24 ส.ค. 2021 เวลา 00:55 • สุขภาพ
อาการปวดของคนเราเกิดได้อย่างไร?
1. เมื่อเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บ ตำแหน่งที่ได้รับการบาดเจ็บนั้นจะมีการหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆ (Sensitizing soup) เช่น Hydrogen ions / Histamine / Purines / Leukotrienes / Noradrenaline / Potassium ions / Cytokines / Nerve growth factor / Bradykinin / Prostaglandins / 5-HT / Neuropeptides โดยสารสื่อประสาทจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นตัวรับสัญญาณ (Nociceptor) ให้เปลี่ยนแปลงสัญญาณทางเคมีเป็นสัญญาณทางไฟฟ้า
2. สัญญาณทางไฟฟ้าจากข้อ 1 จะส่งต่อไปทางเส้นใยประสาทที่นำกระแสความเจ็บปวดบริเวณปมประสาทไขสันหลัง (dorsal root ganglion) อันได้แก่
2.1 A delta fiber เป็นเส้นใยประสาทขนาดเล็กที่มีเปลือกหุ้ม ทำให้นำกระแสประสาทได้รวดเร็ว โดยจะรับสิ่งกระตุ้นที่มีลักษณะ sharp mechanical และจะให้สัญญาณประสาทแบบ first/fast pain เช่น เจ็บแสบ / ถูกทิ่มแทง / ถูกกัด / ระคายเคือง / คัน / ถูกไฟฟ้าช็อต เป็นต้น ความปวดที่เกิดขึ้นสามารถบอกตำแหน่งที่เกิดได้แน่นอน และเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เท่าที่สิ่งกระตุ้นอย่างเฉียบพลันมีผลต่อตัวรับความรู้สึก ดังนั้น เส้นใยประเภทนี้จะเกี่ยวข้องกับอาการปวดแบบเฉียบพลัน
2.2 C fiber เป็นเส้นใยประสาทขนาดเล็กที่ไม่มีเปลือกหุ้ม ทำให้จะนำกระแสประสาทในอัตราที่ช้า โดยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 จะรับสิ่งกระตุ้นที่มีลักษณะ dull / burning / longer lasting pain และจะให้สัญญาณ second/slow pain ซึ่งความปวดจะกระจาย ไม่สามารถบอกตำแหน่งที่ชัดเจน และจะเกิดต่อเนื่องแม้จะไม่มีสิ่งกระตุ้นแล้วก็ตาม
3. กระแสประสาทในข้อ 2 จะเข้าสู่ไขสันหลังทาง dorsal horn เพื่อปรับแต่งสัญญาณกระแสประสาท จากนั้นสัญญาณจะส่งต่อไปยังส่วนต่างๆ ตามเส้นทาง Spinothalamic tract ผ่าน
3.1 Brain stem
3.2 เกิดการรับรู้ถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นใน thalamus
3.3 แปลความรู้สึกดังกล่าวในสมองส่วน cortex ตรงบริเวณ anterior cingulate cortex
3.4 ไปสิ้นสุดยังสมองส่วน Cerebrum ในส่วนของ Somatosensory cortex เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
4. เส้นทางของการนำกระแสความเจ็บปวดจากบริเวณเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บไปยังสมอง (ข้อ 1 – ข้อ 3) เรียกว่า “Ascending pain pathway” และสมองจะส่งสัญญาณเพื่อตอบสนองต่อความเจ็บปวดที่ประมวลได้ เรียกเส้นทางนี้ว่า “Descending pain pathway”
5. การปรับตัวของระบบประสาทที่เรียกว่า “Neural sensitization” แบ่งออกเป็น
5.1 Peripheral sensitization เกิดขึ้นในระบบประสาทส่วนปลายตามข้อ 1 – ข้อ 2 ส่งผลให้ปลายประสาทถูกกระตุ้นได้ง่ายขึ้น และมีการตอบสนองที่รุนแรงขึ้น
5.2 Central sensitization เกิดขึ้นในระบบประสาทส่วนกลางตามข้อ 3
6. เมื่อผู้ป่วยต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะที่มีความไวต่อการกระตุ้นสูงมากกว่าปกติ ดังนี้
6.1 เมื่อมีการกระตุ้นเพียงเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดที่รุนแรง เรียกว่า “Hyperalgesia”
6.2 การกระตุ้นบางอย่างในภาวะปกติที่จะไม่ทำให้ปวด เช่น การสัมผัส แต่ผู้ป่วยจะเกิดการรับรู้เป็นความปวด เรียกว่า “Allodynia”
เรียบเรียงโดย Sahavate
Line OpenChat: Sahavate (https://bit.ly/3jQG5Eb)
ที่มา:
1. เอกสารประกอบการอบรม เรื่อง “PT Pain Management Explanation” บรรยายโดย ผศ.ดร.กภ.ยอดชาย บุญประกอบ
2. นันท์นภัส จิวลวัฒน์ และ สุมิตร ดุรงค์พงษ์ธร. กลไกการระงับความรู้สึกเจ็บปวดตามหลักวิทยาศาสตร์ของการฝังเข็ม. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2562;17(3),527-41.
3. สุรภูมิ คลอศิริโรจน์. Analgesics and Antibiotics in Dental Practice: An Update. เอ็นโดสาร 2554;16(2),13-20.
โฆษณา