Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Nitihub
•
ติดตาม
22 ส.ค. 2021 เวลา 13:42 • การศึกษา
“จบกฎหมายมาก็ต้องตอบได้สิ... “🧐
คงเป็นคำกล่าวยอดฮิตถึงคนเรียนนิติศาสตร์หลายๆ คน ที่คนรอบข้างมักพูดถึงเวลาถูกถามปัญหากฎหมาย และคาดหวังว่าคนที่เรียนจบนิติศาสตร์จะต้องตอบคำถามได้แน่นอน
แล้วจริงไหม? ที่เรียนนิติศาสตร์มาจะต้องรู้กฎหมายทั้งหมด วันนี้นิติฮับขอเชิญชวนผู้อ่านมาดูกันว่า คนที่เรียนคณะนิติศาสตร์นั้น ต้องเรียนอะไรกันบ้าง
ในประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ โดยทุกมหาวิทยาลัยจะต้องมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับประมวลกฎหมายที่สำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เพราะเป็นกฎหมายที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มศูนย์กลางเชื่อมโยงไปถึงกฎหมายหลักและกฎหมายย่อยประเภทอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายสำคัญสำหรับการเรียนในชั้นเนติบัณฑิตและการทำงานในฐานะนักกฎหมาย1 อีกด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการเป็นบุคคลและสิ้นสุดการเป็นบุคคลตามกฎหมาย การเกิดหนี้และการทำสัญญาประเภทต่างๆ การทำละเมิดบุคคลอื่นๆ การจัดการทรัพย์สิน การสมรสและครอบครัว และการจัดการมรดก โดยระบุถึงสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดต่างๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่ใช่บทลงโทษทางอาญา เป็นต้น
การเรียนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น มักไม่ได้จัดการเรียนการสอนทั้งประมวลกฎหมายทั้งหมดทีเดียว มักแบ่งการเรียนการสอนออกเป็นหลายวิชากฎหมาย เช่น กฎหมายละเมิด กฎหมายซื้อขาย กฎหมายทรัพย์สิน กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท กฎหมายครอบครัว กฎหมายมรดก เป็นต้น
ประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่กำหนดการกระทำต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด บทลงโทษ การเพิ่มโทษ การลดโทษ การยกเว้นโทษ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความผิดประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นให้เป็นความผิด เช่น ความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติด จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เป็นต้น
การเรียนการสอนประมวลกฎหมายอาญา มักแบ่งออกเป็นภาคทั่วไป ซึ่งว่าด้วยความรับผิดในทางอาญา การจะเป็นผู้กระทำความผิดอาญาในประเทศไทย การเพิ่มโทษ ลดโทษ เป็นต้น และภาคความผิด กล่าวคือ องค์ประกอบของฐานความผิดต่างๆ ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นกฎหมายที่กำหนดกระบวนการ วิธีการ ระเบียบต่างๆ ซึ่งผู้เกี่ยวข้อง เช่น โจทก์ ในฐานะ ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ร้องต้องการนำคดีมาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง ตลอดจนจบกระบวนการตามกฎหมาย
โดยผู้เรียนมักต้องศึกษาตั้งแต่กระบวนการยื่นคำร้องคำฟ้อง การมีคำสั่งคำพิพากษา ชั้นอุทธรณ์ฎีกา ไปจนถึงชั้นบังคับคดีตามคำสั่งคำพิพากษา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่กำหนดกระบวนการตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวนคดีอาญา จับกุมคุมขังผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ค้นตัวค้นสถานที่ การฟ้องคดีอาญาจนถึงศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด เป็นต้น
ซึ่งผู้เรียนต้องศึกษาตั้งแต่ชั้นการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด การสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดี การพิพากษาตัดสินคดี ไปจนถึงการยื่นอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาของศาล
นอกจากนี้ หลายๆ มหาวิทยาลัยยังได้จัดการเรียนการสอนวิชาหลักสำหรับกฎหมายอื่นๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อผู้เรียนนิติศาสตร์ เช่น
หลักกฎหมายทั่วไป พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายลักษณะพยาน กฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแรงงานและประกันสังคม กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล กฎหมายที่ดิน กฎหมายการคลัง นิติปรัชญา หลักวิชาชีพและจรรยาบรรณของนักกฎหมาย ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เป็นต้น
โดยวิชาหลักของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการกำหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้นๆ
ซึ่งการจัดการเรียนการสอนสำหรับสาขาวิชานั้นขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดขึ้น อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจไม่ได้บังคับให้ผู้เรียนต้องเลือกสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้ เพียงแต่ต้องเรียนให้ครบหน่วยกิตตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนดไว้ โดยศึกษาเป็นวิชาเลือกเพิ่มเติม เช่น
กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ กฎหมายขนส่งทางทะเล กฎหมายการอนุญาโตตุลาการ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเรียนการสอนวิชากฎหมายที่จัดโดยมหาวิทยาลัยแล้วนั้น ยังมีพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎประเภทต่างๆ อีกจำนวนมากซึ่งได้ประกาศให้มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนในคณะนิติศาสตร์ เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นต้น
ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนในคณะนิติศาสตร์
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎประเภทต่างๆ แม้ว่าประกาศใช้บังคับแล้ว อาจถูกแก้ไข เพิ่มเติม ยกเลิกมาตราหรือข้อความบางข้อความบางส่วนในภายหลังด้วยก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศนั่นเอง
จึงเห็นได้ว่า แม้ว่าจะเรียนจบคณะนิติศาสตร์มาแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายอีกหลายๆ ฉบับที่ไม่ได้ศึกษามาก็เป็นได้
ดังนั้น เมื่อผู้ถามมีคำถามกฎหมายที่ต้องการสอบถามกับผู้ที่เรียนจบนิติศาสตร์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ตอบนั้น จะต้องสอบถามข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หรือต้องศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งนี้ ก็เพื่อไม่ให้ผู้ถามได้รับคำตอบที่ไม่ถูกต้องหรือสร้างความเข้าใจผิดกับผู้ถามได้นั่นเอง.
1 เกี่ยวกับเนติบัณฑิตและการทำงานของนักกฎหมายนั้น ทางผู้เขียนจะนำเสนอในบทความถัดไป
8 บันทึก
6
9
8
6
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย