Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ปรัชญาธรรมเกษตร
•
ติดตาม
20 ส.ค. 2021 เวลา 23:30 • การเกษตร
วิถีซามูไรจับดาบ กับ วิถีเกษตรกรจับจอบ
คัมภีร์ 5 ห่วง ดิน น้ำ ลม ไฟ ความว่างเปล่าของจิต
วิถีแห่งดาบ มิยาโมโต้ มูซาชิ ซามูไรไร้พ่ายที่ได้รับการเชิดชูว่าเก่งที่สุด
3
ในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้อุทิศตนสร้างงานเขียนจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านการขัดเกลาและตกผลึกเป็นปรัชญาเพื่อตกทอดสู่คนรุ่นต่อไป หลังจากเขียนเสร็จไม่นาน มูซาชิ ก็เสียชีวิตลงด้วยวัย 61 ปี ค.ศ.1645 เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่มีคุณค่าเป็นอย่างมากมาถึงปัจจุบันนี้
ภาพจินตนาการ มิยาโมโต้ มูซาชิ วาดโดย ทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ
ตามบันทึก มิยาโมโต้ มูซาชิ มิได้เป็นคนใหญ่คนโตและเค้าก็ไม่ได้ปารถนาจะเป็น มีแต่การประลองต่อสู้ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันมากกว่า 60 ครั้งที่ได้บันทึกไว้เค้าไม่เคยพ่ายแพ้ให้ผู้ใด ไม่ได้สร้างผลงานใหญ่โตอะไรในยุคนั้น แต่อย่างนั้นชื่อเสียงของเค้าก็ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันทั้งที่ผ่านมาหลายร้อยปี มีการนำเรื่องราวของเค้ามาประพันธ์เป็นวรรณคดี เป็นละคร ภาพยนต์ สารคดี หรือในการ์ตูน ซึ่งมีทั้งเรื่องที่อิงจากประวัติศาสตร์จริงและเรื่องที่เสริมเติมแต่งขึ้น แต่สิ่งที่ผู้คนชื่นชอบตราตรึงใจมากที่สุดสำหรับตัวมูซาชิก็คงเป็นเรื่อง ความเด็ดเดี่ยวในเส้นทางวิถีดาบของตัวเอง
สิ่งที่พอพิสูจน์ได้และมีคุณค่าจริงคืองานเขียนของมูซาชิ ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีผู้คนได้ศึกษา ถอดความ ตีความหมายในแง่มุมต่างๆนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต วางกลยุทธ์ธุรกิจต่างๆหรือแม้กระทั่งเป็นปรัชญาชีวิตของตน ทั้งชาวตะวันออกตะวันตกมากมาย
เค้าอยู่ในยุคสงคราม ผู้คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรแต่ก็เจอโจรผู้ร้ายซุกชุม และส่วนหนึ่งก็หันอยากไปเป็นซามูไร ต้องเติบโตมากับการต่อสู้ ฆ่าฟัน ด้วยสิ่งที่พบเจอนั้นก็คงคิดได้ไม่ยากว่าเค้าจะมีความป่าเถื่อนเหมือนสัตว์ร้ายแค่ไหน เค้าสังหารคนที่ประลองมากมาย คิดแต่ที่จะต่อสู้อย่างบ้าเลือด เอาเป็นเอาตาย แต่เค้าก็ค่อยๆ เรียนรู้สัจจธรรมและปรัชญาของชีวิต ไปพร้อมกับฝีมือดาบที่พัฒนาไปเรื่อยๆ เปลี่ยนจากคนที่มีแต่ความมุทะลุดุดันจนเป็นคนที่มีความสุขุมลุ่มลึก
ในช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตการเดินทางของมูซาชิเค้าได้ไปเป็นชาวนา อาจจะมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มาก แต่เรื่องนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เค้าได้เรียนรู้ชีวิตด้านอื่นนอกเหนือจากการต่อสู้ฆ่าฟัน ทำให้เค้าได้เรียนรู้ชีวิต ธรรมชาติ จากจับดาบสู้กับคน มาจับจอบสู้กับดินฟ้า
เรามาเรียนรู้ศึกษางานเขียนที่กลั่นมาจากชีวิตของ มิยาโมโต้ มูซาชิ คัมภีร์ 5 ห่วง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตกันครับ
5
มูซาชิ กับ ชาวนา
คัมภีร์ 5 ห่วง
บทแห่ง "ดิน" หลักพื้นฐานที่มั่นคง
ต้องรู้จักสิ่งต่างๆเป็นอย่างดี สถานที่ ตื้นลึกหนาบาง ใหญ่เล็ก ดุจการเดินย่ำไปบนพื้นดินที่ต้องสัมผัส หากจะรู้ภาพรวมก็ต้องรู้ภาพละเอียด ต้องรู้จักตน รู้จักดิน รู้จักพืชพรรณ สัตว์ สิ่งแวดล้อม
