23 ส.ค. 2021 เวลา 13:21 • ประวัติศาสตร์
ที่ฝังศพของมูโอต์ นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่
เอนก นาวิกมูล เขียน ค่ำ 18.30 น. จันทร์23 สิงหาคม2564
หนังสือที่คนไทยควรอ่านมากคือบันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ฯ
ที่กรรณิกา จรรย์แสง ช่วยแปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาไทยให้เราได้อ่านสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาแปลเอง
 
คำนำเสนอที่เขียนโดย อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ก็เขียนได้ดีมาก คือช่วยสรุปประวัติชีวิต การศึกษา การทำงาน และการเดินทาง ของมูโอต์แบบได้เนื้อได้หนัง
ไม่น่าเชื่อ สนพ.มติชน จัดพิมพ์ 4 ครั้งเข้าไปแล้วตั้งแต่ 2558-2561 !!!!! ราคาก็ไม่แพง ปกแค่ 370 บาท​ ผมซื้อมาอ่าน​เล่มหนึ่งแล้วเมื่อปี2562​ ยังอยากซื้อมาหนุนหัวอีก
ฉบับภาษาอังกฤษที่พิมพ์เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4​ ค.ศ.1864 พ.ศ.2407 นั้น ผมได้เห็นครั้งแรกในหอสมุดกลางจุฬาฯ เมื่อราว พ.ศ.2523
เมื่อเห็นแล้วรู้สึกประทับใจภาพประกอบข้างในมาก จึงได้ขอก๊อปปี้ภาพมาเผยแพร่ ดังตีพิมพ์บางส่วนในหนังสือรูปเก่าเมืองไทยในเมืองฝรั่งเมื่อ พ.ศ.2527 สนพ.เมืองโบราณ
ภาพเหล่านั้นเป็นภาพลายเส้น วาดอย่างประณีตโดยอาศัยภาพถ่าย และภาพสเกทช์เป็นต้นแบบ
ตัวภาพถ่ายต้นแบบนั้น บางภาพอยู่ในหนังสือ ฉายาลักษณ์สยาม โดยโจคิม เค.บ้าวซ์ ที่เปิดตัวกันอย่างเกรียวกราวที่หอศิลป์ กทม.เมื่อ พ.ศ.2559
มูโอต์ หรือ Henri Mouhot เป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อ พ.ศ.2368 ต้นสมัย ร.3
ตายด้วยพิษไข้ป่าที่หลวงพระบางเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2404
อายุ 36 ปี (แต่ป้ายบนหลุมฝังศพว่าเกิด 1826-1861)
เข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2401
ในขณะที่คนไทย(จนแม้วันนี้)​ยังชอบนั่งเล่น มูโอต์ในวัยแค่ 33 ปีกลับออกสำรวจเมืองไทย และเขมร ลาว อย่างสมบุกสมบัน จนได้เห็นบ้านเมืองต่างๆมากมาย
เขาไปทั้งอยุธยา สระบุรี จันทบุรี เกาะช้าง กำปอด พนมเปญ นครวัด เพชรบุรี
ลพบุรี เขาคอก ดงพญาไฟ ชัยภูมิ โคราช และที่สุดคือหลวงพระบาง
เห็นแผนที่ -การบันทึก และการทำงานของเขาแล้วอยากจะร้องไห้...
เราคนไทยทุกสมัยยังรู้จักเมืองไทย ลาว เขมร ไม่เท่ามูโอต์ผู้มาจากต่างแดนเลย
หลังจากมูโอต์ตายแล้ว ผู้ติดตามของเขา คือไพร(เชื้อจีน) และแดง ก็เอาสมุดบันทึก +ตัวอย่างพันธุ์พืชและสัตว์ที่มูโอต์เก็บเพื่อการศึกษา มาส่งมอบแก่กงสุลอังกฤษให้ช่วยส่งต่อให้ภรรยาของมูโอต์ที่ลอนดอน
กรรณิกา กล่าวในหน้า 411 ว่ามูโอต์ตายที่บ้านผานมในปัจจุบัน ห่างจากหลวงพระบางไปราว 10 ก.ม.
พิพัฒน์บอกในหน้า (24) ว่าปี 1867 พ.ศ.2410 ปลายสมัย ร.4 มีการค้นพบหลุมฝังศพของมูโอต์ที่ริมแม่น้ำคาน บ้านนาเพา ห่างจากหลวงพระบางไปราว 3 ก.ม.
ฝรั่งเศสกับเจ้าจันทราช ได้ช่วยกันสร้างอนุสรณ์สถานเล็กๆเหนือหลุมฝังศพนั้นเพื่อแสดงความคารวะ
ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2547 สถาพร ลิ้มมณี เจ้าของ สนพ.วิญญูชน-สายธาร และเดือนตุลา พาลูกน้องสำนักพิมพ์ไปเที่ยวหลวงพระบาง และเอื้อเฟื้อชวนผมไปเที่ยวด้วย
พุธ25 สิงหา เขาพาผมและป่องรังสิต-พราหมณ์เล็ก-พิทยา ว่องกุล แยกไปหาสุสานของมูโอต์จนพบ
จารึกภาษาฝรั่งเศสบนที่ฝังศพบอกทำนองว่า Doudart de Lagree สร้างสุสานเมื่อปี 1867 (พ.ศ.2410)
Pavie สร้างใหม่ 1887 พ.ศ.2430 (ปาวีคือกงสุลตัวแสบสมัย ร.5​ ที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้​ร.5​ และคนไทยมากด้วยกรณีบุกรุก​ ร.ศ.112)
คนไทยจงตื่นเถิด​ อย่าเสียเวลาไปกับการทะเลาะกันเอง​ให้มากนัก​ ออกไปสำรวจและเก็บความรู้แบบฝรั่งบ้าง
ที่ฝังศพของมูโอต์ นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่
เอนก นาวิกมูล เขียน ค่ำ 18.30 น. จันทร์23 สิงหาคม2564
คำบรรยายภาพ
1.เอนกหน้าที่ฝังศพของมูโอต์ ริมแม่น้ำคาน 208โซ1-200-พุธ25สค2547
2.อ็องรี มูโอต์ 208โซ1-200-พุธ25สค2547 และซีดี 00342-009-
3.ตัวอย่างภาพวาดในหนังสือของมูโอต์ เขาวัง เพชรบุรี 00344-002-
4.กลางป่า 00344-053-
5.ริมแม่น้ำคาน 208โซ1-189-พุธ25สค2547
โฆษณา