19 ส.ค. 2021 เวลา 06:41 • ดนตรี เพลง
Honky Tonk Man
Johnny Horton
เพลงนี้ออกวางจำหน่ายในปี คศ. 1956 ผู้ประพันธ์ก็คือ Johnny Horton ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน Tillman Franks และ Howard Hausey เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมายาวนานและเปรียบเสมือนลายเซ็นของ จอห์นนี่ ฮอร์ตัน เลยทีเดียว
เนื้อหาของเพลง สะท้อนภาพสังคมในเมืองเล็กๆตามชนบทของอเมริกาในยุคนั้น ที่ผู้คนหนุ่มสาวที่ตรากตรำงานหนักมาทั้งวัน ตกค่ำก็มาพบปะสังสรรค์สรวลเสเฮฮาในบาร์เล็กๆประจำถิ่น ที่มีแค่ตู้เพลงหยอดเหรียญ ( Jukebox ) โต๊ะสนุ๊ก หรูขึ้นมาอีกหน่อยก็มีวงดนตรีบรรเลง เพิ่มสีสัน บาร์ประเภทนี้ เรียกกันว่า Honky Tonk bar บรรดาขาประจำทั้งหลายก็จะถูกเรียก หรือเรียกตัวเองว่า Honky tonk man( ตามชื่อเพลง ) ถ้าเป็นศัพท์สมัยใหม่ ก็ต้องเรียกว่าเป็นแหล่งแฮ้งค์เอ้าท์ ของนักเที่ยวนั่นแหล่ะ
ใจความหลักของเพลง กล่าวถึง เพลย์บอยรายหนึ่ง ที่ติดหนึบอยู่กับบาร์แห่งนี้ ชนิดที่ว่า วันไหนไม่ได้ออกมานั่งดื่มกิน ต้องมีอันถึงกับป่วยไข้เลยทีเดียว แต่ละครั้งก็สุดเหวี่ยง เลี้ยงเหล้าสาวๆ , เต้นรำ , เทกระปุกหยอดตู้เพลง จนหมดเนื้อหมดตัว นั่นแหล่ะ ถึงจะซมซานกลับรังนอน ก่อนกลับก็ต้องโทรหาเมียออดอ้อน แม่จ๋า พ่อจะกลับละนะ ( Hollering hey hey mama , can your daddy come home ? ) เผื่อโทษหนักจะกลายเป็นเบา
มาถึง version ไทย ฮิตขนาดนี้ มีหรือจะรอด เกริก โกรกกราก ครูเพลงแปลงท่านหนึ่งของยุคนั้น นำทำนอง , เนื้อร้อง มาเรียงร้อยเป็นเพลง รักน้องจนท้องแบน
เกริก โกรกกราก เป็นนามแฝง สำหรับแนวเพลงแปลง , ขบขัน , เสียดสี และขับร้องโดยตัวท่านเอง แต่หากเป็นเพลงรัก หรือแนวอื่นๆ ท่านจะใช้นามแฝงว่า พัชราพันธ์ อย่างเพลงที่อยู่หน้า2ของเพลงนี้ ( แผ่นครั่ง สปีด 78 ) คือ ชังผู้ชาย ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช
ความจริงมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกชนชาติ ที่เกิดมามีชีวิตอยู่บนโลกยาวนานถึง 70-80 ปี ก็ย่อมต้องแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์ นอกเหนือจากการทำมาหาเลี้ยงชีพ ฝรั่งเขามีผับมีบาร์ไว้ผ่อนคลาย ดื่มกิน , เต้นรำ ปลดปล่อยอารมณ์หลังคร่ำเคร่งการงาน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนของไทยเราในยุคก่อน ผู้คนในยุคนั้น ต่างก็มี วิถีการผ่อนคลายอารมณ์ แตกต่างกันไป ตีไก่ , กัดปลา แล้วแต่ท้องถิ่น รวมไปถึงการร้องรำทำเพลง หมอลำ เพลงฉ่อย ลำตัด ลิเก หนังตะลุง เรามีมากมาย แต่ในที่นี้ จะกล่าวถึง รำวง กิจกรรมที่พอจะเทียบเคียงได้กับการเต้นรำของพวกฝรั่ง
