24 ส.ค. 2021 เวลา 10:30 • ไลฟ์สไตล์
History of Espresso & La Marzocco
ประวัติความเป็นมาของ เอสเพรสโซ่และ La Marzocco 2 เรื่องราว 1 การเปลี่ยนแปลง
เรื่องราวของกาแฟเอสเพรสโซ่มีมานานกว่า 100 ปี และนับแต่นั้นมาก็ทำให้เกิดนวัตกรรมที่น่าทึ่งตามมาอีกมากมาย ซึ่งนวัตกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเป็นเมนูเครื่องดื่มต่างๆ มากมายในปัจจุบัน
La Marzocco เริ่มต้นจากความชื่นชอบในเครื่องชงเอสเพรสโซ่ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้แบรนด์ La Marzocco มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของบาริสต้าทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้
วันนี้เราจะมาย้อนดูเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของเอสเพรสโซ่กันว่าในแต่ละช่วงเวลาเกิดอะไรขึ้น และมาดูกันว่าแบรนด์ La Marzocco เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะมีเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าติดตามอะไรบ้าง ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
ปี 1884
วัฒนธรรมของร้านคาเฟ่กำลังแพร่ขยายไปทั่วทั้งยุโรป ในปี 1884 นี้ Angelo Moriondo ได้รับการรับรองสิทธิบัตรของเครื่องชงกาแฟที่สามารถชงได้ปริมาณมากเป็นเครื่องแรก โดยการใช้น้ำและไอน้ำ แต่เครื่องชงกาแฟของ Moriondo ก็ไม่เคยถูกสร้างสำหรับการพาณิชย์ และไม่มีเครื่องสำหรับทดลอง
ปี 1906
เครื่องชงเอสเพรสโซ่ ถูกเปิดตัวที่งานแฟร์ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ในปี 1906 โดย Luigi Bezzera และ Desidero Pavoni ได้นำแนวความคิดของ Moriondo ไปสร้างเป็นเครื่องชงกาแฟที่มีหม้อต้มในแนวตั้ง สามารถชงกาแฟ 1 แก้วได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ใหม่ของมวลมนุษยชาติที่เครื่องชงกาแฟสามารถทำกาแฟให้พวกเราทั้งหลายได้ดื่มภายในเวลาอันรวดเร็ว นั่นคือ เอสเพรสโซ่
เครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่ถูกผลิตในยุคแรกๆ นี้ แตกต่างจากเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้ โดยในยุคแรกนั้นแรงดันที่ส่งผ่านก้านชงกาแฟ จะใช้ไอน้ำที่แรงดัน 1.5 - 2 บาร์ ผิวหน้าของกาแฟถูกสัมผัสกับน้ำที่กำลังเดือดปุดๆ ทำให้ Shot กาแฟที่ออกมาเป็นเหมือนน้ำเปล่า ที่มีรสขม นั่นทำให้ Pavoni ประสบความสำเร็จกับเครื่องชงกาแฟในอุดมคติของเขาเพียงแค่ในบางภูมิภาคของประเทศอิตาลีเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับกับเครื่องชงเอสเพรสโซ่ของเขาได้
ปี 1920
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 กาแฟได้แพร่หลายไปทั่วทั้งอิตาลี นักประดิษฐ์ชื่อว่า Pier Arduino ผู้ซึ่งมีความฝันว่าอยากจะสร้างเครื่องชงกาแฟโดยที่ไม่อาศัยไอน้ำในการสร้างแรงดันในการชง เขาได้ร่างและจดสิทธิบัตร น็อตลูกสูบและปั๊มลมขึ้นมาแต่ทว่าก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากพออย่างที่เขาได้ตั้งใจไว้
Pier Arduino ครุ่นคิดว่าต้องทำอย่างไรเขาถึงจะเป็นทั้งสุดยอดนักการตลาดและเป็นนักธุรกิจด้วย เขาจึงได้ว่าจ้างจิตรกรที่เป็นผู้วาดโปสเตอร์โฆษณา ซึ่งในโปสเตอร์นั้นเป็นชายในชุดเสื้อโค้ทสีเหลืองอร่ามที่กำลังห้อยโหนตัวออกมานอกรถไฟโดยมีมือข้างหนึ่งเกาะกับรถไฟไว้ ซึ่งนั่นถือเป็นสัญลักษณ์มาจวบจนทุกวันนี้ และแคมเปญของ Pier Arduino ในการทำเอสเพรสโซ่ก็กลายเป็นที่นิยม
