31 ส.ค. 2021 เวลา 14:56 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“ไอดินและกลิ่นฝน (Petrichor)!!! " วิทยาศาสตร์เบื้องหลังกลิ่นแห่งความทรงเกี่ยวข้องอะไรกับวงจรชีวิต“แบคทีเรีย”
มนุษย์มักสร้างความทรงจำที่เชื่อมโยงกับประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง บ่อยครั้งแม้จะผ่านไปนานเท่าไรความทรงจำนั้นก็ตราตรึงอยู่เสมอ เฉกเช่นเดียวกับทุกครั้งที่เข้าสู่ฤดูฝน บ่อยครั้งที่เรามักจะสัมผัสถึง "ไอดิน" และ "กลิ่นฝน" ที่ทำให้หลายคนระลึกไปถึงความทรงจำในวันเด็ก
แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือจริงๆ แล้ว "ไอดิน" และ "กลิ่นฝน" และกลิ่นฝนที่ว่านี้คือกลิ่นของอะไรกันแน่??
กลิ่นในช่วงก่อนฝนตกหรือที่เรียกว่า "กลิ่นฝน" ซึ่งมักจะหอบมากับสายลมในช่วงก่อนฝนตกเล็กน้อย มันมีเอกลักษณ์ของกลิ่นที่ฉุนเฉพาะติดจมูก จริงแล้ว ๆ กลิ่นที่ว่านี้เกิดจาก "ก๊าซโอโซน (Ozone)" แต่เดี๋ยวก่อนโอโซนมันอยู่บนชั้นบรรยากาศสูงๆ ไม่ใช่เรอะแล้วทำไมเราถึงได้กลิ่นมันกันหล่ะ แน่นอนว่าแม้จะเป็นกลิ่นก๊าซเดียวกันแต่ที่มามันต่างกันมากครับ
ปฏิกิริยาการแตกตัวของก๊าซออกซิเจนขณะเกิดฟ้าแลบคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นฝนของก๊าซโอโซนที่เราต่างคุ้นเคย
กลิ่นฝนที่เราได้กลิ่นนั้นจริงๆ เกิดจากปรากฏการณ์ฟ้าแลบก่อนฝนตกที่ปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงเข้าไปในบรรยากาศแล้วเร่งให้เกิดการแตกตัวของโมเลกุลออกซิเจนแล้วเรียงตัวกันมั้ยเกิดเป็นก๊าซโอโซน (ที่มีอะตอมออกซิเจนสามตัว)
นี้เองเป็นสาเหตุทำให้เราได้กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของโอโซน แต่จริงๆ แล้วการสูดกลิ่นก๊าซโอโซนเป็นอะไรที่เสี่ยงมากเพราะพวกมันมีอันตรายต่อระบบหายใจและสามารถทำลายเนื้อเยื่อปอดได้ แต่ไม่ต้องตกใจเพราะก๊าซโอโซนที่เกิดขณะฝนตกมีปริมาณเพียงเล็กน้อยมากจนไม่สามารถก่ออันตรายได้
กลิ่นของ "ไอดิน" ส่วนผสมอันแปลกประหลาดและน่าทึ่งของกลิ่น
หากเทียบกับ"กลิ่นฝน" แล้ว กลิ่น"ไอดิน" กลับทำให้หลายคนรู้สึกชุ่มชื่นและกระชุ่มกระช่วยมากกว่า ซึ่งไม่ต้องแปลกใจครับเพราะสิ่งนี้ฝังอยู่ในพันธุกรรมของเรามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว สาเหตุก็เนื่องมาจากการได้กลิ่นดินมักหมายถึงการเริ่มต้นฤดูฝนที่มีการเพาะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ที่จะเกิดในไม่ช้า
มนุษย์จึงวิวัฒนาการผูกเอากลิ่นฝนเชื่อมโยงกับสัญญาณที่บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ไปโดยปริยาย นี้เองทำให้หลายคนรู้สึกมีความสุขเมื่อได้สูดกลิ่นดินบางๆ แต่สิ่งที่หลายคนต้องประหลาดใจก็คือที่มาอันแปลกประหลาดของกลิ่นเหล่านี้
โมเลกุลของจีออสมีน (Geosmin) คือตัวการหลักที่ทำให้เราสัมผัสกลิ่นไอดินได้
นักวิจัยวิเคราะห์ว่าจริงๆ แล้วกลิ่นดินมีส่วนประกอบที่หลากหลายทั้งจากน้ำมันหอมระเหยในพืชบางชนิดที่จำศีลในฤดูแล้งและปล่อยน้ำมันออกมาชโลมเมล็ดไม่ให้งอก แต่กลิ่นดินที่เราคุ้นเคยจริงๆนั้นคือสารเคมีที่เรียกว่า "จีออสมิน (Geosmin)" ที่สร้างขึ้นโดยเชื้อแบคทีเรียสกุล สเตรปโตไมคีส (Streptomyces)
สปอร์ของแบคทีเรียสกุล สเตรปโตไมคีส (Streptomyces) ที่สะสมโมเลกุลจีออสมีน
สาเหตุที่แบคทีเรียกลุ่มนี้สร้างสารเคมีชนิดนี้ขึ้นมาก็เพื่อเป็นกลไกป้องกันตัวเองของสปอร์มันนั่นเอง เนื่องจากฤดูแล้งที่ยาวนานทำให้พวกมันฟักตัวอยู่ในดินเป็นเวลานาน เมื่อฝนตกลงมาละอองฝนจะซะเอาสปอร์ของแบคทีเรียลอยฟุ้งไปในอากาศพร้อมกับปลดปล่อยกลิ่นของจีออสมินไปด้วย
นี้เองที่ทำให้เราได้กลิ่นหอมจางๆจากดินเมื่อฝนเริ่มตก และที่สำคัญคือมนุษย์เรามีความไวต่อกลิ่นจีออสมิีนเป็นพิเศษเพียงแค่มีโมเลกุลของพวกมันห้าในล้านส่วน (5 ppm, part per million) ปะปนอยู่ในอากาศเราก็ได้กลิ่นแต่ไกลแล้ว
เมื่อฝนตกปรอยปรายลงมานอกจากกลิ่นดินจากจีออสมีนแล้ว ฝนยังกระตุ้นให้พืชพรรณที่พักตัวในฤดูแล้งได้เติบโตงอกงามพร้อมกับปล่อยไอระเหยของกลิ่นเฉพาะผสมผสานกันออกมา นี้เองเป็นสาเหตุให้หลายคนรู้สึกสดชื่นในบรรยากาศฝนตกที่ผูกโยงเอาความทรงจำเราเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมาแต่อดีต
โฆษณา