20 ส.ค. 2021 เวลา 13:55 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
The Breadwinner: อัฟกานิสถาน...ประเทศที่ผู้หญิงถูกทิ้งให้อยู่อย่างไร้ตัวตน
2
“เราคือดินแดนที่ประชาชนเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุด แต่กลับต้องมาอยู่ตรงเส้นขอบของอาณาจักรที่มีการรบราฆ่าฟันกัน” (We are a land whose people are its greatest treasure. We are at the edges of empires at war with each other.)
2
The Breadwinner ที่แปลว่า ผู้หาเลี้ยงครอบครัว หรือชื่อภาษาไทยคือ ปาร์วานา ผู้กล้าหาญ เป็นหนังที่ถูกดัดแปลงมาจากหนังสือขายดีของเดบาร่าห์ เอลลิส ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมาจากการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์เด็กผู้หญิงในค่ายลี้ภัยที่ปากีสถานช่วงปลายทศวรรษที่ 1990
เรื่องราวในหนังมีฉากหลัง คือ กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ในช่วงที่กลุ่มตาลีบันยึดครอง มีข้อห้ามมากมายที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิของผู้คนในเมือง โดยเฉพาะเด็กหญิง และผู้หญิง ที่ถูกบังคับให้สวมชุดบูร์กา (Burqa) พวกเธอไม่สามารถออกไปไหนข้างนอกคนเดียวได้โดยไม่มีคนในครอบครัวที่เป็นผู้ชายไปด้วย ไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้าน เด็กผู้หญิงไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ผู้หญิงไม่สามารถซื้อของหรือนั่งรถแท็กซี่เองได้ และไม่สามารถรับการรักษาจากแพทย์ผู้ชายได้ นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามและบทลงโทษอีกมากมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อจัดการกับคนที่พวกเขามองว่าเป็น “ศัตรูของอิสลาม”
2
ปาร์วานา เป็นเด็กหญิงอายุ 11 ปี มีพ่อเป็นอดีตครูผู้ซึ่งสูญเสียขาจากสงครามโซเวียต พ่อของเธอสอนให้เธออ่านเขียนได้ทั้งภาษาพัชโตและภาษาดารี วันหนึ่งพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวถูกกลุ่มตาลีบันจับตัวไปอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งบ้านของเธอเหลือเพียงตัวเธอ แม่ พี่สาว และน้องชายวัยแบเบาะ ในขณะที่อาหารในบ้านกำลังหมดลงเนื่องจากไม่มีใครสามารถออกไปข้างนอกเพียงลำพังได้ ปาร์วานาจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่จะปลอมตัวเป็นเด็กชาย และออกไปหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวทั้งหมดที่เหลือ พร้อมกับตามหาพ่อของเธอไปด้วย
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะมาเล่าถึงสิ่งที่ผู้หญิง และเด็ก ๆ ต้องเผชิญ ในดินแดนที่พวกเขาเหล่านี้ถูกปฏิบัติราวกับไม่มีตัวตน
📌 อัฟกานิสถาน...ดินแดนสงบสุขและศักดิ์สิทธิ์ เมื่อครั้งสิทธิเสรีภาพยังรุ่งเรือง
“ตอนพ่อเด็ก ๆ นะ ปาร์วานา พ่อรู้ว่าความสงบสุขในเมืองนี้เป็นยังไง เด็ก ๆ ไปโรงเรียน หญิงสาวเข้ามหาวิทยาลัย”
1
สิ่งที่พ่อของปาร์วานาพูด ไม่ได้เกินจริงเลยสำหรับอัฟกานิสถานในช่วงราวๆ ทศวรรษที่ 1950 นายกรัฐมนตรีโมฮัมเหม็ด ดาวูด ข่าน พยายามที่จะปฏิรูปหลายสิ่งให้ทันสมัย และเริ่มยกเลิกการบังคับให้สวมผ้าคลุมหน้าในช่วงปี 1959
2
ภาพถ่ายเปรียบเด็กหญิงและผู้หญิงในช่วงยุคเท่าเทียมรุ่งเรื่อง ก่อนถูกบังคับสวมชุดบูร์กา (Burqa)
รัฐธรรมนูญฉบับปี 1964 ยิ่งให้ความเท่าเทียมแก่ผู้หญิงมากขึ้น แม้ว่าผู้ที่ได้รับผลดีจากการเปลี่ยนแปลงนี้ คือผู้หญิงชนชั้นสูงในเมืองมากกว่าผู้หญิงในชนบทที่ตอนนั้นเป็นสังคมปิตาธิปไตย และสังคมชนเผ่า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นเป็นรากฐานที่พาอัฟกานิสถานก้าวไปสู่ยุคใหม่แห่งการพัฒนา
