Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
1 ก.ย. 2021 เวลา 09:30 • ประวัติศาสตร์
อั้งยี่คืออะไร? ทำไมเป็นความผิดในกฎหมายไทย
เรามีความเข้าใจคำว่า“อั้งยี่” คืออะไร? อั้งยี่คือแก๊งค์อาชญากรของคนจีนโพ้นทะเลที่ย้ายเข้ามาในไทยและสร้างความวุ่นวายในสมัยบรรพบุรุษของเราหรือเปล่า? หรือเราแค่เคยได้ยินคำๆ นี้มาผ่านๆ บ้าง แต่นึกไม่ออกว่ามันแปลว่าอะไรกันแน่
ราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความของคำว่า “อั้งยี่” ไว้สองอย่าง อย่างแรกก็คือ แปลว่า “สมาคมลับของคนจีน” และอย่างที่สองเป็นความหมายในทางกฎหมาย ถือเป็นความผิดอาญาข้อหาอั้งยี่กำหนดไว้ว่า “เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”
ความหมายแรกของอั้งยี่ “เป็นสมาคมลับของคนจีน” ต้องบอกว่าเป็นความจริงที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เพราะถ้าเราบอกคนจีนว่า “อั้งยี่” แปลว่า “สมาคมลับ” คนจีนก็จะไม่รู้ว่าเราพูดถึงอะไร เพราะสมาคมลับในความหมายนี้ ในภาษาจีนกลางก็คือคำว่า“หงเหมิน” หรือ “ขงซือ” ซึ่งเป็นชื่อของสมาคมลับที่ทรงอิทธิพลสุดๆ ที่ประเทศจีนในช่วงเวลาหนึ่ง
1
ที่มาที่ไปของคำนี้ก็มีอยู่ว่า คำว่า “หงเหมิน” แปลว่าเหล่าลูกหลานของจักรพรรดิ “หงอู่” (Hongwu) จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นจักรพรรดิในตำนานและเป็นฮีโร่คนสำคัญในประวัติศาสตร์จีน เพราะราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์สุดท้ายของชาวฮั่น ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของจีน "หงอู่” จึงเป็นฮีโร่ในประวัติศาสตร์ เพราะทั้งกู้ชาติฮั่นจากราชวงศ์หยวนที่เป็นชาวมองโกล และเป็นราชวงศ์เชื้อสายฮั่นราชวงศ์สุดท้ายด้วย ก่อนจะถูกราชวงศ์ชิงที่เป็นชาวแมนจูมาล้มล้างไป
ทีนี้สมาคมก็มีชื่อเรียกต่างๆ กันไป แต่ทุกชื่อต้องเริ่มต้นด้วย "หง" ซึ่งเป็นชื่อจักรพรรดิ เช่น หงเหมิน (แปลว่าประตูแห่งจักรพรรดิหงหรือประตูแห่งจักรวรรดิหง) หรือหงจื่อ 洪子(Hongzi) แปลว่าลูกชายจักรพรรดิหง เป็นต้น ส่วน “หงจื่อ” นั้นเพี้ยนตามภาษาพื้นเมืองภาคใต้ของจีนมาเป็นอั้งยี่
แต่ว่าสมาคมลับนี้ก็มีสมาคมอื่นๆ อีก เช่น พรรคฟ้าดิน ซึ่งคือคำแปลของ เทียนตี้ฮุ่ย tiandihui 天地會 หรือพรรคสามแต้มที่ฝรั่งเรียกว่า triad society (แบบในหนังเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้) ภาษาแต้จิ๋วก็เรียกซาเตี๊ยม ภาษาแมนดารินอ่านว่าซานเตี่ยน 三點會Sandianhui ซานเตี่ยนฮุ่ย (ถ้าจะถอดเสียงแบบแมนดาริน) คำว่า ฮุ่ย คือ society
1
ดังนั้นเมื่อมีการตั้งสมาคมขึ้นมา แล้วสมาคมนั้นมีความมุ่งหมายสูงสุดในการที่จะฟื้นฟูราชวงศ์หมิงอันเป็นราชวงศ์ของคนฮั่นขึ้นมา จึงตั้งชื่อว่า “หงเหมิน” หรือเหล่าลูกหลานของจักรพรรดิในตำนาน เพื่อเป็นการปลุกใจไปในตัวนั่นเอง ซึ่ง หงเหมิน จะเป็นสิ่งที่คนจีนเข้าใจได้ ว่าหมายถึงสมาคมลับ มากกว่าคำว่า “อั้งยี่”
คำว่า “อั้งยี่” จริงๆ แล้วเป็นชื่อของสมาคมลับของจีนสมาคมหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาคมที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 สามารถสร้างการจดจำได้ดีกว่าสมาคมอื่น ทำให้คนไทยก็พาเรียกสมาคมลับจีนทุกสมาคมแบบเหมารวมว่า “อั้งยี่” เป็นปรากฎการณ์คล้ายๆ ที่เราเรียกผงซักฟอกว่า “แฟ้บ” หรือเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า “มาม่า” นั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ สมาคมอั้งยี่ ทำการตลาดดี จนเป็นคำติดปากของชาวบ้านในสมัยนั้น
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
