20 ส.ค. 2021 เวลา 04:40 • สุขภาพ
อิจฉาหรอ? ก็ไม่นะ...
อาการที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัวเมื่อเสพชีวิตคนดังในโซเชียล
(Source: ภาพพื้นหลังจาก Pexels)
เชื่อว่าทุกท่านต้องเคยเห็นคลิปรีวิวโอมากาเสะ กระทู้เที่ยวต่างประเทศ หรือแม้แต่รูปถ่ายติดโลโก้รถหรูของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์หรือที่เรียกติดปากว่าเน็ตไอดอลผ่านตากันบ้างใช่ไหมคะ แน่นอนว่าหลายท่านรวมทั้งตัวผู้เขียนด้วยก็อยากมีโมเมนต์แบบนี้เหมือนกัน
.
.
ว่าแต่อาการนี้เรียกว่าอิจฉาได้ไหม เข้าเกณฑ์หรือเปล่า ลองมาเช็คกันค่ะ
งานวิจัยที่นำมาเผยแพร่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Media Psychology ปี 2017
โซเชียลมีเดียอินฟลูเอนเซอร์ (Social media influencer) คือคนมีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ที่นำเสนอไลฟ์สไตล์ของพวกเขาให้แก่ผู้ติดตามได้รับชมผ่านทางสื่อสังคม
หรืออาจเรียกว่า Micro-celebrity (ผู้มีชื่อเสียงเฉพาะกลุ่ม หรือคนที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 5,000 - 100,000 คน) คนเหล่านี้มีตั้งแต่คนที่คุณอาจไม่รู้จัก เทรนเนอร์ออกกำลังกาย เพื่อนของคนดัง หรือแม้กระทั่งคนรวยที่รักแบรนด์เนม และคนฮอตในโรงเรียน ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่าอินฟลูฯนะคะ
อินฟลูฯเหล่านี้มักมีลักษณะที่คล้ายกันคือ sense of humor หรือความตลกและไลฟ์สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญพวกเขามักโชว์ที่สิ่งที่ผู้ติดตามไม่มีแต่หวังอยากให้มี!!
(Source: Dailymail.co.uk)
งานวิจัยด้านสื่อชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การเผยแพร่ชีวิตหรูหราของคนเหล่านี้เป็นแค่เพียงชีวิตในฝันของคนธรรมดาเท่านั้น และด้วยเนื้อหาเช่นนี้บางครั้งอาจได้รับความนิยมและส่งผลในแง่บวก แต่บางครั้งกลับส่งผลในแง่ลบเพราะผู้ติดตามไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นที่มาของ “ความอิจฉา” นั่นเอง
และความอิจฉานี้เองที่นำไปสู่พฤติกรรมด้านลบมากมาย เช่น ความก้าวร้าว หรือความมุ่งร้ายต่อผู้ที่เราอิจฉา โดยงานวิจัยกล่าวว่าความอิจฉาเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกันทางสังคมที่รับรู้ว่าเขามีสถานะที่ได้เปรียบกว่าเรา ดังนั้นความอิจฉาจะเกิดขึ้นและคงอยู่ได้เมื่อคู่เปรียบเทียบค่ะ
.
.
โดยความอิจฉาเกิดจาก 4 เงื่อนไขดังนี้
1. เมื่อเขาและคุณมีทุกสิ่งเหมือนกันยกเว้นคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการ
2. เมื่อคุณสมบัตินั้นเป็นสิ่งที่คุณมีความเกี่ยวข้องเป็นการส่วนตัว
3. เมื่อคุณไม่มั่นใจในความสามารถของเขาที่จะรักษาคุณสมบัตินั้นไว้
4. เมื่อความได้เปรียบของเขาดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย
แม้ว่าการเปรียบเทียบอาจมีข้อดีที่ว่า หากเราเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าจะทำให้เรารู้สึกดีกับสิ่งที่มีอยู่ และการเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่าจะทำให้เราพัฒนาตัวเอง แต่ในแง่ของการเปรียบเทียบในโลกออนไลน์ มันมักนำมาซึ่งความอิจฉานั่นเอง
(Source: Verv.com)
งานวิจัยนี้ทดสอบว่าลักษณะของ “การใช้สื่อสังคม” และ “บุคลิกส่วนตัว” เกี่ยวข้องกับความถี่ในการเปรียบเทียบชีวิตของตนกับอินฟลูฯไหม เพราะมันเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ความอิจฉาค่ะ
โดยการใช้สื่อสังคมจะครอบคลุม 1. อินฟูลฯที่ติดตาม และ 2. คอนเทนต์อะไรที่อินฟูลฯเหล่านั้นผลิต
ในขณะที่บุคลิกส่วนตัวจะดูที่ 3. ความตระหนักรู้ต่อตนเองในที่สาธารณะ และ 4. ความเคารพ-รักในตัวเอง
การศึกษานี้ทดลองกับผู้หญิงเกาหลีใต้ 1,846 คน อายุ 20-39 ปี ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประเด็นร้อนเกี่ยวกับอินฟลูฯให้ถกเถียงตลอดเวลา
จากการวิเคราะห์พบว่าปัจจัยทั้ง 4 เป็นตัวกระตุ้นความอิจฉาได้ทั้งหมด สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
.
.
🔹การใช้สื่อสังคม: ยิ่งติดตามมากก็จะยิ่งเปรียบเทียบมากและอิจฉามากขึ้น อีกนัยหนึ่งการพยายามยึดติดหรือทำตามคอนเทนต์เหล่านั้นมากเกินไปอาจไม่เกิดประโยชน์เพราะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้
🔹บุคลิกส่วนตัว: คนที่แคร์ภาพลักษณ์ตัวเองมากจะห่วงว่าคนอื่นจะมองตัวเองอย่างไร จึงมักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นโดยเฉพาะอินฟลูฯ เช่นเดียวกับคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองซึ่งมักเปรียบเทียบตัวเองอยู่บ่อยๆ เช่นกัน
(Source: Cottonbro จาก Pexels)
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณจะมีลักษณะการใช้ชีวิตแบบไหน ก็ย่อมเกิดความอิจฉาได้ในระดับหนึ่งเนื่องจาก “ความอิจฉาสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว” ค่ะ
เสพได้ ดูได้ แต่ควรทำอย่างพอดีเพื่อสุขภาพจิตที่สดใสนะคะ :)
อ้างอิงงานวิจัย
Explaining Females’ Envy Toward Social Media Influencers
(Chae, 2017)
โฆษณา