22 ส.ค. 2021 เวลา 06:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Cambridge คนหนึ่งชื่อว่า R.A. Radford ถูกเกณฑ์ไปร่วมในสงคราม เขานั้นโดนฝ่ายศัตรูจับและต้องใช้ชีวิตในค่ายเชลยกว่า 3 ปี
1
ด้วยจิตวิญญาณความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ในช่วงนั้นเขาได้สังเกตุ บันทึก และสรุปกิจกรรมทางเศรษฐกิจในค่ายเชลยไว้อย่างละเอียด
1
หลังจบสงคราม เขาได้ตีพิมพ์ผลงานที่ชื่อว่า “The economic organization of a P.O.W. Camp” อันโด่งดัง
1
ผลงานนี้ทำให้เข้าใจระบบเศรษฐกิจพื้นฐานได้ชัดเจนขึ้น ช่วยทำหน้าที่เป็นโครงสร้างทางความคิดทางเศรษฐศาสตร์ และยังคงสอดรับเข้ากับบริบทปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
บทความนี้จะพาทุกท่านไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ผ่านค่ายเชลยสงครามกัน ผมจะเล่าให้ฟังภายใน 5 นาทีครับ
📌จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจ
ณ ค่ายเชลยแห่งหนึ่ง ประเทศเยอรมัน ปี 1942 เมื่อเชลยแต่ละคนถูกส่งเข้ามาอยู่ที่นี่ พวกเขาจะได้รับชุดเสบียงอาหาร และชุดเครื่องยังชีพ ซึ่งประกอบด้วย ขนมปัง ช็อคโกแล็ต เนย สบู่ บุหรี่ ฯลฯ ในสัดส่วนเท่าๆกันในทุกๆสัปดาห์
แต่เนื่องจากพวกเขาแต่ละคน ไม่ได้มีความต้องการบริโภคสิ่งต่างๆเหมือนกัน เช่น บางคนชอบขนมปัง บางคนไม่สูบบุหรี่ และเมื่อเป็นเช่นนี้ การแลกเปลี่ยนจึงเริ่มเกิดขึ้นในค่ายนี้
4
ตรงนี้เองคือจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจ มนุษย์ทุกคนมีความต้องการต่างกัน และมนุษย์ไขว่คว้าสิ่งที่ดีขึ้นสำหรับตัวเองอยู่เสมอ นี่เป็นเหตุผลที่เศรษฐกิจเกิดมา
2
📌การกำเนิดของเงิน
ในการแลกเปลี่ยนค้าขายกัน เริ่มแรกสุดคือการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันตรงๆ (Barter) แต่การแลกเปลี่ยนแบบนี้ก็ทำได้ยากครับ เพราะจำเป็นต้องหาคนที่อยากขายในสิ่งที่เราอยากซื้อ ในปริมาณที่เราต้องการพอดีด้วย
เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เชลยเหล่านี้ก็เริ่มแต่งตั้งสินค้ากลางไว้ใช้ในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) สิ่งนั้นก็คือบุหรี่ ของกินของใช้อื่นๆจะถูกตีราคาเป็นจำนวนบุหรี่ที่ต้องจ่าย (Unit of accounting) และเนื่องจากทุกคนในค่ายยอมรับบุหรี่ และตัวมันเองก็สามารถเก็บได้นานโดยไม่เน่าเสีย บุหรี่จึงเก็บสะสมมูลค่าได้ (Store of value) บุหรี่จึงยกระดับจากสินค้าทั่วไป กลายเป็นสกุลเงิน
📌พัฒนาการของตลาด
ในค่ายเชลยแห่งนี้ แต่ละอาคารจะมีบอร์ดให้คนมาเขียนเสนอว่าจะซื้อหรือขายอะไร ในราคาเท่าไร โดยราคาของสินค้านั้นก็เป็นไปตาม “Demand and supply” อย่างที่เราคุ้นเคยกันครับ
