20 ส.ค. 2021 เวลา 13:31 • ประวัติศาสตร์
“อัฟกานิสถาน” บนเส้นทางสายไหม “แอ่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์”
1
เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วว่า อัฟกานิสถานเป็นดินแดนที่มีอดีตรุ่งเรือง เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางที่เชื่อมโลกยุคโบราณเข้าด้วยกันเป็นสายแรก มีผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ หลากหลายความเชื่อศาสนา เดินทางผ่านเข้ามาเพื่อทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน
3
เมื่อประมาณ ๕๐,๐๐๐ ปี – ๒๐,๐๐๐ ปีที่แล้ว ปรากกฏร่องรอยอารยธรรมของมนุษย์ขึ้นที่เชิงเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ในช่วงเวลาต่อมาจึงเริ่มปรากฏร่องรอยของเมืองเริ่มแรกในบริเวณเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) รู้จักกันดีในนามของอารยธรรมหุบเขาสินธุ ที่กลายมาเป็นแหล่งผลิตลูกปัดให้กับโลกยุคโบราณในเวลาต่อมา
3
ช่วงเวลา ๕,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี มีการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่ลงมาจากทางตอนเหนือ ที่รู้จักกันในชื่อ อารยัน (Aryan) แต่คงไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวที่มีความบริสุทธิ์ล้วนๆ หากแต่มีหลายต่อหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันเคลื่อนที่ลงมาปะทะกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำสินธุ กลุ่มชนอารยันได้เข้าสู่อินเดียทางช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) และขับดันกลุ่มชนดั้งเดิมที่เรียกว่า ดราวิเดียน (Dravidian) ในอินเดียให้ถอยร่นลงไป
5
ประมาณ ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว ขณะที่ชนเผ่าอารยัน เริ่มสร้างบ้านเมืองที่เมืองคาบูล (Kabul) เมืองเบคเตรีย (Balkh) แคว้นคันธาราฐ (Gandhara) ก็ต้องรับการมาเยือนของจักรวรรดิเปอร์เซียที่กำลังยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองที่สุดในเมโสโปเตเมีย ชนเผ่าเปอร์เซียโดยจักรพรรดิดาริอุส  (Darius The Great) แห่งราชวงศ์อาคีเมนิค (Achaemenic) ยกกองทัพเข้าตีและทำลายแคว้นคันธาราฐของอารยัน เบิกทางผ่านช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) ลงไปยังบ้านเมืองในลุ่มน้ำสินธุ เปอร์เซียครอบครองอัฟกานิสถานยาวนานกว่า ๒๐๐ ปี จึงผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมระหว่างชนเผ่าอารยันกับชาวเปอร์เซียน กลายมาเป็นชาวอัฟกันพื้นเมือง
4
หลังจากการครอบครองของเปอร์เซีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander The Great) ยกกองทัพกรีกเข้าทำลายจักรวรรดิเปอร์เซียของจักรพรรดิดาริอุส เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ตามด้วยการทำลายและสร้างเมืองใหม่จำนวนมากในเขตยึดครองของเปอร์เซีย กองทัพกรีกไล่ตีขึ้นมาทางตอนเหนือของอัฟกัน เข้าตีเมืองเบคเตรีย ตีแคว้นคันธาราฐและเมืองในลุ่มน้ำโอซุส ย้อนกลับลงตามแนวเขาฮินดูกูช ผ่านช่องเขาไคเบอร์เข้าโจมตีแคว้นปัญจาบ ข้ามแม่น้ำสินธุเข้าโจมตีบ้านเมืองในอินเดีย แล้วจึงย้อนกลับมาตีบ้านเมืองทางตอนใต้ ในสงครามครั้งนี้เกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
4
ความขัดแย้งครั้งใหม่เกิดขึ้นระหว่างชาวกรีกผสมที่สร้างจักรวรรดิเบคเตรียร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโอซุสทางตอนเหนือของอัฟกัน กับราชวงศ์โมริยะของชาวอารยันใหม่ในอินเดียต่างเข้าแย่งชิงแคว้นคันธาราฐ โดยเริ่มต้นที่การกลับเข้ายึดครองแคว้นคันธาราฐของราชวงศ์โมริยะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๔ พระเจ้าอโศกมหาราช (Ahhoka The Great) นำพุทธศาสนาเข้าประดิษฐานในแคว้นคันธาราฐ (กรุงคาบูล เปษวาร์ จาลาลาบัด) เกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกที่ตักสิลา ริมแม่น้ำสินธุ มีการเผยแพร่พุทธศาสนาไปทั่วภูมิภาค ถือได้ว่า เป็นยุคทองยุคต้นของพุทธศาสนาในอัฟกานิสถานก็ว่าได้ ต่อมากษัตริย์เมนันเดอร์ (Menander) แห่งจักรวรรดิเบคเตรียกลับเข้ามายึดครองแคว้นคันธาราฐ และวัฒนธรรมทางพุทธศาสนากลับคืน
