7 มิ.ย. 2022 เวลา 09:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ตอนที่ 8: ศึกสิทธิบัตรคริสเปอร์
สิ่งมีชีวิตทั้งโลกใช้ดีเอ็นเอ (หรืออาร์เอ็นเอ) เป็นสารพันธุกรรม ธุรกิจทุกวงการที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นการเกษตร ปศุสัตว์ แปรรูปอาหาร การแพทย์ เภสัชกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และเชื้อเพลิงที่ใช้กระบวนการผลิตทางชีวภาพล้วนแต่มีโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากการปรับแต่งพันธุกรรม
เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วการกำเนิดขึ้นของเทคนิคการตัดต่อดีเอ็นเอ (recombinant DNA technology) เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหรกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) สร้างรายได้นับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐแก่บริษัทเอกชน นักประดิษฐ์ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยที่มีสิทธิเป็น “เจ้าของ” ส่วนต่างๆ ของเทคโนโลยีนี้
โดยในคราวนั้นมหาวิทยาลัย Stanford และ University of California (ต้นสังกัดของสองนักวิจัย Herbert Boyer และ Stanley Cohen ผู้คิดค้น recombinant DNA technology) สามารถทำเงินเกือบสามร้อยล้านเหรียญสหรัฐจากการขาย สิทธิบัตร (licensing patents) ของเทคโนโลยีตัวนี้ให้กับบริษัทเอกชนต่างๆ
เทคโนโลยีการปรับแก้จีโนมด้วย CRISPR/Cas9 ทำให้เราสามารถปรับแก้ดีเอ็นเอในเซลล์เป็นๆ ได้ง่ายกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า แม่นยำกว่าเทคโนโลยีก่อนๆ เป็นร้อยเป็นพันเท่า
คาดกันว่าการกำเนิดขึ้นของเทคนิก CRISPR/Cas9 genome editing จะเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพยุคหลัง และมูลค่าจากสิทธิบัตรของเทคโนโลยีจะยิ่งมากมายมหาศาลกว่าของ recombinant DNA technology บทความหลายตอนที่ผ่านมาเราได้อ่านเรื่องราวของหลายทีมวิจัยที่มี
ส่วนในการค้นพบและพัฒนาระบบ CRISPR/Cas9 (จริงๆ มีเยอะกว่านั้นมาก แต่แอดมินเลือกมาแค่ตัวละครหลักๆ ไม่งั้นเล่าไม่จบซักที) คำถามสำคัญคือ “ใคร” ควรจะได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์มากน้อยขนาดไหนจากผลงานชิ้นนี้?
สิทธิบัตร (patent) เป็นกลไกทางกฏหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการปกป้อง เก็บรักษา และถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญา หลายคนโดยเฉพาะคนนอกวงการวิจัยมักจะมองสิทธิบัตรในแง่ลบว่าเป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์ของนักธุรกิจหน้าเลือด
เป็นอุปสรรคของการต่อยอดความรู้ ยิ่งถ้าเป็นสิทธิบัตรเกี่ยวกับเรื่องจำเป็นของปากท้องและสุขภาพอย่างเช่นด้านเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรหรือการเภสัชกรรม ก็ยิ่งมักจะถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายขูดรีดเงินจากชาวไร่ชาวนา ผู้ป่วย ประชาชนตาดำๆ ฯลฯ
อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีสิทธิบัตรก็จะไม่มีอะไรเป็นแรงจูงใจให้นวัตกรหรือบริษัทต่างๆลงทุนเรื่องงานวิจัย เพราะทำไปแทบตายเดี๋ยวก็โดนลอกโดนก็อบอยู่ดี หรือถึงวิจัยอะไรมาได้ก็มักจะเก็บเป็นความลับทางการค้า (trade secret) ซึ่งมีโอกาสจะสูญสลายหายไปกับบริษัทหรือนวัตกรด้วย
การมีอยู่ของสิทธิบัตรและการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดทำให้คนกล้าลงทุนคิดค้นอะไรใหม่ๆ และก็กล้าที่จะเอาองค์ความรู้นั้นเปิดเผยสู่สาธารณชน นอกจากนี้สิทธิบัตรก็มี “วันหมดอายุ” จำกัดระยะเวลาที่เจ้าของสิทธิบัตรจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชิ้นงานนั้นได้ หลังจากนั้นแล้วต้องเปิดให้คนอื่นได้ใช้บ้าง
กฏหมายสิทธิบัตรแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน สิทธิบัตรที่จดในประเทศหนึ่งมีผลบังคับใช้เฉพาะในประเทศนั้น นวัตกรอาจจะจดสิทธิบัตรครอบคลุมหลายประเทศแต่ค่าใช้จ่ายในการจดและรักษาสิทธิบัตรก็จะสูงตามไปด้วย สิทธิบัตรต่างจากการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการตรงที่เนื้อหาในสิทธิบัตรอาจจะเป็นแนวคิด ไอเดีย ที่ไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนที่เข้มข้นผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ (peer-reviewed) เหมือนงานตีพิมพ์วิชาการ
ดังนั้น หลายๆ ครั้งเราอาจจะเห็นสิทธิบัตร “โม้แหลก” อย่างรถพลังงานน้ำ หรือจรวดนิวเคลียร์ฟิวชั่นที่ยังไม่เคยมีใครสร้างได้จริง อย่างไรก็ตามการพยายามจดสิทธิบัตรหว่านแหครอบจักรวาลก็มีโอกาสถูกคณะกรรรมการตีกลับสูง นอกจากนี้การเก็บสิทธิบัตรที่ใช้การไม่ได้จริงและไม่มีใครต้องการซื้อก็อาจจะเป็นการเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์
สิทธิบัตรฉบับแรกในสหรัฐที่พูดถึงเรื่อง CRISPR (https://www.google.com/patents/US7919277) เป็นของ Danisco บริษัทเทคโนโลยีนมเนยสัญชาติเดนมาร์ก (ปัจจุบันโดน Dupont ซื้อไปแล้ว) สิทธิบัตรฉบับนี้ยื่นจดตั้งแต่ปี 2004 โดยทีมนักประดิษฐ์ของสิทธิบัตรนี้เป็นทีมของ Rodolphe Barrangou (คนเดียวกับที่เราอ่านกันไปแล้วในตอนที่ 2)
อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรนี้ยังไม่ได้พูดอะไรถึงการนำ CRISPR ไปเป็นเครื่องมือในการปรับแต่งจีโนม พูดแค่เรื่องการใช้ลำดับเบสของ CRISPR ในการจำแนกชนิดของแบคทีเรีย
หลังจากนั้นสี่ปีในเดือนกันยายนปี 2008 มหาวิทยาลัย Northwestern นำโดยทีมวิจัยของ Erik J. Sontheimer และ Luciano A. Marraffini (คนเดียวกับที่เราอ่านกันไปแล้วในตอนที่ 4: ) ก็ยื่นใบสมัครจดสิทธิบัตรในสหรัฐว่าด้วยการใช้ crRNA จาก CRISPR เป็นเครื่องมือในการยับยั้งการทำงานของดีเอ็นเอเป้าหมาย (https://www.google.com/patents/US20100076057)
แต่ว่าใบสมัครนี้โดนสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา (USPTO) ปฏิเสธไปเนื่องจากในใบสมัครไม่สามารถอธิบายหลักการกลไกการทำงานของ CRISPR ได้แน่ชัด
พอมาถึงปี 2012 ก็มีการยื่นของสิทธิบัตรในสหรัฐว่าด้วยการใช้ CRISPR เป็นเครื่องมือปรับแก้ดีเอ็นเอโดยทีมวิจัยอย่างน้อยสี่ทีมได้แก่:
1. ทีม Virginijus Šikšnys ภายใต้การกำกับของ Vilnius University ประเทศลิทัวเนีย (ทีมเดียวกับที่เราอ่านไปในตอนที่ 5: https://www.facebook.com/biologybeyondnature/posts/907604989402082:0) ใบสมัครนี้ยื่นเมื่อเดือน มีนาคม ปี 2012 (https://www.google.com/patents/US20150240261)
2. ทีม Jennifer Doudna และ Emmanuelle Charpentier ภายใต้การกำกับของ University of California และ University of Vienna ประเทศ Austria (ทีมเดียวกับที่เราอ่านไปในตอนที่ 6: https://www.facebook.com/biologybeyondnature/posts/921459558016625:0 ) ใบสมัครนี้ยื่นเมื่อเดือน พฤษภาคม ปี 2012 (https://www.google.com/patents/WO2013176772A1?cl=en)
3. ทีมจากบริษัท ToolGen ประเทศเกาหลี ใบสมัครนี้ยื่นเมื่อเดือน ตุลาคม ปี 2012 (https://www.google.com/patents/US20150322457)
4. ทีม Feng Zhang ภายใต้การกำกับ Broad Institute และ MIT (ทีมเดียวกับที่เราอ่านไปในตอนที่ 7: https://www.facebook.com/biologybeyondnature/posts/936966596465921:0 ) ใบสมัครนี้ยื่นเมื่อเดือน ธันวาคม ปี 2012 (https://www.google.com/patents/US8697359)
ฝ่ายกฏหมายของ Broad Institute ตัดสินใจสมัครสิทธิบัตรด้วยระบบ “fast track” ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ครอบคลุมประเด็นได้น้อยกว่า แต่ได้จะได้รับการพิจารณาก่อนระบบปกติ ผลปรากฏว่า USPTO ได้ให้สิทธิบัตรกับทีม Zhang ก่อนใครเพื่อนในเดือนเมษายน ปี 2014
Broad Institute  <--  VS  -->  University of California
แล้วก็ได้สิทธิบัตรเกี่ยวกับ CRISPR ที่ยื่นหลังจากนั้นตามมาอีกสิบกว่าฉบับ ขณะที่ใบสมัครของทีม ToolGen โดยตีตกไปเพราะรายละเอียดไม่พอ ส่วนใบสมัครของทีม Šikšnys และทีม Doudna + Charpentier ยังติดอยู่ระหว่างการพิจารณา ผลการตัดสินของ USPTO ในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นดราม่าความขัดแย้งระหว่าง University of California และ Broad Institute
ที่ผ่านมาระบบกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐเป็นระบบ “first-to-invent” แปลง่ายๆ ว่าใครคิดสิ่งประดิษฐ์ได้ก่อนก็จะได้สิทธิเป็นเจ้าของมันไป ระบบนี้เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อเดือนมีนาคม 2013 เป็นระบบ “first-to-file” ซึ่งแปลว่าใครยื่นจดก่อนคนนั้นได้เป็นเจ้าของ
เนื่องจากคำยื่นขอสิทธิบัตรที่ยกเล่ามาตะกี้ถูกยื่นในปี 2012 ดังนั้นจึงยังใช้ระบบ “first-to-invent” การจะพิสูจน์ว่า “ใครคิดค้นได้ก่อน?” และ “คิดได้ครอบคลุมขนาดไหน?” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องไปขุดหลักฐาน สมุดแล็บ อีเมล์ เอกสารทางการ ต้องไปขึ้นศาล สอบปากพยานผู้เกี่ยวข้องกันวุ่นวาย
อีกประเด็นที่ต้องถกเถียงกันคือสิ่งที่ยื่นจดสิทธิบัตรนั้นเป็นสิ่ง “ใหม่” อย่างแท้จริงหรือไม่? ถ้าสิ่งนั้นเป็นอะไรใครๆ “ทั่วไป” ในวงการ (ภาษากฏหมายคือ “persons of ordinary skill” ) สามารถต่อยอดจากของเดิมได้ก็ไม่ควรให้เป็นสิทธิบัตร เช่น สมมติมีคนจดสิทธิบัตรวิธีทำ “ชานม” ไปแล้ว ต่อมาถ้ามีคนจะขอจดวิธีทำ “ชานมเพิ่มน้ำตาล” คนหลังนี่ก็ไม่ควรได้เพราะเรื่องแบบนี้เป็นการต่อยอดแบบพื้นๆ ใครๆ ก็คิดได้)
เดือนเมษายน ปี 2015 ทีมกฏหมายของ University of California (ต้นสังกัดของ Jenifer Doudna) ก็ได้ยื่นเรื่องของให้ USPTO พิจารณาเรื่องที่สิทธิบัตรของทีม Zhang ไปซ้ำซ้อนกับคำขอสิทธิบัตรของทีม Doudna + Charpentier ที่ยื่นไปก่อนหน้าทีม Zhang ถึงเจ็ดเดือน
และขอให้มีการสอบสวนว่าใครกันแน่เป็นคนคิดค้นเทคโนโลยี CRISPR/Cas genome editing ได้ก่อน เดือนมกราคม ปี 2016
ทาง USPTO ก็ตกลงรับเรื่องและให้มีการทบทวนกรณีสิทธิบัตร CRISPR/Cas genome editing เสียใหม่
ในกระบวนการสอบสวน ทาง Broad Institute กล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรของ Zhang กับคำขอสิทธิบัตรของ Doudna + Charpentier ไม่ได้ทับซ้อนกัน เพราะในขอสิทธิบัตรของ Doudna + Charpentier พูดถึงแต่เรื่องการใช้ CRISPR/Cas ตัดดีเอ็นเอในหลอดทดลอง (in vitro) หรือในเซลล์แบคทีเรีย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับวิธีการนำ CRISPR/Cas ไปใช้ในเซลล์ชั้นสูง (eukaryote)
โดยเฉพาะในเซลล์หนูทดลองและเซลล์มนุษย์ ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะมูลค่ามหาศาลจากการประยุกต์ใช้ CRISPR/Cas ในอนาคตน่าจะเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ หรืองานวิจัยพื้นฐานด้านการแพทย์ และบริษัทเอกชนด้านนี้หลายบริษัทก็ได้เริ่มซื้อสิทธิการใช้ CRISPR/Cas genome editing จาก Broad Institute หรือจาก University of California ไปแล้ว
ฝ่าย University of California ก็แย้งว่าการเอาเทคนิค CRISPR/Cas ที่ทีม Doudna + Charpentier คิดค้นขึ้นไปประยุกต์ในเซลล์ชั้นสูงเป็นเรื่องที่เห็นๆ อยู่แล้วว่าเป็นไปได้ นักวิจัย “ทั่วไป” ที่มีความรู้ด้านชีวโมเลกุลและชีววิทยาของเซลล์น่าจะสามารถคิดทำเรื่องนี้สำเร็จได้ University of California ชี้ประเด็นว่าการที่มีทีมวิจัยถึงอย่างน้อยสี่ทีม
(ทีม Doudna, ทีม Church, ทีม Zhang และทีม Jin-Soo Kim จาก ToolGen ประเทศเกาหลี)
สามารถทำเรื่องนี้สำเร็จได้แทบจะพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายเป็นหลักฐานสำคัญว่าการเอา CRISPR/Cas ไปใช้ในเซลล์ชั้นสูงไม่ใช้เรื่องยากอะไรขนาดต้องมาตั้งแยกเป็นเคสพิเศษ ดังนั้นขอสิทธิบัตรของ Doudna + Charpentier จึงครอบคลุมการนำ CRISPR/Cas ไปใช้ “ที่ไหนก็ตาม” ไม่ว่าจะเป็นในหลอดทดลอง เซลล์ชั้นต่ำ หรือเซลล์ชั้นสูง
Broad Institute เถียงกลับว่าทั้งสี่ทีมวิจัยที่ University of California กล่าวอ้างถึงล้วนแต่เป็นทีมวิจัยระดับแนวหน้าของโลกไม่ใช่แค่นักวิจัย “ทั่วไป” ที่มีความรู้ด้านชีวโมเลกุลและเซลลวิทยา
นอกจากนี้ยังมีเคสตัวอย่างมากมายในอดีตที่มีคนพยายามเอาเทคนิคที่พัฒนาขึ้นในแบคทีเรียหรือในหลอดทดลองไปประยุกต์ใช้ในเซลล์ชั้นสูงแต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ แม้แต่ฝั่ง University of California รวมทั้งทีม Doudna + Charpentier ก็เคยออกมาให้ความเห็นตอนที่ทำงานกับ CRISPR/Cas ใหม่ๆ ว่าระบบนี้อาจจะใช้ไม่ได้ในเซลล์ชั้นสูง ดังนั้นงานของ Zhang ถือเป็นเรื่อง “ใหม่” ควรค่ากับการได้สิทธิบัตร
ฝ่าย University of California กล่าวอ้างถึงอีเมล์จากนักเรียนคนนึงที่ทำงานในแล็บของ Zhang ช่วงปี 2011-2012 ที่เล่าว่างานที่เขาทำในแล็บของ Zhang ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการอ่านเปเปอร์ของ Doudna + Charpentier ดังนั้นผลงานของ Zhang จึงน่าจะเป็นแค่การต่อยอดจากงาน Doudna + Charpentier ฝ่าย Broad Institute และ
ก็มีหลักฐานว่า Zhang เริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับ CRISPR/Cas genome editing มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์
ส่วนอีเมล์ของนักเรียนคนนั้นก็เขียนขึ้นตอนที่เขาไปสมัครงานกับแล็บของ Doudna ดังนั้นไอ้เด็กคนนี้มันอาจจะตั้งใจยอ Doudna เกินจริงเพื่อให้ได้งาน
ฝ่าย Broad Institute อ้างถึงงานตีพิมพ์ของ Doudna ปลายเดือนมกราคม 2013 ที่กล่าวขอบคุณ (acknowlegement) Church ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องการประยุกต์ใช้ CRISPR/Cas ในเซลล์มนุษย์ ข้อความตรงนี้เป็นหลักฐานว่าการเอา CRISPR/Cas ไปใช้ในเซลล์ชั้นสูงไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ประเด็นนี้ Church ออกมาให้สัมภาษณ์ทีหลังว่า Doudna น่าจะขอบคุณตามมารยาทเฉยๆ ไม่ควรเอาข้อมูลนี้มาเป็นหลักฐานอะไร ฝ่าย University of California กล่าวอ้างถึงอีเมล์ของ Church ที่ส่งมาแสดงความยินดีกับทีม Doudna + Charpentier ตอนตีพิมพ์เปเปอร์ปี 2012
และกล่าวว่างานนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมเขาลอง CRISPR/cas กับเซลล์ชั้นสูง แต่เรื่องนี้ Church ก็ออกมาแย้งอีกเช่นกันว่าทีมเขาทำเรื่อง genome editing มาตั้งนานแล้วและการจะเอาเทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ในแบคทีเรียหรือหลอดทดลองมาใช้ในเซลล์ชั้นสูงไม่ใช่เรื่องหมูๆ
หลักจากการเถียง คุ้ย แซะกันไปแซะกันมาหลายประเด็น และหลังจากการขึ้นศาลชี้แจงพยานหลักฐานกันเมื่อเดือนธันวาคมปี 2016 ทีมผู้พิพากษาด้านสิทธิบัตร (U.S. Patent Trial and Appeal Board ~ PTAB ) ก็ประกาศเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2017
ตัดสินให้ Broad Institute เป็นฝ่ายชนะ กล่าวคือสิทธิบัตรของ Zhang ไม่ได้ทับซ้อนกับคำขอสิทธิบัตรของ Doudna + Charpentier ที่ยื่นมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นทีม Broad Institute จึงยังคงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่ CRISPR/Cas genome editing ที่ USPTO มอบให้ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2014
ส่วนคำขอสิทธิบัตรของ Doudna + Charpentier ให้ดำเนินการพิจารณาต่อไปว่าจะได้หรือไม่ได้ และถ้าได้จะครอบคลุมขนาดไหน
เดือนกรกฎาคมปี 2017 ทีมกฏหมายของ University of California ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของ PTAB ต่อ U.S. Court of Appeals for the Federal Circuit ในประเด็นเดิมที่ว่าการที่ทีม Zhang เอา CRISPR/Cas ไปประยุกต์ใช้ในเซลล์ชั้นสูงไม่ใช่เรื่อง “ใหม่” หรือยาก มีหลายทีมวิจัยสามารถทำสำเร็จพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายในเวลาไล่เลี่ยกัน
