพ) สภานายกคณะฟุตบอลแห่งสยามคนแรก
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาฟุตบอลมาตลอดรัชสมัย ทำให้กีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว จึงกล่าวได้ว่าในรัชกาลที่ ๖ ถือเป็นยุคทองของกีฬาฟุตบอล และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน สมตามพระราชปรารถนาที่เคยพระราชนิพนธ์ไว้ในบทความเรื่อง “ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย” ว่า
“…ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนายิ่งนัก และเป็นการเหมาะสมกับความต้องการที่ได้มีมานานแล้ว กล่าวคือ การเล่นอย่างใดอย่าง ๑ ซึ่งประกอบด้วยความบันเทิงใจและให้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนาน โดยปราศจากลักษณะอันน่าซัง เช่นการพนัน และการทะเลาะวิวาทกัน อีกประการ ๑ ฟุตบอลเป็นสิ่งที่ได้ให้ผลดีกว่าอย่างอื่นในการเพาะความรู้สึกเป็นมิตร และชักนำให้บุคคลต่างหมู่ต่างเหล่าได้มามีโอกาสพบปะกระทำความสามัคคีสนิทสนมซึ่งกันและกัน
ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้แหละ ถึงแม้ตัวข้าพเจ้าเป็นกลางด้วยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าต้องขอแสดงตนว่าเป็นผู้หนึ่งซึ่งเห็นชอบด้วยกับการเล่นของอังกฤษชนิดนี้ และมีความปรารถนาจะให้ได้แพร่หลายต่อไป การที่ข้าพเจ้าชอบและเล็งเห็นคุณประโยชน์ของฟุตบอลนี้ บางที่จะเป็นด้วยข้าพเจ้าได้รับการศึกษามาอย่างอังกฤษก็เป็นได้ แต่ข้าพเจ้าหวังใจว่าผู้อ่านของท่านคงจะไม่เหมาเอาว่าเป็นเพราะเหตุนั้นอย่างเดียว ที่ทำให้ข้าพเจ้าพอใจและส่งเสริมฟุตบอล ข้าพเจ้าหวังใจและเชื่อว่าผู้อ่านของท่านทั้งหลายคงจะได้รู้สึกอยู่แล้วเหมือนกัน ว่าฟุตบอลนี้ได้ทำประโยชน์ให้แก่คนไทยผู้ร่วมชาติของข้าพเจ้ารุ่นใหม่นี้เพียงใด และด้วยเหตุนั้น คงจะช่วยกันปรารถนาให้การเล่นชนิดนี้ซึ่งชาวอังกฤษผู้มีนิสัยรักใคร่การกรีฑาได้ทำให้ปรากฏซึ่งคุณประโยชน์แล้วนั้น ยืนยงดำรงอยู่ชั่วกาลนาน…”
โฆษณา