20 ส.ค. 2021 เวลา 10:53 • สุขภาพ
Article 17 ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน คืออะไร
2
รูปที่ 1 ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน
ตัวเลขผู้ติดเชื้อของ สบค เป็น ข้อมูลที่ไม่ครบ ซึ่งผมไม่กล้าใช้คำว่าข้อมูลไม่จริง เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นเฟคนิว ที่นี้เมื่อข้อมูลไม่ครบ มันก็ไม่สามารถเอามาใช้ในการ ทำนายว่า การกระจายของเชื้อมันถึงจุดสูงสุดหรือยัง และจะลดลงเมื่อไหร่ ก็คงต้องปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ ที่เรียกว่า แบบไทยๆ
และการที่บางครั้ง ผมเอาเรื่องต่างๆ ที่ไม่พอใจหรือเห็นว่าไม่ถูกต้อง ของรัฐบาล มาลงในห้องนี้ ผมถือว่าผมกำลังช่วยเหลือประเทศชาติอยู่ เพราะว่ารัฐบาลนี้ขับเคลื่อนด้วยเสียงก่นด่าของประชาชน แต่เสียงอาจจะไม่ดังพอ เอาแค่กระซิบกันเบาๆในห้องก็พอ 555
จากข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์ผมนำมาประมวลกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ สมช.ท่านหนึ่งส่งมาทุกเช้า ให้พวกเรารับทราบ เห็นแล้วมันรู้สึกแปลกๆ ว่าทำไมการระบาดของเชื้อโควิดมันถึงดูค่อนข้างคงที่ ที่ระดับ 20,000 ++ เล็กน้อย ถ้าใช้หลักทางสถิติมาจับก็ต้องบอกว่าคงที่อย่างมีนัยสำคัญ แต่พอไปดูตัวเลขหายป่วยกลับบ้าน ก็พบว่ามีนัยสำคัญเช่นกัน คือดันไปสอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันที่ระดับ 20,000 ++ แตกต่างกันไม่เกิน 1000 คน
ตามหลักการระบาดวิทยาและที่เกิดขึ้นกับหลายๆประเทศทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ตัวเลขจะพุ่งทะยานแบบ exponential คือเพิ่มแบบทวีคูณ และเมื่อถึงจุดสูงสุดจะเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลง
แต่ของเรายังคงที่ เป็นเพราะอะไร?
ผมก็ไม่ใช่หมอ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีน เลยอดแปลกใจไม่ได้ แต่ก็พยายามมองหาเหตุผลว่าทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น
สิ่งที่ผมเจอคือ กระบวนการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อ น่าจะเป็นการแยกระหว่างผู้ติดเชื้อในระบบ กับผู้ติดเชื้อนอกระบบ และการแสดงผลของ สบค.น่าจะเป็นการแสดงผลเฉพาะผู้ติดเชื้อในระบบเท่านั้น แต่จะครอบคลุมระบบไหนบ้างอันนั้นผมสุดคาดเดา
กรณีไปซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจเองและผลเป็นบวก จะเป็นผู้ติดเชื้อนอกระบบ และถ้ายังไม่มีอาการให้ทำ Home isolated หรือ Community isolated แต่ถ้ามีอาการรุนแรง ต้องไปตรวจ RT-PCR ที่แสนยากเย็นกว่าจะได้ตรวจ แล้วจึงไปรอลุ้นต่อว่าจะได้เตียงหรือไม่ได้เตียง ตัวเลขผู้ติดเชื้อในระบบน่าจะมาจาก LAB หรือ โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามที่รายงานข้อมูลประจำวันการรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เข้าส่วนกลาง
ทีนี้มาลองดูคำนิยามผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ของระบบบ้าง
1. ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (Probable Case) ผู้ที่มีผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ให้ผลบวก ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ (ไม่น่าจะนับ)
2. ผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed Case) ประกอบด้วย
ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยวิธี RT-PCR ยืนยันจากห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง 1 แห่งหรือ Sequencing หรือเพาะเชื้อ
ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ (Asymptomatic Infection) หรือ ผู้ติดเชื้อที่มีอาการ (Symptomatic) ผู้ที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (วิธี RT-PCR) ยืนยันจากห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง 1 แห่ง หรือ Sequencing หรือเพาะเชื้อ แต่ไม่มีอาการและอาการแสดง
สำหรับการประเมินอาการความรุนแรงของผู้ป่วยยืนยันว่าติดโควิด-19 ก่อนจะทำการรักษา โดยแบ่งเป็นระดับได้ 3 ระดับ
รูปที่ 2 ระดับสีผู้ป่วยโควิด19
กลุ่มผู้ป่วยอาการสีเขียว
คือ อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยที่เริ่มติดโควิด-19 มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดปกติ หรือไม่มีอาการ
มีไข้ วัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป
ไอ, มีน้ำมูก
เจ็บคอ
ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
ตาแดง
มีผื่น
ถ่ายเหลว
หายใจปกติ
ไม่เหนื่อย
ไม่หายใจลำบาก
ไม่มีปอดอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลือง
คือ ผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มจะมีอาการ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ ข้อใดข้อหนึ่ง
แน่นหน้าอก
หายใจลำบาก
เวลาไอแล้วเหนื่อย
อ่อนเพลีย
เวียนหัว
อาเจียน
มีปอดอักเสบ
ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน
กลุ่มผู้ป่วยอาการสีแดง
คือ ผู้ป่วยโควิดอาการหนัก
หอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา
แน่นหน้าอกตลอดเวลา
หายใจแล้วเจ็บหน้าอก
ซึม
เรียกไม่รู้สึกตัว หรือตอบสนองช้า
ปอดบวมที่มี Hypoxic (risting O2 saturation <96%) หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO2 มากกว่าหรือเท่ากับ 3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง หรือภาพรังสีทรวงอกมี Progression ของ Pulmonary infiltrates
อย่างไรก็ตาม "ผู้ป่วยสีเขียว" ให้ใช้การรักษาด้วยวิธี Home Isolation หรือ Community Isolation หรือโรงพยาบาลสนามในชุมชน หากมีอาการมากขึ้นให้พิจารณาส่งต่อสถานพยาบาลรักษา และยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ส่วน "ผู้ป่วยสีเหลือง/สีแดง" ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล
รูปที่ 3 อาการผู้ป่วยติดเชื้อตามกลุ่มสี
อ่านแล้วจะเห็นว่าต้องเป็นผู้ป่วยยืนยัน (ผู้ติดเชื้อในระบบ) เท่านั้นจึงจะรายงานข้อมูลได้ ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รายงาน ก็น่าจะเป็นผู้เสียชีวิตในระบบเช่นเดียวกัน นี่เป็นวิธีการทางสถิติที่รัฐบาลและระบบสาธารณสุขไทยใช้สื่อสารกับประชาชน
โฆษณา