กลับมาที่ความหมายในทางกฎหมาย คำว่าอั้งยี่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อปี ร.ศ. 116 หรือประมาณ 120 ปีที่แล้วในช่วงรัชกาลที่ 5 อีกเช่นเดียวกัน ในตอนนั้นมีการตรากฎหมายเพื่อป้องกันปราบการกระทำที่เป็นอั้งยี่ ซึ่งก็คือการปราบปรามกลุ่มอิทธิพลที่ทำกิจการนอกกฎหมาย อย่างเช่น การเรียกค่าคุ้มครอง การเปิดบ่อนเถื่อน โรงฝิ่นเถื่อน และซ่องเถื่อน และในช่วงเวลานั้นกลุ่มสมาคมที่รวมตัวกันเป็นรูปเป็นร่างก็มีแต่กลุ่มคนจีนอพยพเท่านั้น
การที่พวกนี้กลายมาข้องเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมายก็เป็นเพราะโดยมากเขาเข้ามาเป็นแรงงานอพยพ หลายครั้งเข้าเมืองก็ผิดกฎหมายแล้ว หรือถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เป็นกลุ่มที่จะต้องถูกจ้องไถเงิน เอาเปรียบ รังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว และโดนคนอื่นรังแกมาจะไปเรียกร้องความคุ้มครองจากกฎหมายในฐานะคนต่างชาติ/แรงงานอพยพก็เป็นเรื่องยาก พอพึ่งพิงระบบไม่ได้ก็ต้องไปขอความคุ้มครองจากอำนาจนอกระบบ ก็คือคนจีนที่มารุ่นก่อนหน้าซึ่งอาจจะร่ำรวยเป็นเจ้าสัวไปแล้ว ก็เลยนำไปสู่การเคารพกฎหมู่ของสังคมไชน่าทาวน์มากกว่ากฎหมายบ้านเมือง แล้วก็หลายๆ ครั้งก็เลยกลายเป็นแก๊งค์ผู้มีอิทธิพลไป
แต่ถามว่าทุกสมาคมทำแต่เรื่องผิดกฎหมายหมดเลยไหม คำตอบก็คือไม่ เพราะจุดประสงค์หลัก ก็คือการรวมตัวกันเพื่อปกป้องชีวิต หรือปกป้องผลประโยชน์ให้กับคนจีนด้วยกันมากกว่า ถ้าจะบอกว่า อั้งยี่ คือ แก๊งค์มาเฟียล้วนๆ ก็จะเป็นการเหมารวมเกินไป ใครเป็นอาชญากรก็ต้องไปวัดกันที่การกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่ไปวัดจากสังกัดหรือเชื้อชาติที่เขายึดถือแต่น่าแปลกใจมากๆ ที่ประเทศเรา เอาการเหมารวมที่กำกวมมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย มาจนถึงทุกวันนี้
กฎหมายอั้งยี่อยู่ในกฎหมายไทยมาตั้งแต่ ร.ศ.116 มาจนถึงช่วงที่ประเทศเราเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ทางรัฐบาลของคณะราษฎรเปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2478 ก็ยังมีกฎห้ามเข้าสมาคมอั้งยี่อยู่ โดยใส่ไว้ในมาตรา 209 และในปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาที่เพิ่งอัพเดตไปเมื่อ 2560 ก็ยังมีกฎหมายนี้อยู่อีก ใช้คำว่า “อั้งยี่” เหมือนเดิม
น่าประหลาดใจที่ตัวกฎหมายแสนกำกวมมีอายุมาแล้วร้อยกว่าปียังมีใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน แล้วโทษก็หนักมาก โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิด 2 แสนบาทเลยทีเดียว
ที่บอกว่ากำกวมนั่นก็เพราะว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 209 ที่เขียนว่า“ความผิดฐานเป็นอั้งยี่” กฎหมายก็ไม่ได้บอกว่าอั้งยี่คืออะไรกันแน่แบบชัดๆ ทำให้ตัวกฎหมายไปมุ่งเน้นเอาผิดผู้ที่เข้าเป็นสมาชิก ซึ่งก็หมายความว่าเพียงคุณสมัครเป็นสมาชิกองค์กรอั้งยี่ก็ผิดกฎหมายแล้ว ยังไม่ต้องลงมือกระทำความผิดอะไร จริงๆ จังๆ ด้วยซ้ำไป สิ่งนี้เป็นเหมือนกับว่าเพียงคุณกดติดตามช่องของใครสักคน แล้วกฎหมายบอกว่ามีความผิดทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ออกไปทำอะไรผิดกฎหมายจริงๆ เลย
ม.206 ยังพยายามตีกรอบแบบกว้างๆ ให้คำว่า อั้งยี่ ว่าเป็นกลุ่มที่ “ปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งก็เป็นการตีความที่กว้างแบบสุดๆ เช่นเคยมีคำพิพากษาฎีกาในอดีต ตัดสินว่า การใช้สัญญาณมือส่งซิกกัน หรือใช้การใช้โลโก้สมาคมนั้น เข้าข่ายตรงตามกฎหมายที่บอกว่า“ปกปิดวิธีดำเนินการ” เพราะเป็นการดำเนินการที่รู้กันแค่ในหมู่สมาชิกเท่านั้น!
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
1
หรือ เว็บไซต์ ILAW เคยลงความเห็นของนักกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายอั้งยี่ไว้ว่า ประโยคที่บอกว่า “มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” มันก็แปลว่า “ไม่จำกัดไว้ว่าต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น อาจเป็นการทำความผิดที่เรียกว่าเป็นลหุโทษ หรือเป็นความผิดทางแพ่งก็ได้ ซึ่งตีความได้กว้างขวางมาก” ถ้าลองคิดตามก็กว้างมากๆ จริงๆ ถ้าจะรวม ทั้งแพ่ง ทั้งอาญา อะไรก็ได้แบบนี้ แก๊งค์จิ๊กของตามร้านสะดวกซื้อ ยันกลุ่มกบฎล้มล้างประเทศก็ถือว่าเป็นอั้งยี่ได้เท่า ๆ กัน
ด้วยความที่กว้างและใช้ง่าย มาตรา 209 จึงมักถูกพ่วงเข้าไปในการฟ้องร้อง โดยเฉพาะเมื่อผู้ฟ้องเป็นรัฐ ใช้ฟ้องร้องกับผู้ที่รัฐมองว่าเป็นผู้ที่“มีอิทธิพล” เหนือกฎหมาย
ทั้งนี้การปราบอั้งยี่ไม่น่าเรียกกฎหมายว่าเป็นกฎหมายปราบอั้งยี่ เพราะอั้งยี่เป็นชื่อสมาคมหนึ่ง โดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นแก๊งมาเฟียเสมอไป และการกราบปรามในประวัติศาสตร์ก็เหมือนทุกครั้งที่รัฐบาลประกาศจะปราบผู้มีอิทธิพลเหมือนที่บอกกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่ปราบกลับกลายเป็นกลุ่มอำนาจที่ไม่ศิโรราบต่ออำนาจรัฐ คือผู้มีอิทธิพลคนไหนมีความสัมพนธ์อันดีกับรัฐบาลก็จะไม่โดนปราบ ในสมัยที่มีกฎหมายอั้งยี่ออกมาใหม่ๆ อั้งยี่คนไหนเป็นพวกกับขุนนางก็ไม่โดนปราบ ดีไม่ดีอั้งยี่ได้เป็นขุนนางอีกต่างหาก ปราบแต่พวกกระด้างกระเดื่องไม่ลงรอยกันทางการเมือง...มันก็มีการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายมาเป็นเวลานานแล้ว
โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2557 กลับมีการเพิ่มขึ้นของการใช้ ม.209 ในคดีทางการเมืองแบบมีนัยยะสำคัญ เช่น การฟ้องแกนนำ กปปส. 25 คน และ คดีของอดีตพระพุทธอิสระ คดีวัดพระธรรมกาย หรือแม้แต่กับคนตัวเล็กตัวน้อยก็มีเช่นช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ อัยการศาลทหาร ฟ้องคน 17 คน พ่วงข้อหาอั้งยี่เข้าไปด้วย เพราะซ่องสุมคุยกันผ่านโปรแกรมแชท ถือเป็นภัยต่อความมั่นคง(คดีก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย) หรือล่าสุดปีที่ผ่านมา มีการฟ้องข้อหาอั้งยี่และพรบ.คอมพิวเตอร์ที่จังหวัดอุบลราชธานี กับคนที่ใส่เสื้อยืดดำพร้อมโลโก้ที่อัยการชี้ว่าเป็นสื่อถึงการล้มล้างการปกครองของประเทศไทย มันเหมือนกับกรณีคนถูกตัดสินว่าเป็นอั้งยี่ เพราะมีการใช้โลโก้สมาคมสื่อสารกัน เหมือนที่คนสมัยร้อยกว่าปีก่อนโดนไม่มีผิด
แล้วเหตุผลอะไรอะไรที่ทำให้คนจีนโพ้นทะเลถึงต้องตั้งสมาคมลับในต่างแดนขึ้นมา มันน่ากลัวถึงขนาดต้องมีกฎหมายใช้ปราบปรามต่อๆ กันมาเป็นร้อยปีเลยไหม? ชาติอื่นเขาทำกันแบบนี้หรือไม่ คนจีนมีความพิเศษอะไร และเรื่องนี้อธิบายไปถึงเรื่องคนจีนโพ้นทะเลหรือบรรพบุรุษของใครหลายคนได้อย่างไร
เหตุผลที่มีอั้งยี่นั้นมีทั้งเหตุผลในทางตำนาน และ เหตุผลในทางปฏิบัติ เราอาจจะแบ่งเหตุผลออกมาเป็นข้อๆ ได้ 3 ข้อดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ
สังคมจีนสมัยก่อน ช่วงที่โลกยังไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนส่วนใหญ่มีอาชีพทางเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำฟาร์ม การจะมีชีวิตอยู่ก็คือการทำงานในที่ดินซึ่งเป็นของครอบครัวที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และสมาชิกในครอบครัวก็คือแรงงานหลักที่คอยขับเคลื่อนกิจการตามวิถีชีวิตแบบเกษตร เมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขของชีวิตแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชีวิตเราต้องพึ่งพาสถาบันครอบครัว100% หลักคำสอนในการมีชีวิตของขงจื๊อจึงเน้นความกตัญญูต่อครอบครัวและต้องรู้คุณบรรพบุรุษให้มาก ซึ่งในเวลานั้นมันก็สมเหตุสมผลเพราะวิธีคิดมันเชื่อมกับปากท้องจริงๆ สุดท้ายวิธีแบบนี้ผ่านกาลเวลาต่อมาก็พัฒนามาเป็นระบบกงสี ที่ทุกคนในครอบครัวขนาดใหญ่ช่วยกันทำมาหากินเป็นเครือข่าย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในจีนช่วงปลายราชวงศ์ชิงที่ตรงกับช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 ก็คือ เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เป็นไปทั้งโลก เทคโนโลยีทำให้มนุษย์เรากินดีอยู่ดีมากขึ้น ก็อายุขัยก็เพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาก็คือประชากรเพิ่มสูงขึ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ คนตายช้าลงในขณะที่มีคนเกิดใหม่เพิ่มมาเรื่อย ๆ ประชากรเลยเยอะขึ้น และในจีนนั้นราชวงศ์ชิงปกครองอย่างยาวนานและราบคาบ ไม่มีสงครามขนาดใหญ่เป็นร้อยๆ ปี โดยเฉพาะในช่วง 200 ปีสุดท้าย ประชากรก็เพิ่มสูงขึ้นมาก จนพื้นที่ราบลุ่มตอนใต้ของจีนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เริ่มไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ต้องอย่าลืมว่าจีนกว้างใหญ่ขนาดไหน แต่มีพื้นที่เพาะปลูกได้เฉพาะตามลุ่มแม่น้ำและทางตอนใต้เท่านั้น เมื่อที่ดินไม่พอ ก็เริ่มมีครอบครัวที่ยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน เริ่มมีคนที่ต้องไหลออกมาจากครอบครัวเข้าสู่ระบบจ้างงาน เริ่มมีแรงงานรับจ้างทำนาบนที่ดินของครอบครัวคนอื่นที่รวยกว่า และแล้วระบบกงสีก็เริ่มจะไม่ค่อยเหมาะสำหรับทุกครอบครัวอีกต่อไปเสียแล้ว
เมื่อต้องมีคนออกไปทำงานนอกบ้าน ก็เกิดกลุ่มคนที่ต้องทำงานไกลบ้านมากๆ ย้ายไปมณฑลอื่นที่มีงานให้ทำโดยเฉพาะทางตอนใต้ ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมในสมัยนั้น และขัดกับวิถีชีวิตเดิมมากโขอยู่ คือไม่มีระบบกงสี หรือระบบอุปถัมภ์จากครอบครัว รายได้เปลี่ยนมาเป็นเงินค่าจ้างที่ไม่ได้งอกเงยจากกิจการที่นาภายในครอบครัว แต่มาจากการขายแรงงานของตนเอง คนกลุ่มนี้เร่ร่อนไปทั่วประเทศ ไม่ได้อยู่ติดที่กับครอบครัวและอยู่ห่างไกลจากหลุมศพบรรพชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่งามตามค่านิยมดั้งเดิมแบบจีนๆ ถูกจัดเป็นคนชั้นสอง ถูกเรียกเป็นคนที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า
สุดท้ายคนกลุ่มนี้นอกจากเร่ร่อนไปทั่วประเทศ ก็ยังออกไปขายแรงงานในต่างประเทศ ไม่ว่าจะในยุโรปหรือประเทศเกิดใหม่เช่นสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาทำงานก่อสร้าง ทำงานในโรงสีข้าว โกดังสินค้า ในสังคมไทยเรียกว่า “กุลีจีน” ซึ่งการเข้ามาของคนจีนโพ้นทะเลระลอกนี้ ก็อาจจะมีบรรพบุรุษของใครหลายๆ คน ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ด้วย และนี่ก็ทำให้เป็นเหตุผลของข่อต่อไป
2. การพยายามสร้างระบบมาทดแทนระบบเครือข่ายครอบครัวแบบกงสีสำหรับคนที่ได้ออกจากครอบครัวไปทำงานต่างถิ่น ก็คือผู้ชายล้วนๆ การที่ชายล้วนมาอยู่ร่วมกันในที่ที่ห่างไกลจากบ้าน ไม่มีระบบเครือข่ายครอบครัวกงสีคอยสนับสนุน ไม่มีญาติให้ช่วยฝากงาน ไม่มีใครแนะนำใครให้แต่งงาน ไม่มีผู้ใหญ่ปกป้องเมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจเดิมที่อยู่มาก่อน เช่นอำนาจรัฐ หรือตำรวจ ในประเทศนั้นๆ เมื่อวิถีชีวิตเดิมไม่ตอบโจทย์ จึงเกิดการสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่ในหมู่ผู้ชายไกลบ้าน เกิดการจับกลุ่มที่เริ่มจากคนบ้านเดียวกัน คนที่พูดสำเนียงคล้ายๆ กัน หรือแซ่เดียวกัน มาสาบานเป็นพี่น้องกัน เกิดสิ่งที่เรียกว่า“พี่ใหญ่” หรือ “ตั่วเฮีย” ซึ่งก็คือคนที่มีอำนาจมากที่สุดในหมู่พี่น้องจำลองนั่นเอง
เมื่อสมาคมแบบนี้ขยายตัวมากขึ้น ตามเมืองต่างๆ บางครั้งก็มีสมาชิกมากเกินไปและมีอิทธิพลเกินกว่าที่อำนาจรัฐในที่นั้น ๆ จะยอมรับได้ ครอบครัวจำลองก็กลายเป็นสมาคมลับไปในที่สุด สมาคมลับ มีขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเหล่าพี่น้องให้ปลอดภัยจากเหล่าผู้มีอำนาจในท้องถิ่นนั้นๆ อาจจะเริ่มจากการช่วยกันให้ที่พักพิงกับคนที่ย้ายมาใหม่แล้วลำบาก หลังจากนั้นก็เริ่มพัฒนาเป็นการรักษาชีวิตและทรัพย์สินด้วยการตั้งกองกำลัง สามารถก่อม็อบได้ มีการต่อรองกับนายจ้าง ต่อรองกับอำนาจรัฐเพื่อจัดการกับกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อคนต่างแดน สุดท้ายก็เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเป็นศัตรูกับอำนาจรัฐที่เข้าไปอยู่ สุดท้ายสังคมไทยจึงออกกฎหมายเพื่อปราบปรามคนเหล่านี้ด้วยกฎหมายอั้งยี่นั่นเอง
สมาคมลับที่ถูกบีบให้เป็นคนชายขอบ ก็จะค่อย ๆ เริ่มทำงานนอกกฎหมาย เรียกเก็บค่าคุ้มครอง ค้าขายโดยที่รัฐไม่อนุญาต ซึ่งก็กลายเป็นการค้าของเถื่อน ตอกย้ำความนอกกฎหมายเข้าไปอีก แต่ที่น่าสนใจก็คือ สมาคมไหนที่ตกลงกับรัฐได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือสมาคมที่จ่ายค่าคุ้มครองให้รัฐแล้วเรียกว่า “การบริจาค” เหล่า “ตั้วเฮีย” ของสมาคมกลุ่มหลังนี้ ก็มักจะไม่ถูกเรียกว่าเป็นอั้งยี่ ถึงแม้จะเป็นสมาคมลับลักษณะเดียวกัน มักได้รับอนุญาตให้ค้าขายหรือที่เรียกว่าได้รับสัมปทาน เผลอ ๆ ได้รับตำแหน่งยศฐาบรรดาศักดิ์จากรัฐและกลายเป็นคนร่ำรวยไปในที่สุด