ผู้หญิงในยุคนั้นมีสิทธิในการเลือกตั้ง สามารถจัดตั้งบริษัทได้ ผู้หญิงที่อยู่ในเมืองสามารถเปิดผ้าคลุมหน้าได้ มีผู้หญิงทำงานอยู่ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ ครู แพทย์ และข้าราชการ
ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียน สามารถเรียนร่วมกันในมหาวิทยาลัย และมีการออกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ มีอาจารย์ผู้หญิงในมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข ผู้หญิงนับพันคนศึกษาในคณะต่างๆ หลากหลายแขนง ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาบูล
1
ในปี 1978 ถึง 1992 ผู้หญิงมีบทบาทเป็นอย่างมากในเศรษฐกิจและสังคม พวกเธอทำงานในอุตสาหกรรมการผลิต การศึกษา และการเมือง ช่วงปี 1980 คุณครูกว่า 70% และแพทย์กว่า 40% ในอัฟกานิสถานเป็นผู้หญิง อีกทั้งผู้ที่ทำงานในหน่วยงานราชการกว่าครึ่งก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน
1
แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อเงามืดแห่งตาลีบันเข้ามาปกคลุมอัฟกานิสถาน...
2
📌 หญิงสาวผู้ไร้นามเรียกขาน...ชีวิตของผู้หญิงอัฟกัน หลังจากที่ตาลีบันปกครอง
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 หลังจากที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน ภายใต้ชุดคลุมบูร์กา (Burqa) ผู้หญิงมีสถานะเป็นเพียงลูกสาว พี่สาว น้องสาว ภรรยา หรือแม่ ของใครสักคน ไม่มีการระบุชื่อของเธอในเอกสารราชการต่างๆ ... แม้กระทั่งบนหลุมศพ
ผู้หญิงไม่ได้รับการอนุญาตให้เรียนหนังสืออีกต่อไป ไม่สามารถไปไหนมาไหนเองได้ เกือบทุกอย่างในชีวิตต้องพึ่งพาผู้ชายเป็นหลัก การออกกฎที่สุดโต่งเช่นนี้ ทำให้ผู้หญิงในอัฟกานิสถานเสมือนถูกตัดแขนตัดขาโดยสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้นคุณภาพการศึกษาก็ย่ำแย่เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในชนบท อย่างที่ทราบกันว่าครูส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เมื่อตาลีบันออกกฎไม่ให้ผู้หญิงออกจากบ้านเช่นนี้ จึงทำให้ครูในระบบหายไปเป็นจำนวนมาก ครูผู้หญิงบางส่วนถูกฆ่า โรงเรียนกว่าครึ่งถูกทำลายจากคำสั่งของตาลีบัน และโรงเรียนหลายแห่งถูกใช้เป็นที่ซ่องสุมกำลังพล
ข้อมูลจาก UNICEF เผยให้เห็นว่าในปี 2000 มีเด็กอัฟกันเพียงแค่ 4-5% เท่านั้นที่ได้เข้าเรียนประถม และยิ่งน้อยไปอีกสำหรับระดับชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย
จำนวนนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นสูงของอัฟกานิสถาน
อัตราการเข้าเรียนอย่างหยาบ (Gross Enrollment)
อย่างไรก็ดี แม้หลังจากปี 2001 ที่ตาลีบันถูกโค่นลงจากอำนาจ แต่อัฟกานิสถานกลับไม่ได้รับความสงบสุขจริงๆ สักครั้ง ตาลีบันไม่เคยจากไปไหน ประชาชนต่างต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวในแต่ละวันว่าหากออกจากบ้านไปแล้วจะไม่ได้กลับมาอีก
สำหรับในด้านของการศึกษา แม้ว่าทางกฎหมายผู้หญิงจะสามารถกลับเข้ามาเรียนได้อีกครั้ง และมีความช่วยเหลือจากภายนอกประเทศทั้งการสร้างโรงเรียน หาครูมาสอน แต่สิ่งที่รัฐบาลตาลีบันทิ้งไว้ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กผู้หญิงอัฟกันไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากเท่าที่ควร ประกอบไปด้วย
2
1) ความไม่มั่นคง และความรุนแรงในสังคมอยู่ในระดับสูงมาก จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไปส่งผลต่อปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เด็กผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