ถ้ามีคนต้องการสินค้ามากในขณะที่สินค้านั้นมีน้อย ราคาก็จะสูง หรือถ้าสินค้านั้นมีปริมาณมากแต่คนต้องการน้อย ราคาก็จะต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ขนมปัง มีกำหนดการมาส่งที่ค่ายทุกวันจันทร์ กับ พฤหัส ในวันอาทิตย์กลางคืน กับ วันพุธกลางคืน ขนมปังจะหายากและราคาสูงขึ้นกว่าปกติ คนที่เก็บขนมปังไว้ได้ในเวลานั้นก็จะโก่งราคาได้สบายๆ
4
ตลาดนี้ยังมีการ “Arbitrage” ด้วย (การทำกำไรแบบฟรีๆ โดยอาศัยความไม่สอดคล้องกันของราคา) เช่น ตึก A ขายขนมปังในราคา 8 บุหรี่ แต่ตึก B รับซื้อขนมปังในราคา 10 บุหรี่ คนที่ขยันเดินดูบอร์ดของทุกตึกก็สามารถซื้อขนมปังจากตึก A ไปขายตึก B และได้บุหรี่ฟรี 2 ตัวได้
3
นอกจากนี้ในช่วงที่สงครามเริ่มสงบ เศรษฐกิจในค่ายก็ยิ่งพัฒนา มีระบบการ “ให้ยืม” บุหรี่ไปใช้และต้องนำมาคืนในจำนวนที่มากขึ้น สิ่งนี้คือ การให้สินเชื่อและคิดดอกเบี้ย ที่เป็นพื้นฐานของระบบธนาคารนั่นเอง
3
และนอกจากนี้ยังมีการทำ “สัญญาแลกเปลี่ยนกันล่วงหน้า” ด้วย เช่น สัญญากันว่าจะขายขนมปัง 1 ก้อน ในราคา 5 บุหรี่ในอีก 2 วันข้างหน้า สิ่งนี้ก็คือตลาด Futures นั่นเอง
2
📌Inflation & Deflation
บุหรี่ในฐานะของเงินนั้นมีความแปลกอยู่ครับ เพราะบุหรี่นั้นถูกสูบอยู่เสมอ การสูบบุหรี่นั้นจึงเหมือนการดึงเงินออกจากระบบ หากคนในค่ายสูบบุหรี่กันมาก และบุหรี่ลอตใหม่ยังไม่มาส่ง หรือมาส่งช้าเกินไป ช่วงนั้นจะเกิดภาวะเงินฝืด (Deflation) ราคาสินค้าต่างๆจะถูกลง เนื่องจากปริมาณเงินในกระเป๋าทุกคนมีเหลือน้อย กิจกรรมการซื้อขายก็ลดลง คนมีแนวโน้มจะเก็บออมบุหรี่กันมากขึ้น และเศรษฐกิจจะซบเซา
3
กลับกัน หากมีการส่งบุหรี่ลอตใหม่เข้าไปในค่าย และถ้าส่งเข้าไปในปริมาณมากเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ราคาสินค้าจะสูงขึ้น และบุหรี่แต่ละตัวจะมีมูลค่าน้อยลง คนที่เก็บออมบุหรี่อยู่ก่อนก็จะรู้สึกระส่ำระส่าย ถ้ายิ่งส่งบุหรี่เข้าไปเยอะเกิน จะเกิดภาวะ “Hyperinflation” ขึ้นมา บุหรี่ก็แทบจะไร้ค่า
3
หากเทียบกับโลกปัจจุบัน ผู้คุมเสบียงก็คือธนาคารกลางนั่นเอง หากธนาคารกลางควบคุม Supply ของเงินได้ไม่ดีพอ ก็จะส่งผลแบบเดียวกัน
📌ความเหลื่อมล้ำและอำนาจเงิน
2
เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เศรษฐกิจเริ่มอยู่ตัว คนในค่ายบางส่วนเริ่มเก็บออมและสะสมความมั่งคั่งด้วยบุหรี่ได้ แต่กลับกันบางคนก็แทบจะหมดตัวอยู่ตลอด แม้แต่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ที่ทุกคนได้เสบียงเท่ากัน ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงเกิดขึ้น
สาเหตุของความเหลื่อมล้ำนั้นมีหลายอย่าง เช่น บางคนสูบบุหรี่จัด ในขณะที่บางคนก็ไม่สูบเลย อันนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำโดยชอบธรรม เพราะคนที่เก็บเงินเก่งก็จะรวย
3
แต่อีกเหตุผลหนึ่งของความเหลื่อมล้ำก็คือ มีเชลยบางส่วนที่ตีสนิทผู้คุม หรือพูดภาษาเดียวกับผู้คุมได้ พวกเขาก็จะได้ privilege มากกว่า อาจจะได้บุหรี่มากกว่าหรือได้เสบียงเยอะกว่า ทำให้เขารวยได้เร็วกว่าคนอื่นด้วยอภิสิทธิ์ที่มี อันนี้คงต้องเรียกว่าเป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม
4
เมื่อเวลาผ่านไปคนที่เก็บออมเก่งก็รู้สึกไม่แฟร์ และคนส่วนใหญ่ก็หาหนทางมาทำดีต่อผู้คุมแทน ระบบนี้ทำให้อำนาจในการปกครองอยู่ในมือผู้คุมเสบียงนั่นเอง อำนาจในการควบคุมเงินคืออำนาจที่ทรงพลังอย่างแท้จริง
2
📌ตลาดควบคุม vs ตลาดเสรี
3
ในช่วงสงครามใกล้จบ สถานการณ์เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ผู้คุมค่ายมีการตั้งร้านค้าและร้านอาหารในบริเวณค่าย มีการตั้งราคาและควบคุมราคาสินค้าใหม่ พร้อมทั้งให้มีการเปลี่ยนมาใช้เงินกระดาษที่จัดทำมาให้ชื่อว่า “BMk”
ในช่วงแรกระบบนี้ก็ไปได้สวย แต่เมื่อเกิด “Economic shock” ขึ้น เช่น เหตุการณ์รุนแรงอย่างการทิ้งระเบิด หรือ Supply chain ถูกรบกวนจากสงคราม บ่อยครั้งที่ทำให้ราคาสินค้าผันผวนเกินไป และการควบคุมราคาของผู้คุมนั้นปรับตัวตามไม่ทัน
1
ในท้ายที่สุดคนในค่ายก็เลิกใช้ BMk ระบบ BMk นี้ก็ล่มไป บุหรี่ก็กลับมาเป็นสกุลเงินสำหรับคนในค่ายอีกครั้ง ราคาสินค้าทุกอย่างก็เป็นไปตาม Demand&Supply โดยไม่มีการควบคุม “The free market always wins” Radford สรุปไว้แบบนั้น
📌Reflection
1
แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกจำกัดขนาดนี้ มนุษย์ก็ยังคงหาวิธีใช้ชีวิตให้ดีขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนและการใช้เงิน
ค่ายเชลยแห่งนี้เป็นเหมือนสังคมจำลองที่ทำให้เราเข้าใจพื้นฐาน และที่มาของเศรษฐกิจ และยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจโลกปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ และยังชวนให้เราตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้
1
รัฐและธนาคารกลางมีอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินมากเกินไปหรือเปล่า? ที่มาของความเหลื่อมล้ำคืออะไร มีคนบางกลุ่มเข้าถึงเงินได้ก่อนหรือเปล่า? เศรษฐกิจที่รัฐเข้ามาควบคุมแทรกแซงนี้จะทน economic shock ไปได้อีกนานแค่ไหน? แล้วในฐานะประชาชนที่ใช้เงินของรัฐ เราจะรับมืออย่างไรต่อไป? ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่น่าคิดต่อนะครับ
โฆษณา