2
๒๐๐ ปี ต่อมา ชาวกุษาณะ (Kushan) ชนกลุ่มใหม่ลงมาจากปลายแผ่นดินจีน เข้าครอบครองลุ่มน้ำสินธุจากผู้ครอบครองเดิม พระเจ้ากนิษกะ (Kanishka) เข้ายึดครองบ้านเมืองในลุ่มน้ำคาบูล แคว้นคันธาราฐ เบคเตรีย จักรวรรดิของชาวกรีกผสมเสื่อมอำนาจลง สูญเสียดินแดนในปกครองไปเกือบทั้งหมด พระเจ้ากนิษกะสร้างเมืองเบคราม (Begram) เปษวาร์ (Peshwar เมืองมถุรา (Mathura) ริมฝั่งแม่น้ำยมุนาเป็นศูนย์กลางอาณาจักร และด้วยความมั่นคงและมั่งคั่งของจักรวรรดิ เส้นทางไหม (Silk Road) ที่เชื่อมโยงระหว่างโลกโบราณ จึงเริ่มเปิดขึ้น
3
ชาวกุษาณะ ศกะ-ซินเถียน รับเอาวัฒนธรรมพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน มีการสร้างพระพุทธรูปยืนที่เมืองบามิยัน (Bamian)  ตามเส้นทางสายไหม ถือได้ว่าในช่วงเวลานี้พระพุทธสาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในอัฟกานิสถานและกระจายไปสู่ดินแดนในประเทศจีนตามเส้นทางสายไหม แต่ก็อาจจะจัดได้ว่าเป็นยุคทองยุคสุดท้ายของพระพุทธศาสนาในอัฟกานิสถานเช่นเดียวกัน ในช่วง ๑,๘๐๐ ปี มีการผสมผสานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ขึ้นอย่างมากมาย
4
กลุ่มชนกลุ่มใหม่ที่หลากหลายปรากฏตัวขึ้นในช่วง ๑,๗๐๐-๑,๖๐๐ ปีที่แล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ใหม่นี้เคลื่อนตัวมาจากทุกๆ ด้านของดินแดนอัฟกันทางตอนเหนือ ชาวฮั่นขาวเข้าทำลายวัฒนธรรมพุทธศาสนาในบ้านเมืองลุ่มน้ำโอซุส แคว้นคันธาราฐ และข้ามช่องเขาไคเบอร์เข้าทำลายอินเดียเหนือของราชวงศ์คุปตะ ชาวเติร์ก ตาด (ตาตาร์) จากเอเชียกลางเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือและจักรวรรดิเปอร์เซียราชวงศ์ ซัสสาเนี่ยนเข้ามาทางตะวันตก บ้านเมืองในอัฟกานิสถานแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย ชาวเติร์กสร้างจักรวรรดิกลาสนี่ (Ghazni) ขึ้นทางตอนใต้ของกรุงคาบูล นำความเชื่อทางศาสนาอิสลามจากอาหรับเข้าสู่อัฟกานิสถาน รวมทั้งยกกองทัพเข้าทำลายแคว้นของชาวฮินดูและชาวพุทธในอินเดียเหนือ ศาสนาอิสลามจึงเริ่มแพร่กระจายเข้าสู่ลุ่มน้ำสินธุและลุ่มน้ำคงคา
2
ต่อมาจักรวรรดิดิกอรห์ได้โค่นล้มจักรวรรดิกลาสนี่ลง ขยายอาณาเขตต่อจากจักรวรรดิดิกลาสนี่ไปจนถึงอ่าวเบงกอล ศาสนาอิสลามได้กลายเป็นศาสนาหลักของบ้านเมืองในพื้นที่อินเดียเหนือแทบทั้งสิ้นในเวลาต่อมา
1
เมื่อ ๘๐๐ ปีที่แล้ว เจงกีสข่านนำกองทัพชาวมองโกล เข้าทำลายจักรวรรดิอิสลามของชาวเติร์ก ลงมาจนถึงลุ่มน้ำสินธุ ชาวมองโกลบางส่วนรับเอาวัฒนธรรมอิสลามจากเจ้าของดินแดนเดิมมาใช้ปกครอง เกิดเป็นสุลต่านมองโกลชาวอิสลามมองโกลได้สร้างอาณาจักรขึ้นในเขตครอบครองอัฟกานิสถาน ขยายจักรวรรดิไปกว้างใหญ่ในสมัยของสุลต่านมองโกลตาเมอร์เลนส์ (Tamerlane) ศูนย์กลางของจักรวรรดิอยู่ที่นครซามาร์คานด์ (Samarkand) อุซเบกิสถานในปัจจุบัน ชาวอิสลาม มองโกลที่ยึดครองอินเดีย ก็ได้สร้างจักรวรรดิอิสลามโมกุลขึ้นปกครองอินเดียเหนือ
1
ด้วยความแตกต่างของผู้คนที่หลากหลายความเชื่อ เชื้อชาติและผู้ปกครอง จึงเกิดการต่อสู้กันเองในดินแดนอัฟกานิสถาน กอปรที่จักรวรรดิโมเลกุลเสื่อมอำนาจลง Ahmad Shah Abdali (Durrani) ผู้นำอัฟกันจึงได้สถาปนาจักรวรรดิอัฟกานิสถานขึ้นใหม่ ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิออกไปอย่างกว้างขวาง ถึงทะเลอาหรับและครอบคลุมลุ่มน้ำสินธุของราชวงศ์โมกุล จนกลายเป็นอาณาจักรอิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงศตวรรษที่ ๑๗
1
ตาลีบัน
โฆษณา