ข้อมูลจาก United Nations Assistance Mission in Afghanistan (UNAMA) ได้แสดงให้เห็นว่าจากสงครามที่ทำให้มีเด็กต้องเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ส่งผลให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ กลัวลูกของตนเองเป็นอันตราย จึงไม่ยอมส่งลูกเข้าเรียน อีกทั้งยังมีข่าวกลุ่มก่อการร้ายลักพาตัวและคุกคามทางเพศอยู่บ่อยครั้ง
2) การขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูผู้หญิงในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งผู้ปกครองจะไม่ส่งลูกสาวไปเรียนหากไม่ใช่ครูผู้หญิง
หลายๆ เมืองในอัฟกานิสถาน โรงเรียนจะแยกเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ชายและโรงเรียนสำหรับผู้หญิง แต่มีเพียง 12.3% เท่านั้นที่เป็นโรงเรียนสำหรับผู้หญิง จึงทำให้ในบางเมืองไม่มีโรงเรียนสำหรับผู้หญิงเลย และผู้ปกครองก็มักปฏิเสธที่จะต้องส่งลูกสาวไปเรียนไกลๆ เนื่องจากปัญหาด้านการเดินทาง และการที่โรงเรียนไม่มีห้องน้ำ หรือน้ำที่สะอาดๆ
2
จากข้อมูลของ Asian Development Bank พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนไม่มีน้ำใช้ และมีเพียง 15% ของโรงเรียนทั้งหมดในประเทศ ที่มีห้องน้ำ ทำให้เด็กผู้หญิงหลายคนต้องขาดเรียนในช่วงที่มีประจำเดือนจนเรียนไม่ทัน และมีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนไปในที่สุด
1
3) สถานะการเงินของแต่ละครอบครัวย่ำแย่ส่งผลให้หลายครอบครัวเลือกให้ลูกชายได้เรียนมากกว่าลูกสาว ผู้ปกครองหลายคนจับลูกสาวไปแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อเอาเงินสินสอด ทำให้เด็กผู้หญิงหลายคนไม่ได้เรียนต่อ เด็กหญิงเหล่านี้มักเผชิญปัญหาสุขภาพ มีแนวโน้มเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว
1
4) ความยากจนทำให้เด็กอายุ 5 - 14 ปี กว่า 25% ต้องออกไปทำงาน เด็กผู้หญิงจำนวนมากออกไปขายของเล็กๆ น้อยๆ หรือไปขอทานตามท้องถนน หลายคนออกไปทำงานที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยและเสี่ยงอันตราย จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กเหล่านี้ต้องออกจากโรงเรียน
ดัชนีชี้วัดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเปรียบเทียบระหว่างช่วงที่อยู่ ภายใต้การปกครองของตาลีบัน และช่วงที่ตาลีบันถูกโค่นอำนาจลง
อัตราความสามารถในการอ่านออกเขียนของกลุ่มผู้ใหญ่ ในประเทศอัฟกานิสถาน
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ชาวอัฟกันต้องเผชิญภายใต้การปกครองของตาลีบันในอดีต โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อไม่กี่วันก่อนเราจะได้เห็นภาพผู้คนมากมายที่พยายามหนีออกนอกประเทศไปตายเอาดาบหน้า หลังจากที่ทราบว่าตาลีบันยึดกรุงคาบูลได้แล้ว
ไม่มีใครทราบว่า ครั้งนี้กลุ่มตาลีบันจะพาอัฟกานิสถานย้อนกลับไปเหมือนเมื่อ 20 กว่าปีก่อนหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตาลีบันเป็นเหมือนฝันร้าย และบาดแผลในใจของใครหลายๆ คนโดยเฉพาะผู้หญิง รวมถึงเป็นบาดแผลทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ยังรอวันได้รับการแก้ไข เพื่อช่วยให้ประชาชาชนกลับมามีชีวิตที่สงบสุขอีกครั้ง
1
ขอให้พระเจ้าโปรดมอบความสงบสุขแก่ดินแดนอันงดงามนี้อีกครั้ง และคุ้มครองประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย
3
#TheBreadwinner #Burqa #อัฟกานิสถาน #womenpower
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
Shayan, Z. (2015). Gender Inequality in Education in Afghanistan: Access and Barriers. Open Journal of Philosophy, 5, 277-284.
Samady, S. (2013). Changing Profile of Education in Afghanistan. http://eslus.com/articles/Ed-Afghanistan.pdf

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา