24 ส.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
ทำไมตลาดโลก ถึงเริ่มหันมาสนใจการใช้งาน Virtual Characters
2
รู้หรือไม่ว่า การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกนั้น มีมูลค่ากว่า 3.2 แสนล้านบาทในปี 2020 และคาดว่าจะเติบโตอีกเกือบ 30% ในปี 2021
1
ที่น่าสนใจคือ การที่ตลาดอินฟลูเอนเซอร์เติบโตนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมนุษย์จริง ๆ เท่านั้น
เพราะตอนนี้ “Virtual Characters” หรือการนำเอาตัวละครเสมือน ที่มีหน้าตาและลักษณะเหมือนมนุษย์มาใช้ในการโปรโมต ก็กำลังค่อย ๆ เป็นที่นิยมไม่แพ้คนจริง ๆ เลย
เห็นได้จากที่บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่ง เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการใช้งาน Virtual Characters มากขึ้น
แล้วตลาด “Virtual Characters” เหล่านี้น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
3
เมื่อพูดถึงคำว่า “อินฟลูเอนเซอร์” เราก็จะนึกถึงคนที่มีผู้ติดตามในโลกโซเชียลจำนวนมาก
อย่าง KOL หรือ Key Opinion Leader ก็ถือว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ประเภทหนึ่งได้เหมือนกัน
เพราะคนกลุ่มนี้คือ คนที่มีอิทธิพลต่อผู้ติดตาม ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะได้รับความสนใจเสมอ
1
และก็คงไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะมีแบรนด์หรือธุรกิจที่มาติดต่อคนเหล่านี้ ให้ช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการ
แต่ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็น “มนุษย์” ก็ย่อมมีทั้งด้านดีและไม่ดี
การจะควบคุมภาพลักษณ์ที่แสดงออกมาให้ดีอยู่เสมอนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
และหลาย ๆ ครั้งผลกระทบจากพฤติกรรมที่คนเหล่านั้นแสดงออกมา ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวของพวกเขา แต่ยังลุกลามมาถึงแบรนด์หรือธุรกิจที่สนับสนุนพวกเขาด้วย
พอเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น สิ่งที่แบรนด์จะทำได้ ก็เป็นเพียงการปลดคนเหล่านั้น ออกจากการเป็นตัวแทนของแบรนด์
อย่างไรก็ตาม มันก็คงเป็นเหมือนการแก้ไข หลังจากที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่วิธีป้องกัน
และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ “Virtual Characters” มีความน่าสนใจ
เพราะ Virtual Characters เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมา และไม่มีอยู่จริงบนโลก
พวกเขาเหล่านี้ ไม่สามารถไปทำพฤติกรรมที่ไม่ดีได้ แต่จะทำในสิ่งที่เราป้อนข้อมูลเข้าไปเท่านั้น
นั่นหมายความว่า เราสามารถควบคุมพฤติกรรมของ Virtual Characters ได้แบบ 100%
ฉะนั้น Virtual Characters เหล่านี้ก็จะสามารถสะท้อนภาพลักษณ์ดี ๆ ของแบรนด์ออกมาได้เต็มที่
โดยที่ไม่ต้องกังวลว่า สักวันพวกเขาจะมีข่าวเสียหาย ออกมาจนกระทบภาพลักษณ์แบรนด์
1
ซึ่งถ้าหากพูดถึง Virtual Characters ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในฝั่งสหรัฐอเมริกา
หนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์เสมือนชื่อดังก็ต้องมีชื่อของ “Lil Miquela” ติดอยู่
Lil Miquela มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคนบน Instagram โดยภาพลักษณ์ของเธอ เป็นเด็กสาวอายุ 19 ปี ลูกครึ่งบราซิล-อเมริกัน ที่มีอาชีพเป็นนางแบบและศิลปินเพลง
1
ซึ่งที่ผ่านมา Lil Miquela ได้เคยร่วมงานกับแบรนด์ดัง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะ Calvin Klein, Prada และ Samsung และที่น่าสนใจคือแต่ละโพสต์ของเธอมีมูลค่ามากถึง 2 แสนบาทเลยทีเดียว
2
สำหรับบางคนอาจจะมองว่านี่เป็นมูลค่าที่สูงในการจ่ายไปให้คนที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง
2
แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มันก็เป็นทั้งราคาของภาพลักษณ์ที่แข็งแรง และราคาของเทคโนโลยี
ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ภาพที่จะไปปรากฏอยู่บนโซเชียล รวมถึงสายตาของผู้ติดตามจำนวนมากด้วย
ซึ่งราคานี้เมื่อเปรียบเทียบกับอินฟลูเอนเซอร์คนจริง ๆ ที่มีจำนวนผู้ติดตามเท่ากัน
