Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Biology Beyond Nature: ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ
•
ติดตาม
13 ก.ค. 2022 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ตอนที่ 9 : เปิดขุมทรัพย์สตาร์ทอัพคริสเปอร์ และบทส่งท้ายซีซั่นแรก
วงการสตาร์ทอัพด้าน CRISPR/Cas เริ่มต้นแบบโลกสวยฟรุ้งฟริ้ง ปลายปี 2012 Emmanuelle Charpentier หนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีได้แท็กทีมกับ Roger Novak เพื่อนเก่าของเธอที่ตอนนั้นเป็นผู้บริหารอยู่ที่ Sanofi บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส
ขุมทรัพย์สตาร์ทอัพคริสเปอร์
ดึงเอา Shaun Foy นักลงทุนเจนสังเวียนด้านไบโอเทคเข้ามาร่วมวง Charpentier/Novak/Foy ตกลงกันว่าพวกเค้าจะไปชวนเอาเหล่านักวิจัยแนวหน้าทั้งหลายของวงการ CRISPR/Cas มารวมพลังกันตั้งบริษัทขายผลิตภัณฑ์และบริการจากเทคโนโลยีนี้ต่อไป
สามสหายเอาไอเดียนี้ไปเสนอกับ Jenifer Doudna เพื่อนร่วมวิจัยโปรเจก CRISPR/Cas ของ Charpentier แล้วก็ยังไปเชิญเอา Feng Zhang กับ George Church คู่แข่งงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ผลงานเรื่องการใช้ CRISPR/Cas ในเซลล์มนุษย์มาแจมด้วยอีกต่างหาก
น่าเสียดายที่สมาคมคริสเปอร์ร่วมใจรวมตัวกันอยู่ได้ไม่นาน แค่ปีกว่าๆ หลังจากนั้นงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่ตามมาได้ยืนยันเน้นย้ำถือความสุดยอด CRISPR/Cas และผลักดันให้มูลค่าเทคโนโลยีตัวนี้พุ่งสูงขึ้นมหาศาล
ทั้งนักลงทุน ทั้งสถาบันต้นสังกัดยักษ์ใหญ่ที่ถือหางนักวิจัยแต่ละคนอยู่ก็เริ่มยุ เริ่มแทรกแซงข้อตกลงการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกในทีม ไหนจะมีเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ดราม่าสิทธิบัตรไปจนถึงการแย่งเครติดผลงานและคำถามที่ว่าถ้างานนี้เกิดติดโผโนเบลขึ้นมาจริงๆ ใครล่ะที่ควรจะได้รางวัลอันทรงเกียรตินี้ (รางวัลโนเบลมีกติกาว่าจะให้ได้ไม่เกินสามคน)
ทีมของ Charpentier ซึ่งมีฐานพันธมิตรและนักลงทุนที่เข้มแข็งจากฝั่งยุโรปอยากจะตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ทีมของ Zhang และสหายจากฝั่งสหรัฐอเมริกาอยากให้บริษัทอยู่ที่เมืองบอสตันมากกว่า ผนวกกับแรงยุจากนักลงทุนและความไม่ลงรอยด้านแผนธุรกิจหลายๆด้านทีม Charpentier/Novak/Foy ก็เลยตัดสินใจแยกวงออกไปตั้งสตาร์ทอัพของตัวเองภายใต้ชื่อ CRISPR Therapeutics (
http://www.crisprtx.com/
)
ส่วน Zhang, Church และ Doudna ร่วมกันก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อ Editas Medicine (
http://www.editasmedicine.com/
)
นอกจากนี้ก็ยังมีทีมของ Sontheimer, Marraffini และ Barrangou (ที่เราอ่านกันไปตอนที่ 2 และ 4:
https://www.facebook.com/biologybeyondnature/posts/899980533497861:0
) ตั้งอีกสตาร์ทอัพนึงชื่อว่า Intellia Therapeutics (
https://www.intelliatx.com/
) ทั้งสามบริษัทเน้นการนำ CRISPR/Cas ไปใช้ในการทำยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคทางพันธุกรรม
ต้นปี 2014 Broad Institute สถาบันวิจัยต้นสังกัดของ Zhang ได้สิทธิบัตรด้าน CRISPR/Cas genome editing เป็นเจ้าแรกขณะที่ University of California (สถาบันวิจัยต้นสังกัดของ Doudna) ยังไม่ได้ทั้งๆ ที่ยื่นขอไปก่อน ในที่สุดศึกชิงสิทธิบัตรระหว่าง Doudna กับ Zhang ก็เปิดฉากขึ้น (อ่านรายละเอียดในตอนที่ 8:
https://www.facebook.com/biologybeyondnature/posts/940399342789313:0
)
ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น Doudna ก็ลาออกจาก Editas โดยชี้แจงเหตุผลว่าอยากให้เวลากับครอบครัวที่อยู่แคลิฟอร์เนียมากกว่าและขี้เกียจเดินทางไปEditasที่บอสตันบ่อยๆ อย่างไรก็ตามปีนึงหลังจากนั้น Doudna ก็ไปเข้าร่วมกับบริษัท Intellia Therapeutics ซึ่งก็ตั้งอยู่แถวๆ บอสตันเหมือนกัน
บริษัทที่นำเทคโนโลยี CRISPR/Cas ไปสร้างมูลค่าไม่ได้มีแค่สามบริษัทนี้ (CRISPR Therapeutics, Editas Medicine, Intellia Therapeutics) และก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การประยุกต์ใช้ทางยีนบำบัด เช่น
- Caribou Bioscience อีกสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดย Doudna ตั้งแต่ 2011 มุ่งเน้นไปที่การปรับแต่งจีโนมเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และการวิจัยพื้นฐาน (
http://cariboubio.com/application-areas
)
- ERS genomics อีกสตาร์ทอัพของ Charpentier ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการและขายสิทธิบัตร CRISPR/Cas ที่ Charpentier เป็นเจ้าของอยู่ให้กับบริษัทอื่นๆ (
http://www.ersgenomics.com/
)
- Egenesis อีกสตาร์ทอัพของ Church ใช้ CRISPR/Cas ในการกำจัดไวรัสแฝงเร้นในจีโนมของหมู เพื่อจะได้ใช้อวัยวะของหมูในการปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย (
https://www.egenesisbio.com/
)
- Eligo Bioscience อีกสตาร์ทอัพของ Marraffini ประยุกต์ใช้ CRISPR/Cas เป็นยาปฏิชีวนะและเครื่องมือปรับแต่งจุลินทรีย์บนร่างกายมนุษย์ (
http://eligo.bio/
)
- Agenovir สตาร์ทอัพที่ใช้ CRISPR/Cas ในการตัดทำลายและกำจัดเชื้อไวรัสที่สามารถแฝงเร้นในเซลล์มนุษย์ เช่น ไวรัสเริม และไวรัสตับอักเสบ บี (
https://www.agenovir.com
)
- Synthego บริษัทขายชุด kits สำหรับทำ CRISPR/Cas genome editing เพื่อใช้ในงานวิจัย (
http://www.synthego.com/
)
... และอื่นๆอีกมากมาย
นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทยา บริษัทเกษตร บริษัทไบโอเทคหลายๆเจ้าทั่วโลกที่ซื้อสิทธิในการใช้ CRISPR/Cas หรือไม่ก็ร่วมมือกับสตาร์อัพ/แล็บในมหาวิทยาลัยเพื่อต่อยอดหรือพัฒนาสินค้า/บริการตัวใหม่ๆของบริษัท ของประเทศไทยตอนนี้ที่ออกข่าวมาแล้วก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “ซีพี” ที่มีโครงการพัฒนาหมูสายพันธุ์ปลอดโรคร่วมกับแล็บของ Church (
https://thaipublica.org/2016/03/cp-biotech/
)
ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดอยู่ในระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยียังไม่ได้มีสินค้าออกมา (ยกเว้นแต่กรณีของบริษัทที่ขายชุด kit หรือบริการปรับแต่งจีโนมด้วย CRISPR/Cas เพื่องานวิจัย)
สำหรับการประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์ก็จะมีบริษัท CRISPR Therapeutics ที่ก้าวหน้าไปใกล้ตลาดมากที่สุดตอนนี้
โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว (ธันวาคม 2017) ได้ยื่นขอทดสอบทางคลินิก (clinical trials) ในยุโรปว่าด้วยเทคโนโลยีการใช้ CRISPR/Cas เพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมีย และโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell disease)
ฝ่าย Editas Medicine ทีแรกตั้งจะว่าจะเริ่มยื่นขอทดสอบปลายปีที่แล้ว (2017) ว่าด้วยเทคโนโลยีการใช้ CRISPR/Cas ในการรักษาโรคตาพิการทางพันธุกรรม (LCA10) แต่ว่าก็แผนนี้ก็ต้องถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนดเนื่องจากทางบริษัทประสบปัญหาการผลิตไวรัส (AAV) เพื่อใช้ส่ง CRISPR/Cas เข้าสู่เซลล์ ส่วน Intellia Therapeutic ยังไม่ได้ประกาศแผนว่าจะเริ่มทดสอบทางคลินิกเมื่อไหร่
รายงาน Citi GPS (Global Perspective Solution) เมื่อปลายปีที่แล้ว (2017) ของ Citi Group บริษัทธนาคารและการลงทุนข้ามชาติรายใหญ่ประมาณการว่าในปัจจุบันมูลค่าการลงทุนจาก VC ในสตาร์ทอัพด้าน CRISPR รวมแล้วอยู่ที่ราวๆ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่ารวมของบริษัทมหาชนที่ด้านการปรับแต่งจีโนมอยู่ที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม Citi GPS วิเคราะห์ว่าความคึกคักของวงการ “ธุรกิจจาก CRISPR” ที่เราเห็นกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น สินค้าเกี่ยวกับ CRISPR ที่ออกวางขายแล้วจริงๆส่วนใหญ่มีแต่ชุด kit หรือบริการเกี่ยวกับงานวิจัย งานด้านอื่นๆ
โดยเฉพาะวงการแพทย์และเภสัชกรรมยังคงต้องรออีกสักระยะแต่ไม่น่าจะเกินหกปี Citi GPS คาดการณ์ว่ามูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ CRISPR จะเติบโตขึ้นปีละราวๆ 40% และมีมูลค่าการตลาดรวมในปี 2025 สูงถึงหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
บทความตอนนี้เป็น “ตอนสุดท้าย” ของซีรีย์ “The Epic History of CRISPR” (Season 1??) แต่เรื่องราวข่าวอัพเดทความก้าวหน้าต่างๆของเทคโนโลยีตัวนี้ยังออกมาอยู่เรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2013 จำนวนทีมวิจัยและโครงการวิจัยที่เล่นเรื่อง CRISPR ขยายตัวออกไปกว้างกว่าเดิมอย่างมหาศาล ปัจจุบัน ปีนึงมีเปเปอร์ออกมากว่าสองพันเปเปอร์....เฉลี่ยก็วันละ 5-6 เปเปอร์ อ่านกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว
มีการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมากมายเกินขึ้นพร้อมๆ กันจนเกินกว่าที่เราจะเล่าเรื่องเป็นประวัติศาสตร์ timeline เส้นตรงๆ เป็นลำดับอย่างที่เล่าเก้าตอนที่ผ่านมาได้ ถ้ายังไงวันหลังแอดมินจะลองแยกย่อยมาเป็นหัวข้อๆไปตาม theme ของงานวิจัย การประยุกต์ใช้หรือทีมวิจัย/บริษัทดาวเด่นเป็นตอนเสริม ระหว่างนี้ไปตามอัพเดทข่าวกันได้ที่:
https://www.facebook.com/.../a.680275.../881894751973106/
...
ถ้าจำกันได้จากตอนที่ 1 CRISPR เริ่มถูกศึกษาอย่างจริงจังในช่วงปี 1992 โดย Francisco J. M. Mojica นักวิจัยหนุ่มไฟแรง (ในสมัยนั้น) ผู้ตั้งคำถามกับลำดับเบสดีเอ็นเอแปลกๆ บนจีโนมแบคทีเรียแปลกๆ ในนาเกลือสีแดงเลือด
ย้อนกลับไปยี่สิบปีที่แล้วไม่มีใครคาดคิดหรอกว่าไอ้เจ้าลำดับเบสดีเอ็นเอแปลกๆ นั้นในที่สุดจะกลายมาเป็นหนึ่งในสุดยอดเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่จะปฏิวัติโฉมหน้าของวงการไบโอเทค สร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล และก็อาจจะเปลี่ยนคำนิยามของสปีชีย์ “มนุษย์” ไปตลอดกาล
อะไรคือบทเรียนสำคัญจาก “มหากาพย์” เรื่องนี้? อะไรเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่และการพัฒนาสู่นวัตกรรมเปลี่ยนโลก?
คำตอบอาจจะเป็นเรื่องความหลงใหลและความเป็นมืออาชีพใน “งานชิ้นเล็กๆ” ที่นักวิจัยแต่ละคนทำ Mojica เล่นเรื่องเชื้อในนาเกลือ (ตอนที่ 1),
Barrangou เล่นเรื่องโยเกิร์ตปลอดไวรัส (ตอนที่ 2),
Oost เล่นเรื่องการแสดงออกของยีน (ตอนที่ 3),
Marraffini เล่นเรื่องการระบาดของดีเอ็นเอดื้อยา (ตอนที่ 4),
Siksnys เล่นเรื่องเอนไซม์ (ตอนที่ 5),
Charpentier เล่นเรื่อง RNA ในแบคทีเรีย และ Doudna เล่นเรื่องโครงสร้างโมเลกุล (ตอนที่ 6)
ส่วน Church กับ Zhang เล่นเรื่องการปรับแต่งจีโนมและก็เป็นคนปะติดปะต่อเรื่องราวต่อจิ๊กซอวองค์ความรู้ที่ผ่านมาและสร้างเป็นเทคโนโลยีตัวใหม่ (ตอนที่ 7)
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างคือโดยตัวของมันเองแล้วเทคโนโลยี CRISPR/Cas genome editing เรียบง่ายพอที่จะเกิดได้ตั้งแต่ยี่สิบปีที่แล้ว มันไม่ต้องการอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง กล้องจุลทรรศน์สุดเจ๋ง หรือ DNA sequencer ที่ทรงพลังที่เรามีในปัจจุบัน มันต้องแค่ยีนผลิตเอนไซม์หนึ่งยีน + ยีนผลิตอาร์เอ็นเออีก 1-2 ยีน
เทคโนโลยีเมื่อยี่สิบปีก่อนก้าวหน้าพอที่จะทำอะไรแบบนี้ได้แล้ว ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าใครซักคนจากโลกอนาคตส่งเปเปอร์ 2013 ของZhang (หรือ Church, Doudna และ Charpentier) ย้อนเวลากลับไปซัก 20-30 ปีก่อน คนสมัยนั้นก็น่าจะสามารถสร้างเทคโนโลยีCRISPR/Cas genome editing ขึ้นมาใช้ได้
อะไรที่เรียบง่ายขนาดนี้ทำไมไม่มีใครคิดได้ก่อนหน้านี้?? เครื่องไม้เครื่องมืออาจจะไม่สำคัญเท่าการ “สังเกต” และ “ตั้งคำถาม” ที่ถูกต้อง มนุษย์เราใช้เวลากว่ายี่สิบปีกว่าจะรู้ว่ากลไกอย่าง CRISPR มันมีอยู่ในโลก รู้ว่ามันทำงานยังไง และในที่สุดก็คือรู้ว่ามันเอาไปทำอะไรได้บ้าง งานวิจัยที่ดูเหมือนสะเปะสะปะในช่วงแรกๆ ของวงการทำให้เราได้สำรวจ ได้สังเกต ได้ตั้งคำถาม จนในที่สุดก็ตกผลึกมาเป็นงานเจ๋งๆ ในที่สุด
นักวิจัยหลายท่านรวมทั้งผมเองด้วยจะเริ่มเป็นกังวลเวลาที่คนใหญ่คนโตระดับชาติออกมาประกาศจะ “วางทิศทางงานวิจัยของชาติให้ชัดเจน” หรือ “จะเอาแต่งานวิจัยที่ขายได้” แน่นอนว่าการวางแผนเป็นสิ่งดีการคิดเรื่องประยุกต์ใช้เป็นสิ่งสำคัญ แต่อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการเหลือ “ที่ว่าง” ให้ได้ “สะเปะสะปะ”บ้าง
การทุ่มทรัพยากรวิจัย 100% พุ่งเป้าเดินหน้าไม่หันซ้ายขวา ระวังจะพลาดโอกาสสร้างนวัตกรรมพลิกโลกที่อาจจะซ่อนตัวอยู่ในโปรเจ็กเล็กๆ จืดๆ ที่อยู่เรียไรข้างทาง โปรเจกที่อาจะเป็นสปริงบอร์ดให้เราไปสู่เป้าหมายที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคร้าบบบบ…
References:
http://www.sciencemag.org/.../how-battle-lines-over
...
https://www.nanalyze.com/.../7-gene-editing-companies.../
https://www.statnews.com/.../rachel-haurwitz-crispr-caribou/
https://www.cbinsights.com/rese.../crispr-startups-to-watch/
https://techcrunch.com/.../synthegos-genetic-toolkit.../
https://www.technologyreview.com/.../crispr-in-2018.../
https://www.fiercebiotech.com/.../editas-delays-ind-for
...
http://www.businessinsider.com/crispr-set-to-be-a-10
...
https://www.fondsnieuws.nl/marktrapporten/file/14138
See Less
biotechnology
การแพทย์
1 บันทึก
2
1
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย