23 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)”
“สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)” ซึ่งได้ลงนามที่พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นความตกลงระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งชนะสงคราม กับเยอรมนี ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้
สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ระบุว่าเยอรมนีเป็นผู้รับผิดชอบในการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1
เยอรมนีต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงคราม ต้องสูญเสียดินแดนบางส่วน และมีการจำกัดทางการทหารอีกด้วย ซึ่งทำให้เห็นว่า สนธิสัญญาแวร์ซาย ได้ทำให้เยอรมนีอยู่ในฐานะย่ำแย่
3
ภายหลังจากการลงนาม เยอรมนีก็ประสบปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และจุดประกายให้ในเวลาต่อมา “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” และพรรคนาซี (Nazi) เรืองอำนาจ และเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอีก 20 ปีต่อมา
เมื่อพูดถึงความเป็นมาของสนธิสัญญาแวร์ซาย ก็ต้องย้อนไปตั้งแต่ปีค.ศ.1918 (พ.ศ.2461)
“วูดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson)” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภา ในเดือนมกราคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) โดยแสดงวิสัยทัศน์ ชี้ให้เห็นว่าเขาวางแผนไว้ยังไงหลังสงครามจบลง
1
“หลักการ 14 ข้อ (14 Points)” ของวิลสัน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของชาติต่างๆ ในยุโรป
2
วูดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson)
วิลสันได้เสนอให้มีการจัดตั้งความร่วมมือระหว่างชาติต่างๆ ที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งให้ความร่วมมือแก่ชาติต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดสงครามใหญ่เช่นนี้อีกในอนาคต
ต่อมา ความร่วมมือนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักในนามของ “องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)”
สำหรับหลักการทั้ง 14 ข้อ ได้แก่
1.การทูตต้องกระทำอย่างเปิดเผย ไม่มีความลับ
2.ทุกชาติควรมีสิทธิที่จะสำรวจท้องทะเลได้ตามต้องการ
1
3.ทุกชาติควรมีการค้าเสรี ทำให้กำแพงเศรษฐกิจระหว่างชาติต่างๆ หมดไป
4.ทุกชาติควรจะต้องลดอาวุธ เพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน
5.ชาติอาณานิคม ควรได้รับการปกครองอย่างยุติธรรม
6.ฟื้นฟูดินแดนและอิสรภาพของรัสเซีย
2
7.เบลเยี่ยมควรได้รับอิสรภาพ
1
8.แคว้นอาลซัส-ลอแรน ควรกลับคืนสู่ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสควรได้รับเสรีภาพอย่างสมบูรณ์
9.ควรมีการแบ่งเขตชายแดนอิตาลีให้ชัดเจน
10.ผู้คนที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ควรมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง
11.รัฐบอลข่านควรได้สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง รวมทั้งเสรีภาพ
12.ชาวเติร์กและผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของตุรกี ควรได้สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง
13.โปแลนด์ควรจะเป็นเอกราช
14.ต้องมีการจัดตั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อไกล่เกลี่ยเวลาเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ
1
เมื่อผู้นำเยอรมนีได้ลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ผู้นำเยอรมนีก็เชื่อว่าหลักการ 14 ข้อของวิลสัน จะเป็นรากฐานของสนธิสัญญาสันติภาพในอนาคต
แต่พวกเขาคิดผิด
ต่อมา ได้มีการจัดการประชุมสันติภาพปารีส (Paris Peace Conference) ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) ซึ่งตรงกับวันที่ “จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี (Wilhelm I, German Emperor)” ขึ้นครองบัลลังก์ ภายหลังจากที่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) จบลงในปีค.ศ.1871 (พ.ศ.2414)
ชัยชนะของปรัสเซียในครั้งนี้ ทำให้เยอรมนีกลายเป็นปึกแผ่น และทำให้เยอรมนียึดแคว้นอาลซัส-ลอแรน จากฝรั่งเศส
