21 ส.ค. 2021 เวลา 02:30 • ไลฟ์สไตล์
"ลายผ้า (Pattern)" ที่คุ้นตาเหล่านี้ มีชื่อเรียกว่าอะไร ?
หลายครั้งที่เรากำลังตามหาเสื้อผ้าที่มีลายหรือรูปแบบแพตเทิร์น (Pattern) ต่าง ๆ แต่ไม่รู้ว่าจะค้นหาว่าอะไร…
หลายครั้งก็ต้องค้นหาไปว่า “เสื้อลายสก็อต” “เสื้อลายทาง” “เสื้อลายจุด” กันไปบ้าง แถมเสียเวลาหาก็นานอยู่กว่าจะเจอถูกใจ
หรือ บางทีอยากตามหาลายผ้าห่ม หมอน หรือ กำลังอยากได้ลายพื้น ๆ ตกแต่งผนังห้อง...
พวกเรา InfoStory ก็เป็นหนึ่งในคนที่เวลาต้องการจะหา ก็ดันนึกชื่อไม่ออกซะงั้น
ถ้างั้นวันนี้ให้พวกเราขอพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับลายผ้า (Pattern) ยอดนิยม ที่เห็นจนคุ้นตาหรือใส่กันจนชิน ว่ามีชื่ออะไรกันบ้างเนอะ !
ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญเพื่อน ๆ ไปรับชมภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตากันได้เลย !
เรื่องราวของเครื่องแต่งกายที่เน้นความสวยความงามเนี่ย
ก็มีมาตั้งแต่ช่วง 1,000 - 310 ปีก่อนคริสตกาล กับชุดของชาวอียิปต์โบราณ
จนมาถึงในช่วงยุโรปยุคกลาง (ประมาณศตวรรษที่ 5 - 15) ที่มีการเน้นการไปที่สีและเนื้อผ้าของเสื้อผ้ามากขึ้น
ชุดของชาวอียิปต์โบราณ ที่เริ่มมีการตกแต่งลวดลายและสไตล์กันแล้วนะ
โดยจุดประสงค์หลัก ๆ ในยุคนั้น ก็คงจะไม่พ้นเรื่องการแบ่งชนชั้นวรรณะ หรือ การแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันแข็งแกร่งของแต่ละชนชาติ
จนมาถึงยุควิคตอเรียน (ช่วงปี 1830-1900) ก็ยังเป็นการเน้นในเรื่องของเลเยอร์ที่ดัดแปลงบนชุดเดรสและการเล่นลายลูกไม้ของคุณผู้หญิง
(แต่ก็ยังไม่ได้มีลวดลายของผ้าแบบในยุคสมัยใหม่นะ)
การแต่งตัวในสมัยยุควิคตอเรียน
มาถึงในช่วงยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ช่วงปี 1920 เป็นต้นไป
ซึ่งเป็นช่วงที่เหล่าแบรนด์เนมหรูต่าง ๆ ให้ความสนใจมาที่เรื่องราวของดีไซน์ลายผ้าสำหรับการสร้างจุดเด่นและเอกลักษณ์ของสินค้ากันมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น การบุกตลาดแฟชั่นของดีไซน์ลาย Polka dot และ Tartan (หรือ Plaid) ในช่วงปี 1920-1950 หรือ ลวดลายแบบ Gingham Check ที่เป็นที่นิยมในกลุ่ม Youth Culture ที่ผสมผสานกันระหว่างสไตล์คลาสสิกแบบชาวยุโรปกับความเรียบง่าย ในช่วงปี 1960 เป็นต้น
การแต่งตัวช่วงปี 1920
รูปแบบในช่วงปี 1960
“เรื่องราวของเสื้อผ้าลายสกอต (Scott)”
เสื้อผ้าที่เป็นลายตารางสีเข้ม ส่วนใหญ่ก็จะทำให้เรานึกถึงเสื้อผ้าลายสกอตขึ้นมาทันที (คล้าย ๆ กับเป็นการรับรู้อัตโนมัติ)
ลายสกอต หรือ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ก็คงต้องเรียกว่า “ลายทาร์ทัน (Tartan)”
ต้นกำเนิดของลายผ้านี้ ก็มาจากเครื่องแบบทหารที่ชาวสกอตแลนด์ ซึ่งโดยมากจะนิยมนำมาใช้เป็นผ้าพาดไหล่
อีกทั้งยังเป็นเครื่องแต่งกายสามัญประจำชาติของชาวสกอตแลนด์ในช่วงศตวรรษที่ 16
ยกตัวอย่างเช่น เป็นกระโปรงแบบคิลท์ (Kilt) (กระโปรงที่เป็นลาย Tartan สำหรับผู้ชายเลยจ้า)
ว่ากันว่าลายผ้าสกอตหรือทาร์ทัน ยังคงใช้สำหรับการแยกแบ่งฝั่งเวลาทำศึกสงครามของชาวสกอตอีกด้วยนะ
ด้วยลายผ้าตารางหมากรุก ที่แต่ละกองทัพมีลวดลายโดดเด่น (ทำให้เรานึกถึงสีเสื้อของทีมฟุตบอลเวลาแข่งขัน)