นอกจากนี้ PTAB เองก็เคยปฏิเสธการยื่นขอสิทธิบัตรการใช้ CRISPR/Cas ในเซลล์ชั้นสูงของบริษัท Sigma-Aldrich และบริษัท ToolGen (ซึ่งยื่นก่อนทีมของ Zhang เสียอีก) ด้วยเหตุผลที่ว่างานนั้นไม่ได้มีอะไร “ใหม่” อย่างมีนัยยสำคัญจากผลงานที่ทีม Doudna + Charpentier นำเสนอไปแล้ว
ฝั่งทีม Broad Institute ก็ออกมาตอบโต้ว่าหลักฐานที่ PTAB ใช้ตัดสินนั้นแน่นหนาดีแล้ว พร้อมอธิบายแถลงลำดับเหตุการณ์การประดิษฐ์คิดค้น CRISPR/Cas genome editing และความท้ายทายในการใส่ระบบนี้ลงในเซลล์ชั้นสูง
ไม่ว่าผลการอุทธรณ์รอบนี้จะออกมาเป็นยังไง ฝั่ง University of California ก็ยังมั่นใจว่าคำขอสิทธิบัตรรอบก่อนหน้านี้ของ Doudna + Charpentier มีโอกาสสูงที่จะผ่านและก็จะครอบคลุมการใช้งาน CRISPR/Cas genome editing ทั้งในหลอดทดลองและเซลล์ทุกชนิด
จะว่าไปแล้วคำตัดสินของ PTAB เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ก็เป็นการเปิดโอกาสให้สิทธิบัตรของ Doudna + Charpentier มีโอกาสผ่านมากขึ้นเพราะมันเป็นการประกาศว่างานของ Zhang และ Doudna + Charpentier ไม่ได้ทับซ้อน (interference) กัน ไม่ต้องมาเถียงกันว่าใคร “คิดค้นก่อน” เพราะเป็นสิทธิบัตรคนละเรื่องกัน
ปัญหาจริงๆ อาจจะตกอยู่กับบริษัทที่จะซื้อสิทธิในการใช้เทคโนโลยี CRISPR/Cas ไปทำงานกับเซลล์ชั้นสูงว่าสรุปแล้วต้องจ่ายให้ใคร Broad Institute หรือ University of California ? หรือทั้งคู่?
ผู้เชี่ยวชาญทางกฏหมายหลายท่านบอกว่าจริงๆ เราอาจจะไม่ต้องตื่นตูมกังวลขนาดนั้น ปัญหาสิทธิบัตรทับซ้อนไม่ได้มีครั้งนี้ครั้งแรก ในวงการอื่นอุตสาหกรรมอื่นก็เคยเจอปัญหาคล้ายๆ กันนี้
แต่สุดท้ายแต่ละฝ่ายก็อยากจะมาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ยื่นหมูยื่นแมวกันให้ลงตัว ดีกว่าจะเสียเงินเสียเวลาขึ้นศาลไปเรื่อยๆ เคส CRISPR/Cas นี่อาจจะดูดราม่าเยอะหน่อยเพราะมีสถาบันชั้นนำของโลกอย่าง Broad Institute และ University of California เป็นคู่ชก บางทีเรื่องของหน้าตาและเกียรติภูมิฆ่าได้หยามไม่ได้ก็สำคัญกว่าเรื่องข้อกฏหมายหรือผลกำไร
เรื่องสิทธิบัตร CRISPR/Cas จริงๆ แล้วกว้างกว่า Broad Institute และ University of California ที่เล่ามาตอนนี้มาก มีผู้เล่นผู้เข้าแข่งขันอีกหลายฝ่าย (ที่อาจจะไม่ดราม่าเท่านี้) มีสิทธิบัตรที่ได้แล้วหรืออยู่ระหว่างยื่นอีกหลายร้อยฉบับ และมีอีกหลายเวทีนอกเหนือจาก USPTO ทั้งในยุโรป จีน หรือประเทศอื่นๆ ทั้งหลายทั้งมวลที่จะต้องเข้ามาข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีตัวนี้
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของบริษัทเอกชนต่างๆ ทั้งสตาร์ทอัพและยักษ์ใหญ่ของวงการที่กระโดดเข้ามาขุดทรัพย์หาประโยชน์จาก “ไม้กายสิทธิ์เนรมิตรจีโนม” ที่ชื่อว่า CRISPR/Cas
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคร้าบบบ...❤
ติดตามเพจ Facebook ของพวกเราได้ที่
โฆษณา