Arduino ถือเป็นยุคบุกเบิกในการส่งออกเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่ผลิตจากประเทศอิตาลี ไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เขาได้เปิดหน้าร้านในกรุงปารีส และขายเครื่องชงเอสเพรสโซ่นี้ให้แก่ร้านคาเฟ่ ในกรุงปารีส
ปี 1927
Giuseppe Bambi เป็นช่างฝีมือเครื่องทองเหลืองที่อาศัยอยู่ในเมือง ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เขาได้ดำเนินตามรอยเท้าของผู้เป็นบิดาและคุณปู่ของเขา ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญและมีทักษะขั้นสูงในการทำเครื่องโลหะ Bambi ดำเนินกิจการในร้านเล็กๆ ของเขา จนต่อมาเขาได้เซ็นต์สัญญาในการออกแบบไฟหน้าของรถไฟให้แก่ บริษัท เนชั่นแนล เรลเวย์ คอมปานี
Bambi ได้รับการติดต่อจากนักธุรกิจหนุ่ม นามว่า Galletti ซึ่งนักธุรกิจหนุ่มรายนี้ได้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งในขณะนั้นวัฒนธรรมร้านคาเฟ่ในอิตาลี กำลังมีการเติบโตและขยายตัว โดยเขาได้ขอให้ Bambi นั้นผลิตเครื่องชงเอสเพรสโซ่ให้เขาจำนวน 12 เครื่อง ซึ่งเขานั้นต้องการนำเครื่องทั้งหมดมาขายให้แก่ร้านคาเฟ่ ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
Bambi ได้สร้างเครื่องชงเอสเพรสโซ่ของเขาเครื่องแรกขึ้นมา ได้ชื่อว่า "Fiorenza" แต่นักธุรกิจหนุ่มนามว่า Galletti นั้นก็ไม่สามารถขายเครื่องชงเอสเพรสโซ่นี้ได้ จนทำให้สุดท้ายแล้ว Bambi ก็ต้องกลายมาเป็นเซลล์แมนเสียเอง แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะประสบความสำเร็จในการขายเครื่องชงเอสเพรสโซ่ของเขา จึงทำให้เขาเชื่อมั่นว่าต่อไปเครื่องชงเอสเพรสโซ่นี้จะต้องประสบความสำเร็จในอนาคต
พี่ชายของ Giuseppe Bambi นามว่า Giuseppe Bruno ผู้ซึ่งเป็นเซลล์แมนโดยธรรมชาติได้เข้ามาร่วมงานกับน้องชายของเขา และร่วมกันสร้าง “I’Occicina Fratelli Bambi” พวกเขามุ่งหน้าสร้างเครื่องชงเอสเพรสโซ่ของพวกเขาจนสำเร็จและตั้งชื่อเครื่องชงเอสเพรสโซ่เครื่องแรกของพวกเขาว่า La Marzocco หลังจากนั้นช่างแกะสลักผู้มีชื่อเสียงนามว่า Donatello ได้แกะสลักรูปสิงโตที่นั่งอยู่พร้อมกับถือโล่ที่มีตราสัญลักษณ์ของเมืองฟรอเลนซ์ประเทศอิตาลีไว้
ปี 1930
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 30 ของการขายเครื่องเอสเพรสโซ่ นั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก จนมีเรื่องเล่ากันมาว่าพี่น้อง Bambi นั้นมีกลุ่มลูกค้าที่มีความเป็นไปได้ว่าจะซื้อเครื่องของพวกเขาอยู่ที่เมือง Vertibo ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมือง Rome และพาหนะในการเดินทางไปหาลูกค้าของพวกเขามีเพียงแค่รถมอเตอร์ไซค์ที่ติดรถพ่วงข้างเท่านั้น พี่น้อง Bambi เดินทางไปพร้อมกับเซลล์แมนของพวกเขาและยังต้องบรรทุกเครื่องชงเอสเพรสโซ่ลงไปในรถมอเตอร์ไซค์ด้วย ทั้งหมดนำตัวเองอัดเข้าไปในรถมอเตอร์ไซค์ และรถพ่วงข้างรวมทั้งอุปกรณ์และเริ่มออกเดินทางไปยังเมือง Viterbo
เส้นทางที่มุ่งสู่เมือง Viterbo นั้นค่อนข้างจะขรุขระ ไม่ได้ราบเรียบ แต่เหล่าผู้เดินทางต่างก็สนุกสนานร่าเริง แต่ไม่รู้ด้วยเหตุอันใด ยานพาหนะเพียงอย่างเดียวของพวกเขาถูกลมพัดจนเสียการควบคุมบริเวณที่เป็นทางโค้งและได้ชนเข้ากับสันเขื่อน จนรถมอเตอร์ไซค์ของพวกพังเสียหาย และทำให้เครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่บรรทุกมาด้วยนั้นพังเสียหายด้วยเช่นกัน
รถบรรทุกที่ขับผ่านเส้นทางนี้ได้รับพวกเขาไปหาช่างที่อยู่ใกล้ที่สุดและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ของพวกเขาจนเสร็จ จากนั้นพวกเขาก็ออกเดินทางต่อไปและได้ทำการแกะเครื่องชงเอสเพรสโซ่ของพวกเขาและซ่อมแซมจนสามารถใช้งานได้ พวกเขาได้ใช้เงินไปกับการซ่อมแซมเครื่องชงเอสเพรสโซ่จนหมดและไม่มีเหลือเพียงพอที่จะเดินทางกลับบ้านจนต้องไปกู้ยืมเงินมาเพื่อเป็นค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาของพวกเขา
ระหว่างทางกลับพวกเขาได้หยุดแวะ Tuscan hill town ที่เมือง San Gimignano และได้พบกับเจ้าของบาร์แห่งหนึ่ง และเจ้าของบาร์แห่งนั้นได้สอบถามและขอเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่เป็นตัวทดลอง สุดท้ายพวกเขาสามารถปิดการขายได้สำเร็จ เจ้าของบาร์นั้นได้ซื้อเครื่องชงเอสเพรสโซ่ไว้ และยังคงใช้เครื่อง La Marzocco ประจำบาร์มาจวบจนทุกวันนี้
ปี 1939
พี่น้อง Bambi ผู้ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมเครื่องชงเอสเพรสโซ่ยังคงคิดค้นและสร้างสรรค์ เครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อรสชาติของกาแฟที่ดีขึ้น และให้ง่ายต่อการใช้งานของเหล่าบาริสต้า
หลายปีผ่านไป หลังจากสร้างเครื่องต้นแบบพวกเขาได้จับเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่ปกติแล้วจะมีหม้อต้มน้ำที่อยู่ในแนวตั้งตรงให้นอนลงเป็นแนวระนาบซึ่งถือเป็นเครื่องชงเอสเพรสโซ่เครื่องแรกที่มีหม้อต้มน้ำในแนวนอน และได้ทำการจดสิทธิบัตรในแนวความคิดนี้ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ ในปี 1939 แต่สิทธิบัตรนี้ก็ได้หมดอายุลง ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากระบบทางราชการของอิตาลีนั้นก็สับสนวุ่นวายไปหมด และไม่มีเครื่องชงเอสเพรสโซ่แม้แต่ที่เป็นเครื่องทดลองเหลือรอดมาจากสงครามเลย ส่วนเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่เหลือรอดมาจากช่วงเวลาที่มีสงครามนั้น ก็ไม่ต่างจากเศษเหล็ก ที่เอามาใช้แทนอาวุธเพื่อสู้รบยามสงคราม
ปี 1947
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 Marco Cremonese ได้เพิ่มเติมระบบแรงดันที่ใช้ในการสกัดกาแฟเข้าไป และได้ดำเนินการพัฒนาและจดสิทธิบัตรของสปริงลูกสูบเครื่องชงเอสเพรสโซ่ แต่เขากลับไม่เคยสามารถสร้างเครื่องชงเอสเพรสโซ่เทคโนโลยีที่เขาคิดค้นขึ้นมาได้เลย