จนกระทั่งมาถึงในช่วงศตวรรษที่ 19 ลักษณะของลายผ้าแบบทาร์ทัน (Tartan) เนี่ย เขาก็ไม่ได้ใช้แค่แบ่งพรรคพวกเฉพาะเวลาทำสงครามแล้วละ
แต่ก็จะใช้สำหรับการบ่งบอกได้ว่ามาจากบริเวณใดแทนที่จะเป็นลายประจำตระกูลสกอต (Scottish Clan) ตระกูลใดตระกูลหนึ่งแทน
พอพูดถึงเรื่องลวดลายของผ้าแบบสกอตเนี่ย อันที่จริงมันมีเยอะมากนะ
คือ ถ้าเราเข้าไปในร้านขายเสื้อผ้า แล้วบอกว่าอยากได้ผ้าลายสกอตเนี่ย…
ก็คงเป็นคำตอบที่ทั้งง่ายและยากในเวลาเดียวกัน
ผ้าลายสก๊อตมีหลายประเภท ตามสีสันและการประสานเส้นใยผ้า
อะ งั้นขอยกตัวอย่างเบา ๆ เช่น
- ลายผ้าสกอตแบบ Plaid
จริง ๆ ลายผ้านี้อาจไม่ได้แตกต่างอะไรกับแบบ Tartan สักเท่าไร มีเส้นที่ขนาดต่างกันไขว้กันไปมาเหมือนกัน แต่ไม่ซับซ้อนเท่าลาย Tartan และใช้สีแค่ 1 หรือ 2 สี
เท่าที่ค้นหามา ชาวอเมริกันจะนิยมเรียกผ้าลายสก็อตว่าแพลด (Plaid) ส่วนชาวอังกฤษเเละชาวสก็อตนั้นจะเรียกว่าทาร์ทัน หรือไม่ก็เรียกว่าลายเช็กด์ (Checked) ที่แปลว่าลายหมากรุก
แต่ก็จะมีเรื่องราวของลายผ้าแบบ “Glen Plaid” ที่ถูกนำมาพัฒนาสานต่อ โดยเจ้าชาย King Edward VII ที่เสด็จเยือนไฮแลนด์ (ในสกอตแลนด์) แล้วพบการใช้งานลวดลายตารางแบบ “Glen Urquhart plaid” นี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยพระองค์ชอบใจมาก ถึงขนาดนำรูปแบบของผ้าชนิดนี้ มาตัดเป็นสูทฉลองพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งกลายเป็นที่รู้จักกว้างขวางในชื่อของ "Prince of Wales Checker" หรือ “เสื้อลายตารางหมากรุกของเจ้าชายแห่งเวลส์”
ราชวงศ์อังกฤษในปัจจุบัน ยังนิยมใส่กันอยู่
- “Checkered หรือ Checkerboard”
ตรงตามชื่อเลย คือเป็นตารางหมากรุกป็นลายที่โดดเด่นด้วยการเรียงช่องสี่เหลี่ยมที่มีสีต่างกัน หรือโทนที่ต่างกัน โดยทุกช่องจะเท่ากัน
- “Gingham”
เป็นชื่อเรียกผ้าที่ทอด้วยเส้นใยฝ้ายซึ่งใช้สีเดียวตัดกับสีขาว
ว่ากันว่าลาย Gingham นี้ ไม่ได้เริ่มต้นใช้งานโดยชาวอังกฤษหรือชาวสกอตแต่อย่างใด
แต่ว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ประเทศมาเลเซีย ตะหากละ
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ลายผ้า Gingham นี้เอง
ยังได้ถูกทำไปใช้เป็นเครื่องแบบชุดของนักเรียนประจำลายตารางทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ในช่วงปี 1960 อีกด้วยนะ เนื่องจากดูเรียบง่ายและเป็นระเบียบเรียบร้อย
ไฮสคูลที่แคนาดาก็ยังนิยมใส่กระโปรงนักเรียนเป็นลายผ้า Gingham
อันที่จริงแล้วเรื่องราวของผ้าลายสกอตเนี่ย ยังมีมากกว่านี้อีกเยอะพอสมควรเลยละ
แต่เท่านี้ พวกเราคิดว่าน่าจะพอหอมปากหอมคอกันไปเรียบร้อย
ถ้าถามว่าพวกเราชอบลวดลายผ้าแบบใด ?
ส่วนตัวเราจะชอบลวดลายแบบ “Seersucker” มากที่สุด
เพราะว่ามีทั้งเสื้อสูท(แบบ Casual) พร้อมเซทกางเกง ที่เป็นเนื้อผ้าแบบคลื่นทะเล ดูเป็นลุคเรียบง่านสบาย ๆ เป็นทางการก็ได้ หรือจะเป็นแฟชั่นก็เก๋ไปอีกแบบ
เสียอย่างเดียวคือ ตอนนี้ไม่ค่อยได้แต่งชุดแบบนั้นออกนอกบ้านเท่าไร แห่ะ ๆ …
ถ้าหยั่งงั้น พวกเราขอตัวไปส่องลวดลายเสื้อผ้าพร้อมกับจัดตู้เสื้อผ้าของตัวเองก่อนดีกว่า 🙂
โฆษณา