ในปีค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) นี้เอง ฝรั่งเศสยังคงไม่ลืมความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น และตั้งใจจะแก้แค้นในรูปแบบของสนธิสัญญาสันติภาพ
1
สำหรับสี่ผู้นำจากชาติที่ชนะสงคราม นั่นคือ “วูดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson)” จากสหรัฐอเมริกา “เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)” จากสหราชอาณาจักร “ฌอร์ฌ เกลม็องโซ (Georges Clemenceau)” แห่งฝรั่งเศส และ “วิตตอริโอ ออร์ลันโด (Vittorio Orlando)” แห่งอิตาลี คือสี่ผู้นำที่มีอำนาจที่สุดในการเจรจาสันติภาพที่ปารีส
สำหรับเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี รวมทั้งบัลแกเรียและตุรกี ซึ่งแพ้ในสงคราม ไม่ได้ส่งตัวแทนมาในการประชุมนี้ รวมทั้งรัสเซียเองก็ไม่ได้ส่งตัวแทนมาเช่นกัน
สี่ผู้นำในชาติที่ชนะสงครามนี้ ต่างก็แข่งขันกันเอง โดยเกลม็องโซจากฝรั่งเศส ต้องการจะปกป้องฝรั่งเศสจากการถูกเยอรมนีรุกรานในอนาคต จึงเรียกร้องเงินค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นจำนวนสูงลิบ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีนั้นตกต่ำ โอกาสที่เยอรมนีจะมารุกรานจะได้น้อยลงไปด้วย
สี่ผู้นำของชาติที่ชนะ
ส่วนจอร์จจากสหราชอาณาจักร กลับอยากให้ฟื้นฟูเยอรมนี โดยมองว่าเยอรมนีจะเป็นคู่ค้าที่แข็งแกร่งต่อสหราชอาณาจักร
ทางด้านออร์ลันโดจากอิตาลี ก็ต้องการจะขยายอำนาจของอิตาลีออกไป ให้เป็นหนึ่งในมหาอำนาจ และมีบทบาทเคียงคู่กับชาติมหาอำนาจอื่นๆ
ส่วนวิลสัน เขาต้องการที่จะให้โลกเปลี่ยนแปลงตามหลักการทั้ง 14 ข้อ ในขณะที่ชาติอื่นๆ มองว่าวิลสันนั้นไร้เดียงสาและเพ้อฝันเกินไป อีกทั้งหลักการทั้ง 14 ข้อนี้ก็ยากที่จะแปลงเป็นนโยบาย
ท้ายที่สุด เหล่าพันธมิตรยุโรปก็ได้ตกลงที่จะใช้ไม้แข็งกับเยอรมนี โดยบังคับให้เยอรมนีต้องสละดินแดนราว 10% รวมทั้งดินแดนต่างชาติอื่นๆ ที่เยอรมนีครอบครอง
ส่วนข้ออื่นๆ นั้น ก็มีการให้ถอนทหารออกจากบางดินแดน จำกัดจำนวนทหารในกองทัพบกและกองทัพเรือ ไม่อนุญาตให้มีกองทัพอากาศ และให้คาดโทษ “จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Wilhelm II)” และผู้นำชาติอื่นๆ ในฐานะอาชญากรสงคราม
ที่สำคัญที่สุด เยอรมนีต้องยอมรับความผิดฐานเป็นผู้เริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 และต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามจำนวนมหาศาล ชดใช้ค่าเสียหายให้สัมพันธมิตร
สนธิสัญญาแวร์ซาย ได้รับการลงนามในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) ซึ่งเมื่อห้าปีก่อนนั้น ในวันเดียวกัน “กัฟริโล ปรินซิป (Gavrilo Princip)” ได้ปลงพระชนม์ “อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinand of Austria)” และพระชายา จุดประกายให้เกิดสงครามตามมา
ถึงแม้ในสนธิสัญญาจะมีบทบัญญัติเรื่องการตั้งองค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ แต่การกดขี่เยอรมนีอย่างหนักในครั้งนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าสันติภาพนั้น คงอยู่ไม่นานนัก
1
เยอรมนีเองก็โกรธแค้นอย่างหนัก และมองว่าสนธิสัญญาสันติภาพนี้ เป็นเพียงแค่สนธิสัญญาที่ใช้บังหน้าในการเอาเปรียบชาติตน
ค่าปฏิกรณ์สงครามที่เยอรมนีต้องจ่ายนั้น หากตีตามค่าเงินปัจจุบัน เมื่อตีเป็นดอลลาร์ จะอยู่ที่ประมาณ 33,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณหนึ่งล้านล้านบาท) ซึ่งมหาศาลจนไม่มีใครคิดว่าเยอรมนีจะจ่ายทั้งหมดได้ ซึ่งอันที่จริง นักเศรษฐศาสตร์ก็ประเมินว่าหากเยอรมนียอมจ่ายจริงๆ เศรษฐกิจของยุโรปคงล่มสลาย
1
และก็ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับสนธิสัญญานี้ หลายคนมองว่าสนธิสัญญานี้ไม่ได้รับรองว่าเยอรมนีจะไม่รุกรานในอนาคต สภาอเมริกันก็ไม่ได้ให้สัตยาบัน และสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้เข้าร่วมองค์การสันนิบาตชาติ
ประชาชนชาวเยอรมันต่างโกรธแค้น และเป็นตัวจุดประกายให้พรรคนาซีได้รับความนิยมขึ้นมาในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) และยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) โดยนาซีนั้น ให้สัญญาว่าจะลบล้างความอับอายของเยอรมนี ที่ถูกสนธิสัญญาแวร์ซายเอาเปรียบ
และในเวลาต่อมา ก็เป็นช่วงเวลาที่นาซีเรืองอำนาจและเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2
โฆษณา