คณะรำวงเป็นธุรกิจเล็กๆ ในชุมชนที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็น otop เหมือนในปัจจุบัน เริ่มจากหัวหน้าคณะที่ต้องไปรวบรวมสาวรุ่นหน้าตาสะสวย ที่มีใจรักชอบทางนี้และมีความกล้าพอควร เพราะต้องแต่งตัว แต่งหน้า อวดโฉมต่อหน้าหนุ่มๆทั้งหลาย สาวขี้อายต้องถอยฉากจากงานนี้ ถัดมาก็จะมีผู้ฝึกสอน , จัดหาเครื่องแต่งกาย ( สมัยนี้ ต้องเรียกว่า คอสตูม ) ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเมียหัวหน้าคณะนั่นแหล่ะ
องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างคือ นักร้องและคนตีกลอง นักร้องมีหน้าที่ร้องเพลงตามจังหวะ ( ร้องปากเปล่า ไม่มีดนตรี อย่างมากก็แค่แทมโบรีน ) และเป่านกหวีดเมื่อจบแต่ละรอบ ส่วนกลองนั้น ก็จะเป็นกลองทอม(คล้ายกลองยาว แต่เป็นขนาดย่อม ที่ใช้ตีบนรถฉิ่งฉับทัวร์ ไม่ทราบว่าเรียกถูกหรือเปล่า) 3 ใบ วางเรียงกันบนเวทีที่สูงกว่า เวทีรำวงเล็กน้อย จังหวะเต้นรำก็มีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสโลว์ , คาลิปโซ่ , บีกิน , ชะชาช่า เป็นจังหวะที่ทุกคนสามารถเต้นมั่วๆไปได้ ไม่ต้องเคร่งสเต็ปมากนัก แต่จังหวะที่ต้องเต้นอย่างถูกแบบแผนอย่าง ตะลุงเทมโป้ , ออฟบีท นานๆ ถึงจะมีหนุ่มเท้าไฟ ขึ้นมาโชว์ลวดลาย สาวรำวงก็ต้องฝึกฝนจังหวะให้คล่องตัว ยิ่งจังหวะจิ๊กโก๋อย่าง ทวิสต์ ที่ต้องหมุนสะโพก จนกระโปรง ( สั้น) พลิ้วบานออก ใครทำได้ดีได้สวย ก็จะกลายเป็นดาวคณะไปโดยปริยาย
เมื่อครบองค์ประกอบดังกล่าว ก็ออกเดินสาย ตามงานวัด งานบวช ขึ้นบ้านใหม่ แล้วแต่เจ้าภาพจะติดต่อมา
ราคาค่าบัตรที่ต้องจ่ายเพื่อขึ้นไปยื่นให้สาวงามที่หมายตา แต่ละรอบจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 บาท ตั้งแต่หัวค่ำยันดึกก็เล่นเอาหมดตัวได้เหมือนกัน แต่ไม่ต้องถึงกับต้องโทรศัพท์ไปออดอ้อนเมีย เหมือนไอ้หนุ่มอเมริกัน Honky Tonk man คนนั้น เพียงแต่ต้องตื่นแต่เช้า หาจับปูปลาในห้วยหนองคลองบึง มาขายเป็นทุนซื้อบัตรรำวงในคืนต่อไป ทำไงได้ ภาพสาวรำวงหน้าแฉล้มวนเวียนหลอกหลอนตลอดทั้งคืน
เอ้า!!! รอบนี้ 3ช่า รอบหน้าคาลิปโซ่ ซื้อบัตรรอไว้เลยคร้าบบบบบบบบ
โฆษณา