Achille Gaggia ได้พบเจอกับภรรยาของ Cremonese และภรรยาของเขาได้โชว์สิทธิบัตรนั้นให้ Gaggia ดู หลังจากนั้น Gaggia ก็ได้ใช้แนวความคิดจากสิทธิบัตรของ Cremonese มาสร้างเป็นเครื่อง Lever Espresso machine ออกมาเป็นเครื่องแรก ซึ่งลักษณะการทำงานคือ มีสปริงลูกสูบเป็นตัวสร้างแรงดันในกระบวนการสกัดกาแฟทำให้เกิดชั้นโฟมที่ด้านบนของเอสเพรสโซ่ในช่วงแรกบรรดาลูกค้าของร้านกาแฟยังไม่คุ้นชินกับชั้นโฟมด้านบนของกาแฟ และเรียกชั้นโฟมนั้นว่า "Coffee scum" ประหนึ่งว่าเป็นกาแฟที่เปรอะเปื้อน Gaggia ผู้ที่มีความเป็นนักการตลาดจึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเรียกชั้นโฟมนั้นเสียใหม่ ว่า ”Crema (ครีม่า) หรือ "Cream" (ครีม) และคำนี้ก็กลายมาเป็นจุดขายของเครื่องชงเอสเพรสโซ่ของเขา ซึ่งเจ้าเครื่องชงเอสเพรสโซ่หลายๆ เครื่องก็ถูกติดด้วยรูปของกาแฟเอสเพรสโซ่ที่มี crema อยู่ด้วย
ปี 1961
Lever machine กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ต้องติดตั้งมาพร้อมกับเครื่องชงเอสเพรสโซ่มาตลอดเกือบทศวรรษ จนกระทั่ง Ernesto Valente เปิดตัว Feama E61 เครื่องชงเอสเพรสโซ่ในปี 1961 โดยมีกลไกปั๊มน้ำผ่านผงกาแฟโดยมีแรงดันที่ 9 บาร์ ซึ่งการสกัดกาแฟแบบนี้จะทำให้กาแฟมีความเข้มข้นสูงกว่าแบบเดิม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเหล่าบาริสต้าในการติดตั้งและใช้งานเจ้าเครื่อง E61 นี้ ในคาเฟ่
Feama E61 ยังได้เปิดตัวระบบการแลกเปลี่ยนความร้อนที่เป็นการเพิ่มความร้อนให้แก่น้ำที่ใช้สำหรับการสกัดกาแฟ จากการคิดค้นและคำนวณอย่างถี่ถ้วนของ Valente เขาได้ร่างระบบน้ำเย็นที่ไหลผ่านหม้อต้มน้ำร้อนที่ใช้สำหรับสร้างไอน้ำ เมื่อน้ำไหลผ่านหม้อความร้อนนี้ก็จะทำให้น้ำที่มีอุณหภูมิเย็นนั้นร้อนขึ้น แต่ไม่ร้อนเกินจนน้ำเดือด และใช้น้ำร้อนนี้ในการสกัดกาแฟ
ปี 1970
ในปี 1970 La Marzocco ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องชงเอสเพรสโซ่ขึ้นเพื่อสร้างเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่มี 2 หม้อต้มแยกจากกันอย่างอิสระ โดย 1 หม้อใช้สำหรับการสตีม ส่วนอีกหนึ่งหม้อต้มใช้สำหรับการสกัดกาแฟ
La Marzocco GS ย่อมาจากคำว่า Gruppo Saturo หรือ "Saturated group" ที่เป็นระบบการชงกาแฟได้อย่างต่อเนื่อง ตัวหัวชงถูกเชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับหม้อต้ม น้ำที่จะนำมาใช้สำหรับการสกัดกาแฟสามารถตั้งอุณหภูมิได้ และถูกนำมาใช้โดยสัมผัสกับผิวกาแฟที่เราต้องการสกัดได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องปล่อยน้ำร้อนทิ้งไปก่อน ซึ่งระบบนี้นำมาซึ่งความเสถียรของน้ำที่มีอุณหภูมิสูง มากกว่าเครื่องชงเอสเพรสโซ่รุ่นก่อนๆ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นการเปิดตัว La Marzocco GS ที่ถือเป็นการก่อร่างสร้างอนาคตให้กับบรรดา เครื่องชงเอสเพรสโซ่ของ La Marzocco
ปี 1978
Kent Bakke นักธุรกิจชาวอเมริกัน และเพื่อนของเขาได้เข้ามาซื้อกิจการร้านแซนด์วิช ในเมืองซีแอทเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ด้านหลังของร้านแซนด์วิช มีเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่เป็นแบบหม้อต้มแนวตั้ง เครื่องเก่าๆอยู่ ซึ่ง Bakke เริ่มทำการซ่อมมันเสียใหม่ด้วยหวังว่าจะได้เห็นมันกลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งเจ้าเครื่องชงเอสเพรสโซ่นี้เองที่สร้างความสนใจให้กับ Bakke และเพื่อนของ Bakke ก็แนะนำว่า ถ้าเขาสามารถศึกษาเรียนรู้ วิธีการซ่อมเครื่องพวกนี้ได้ พวกเราก็อาจจะสามารถนำเข้าเครื่องชงเอสเพรสโซ่พวกนี้มาขายในสหรัฐอเมริกาได้