บทแห่ง "น้ำ" ยืดหยุ่นปรับตัว
เหตุที่เขาตั้งชื่อว่า น้ำ ก็เพราะตัวเขาเรียนรู้จาก "น้ำ" มาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยเฉพาะในการฝึกใจของเขา ซึ่งมูซาชิบอกว่า เขาได้พยายามฝึกใจของเขาให้เป็นดุจใจของน้ำ น้ำสามารถปรับตัวเข้ากับภาชนะได้ทุกชนิดทุกประเภท นอกจากนี้ น้ำยังสามารถดำรงอยู่แค่หยดเดียวเป็นหยดน้ำค้างก็ได้ หรือจะดำรงอยู่เป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ได้ หลายอย่างมีทั้งที่เราควบคุมได้และที่ควบคุมไม่ได้ เราต้องมีความยืดหยุ่นรู้จักปรับตัวตามสถานการณ์ ตามบริบทที่เกิดขึ้น ให้สามารถดำรงอยู่ได้
บทแห่ง "ไฟ" เปลี่ยนแปลงรวดเร็วรุนแรง รู้ถึงความรู้สึกนึกคิด การต่อสู้
คือการฝึกฝนในทุกวัน พิจารณาและตัดสินใจสิ่งที่ทำอย่างเด็ดเดี่ยวรวมถึงการไม่ปล่อยให้จิตใจย่อหย่อน มีสติรับรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆมีสติกับการงานปัจจุบันก็จะสามารถใช้กำลังและสติปัญญาได้เต็มที่
บทแห่ง "ลม" รูปแบบหรือสไตล์
ควรเรียนรู้รูปแบบสิ่งต่างๆอย่างกว้างขวาง การยึดติดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมากเกินไปว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด อาจจะทำให้เบี่ยงเบนไปผิดทาง จึงต้องเรียนรู้ฝึกฝนให้มาก เปิดใจเรียนรู้ด้านต่างๆอย่างเป็นกลางโดยไม่ตัดสินใจในทันทีทันใดเพราะประสบการณ์อาจปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ เรียนรู้อย่างน้ำไม่เต็มแก้ว เรียนรู้อยู่เสมอ
บทแห่ง "ความว่าง" การมีอิสระ
เมื่อได้เรียนรู้ฝึกฝนสิ่งต่างๆมาแล้วจงปล่อยให้เป็นอิสระโดยธรรมชาติ ไม่ยึดติดแต่ก็ไม่ทิ้ง ให้มันเป็นไปโดยธรรมชาติ มูซาชิกล่าว "ทั้งหมดนี้คือวิถีแห่งความว่างเปล่า ทั้งหมดนี้ข้าได้เขียนไว้ในบทแห่งความว่างเปล่า ซึ่งเจ้าย่อมสามารถเข้าสู่ "วิถีที่ถูกต้อง" ได้โดยธรรมชาติของเจ้าเอง"
ในการทำเกษตรของเรานั้นอาจจะเรียนรู้ฝึกฝนหรือดูตัวอย่างมามากมาย แต่เมื่อเราจะลงมือทำ ให้ทำไปตามเหมาะสมกับตนเอง เหมาะสมกับธรรมชาติที่เป็นอยู่ ผลทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็เพราะเหตุปัจจัยที่เหมาะสม เราจะเป็นอิสระต่อความหวาดกลัว ความกังวล เพียงเราทำหน้าที่ตามธรรมชาติของเราให้เต็มที่ ผลลัพธ์ก็จะเกิดเองตามธรรมชาติของมัน ไม่ใช่สิ่งที่ควรไปกังวล ซึ่งจะเป็น "ความว่างเปล่า" ที่เต็มบริบูรณ์ในตัวมันเอง เป็นประสบการณ์ที่จะต้องเข้าไปสัมผัสด้วยประสบการณ์ของตนเท่านั้น
ภาพจินตนาการ มิยาโมโต้ มูซาชิ วาดโดย ทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ
เมื่อเราได้ศึกษาพิจารณา คัมภีร์ 5 ห่วง ดิน น้ำ ลม ไฟ ความว่างเปล่าของจิต จะพบว่ามีหลายแง่มุม หลากหลายการตีความที่จะคิดไปตามประสบการณ์แต่ละคน แต่ก็เป็นหลักการที่ทรงคุณค่า ที่เราสามารถนำส่วนที่เหมาะสมกับตัวเองไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิต
จะวิถีซามูไรจับดาบ หรือ วิถีเกษตรกรจับจอบ ก็ขอให้ฝึกฝนเรียนรู้พัฒนาตนเองมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในวิถีของตัวเอง ดั่งเรื่องราวของ มิยาโมโต้ มูซาชิ ที่ได้พิสูจน์คุณค่ามาแล้วหลายร้อยปีครับ
9 บันทึก
11
1
9
9
11
1
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย