24 ส.ค. 2021 เวลา 15:07 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ชวนมาดูหน้าที่ของตำรวจ ทหารและเจ้าหน้าที่ของอเมริกา
เราทั้งอ่านนิยายกับดูหนังที่ตัวเอกเป็นอเมริกันมาบ้าง แนวที่เลือกดูส่วนใหญ่จะเป็นแอคชั่น ระทึกขวัญ สืบสวน ซึ่งแนวพวกนี้ตัวเอกก็ไม่พ้นเป็นทหาร ตำรวจอย่างเสียไม่ได้
ด้วยความที่เป็นทหารกับตำรวจนี่แหละ ทำให้สงสัยว่าเขาทำหน้าที่เหมือนไทยเรามั้ย แล้วหน่วยอื่นมาช่วยได้มั้ย บางทีในหนังมีเหม็นหน้ากันอีก ถ้าอีกหน่วยงานมายุ่งในหน้าที่เขา ก็เลยลองไปค้นดูว่าเหล่าเจ้าหน้าที่ในหนัง ในชีวิตจริงเขามีหน้าที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
FBI (Federal Bureau of Investigation)
เชื่อว่าทุกคนที่เคยดูหนังแอคชั่น ต้องเคยเห็นฉากตัวเอกที่เป็น FBI ใส่เสื้อคลุมสีกรมท่า ตัวหนังสือสามตัวสีเหลือง ไปถึงบ้านผู้ต้องสงสัยแล้วตะโกนให้เปิดประตูกันแน่ ๆ
FBI หรือเป็นไทยก็คือ สำนักงานสอบสวนกลาง เป็นหน่วยงานที่สามารถบังคับใช้กฎหมาย บางครั้งก็เข้ามาช่วยเหลือตำรวจ แต่หน้าที่ต่างจากตำรวจตรงที่รับผิดชอบคดีอาชญากรรมรุนแรง การก่อการร้าย เหตุอันตรายต่อสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
FBI นอกจากฝ่ายตามจับผู้ร้ายแล้ว ยังมีแผนก BAU หรือ Behavioral Analysis Unit เป็นแผนกช่วยสืบสวนด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ต้องสงสัย แผนกนี้เป็นที่ยอดฮิตในซีรี่ส์สืบสวน เช่น Criminal Minds, Mindhunter และ Hannibal
DEA (Drug Enforcement Administration)
หน่วยงานนี้อาจจะไม่ค่อยได้เห็นจากในหนังสักเท่าไหร่ แต่ก็มีหน้าที่สำคัญมากในชีวิตจริงเช่นกัน นั้นก็คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานนี้สามารถบังคับใช้กฎหมาย ตามจับพ่อค้ายาเสพติดได้อย่างในซีรี่ส์ Narcos รวมถึงการดูแลยา เภสัชภัณฑ์ สารตั้งต้นทำยาทั่วไปด้วย
CIA (Central Intelligence Agency)
พี่มาเงียบ ๆ แต่แอบเก็บข้อมูลเพียบนะจ๊ะ
เห็น CIA แล้ว ทุกคนก็คงมีภาพสายลับ สปายขึ้นมาในหัวแน่ ๆ ซึ่งตามความจริงหน้าที่ของหน่วยงานนี้ก็ตรงตามในหนังกับซีรี่ส์เลยแหละ
CIA มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลความมั่นคงแห่งชาติ (national security) จากประเทศอื่น ๆ รายงานตรงไปยังประธานาธิบดี เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น
พวกเขามีหน้าที่เดียวเท่านั้น ไม่มีอำนาจจับกุม บังคับใช้กฎหมายอย่างตำรวจหรือ FBI
ภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีตัวเอกเป็น CIA ยกตัวอย่างก็มี Bourne, Zero Dark Thirty และ Homeland
US Armed Forces
กองทัพของสหรัฐอเมริกาแบ่งเป็น 6 สาขา ได้แก่ U.S. Army, U.S. Marine Corps, U.S. Navy, U.S. Air Force, U.S. Space Force และ U.S. Coast Guard แต่บทความนี้ขอยกมาอธิบายแค่ 3 สาขาที่เคยดูผ่านหนังมาก่อนนะ
US Army
กองทัพบก
หน้าที่ของทหารทุกเหล่า ทุกสาขาเหมือนกันตรงที่มีหน้าที่ปกป้องประเทศ และประชาชน มาต่างกันตรงที่พื้นที่ในการเข้าทำหน้าที่ ในส่วนของ US Army เป็นการดูแลบนภาคพื้นดินเท่านั้น
กองทัพบกของสหรัฐ มีแผนกแยกย่อยลงไปอีก แต่ละแผนกก็มีการฝึกที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อรับมือกับภารกิจอันสุดหิน ได้แก่ Delta Force, Rangers และ Special Forces (หรืออีกชื่อคือ Green Berets มาจากสีหมวกที่ใส่)