เมื่อได้ยินเช่นนั้น Bakke และเพื่อนเดินทางไปยังประเทศอิตาลี เพื่อพบกับโรงงานผลิตเครื่องชงเอสเพรสโซ่เพื่อมองหาโอกาสในการเป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา Bakke เดินทางมายัง La Marzocco และพบกับ Giuseppe Bambi และลูกชายของเขา Piero Bambi ซึ่ง Bakke และเพื่อนๆ บรรลุข้อตกลง ในการนำเข้าเครื่องชงเอสเพรสโซ่มาเพื่อจัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา
ปี 1983
ชายหนุ่มนามว่า Howard Schulz เข้ามาร่วมงานกับ Starbucks และมาอยู่ในส่วนงานของบริษัทที่เป็นส่วนของการคั่วกาแฟเพียงอย่างเดียว โดยเขามีหน้าที่เป็นผู้บริหารส่วนการตลาด ในปีนั้นเอง เขาซื้อทริปเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เขาได้ไปเห็นวัฒนธรรมของร้านกาแฟ ในประเทศอิตาลี จึงได้แรงบันดาลใจ ที่อยากจะสร้างรูปแบบของร้านกาแฟในสหรัฐอเมริกาให้คล้ายกับร้านกาแฟในอิตาลี Schulz พยายามโน้มน้าว Starbucks ให้ปรับปรุงพัฒนารูปแบบของร้านเสียใหม่ แต่เจ้าของ Starbucks ยังคงสนใจแต่เพียงการคั่วกาแฟเท่านั้น Howard Schulz จึงลาออกจาก Starbucks และไปร่วมงานกับ Il Giornale และเขาได้ทดลองที่จะนำวัฒนธรรมร้านกาแฟแบบอิตาเลียนเข้ามาสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Il Giornale ก็เริ่มใช้เครื่องชงกาแฟ La Marzocco GS
โดยในปี 1987 เจ้าของ Starbucks ตัดสินใจที่จะขายกิจการธุรกิจคั่วกาแฟของเขา และมุ่งมั่นกับบริษัทใหม่ คือ Peets Coffee
Howard Schulz จึงเข้าซื้อกิจการของ Starbucks และและทำการรีแบรนด์ (Rebrands) Il Giornale มาเป็น Starbucks และมามุ่งมั่นกับการชงกาแฟเป็นแก้ว มากกว่าเดิมที่เคยเป็นโรงคั่วกาแฟ
ปี 1990
เอสเพรสโซ่ทำให้ชาวอเมริกันติดอกติดใจ Starbucks ก็กำลังเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ในขณะที่ La Marzocco ก็เปิดตัวโมลเดลใหม่อย่าง "Linea" การออกแบบใหม่จากโมเดลเดิมอย่าง GS เพื่อใหม่เหมาะสมกับตลาดในอเมริกาโดยเฉพาะและออกแบบมาเพื่อ Starbucks เนื่องจากหม้อต้มที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องของความสามารถในการสตีมนมอย่างต่อเนื่องในปริมาณเยอะๆ
ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการหรือพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มของชาวอเมริกัน และขนาดที่พอเหมาะพอดีของช่องว่างระหว่างหัวกรุ๊ปกับถาดรอง ที่สามารถรองรับแก้วเครื่องดื่มขนาด 12 และ 16 ออนซ์ ได้
และในที่สุด Kent Bakke และหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขาก็ได้เอกสารรับรองสำหรับเครื่องชงเอสเพรสโซ่ ในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานและถูกสุขอนามัย ซึ่งข้อนี้เองที่ส่งผลให้เป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจเหนือเครื่องชงเอสเพรสโซ่เครื่องอื่นๆ จากประเทศอิตาลี
ศตวรรษที่ 20
คลื่นลูกที่ 3 ของกาแฟ (Third Wave) ยังคงมองหาหนทางที่จะรวมตัวกัน ความท้าทายหนึ่งคือการทำให้สังคมกาแฟนั้นโตขึ้น และก้าวต่อไปข้างหน้า