การใช้งานอินฟลูเอนเซอร์เสมือน อาจจะมีราคาถูกกว่าเกือบ 96% เลยทีเดียว
2
และไม่ใช่แค่ฝั่งจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ Virtual Characters
ด้านประเทศจีนเอง ก็มีการปล่อย Virtual Characters ออกมาด้วยเช่นกัน
อย่าง Ayayi หรือ อายาอิ ที่เปิดตัวครั้งแรกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน Xiaohongshu
โดยเธอคนนี้มีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคนจริง ๆ จนแทบจะแยกไม่ออก และหลังจากเปิดตัวก็มีคนกว่า 3 ล้านคน เข้ามาชมการเปิดตัวของเธอภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
อายาอิได้ดึงดูดให้แบรนด์ความงามชื่อดังจากฝรั่งเศสอย่าง Guerlain มาขอร่วมงานด้วย โดยทางแบรนด์ได้เชิญเธอมาร่วมในอีเวนต์ฤดูร้อนชื่อ “Beloved Garden” ซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันครั้งแรกของ Guerlain กับอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่ใช่มนุษย์อีกด้วย
1
นอกจากการร่วมมือกับ Virtual Characters ที่เป็นสาธารณะแล้ว
ก็มีบริษัทใหญ่ ๆ บางราย ที่เลือกสร้าง Virtual Characters ขึ้นมาเป็นของตัวเองเช่นกัน
อย่างเช่น Samsung ก็ได้มีการร่วมมือกับทีมออกแบบแอนิเมชัน Lightfarm Studios จากบราซิล
จนได้ออกมาเป็น Samsung Sam หรือลงทุนเกิร์ลขอเรียกสั้น ๆ ว่าน้อง Sam
เธอคนนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น “ผู้ช่วยเสมือน” (Virtual Assistant)
ซึ่งโปรเจกต์นี้ถูกปล่อยออกมาช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และหลายคนก็คาดว่า
น้อง Sam จะถูกนำมาใช้โปรโมตสินค้า และอาจจะมาอยู่บนจอมือถือซัมซุงในอนาคตด้วย
และหากใกล้ตัวคนไทยเข้ามาอีกนิด โดยเฉพาะคนที่ชอบขึ้นเครื่องบินบ่อย ๆ
AirAsia ก็มีการสร้างน้อง Ava ซึ่งเป็น Chatbot ที่เป็นสาวสวยหน้าตาออกฝรั่งนิด ๆ มาคอยให้เราได้สอบถาม และติดต่อเมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น
1
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการใช้งาน Virtual Characters ก็ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของภาพลักษณ์ ที่สามารถควบคุมได้ 100% เท่านั้น
แต่ยังรวมถึงการควบคุมงานต่าง ๆ ของ Virtual Characters ที่สามารถปรับแต่งได้ตลอด
1
อย่างเช่น ถ้าหากเรามีงานอีเวนต์ที่อยากจะชวนอินฟลูเอนเซอร์มาถ่ายรูปภายในงาน
ก็อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถไปร่วมงานได้ เนื่องจากตารางงานอาจไม่ตรงกับวันจัดอีเวนต์
แต่กับ Virtual Characters ก็คงไม่ต้องกลัวว่าคิวงานจะชนกัน เพราะสุดท้ายก็อาศัยทีมงานมนุษย์ช่วยกันสร้างจนออกมาเป็นรูปภาพสวย ๆ ได้อย่างง่ายดาย
ที่สำคัญพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่มีวันแก่ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็จะอายุเท่าเดิม
ทำให้ภาพลักษณ์หรือสไตล์คอนเทนต์ที่สื่อสารออกไป จะไม่มีการเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
เหมือนอย่างอินฟลูเอนเซอร์บางคน ที่เมื่อเติบโตขึ้น หรือความชอบของเขาเปลี่ยนไป
คอนเทนต์ และภาพลักษณ์ที่สื่อออกมาก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม
และเนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ที่หันมาทำ Virtual Characters นั้นก็จะเป็นบริษัท
ด้านเทคโนโลยี AI ดังนั้นตัวละครเหล่านี้จึงไม่ใช่รูปภาพที่สร้างขึ้นมาเฉย ๆ แต่ยังมี “ตัวตน” สามารถโต้ตอบกับคน ตามบุคลิกที่กำหนดไว้ได้อีกด้วย
เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์การตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะได้เห็น Virtual Characters ของบริษัทคนไทยบ้างก็เป็นได้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ถึงแม้ Virtual Characters จะดูเป็นเรื่องใหม่ และเพิ่งจะมาเป็นเทรนด์ในช่วงปีสองปีนี้
แต่จริง ๆ แล้วในปี 2007 ประเทศญี่ปุ่นก็เคยเปิดตัว Hatsune Miku ซึ่งเป็น Vocaloid หรือก็คือ
เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถสร้างเสียงร้องเพลงออกมาได้นั่นเอง
2
ซึ่งเธอคนนี้ก็มีผลงานเพลงมากมาย
รวมถึงเคยมีคอนเสิร์ตเป็นของตัวเองที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน..
1
โฆษณา