US Navy
กองทัพเรือ
อันนี้ก็ตรงตัวเลยที่ทหารเหล่านี้มีหน้าที่ดูแลน่านน้ำและทะเล แต่สำหรับเหล่านี้ หน่วยที่ทุกคนคุ้นหูกันมากกว่าก็คือ Navy SEAL เป็นหน่วยที่ฝึกกันสุดโหด หน้าที่เจาะจงไปเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และเพื่อให้สามารถเข้าทำงานได้ทั้ง Sea, Air, Land จนกลายมาเป็นชื่อ SEAL นั่นเอง
Marine Corps
เหล่านาวิกโยธิน
เราสับสนกับทหารเหล่านี้มาตลอด ทำไมชื่อมี marine แต่ก็ไม่ได้อยู่ในเรือ ทำหน้าที่บนบกแต่ก็ไม่ใช่ทหารบก จนมาค้นข้อมูล Marine มีพื้นที่ดูแลแบบสะเทินน้ำสะเทินบก เป็นทำงานร่วมกับทหารเรือในส่วนของการยกพลขึ้นบกนั่นเอง
US Marshals
เป็นเจ้าหน้าที่ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายในการจับกุมเช่นกัน แต่เป้าหมายในการจับคือผู้ร้ายหลบหนีคดี รวมถึงมีหน้าที่ขนส่งนักโทษที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีด้วย
นอกจากนั้นแล้วยังมีหน้าที่คุ้มครองฝ่ายตุลาการ หรือของไทยที่เรียกว่าตำรวจศาลนั่นเอง
และหน้าที่หลักที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ Marshals คือทำการคุ้มครองพยาน ที่เรามักจะเห็นในหนังว่าพยานในคดีสำคัญ เขาเสี่ยงชีวิตมาพูดความจริง Marshals จะทำการเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ ให้ชีวิตใหม่เพื่อความปลอดภัยของพยานคนนั้น
Secret Service
หน้าที่ของ Secret Service ก็คือรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีและครอบครัว รวมถึงอดีตประธานาธิบดีและแขกสำคัญจากต่างประเทศก็ได้รับการคุ้มกันจาก Secret Service เช่นกัน เราจะเห็นพวกเขาใส่สูท รูปร่างน่าเกรงขาม ใส่แว่นกันแดด มีหูฟังติดตลอด รายล้อมประธานาธิบดี แต่คงไม่บู๊อย่างพระเอกในเรื่อง Olympus Has Fallen
แต่นอกจากหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ต้องออกภาคสนามแล้ว Secret Service ก็มีงานออฟฟิศ ดูแล ตรวจสอบคดีการปลอมแปลงทางการเงิน (Counterfeit) ด้วย จะเห็นใน Olympus Has Fallen ว่าตัวละครทำงานพลาด แล้วถูกจับไปทำงานนั่งโต๊ะแทน
พอมาเห็นว่าอเมริกาเขาแยกหน้าที่ตำรวจ ทหารและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ไว้หลากหลายแล้วคิดว่าแต่ละองค์กรเขาคงได้โฟกัสงานที่ตนถนัดไปเลย ทำงานได้เต็มที่ขึ้น และพอแยกหน่วยงานเวลาอนุมัติอะไรคงไว เพราะมีหัวหน้าขององค์กรตัวเอง ไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์ไว้คนเดียว
อีกอย่างที่นึกถึงคือ พอมีหลายอาชีพ หลายแผนกแบบนี้ก็คงเพิ่มโอกาสให้คนเข้าไปสมัครงานได้เยอะขึ้นด้วย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าตำรวจที่นั่นจะไม่มีประเด็นปัญหา เพราะยังมีประเด็นตำรวจปฎิบัติต่อคนผิวดำอย่างไม่ยุติธรรมอยู่เนือง ๆ ส่วนประชาชนที่เล็งเห็นถึงปัญหานี้ก็ได้ออกมาเป็นกระบอกเสียง เรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่เสียงดังไม่พอถึงคนแก้ปัญหาด้วย
แต่ไม่ต้องไปมองไกล เพราะประเทศเราก็ยังมีเจ้าหน้าที่ที่ยังปฎิบัติอย่างไม่ยุติธรรมกับประชาชนเหมือนกัน ต้องอย่าให้การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนเป็นเรื่องปกติ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะเป็นเหยื่อความรุนแรงเองก็ได้สักวันหนึ่ง
โฆษณา