หนึ่งในนั้นคือความพยายามที่จะเพิ่มหน้าที่และทักษะความสามารถของผู้ที่จะมาทำหน้าที่บาริสต้า จึงได้มีการเริ่มจัดการแข่งขัน World Barista Championship ขึ้นซึ่ง La Marzocco ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันโดยเป็นผู้สนับสนุนเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่ใช้สำหรับการแข่งขัน
จากการที่เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนในเวทีการแข่งขัน ทำให้ La Marzocco พัฒนาความเข้าใจในการใช้งานเครื่องจากเหล่าบาริสต้า ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในขั้นตอนของการพัฒนาของ La Marzocco ที่จะสามารถเข้าใจความต้องการของบาริสได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเติบโตของตลาดที่มีความต้องการความเสถียรของอุณหภูมิในการสกัดกาแฟอย่างมาก ถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้ La Marzocco ไม่หยุดพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความเสถียรของอุณหภูมิน้ำ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด
La Marzocco GB5 ถูกเปิดตัวขึ้นในปี 2005 ความคงที่ของระบบความร้อน การออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งาน ที่ส่งผลให้มีความแม่นยำสูง และอุณหภูมิคงที่ ซึ่งฟังก์ชั่นเหล่านี้รวมไปถึง ระบบ Pre-heat ซึ่งทำให้น้ำร้อนขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่หม้อต้ม, ระบบ PID ที่ช่วยรักษาอุณหภูมิของน้ำให้คงที่และผิดเพี้ยนไม่เกิน 0.5 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบหม้อต้มที่ทำให้เกิดความเสถียรสูงสุด
ปี 2008
ระหว่างการพัฒนาโมเดลรุ่น GB5 เจ้าของ La Marzocco ก็เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับการสร้างเครื่องชงเอสเพรสโซ่ที่สามารถใช้ในบ้านได้
พวกเขานึกย้อนกลับไปเมื่อครั้งเริ่มต้นโมเดล GS ที่มีเพียง 1 หัวชง สามารถวางเข้ากับเคาน์เตอร์ครัวได้อย่างพอเหมาะพอดี ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเครื่องชงระดับมืออาชีพที่ถูกตั้งไว้ในห้องครัวของบ้านอีกต่างหาก และในเวลานั้นก็เป็นการยากที่จะหาเครื่องชงเอสเพรสโซ่คุณภาพสูงในประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาจึงให้ทีม R&D สร้างเครื่องชงเอสเพรสโซ่โดยใช้ส่วนประกอบใหม่ และให้ใกล้เคียงกับ GB5 แต่มีขนาดเล็กกว่า และการออกแบบที่มีต้นแบบมาจาก La Marzocco GS
ผลลัพธ์ที่ได้คือเครื่องชงเอสเพรสโซ่ระดับมืออาชีพที่ใช้ไฟ 110 โวลต์ สามารถติดตั้งไว้ในห้องครัว แต่ยังไม่ทิ้งดีไซน์กับประวัติศาสตร์ และความเป็นผู้นำของ La Marzocco พวกเขาได้รังสรร La Marzocco GS3 ขึ้น ซึ่งถือเป็นเครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซ่คุณภาพสูงระดับมืออาชีพสำหรับเหล่าบาริสต้า ที่คุณสามารถติดตั้งได้ในบ้านของคุณเอง
และนี่ก็คือประวัติความเป็นมาโดยย่อของเอสเพรสโซ่ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับ La Marzocco มาอย่างยาวนาน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 081-979-9565 ต่อ 2 Bluekoff Showroom
Inbox Facebook : http://m.me/bluekoff
#Bluekoff #lamarzocco #lamarzoccohome #Espressomachine #Coffeemachine #CoffeeCoffeeCoffee
โฆษณา