19 ส.ค. 2021 เวลา 23:30 • การเกษตร
เกษตร "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหลักการในการบริหารจัดการพื้นที่ ดิน น้ำ เพื่อการเกษตรและการดำรงชีวิต โดยเน้นให้สามารถพึ่งตนเอง พออยู่ พอกิน ส่วนเกินก็สามารถค้าขายได้
เกษตร "ทฤษฎีใหม่" เป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้า วิจัยเชิงปฏิบัติ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้เกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ ความเสี่ยงจากราคาพืชผลที่ปลูกเชิงเดี่ยวและปัญหาความอดอยาก ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยทดสอบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ในพื้นที่ส่วนพระองค์จนถึงปี พ.ศ.2537 จึงทรงนำเอกสารออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ
เนื่องจากยังไม่มีหลักการหรือทฤษฎีในการออกแบบจัดสรรพื้นที่ที่ชัดเจน หลักวิชาการในการคำนวณน้ำให้พอใช้ตลอดทั้งปี การพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทรงตั้งไว้ 3 ขั้น ขั้นที่ 1 เรียกขั้นต้น ขั้นที่ 2-3 เรียกขั้นก้าวหน้า จึงทรงตั้งเป็น เกษตร"ทฤษฎีใหม่" ขึ้นมา
1
ในหลวงรัชกาลที่ 9
ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น ขั้นที่ 1
การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยที่ทำกิน โดยแบ่งพื้นที่จาก 100 ส่วน เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ดังนี้
ส่วนที่ 1 : พื้นที่ร้อยละ 30 ให้ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง การเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชน้ำต่างๆ
ส่วนที่ 2 : พื้นที่ร้อยละ 30 ให้ปลูกข้าวเพื่อใช้เลี้ยงครอบครัว
ส่วนที่ 3 : พื้นที่ร้อยละ 30 ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร พืชไร่ เพื่อใช้อุปโภค บริโภค ให้เพียงพอ ส่วนเกินก็สามารถแบ่งขายได้
ส่วนที่ 3 : พื้นที่ร้อยละ 10 เป็นที่อยู่อาศัย โรงเรือน คอกสัตว์ต่างๆ
อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการ การนำไปใช้ให้ปรับให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ ดิน น้ำ ฝน สภาพแวดล้อม สภาพครอบครัวสังคมของตน การกินอยู่ ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือที่เรียกว่าปรับตาม "ภูมิสังคม"
ภาพเสด็จลงพื้นที่
ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า ขั้นที่ 2
เมื่อสามารถสร้างพื้นที่ให้มีความพออยู่พอกินพึ่งพาตัวเองได้ ก็ให้ร่วมกลุ่มช่วยเหลือกันโดยการจัดตั้งกลุ่มหรือสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อร่วมแรงร่วมใจดำเนินกิจกรรมต่างๆดังนี้
1.การผลิต การช่วยกันเตรียมดิน เตรียมน้ำ ทำปุ๋ย ปลูกพืชพรรณหรือที่เรียกว่าลงแขกช่วยเหลือกันนั้นเอง
2.การตลาด เตรียมจำหน่ายเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด การแปรรูป รวมกลุ่มกันค้าขายช่วยเหลือแนะนำแนวทาง
3.ความเป็นอยู่ ช่วยกันผลิตหรือจัดหา สิ่งอุปโภค บริโภคต่างๆ เช่น ทำกะปิ ปลาร้า อาหาร เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มต่างๆ
4.สวัสดิการ การดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วยต่างๆหรือมีกองทุนของกลุ่มเพื่อใช้ในการกู้ยืมทำกิจกรรมต่างๆตามตกลงกัน
5.การศึกษา มีส่วนช่วยในการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาในชุมชน
6.สังคมและศาสนา พัฒนาชุมชนให้มีความรักใคร่สามัคคีช่วยเหลือกันพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ โดยมีศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจ
ภาพเสด็จลงพื้นที่
ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า ขั้นที่ 3
เมื่อผ่านพ้นไป 2 ขั้นมาแล้ว ทั้งการสร้างพื้นที่ให้พออยู่พอกิน รวมกลุ่มสามัคคีช่วยเหลือร่วมกันพัฒนา เกษตรกรจะมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงมากขึ้น เมื่อมีความเข้มแข็งก็สามารถติดต่อประสาน ธนาคาร บริษัทเอกชน ห้างร้านต่างๆเพื่อขยายและพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นไปอีกตามลำดับ
"การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนเป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและให้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกฐานะเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวในที่สุด"
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
ในงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗
โฆษณา