19 ส.ค. 2021 เวลา 13:00 • ปรัชญา
หรือเพลโตเป็นเฟมินิสต์?
ในขณะที่กลุ่มตาลีบันเริ่มดำเนินการถ่ายโอนอำนาจ เรื่องที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ สิทธิของสตรีชาวอัฟกัน ว่าชีวิตของพวกเธอภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันจะเป็นอย่างไรต่อไป
เพจ เขาคนนั้นวันวาน จึงขอพาสำรวจย้อนไปยังจุดเริ่มต้นที่มีการกล่าวถึงสิทธิสตรีกันเสียหน่อย ซึ่งการย้อนกลับไปไกลที่สุด คือการกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสตรีในสังคมเป็นครั้งแรกใน The Republic ของเพลโต แต่เพลโตที่ดูจะมีแนวคิดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยในยุคกรีกโบราณเนี่ยนะที่เขียนถึงสิทธิสตรี? เขาเป็นเฟมินิสต์จริงหรือ?! มาย้อนดูเรื่องราวนี้ไปด้วยกันค่ะ
หรือเพลโตเป็นเฟมินิสต์?
ว่าด้วย 4 ระลอกการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์
จากจุดเริ่มต้น ผู้หญิงในอารยธรรมโบราณไม่สามารถครอบครองที่ดิน สิ่งของ ไม่มีสิทธิทางการเมืองใดๆ และตกอยู่ภายใต้การปกครองของบิดา ญาติชาย หรือสามีเท่านั้น สิทธิสตรีค่อยๆถูกยกระดับในหน้าประวัติศาสตร์ผ่านการเคลื่อนไหว 4 ระลอก คือ
การเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี 1848 เป็นการเรียกร้องเพื่อสิทธิในการเลือกตั้ง
ระลอกต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นการเรียกร้องในเรื่องบทบาทและหน้าที่การงาน ต่อสู้กับการถูกจำกัดบทบาทให้เป็นเพียงแม่บ้านและต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก แสดงให้สังคมเห็นว่าผู้หญิงมีความสามารถมากพอที่จะทำงานนอกบ้าน มีอาชีพการงาน และได้รับเงินเดือนอย่างเท่าเทียมตามความสามารถ ไม่ถูกแบ่งแยกด้วยเพศ
ระลอกที่ 3 ต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวในระลอกที่ 2 เป็นการเรียกร้องในสิทธิของสตรีกลุ่มอื่นๆนอกจากสตรีผิวขาว โดยมีวลีอันโด่งดังจากยุคนี้ว่า “Ain’t I a Woman?” ซึ่งมาจากปาฐกถาเรียกร้องของสตรีผิวสี Sojourner Truth และทำให้เกิดการเคลื่อนไหวสำหรับสตรีเชื้อชาติอื่นๆ รวมไปถึงกลุ่มเลสเบี้ยน
ภาพ Sojourner Truth ที่มา https://www.greelane.com/th/มนุษยศาสตร์/ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม/sojourner-truth-biography-3530421/
ขณะที่ระลอกที่ 4 #Metoo เป็นการเรียกร้องให้หยุดการคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment ต่อสตรี
ทว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ขับเคลื่อนบนฐานความคิดว่านี่คือการเรียกร้อง เพื่อให้พวกเธอสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเติมเต็มชีวิตให้เท่าเทียมกับเพศชายในสังคม แล้วเพลโตเล่า? เขากล่าวถึงสิทธิสตรีใน The Republic อย่างไรกันแน่
เพลโตและสิทธิสตรีใน The Republic
ภาพผู้หญิงในนครรัฐกรีกโบราณ ที่มา https://edu.glogster.com/glog/ancient-greek-women/204nh7oij9k?=glogpedia-source
ก่อนอื่นเราต้องเกริ่นกันสักนิดถึง The Republic ของเพลโต งานเขียนของเขาชิ้นนี้เป็นการกล่าวถึงสังคมในอุดมคติ และอธิบายถึงองค์ประกอบต่างๆที่ต้องมีเพื่อขับเคลื่อนสังคมอุดมคตินั้น ว่ากันตามตรง เขาต่อต้านประชาธิปไตยทางตรงแบบในนครรัฐกรีกโบราณ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ประชากรเพศชายที่บรรลุนิติภาวะจะมาประชุมกันเพื่อกำหนดทิศทางการบริหารและนโยบาย แม้กระทั่งบทบาทในการพิพากษาคดีก็เป็นระบบใช้คณะลูกขุนตัดสินคดี ไม่มีผู้พิพากษา ไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ด้านกฎหมาย ขอแค่เป็นประชากรเพศชายที่บรรลุนิติภาวะก็พอ
และนั่นเป็นช่องโหว่ของระบบอย่างใหญ่หลวง เพราะทำให้เกิดสถานการณ์พวกมากลากไป โดยครั้งหนึ่งโสเครติสอาจารย์ที่เพลโตเคารพรัก (แต่ไม่ป๊อปปูล่านักในสายตาพลเมืองชาวกรีก) ถูกคณะลูกขุนตั้งข้อกล่าวหาว่ามอมเมาคนหนุ่มในนครด้วยความรู้ที่นอกรีต ทำตัวลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ทั้งที่โสเครติสเป็นเพียงนักปรัชญาหัวก้าวหน้าที่ชอบตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว การตัดสินด้วยความลำเอียงและพวกมากลากไปนี้ ทำให้นครรัฐกรีกโบราณต้องสูญเสียนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ไปคนหนึ่งก่อนที่จะทันได้นำความรู้ไปพัฒนารัฐ
นับแต่นั้นเพลโตจึงตั้งอกตั้งใจอุดช่องโหว่จากการขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญดังกล่าวในสังคมอุดมคติของเขา
แล้วผู้หญิงในสังคมอุดมคติของเพลโตมีบทบาทหน้าที่อย่างไร เพลโตแบ่งชนชั้นในสังคมอุดมคติเป็น 3 ชนชั้น คือ ชนชั้นกรรมาชีพ ทหาร และชนชั้นปกครอง ซึ่งสองกลุ่มหลังนั้นถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมือง และมนุษย์แต่ละคนจะถูกตัดสินว่าควรอยู่ในชนชั้นใดที่จิตวิญญาณของเขา มิใช่กายภาพหรือเพศ นั่นทำให้ผู้หญิงในสังคมอุดมคติของเพลโตสามารถมีบทบาททางการเมืองการปกครองได้ ซึ่งในยุคสมัยนั้น เป็นแนวคิดที่แทบทำให้หัวใจวาย แถมยังสนับสนุนให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาและฝึกฝนอย่างเหมาะสมเพื่อไปทำหน้าที่ดังกล่าว
แต่กระนั้นเพลโตก็ยังทำให้พวกเรางุนงงในจุดยืนเรื่องสิทธิสตรี เพราะอีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังคงมองว่าผู้หญิงมีหน้าที่ในการผลิตลูก และยังมองว่าการประกอบอาชีพของผู้หญิงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าผู้ชาย
แล้วสรุปเพลโตเป็นเฟมินิสต์ไหมนี่? แอดคิดว่ายังค่อนข้างห่างไกล เพราะสุดท้ายแล้วเพลโตมองที่จิตวิญญาณของมนุษย์เท่านั้น ไม่ได้โฟกัสที่เพศขนาดนั้น และมองว่านครรัฐจะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อคนที่มีจิตวิญญาณเหมาะสมได้ทำหน้าที่ที่เหมาะสม แต่ยังพอนับเป็นก้าวย่างแรกในหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ ในการเสนอให้สตรีมีบทบาทการทางเมืองการปกครอง
หากชอบบทความสามารถกดแสดงความรู้สึกและแสดงความเห็นกันเข้ามาได้นะคะ แอดพร้อมตอบพร้อมคุยมากๆ และหากกรุณากดติดตามเพจน้องใหม่กันสักนิสสสส จะดีใจมากๆเลยค่ะ ขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ พบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ
โฆษณา