น่าสังเกตว่าสังคมมาเฟียอิตาลีที่อพยพเข้าไปในอเมริกาแบบที่เห็นในหนังเรื่อง“ก็อดฟาเธอร์” อาจจะมีที่มาที่ไปเหมือนคนจีนก็ได้ เพราะมีครอบครัวจำลองเหมือนกัน มาเฟียเรียกชาวแก็งค์ว่า “แฟมมิลี่” เรียกหัวหน้าแก๊งค์หรือท่านดอนวีโตว่าพ่อทูนหัว(Godfather) ซึ่งก็หมายความว่า คุณพ่อที่คอยเป็นที่พึ่งพิงให้กับทุกคน
สองข้อแรกนี้เป็นการอธิบายเหตุผลการเกิดขึ้นของสมาคมลับตามปัจจัยที่สังคมเข้าสู่ระบอบทุนนิยมอย่างเต็มตัว เหตุผลต่อมาของการเกิดสมาคมลับด้วยปัจจัยทางตำนานและชาตินิยมนั่นก็คือ
3. ไอเดียเกี่ยวกับชาตินิยมฮั่น
สำนึกของคนจีนไกลบ้านต่างมณฑล หรือคนจีนโพ้นทะเลในช่วงศตวรรษที่19 นี้ ก็ต้องขอย้อนกลับไปช่วงแรกที่เราพูดไปว่าคำว่าสมาคมลับในภาษาจีนกลางไม่ใช้คำว่าอั้งยี่แต่เป็นคำว่า “หงเหมิน” ที่แปลว่า ลูกหลานของจักรพรรดิหงอู่ ก็เป็นผลมาจากตำนานการกู้ชาติตามแบบชาวฮั่นนั่นเอง
เรื่องนี้ต้องอธิบายว่าในหมู่คนจีน มีคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่นั่นก็คือชาวฮั่น ซึ่งก็คือคนจีนแบบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา ซึ่งก็น่าจะมีบรรพบุรุษเป็นคนฮั่นด้วยกันทั้งนั้น คนฮั่นมักมองว่าตัวเองเป็นคนจีนที่จีนกว่า เป็นจีนของแท้ เป็นคนจีนที่อยู่ในกำแพงเมือง พูดง่ายๆ ก็คือคนจีนที่อยู่ในพื้นที่เพาะปลูกตามลุ่มแม่น้ำและทางตอนใต้ คนจีนฮั่นถือว่าตนเองเป็นกลุ่มชนผู้ร่ำรวยอารยธรรม นับถือขงจื๊อ มีมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงาม ผิดกับคนอื่นที่เป็นคนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ ต้อนฝูงสัตว์ไปตามที่ต่างๆ ไม่ลงหลักปักฐาน ไม่ทำนา ไม่บูชาบรรพบุรุษ ไม่มีกงสี อย่างเช่นชาวแมนจูและชาวมองโกลในอดีตนั่นเอง
เหตุผลที่คนฮั่นบูชาราชวงศ์หมิงก็เพราะว่าหมิงเป็นราชวงศ์ที่เป็นคนเชื้อสายฮั่นจริงๆ ก่อนหน้าราชวงศ์หมิง ผู้ครองอำนาจคือราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นชาวมองโกล เป็นเจงกิสข่านมาตีเมืองจีนแตกและตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ต้องรอให้ราชวงศ์หมิงมากู้ชาติฮั่น และคนรักราชวงศ์หมิงก็จะผูกใจเจ็บราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนที่เป็นคนแมนจู เพราะนอกจากมาตีราชวงศ์ฮั่นแล้ว ยังทำจีนเสื่อมเสียพ่ายแพ้ต่อผู้ล่าอาณานิคมจากตะวันตกอีก
ดังนั้นในหมู่คนจีนโพ้นทะเล ที่อดีตบรรพบุรุษเป็นชาวนาเพราะเป็นคนฮั่น นอกจากโตมากับระบบค่านิยมครอบครัวแบบขงจื๊อ ยังมีเลือดรักชาติแบบฮั่นด้วย เวลาเขาจับกลุ่มสร้างครอบครัวจำลองกันในต่างแดนหรือต่างถิ่น ก็ต้องมีการสาบานเป็นพี่น้องกัน คำกล่าวคำสาบานของสมาคมหงเหมินก็จะเป็นแบบที่เราเคยได้ยินตามหนังจีนกำลังภายในคือ “มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน” ซึ่งคำนี้ก็คัดลอกมาจากตำนานสามก๊กในตอนที่ก๊กของพระเอก ที่ประกอบไปด้วย เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย มาสาบานเป็นพี่น้องกันในสวนท้อ คำสาบานนี้ตามมาด้วยภาระทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งด้วย ซึ่งก็คือตามเนื้อเรื่องสามก๊ก ก๊กพระเอกนี้เป็นก๊กของชาวฮั่นแท้ๆ หัวหน้าก๊กเล่าปี่ เป็นผู้สืบเชื้อสายฮั่นโดยตรง
ดังนั้นในหมู่สมาคมหงเหมินทั้งหลาย หรืออั้งยี่ ที่นำคำสาบานนี้มาใช้ ก็จะมีไอเดียในระดับสามัญสำนึกว่า จะต้องโค่นราชวงศ์ชิงและฟื้นฟูราชวงศ์หมิงด้วย เรียกว่าเป็นชาตินิยมฮั่นแบบสุดๆ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ไอเดียนี้มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ค.ศ. 1911(พ.ศ. 2454) หรือการปฏิวัติซินไห่ ซุนยัตเซน ผู้นำการปฏิวัตินั้น ตามประวัติเขาถูกส่งไปอยู่ฮาวายเพื่อเรียนหนังสือในวัยเด็ก แต่ถูกส่งกลับจีนเมื่อญาติๆ พบว่าเขาไปเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ แถมยังเข้าสมาคมลับหงเหมินด้วย ซึ่งสิ่งนี้มีอิทธิพลต่อความคิดของ ซุนยัตเซนมากๆ เขาเชื่อว่าสมาคมลับจะเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิวัติเพราะเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียว ที่มีความคิดพัฒนาไปเป็นชาตินิยมแบบจีนฮั่นได้ ซุนยัดเซน เรี่ยไรเงินเพื่อการปฏิวัติจากคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ถูกจัดว่าเป็นอั้งยี่นี่แหละ ส่วนคนจีนในประเทศกลุ่มที่ซับพอร์ตเขามากที่สุดก็ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นกลุ่มคนงานสร้างรางรถไฟ กลุ่มแรงงานต่างถิ่นไกลบ้านที่มีมากที่สุดในประเทศจีน
แม้แต่ในช่วงสงครามกลางเมือง ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็มีนายพล เฮ่อ หลง (Marshall He Long) บุคคลคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งในอดีตเขาเริ่มต้นด้วยการเป็นคนยากจน ไต่เต้าขึ้นมาเป็น “ตั่วเฮีย” ของสมาคมลับได้คุมกองกำลังเล็กๆ สุดท้ายไปถึงขั้นเป็นนายพลใหญ่ในกองทัพประชาชน
เราจะเห็นได้เลยว่าสมาคมลับในรูปแบบนี้ ไม่ได้เป็นอั้งยี่ หรือเป็นมาเฟีย ที่ยกพวกตีกัน ทำเรื่องผิดกฎหมายหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงไปซะทั้งหมด แต่เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในช่วงแห่งความเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม คนตัวเล็กตัวน้อยต้องรวมตัวกันในต่างถิ่น เพื่อต่อรองกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นนั่นเอง
ทุกวันนี้คงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอั้งยี่เหลืออยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว เหลือแต่ในกฎหมายเก่าๆ ของประเทศไทย กุลีจีนก็ไม่มีหรืออาจจะมีน้อยมากๆ คนจีนโพ้นทะเลเปลี่ยนมาค้าขายกันหมด ระบบตั้วเฮียหมดไป กลายเป็นระบบเจ้าสัว ระบบกงสีกลับมาฟื้นฟูเต็มรูปแบบ เพราะมีครอบครัวจริงๆได้แล้ว เปลี่ยนกิจการจากทำนามาเป็นการค้าขาย ระบบพี่น้องจำลองหรือสมาคมลับก็จางหายเพราะไม่จำเป็นเสียแล้ว การสมาคมของคนจีนในไทยก็เป็นสมาคมที่ถูกต้องตามกฎหมายมาแทนที่ เช่นเดียวกับการเคารพบรรพชนตามแบบขงจื๊อที่กลับมาเข้มข้น เราไหว้เจ้า ทำเชงเม้งกันอย่างคึกคัก แม้จะอยู่เมืองไทย เผลอๆ จะอินกว่าที่เมืองจีนอีก ลูกหลานรุ่นที่สามที่สี่ก็ทำงานรับจ้างบ้าง ทำกิจการบ้าง โดยมีกงสีเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งในสังคมปัจจุบัน
ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของจีนช่วงปลายราชวงศ์ชิงที่ทำให้เกิดแรงงานที่ออกเดินทางไปทั่วประเทศและทั่วโลก หรือที่เราเรียกว่า กุลีจีน นั้น ถูกสะท้อนผ่านวรรณกรรมที่ผลิตออกมาในช่วงเวลานั้น อย่างเช่นนิยายกำลังภายในด้วยเหมือนกัน พระเอกเป็นจอมยุทธที่ท่องยุทธภพไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำงานกับครอบครัว ห่างไกลจากหลุมศพบรรพบุรุษ ถือว่าผิดกับค่านิยมแบบขงจื๊อมากๆ เป็นตัวแทนของคนในสังคมแบบใหม่
มีพวกตัวละครที่เป็นคุณชายของตระกูลต่างๆ ตามเมืองที่พระเอกไปพบเจอ เป็นตัวแทนของคนรุ่นเก่า จอมยุทธเร่ร่อนท่องยุทธภพ ก็คือลูกชายคนรอง ๆ ของครอบครัวที่ต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านไปขายแรงงานในต่างถิ่น ออกไปก็ต้องผจญภัยต่าง ๆ นานา จนได้พบกับพี่น้องร่วมสาบานก็ออกเดินทางท่องยุทธภพไปด้วยกัน ถ้าเป็นสมัยนี้อาจจะได้แรงบันดาลใจจากหนุ่มต่างจังหวัดเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง เป็นคนงานก่อสร้าง เป็นคนขับรถส่งของ จนสุดท้ายมาเข้าวินมอเตอร์ไซค์ มีพี่น้องร่วมสาบานเป็นคนในวิน ยุทธภพก็คือเมืองหลวงอันแสนจะอันตราย มีทั้งคนดีคนชั่ว ตัวเขาก็เป็นจอมยุทธผู้มีคุณธรรม เป็นพระเอก มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย อะไรทำนองนี้
หนังกำลังภายในฝรั่งฮือฮากันมากเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon มีนางเอกสองคน คนที่โตกว่าคือมิเชล โหย่ว เป็นตัวแทนของคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบกงสี ต้องทำงานเป็นผู้คุ้มครองสินค้า และเป็นจอมยุทธ์เร่ร่อนตามขนบนิยายกำลังภายใน ส่วนนางเอกอีกคนคือ จางซื่อยี่ นั่นก็คือคุณหนูในตระกูลแบบกงสี มีชีวิตตามแบบแผน ไม่ได้มีโอกาสออกมาเร่ร่อนทำอะไรตามใจ ไม่มีอิสระในชีวิต แต่ก็มีเกียรติ มีความมั่นคง และมีความมั่งคั่งตามแบบคุณหนูในกงสี พระเอกโจวเหวินฟะคือจอมยุทธเร่ร่อน และพี่ชายร่วมสาบานก็เป็นแฟนกับนางเอกมิเชล โหย่วมาก่อน พอพี่ชายร่วมสาบานตายไป สองคนที่เหลืออยู่ก็แอบชอบกันแต่ไม่ทำอะไรเพราะเกรงใจคนที่ตายไปแล้ว ประมาณว่าความซื่อสัตย์ต่อพี่น้องเป็นเรื่องที่ก้าวล่วงไม่ได้ พระเอกนางเอกเลยได้แต่เก็บความในใจกันไปตลอดทั้งเรื่องจนพระเอกตายตอนจบ ตามคติพี่น้องร่วมสาบาน
สำนักหรือพรรคต่างๆ ในภาพยนตร์จีนกำลังภายในทั้งหลายก็ล้วนเป็นตัวแทนของสมาคมลับที่มีอยู่จริง พรรคฟ้าดินมีจริงนั่นก็คือหงเหมิน หรือที่คนไทยเรียกว่าอั้งยี่เป็นพรรคที่มุ่งหมายจะฟื้นฟูราชวงศ์ของชาวฮั่นขึ้นมา เช่นเดียวกับ พรรคกระยาจก และพรรคมาร เส้าหลิน ง๊อไบ๊ อะไรต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจให้สมาคมลับและมีสมาคมลับเป็นแรงบันดาลใจสลับ ๆ กันไป
7 บันทึก
6
2
7
6
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย