24 ส.ค. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
‘Oppression Olympics’ ใครลำบากกว่าชนะ! เหตุผลว่าทำไมคนเราถึงชอบพูดข่มคนอื่น
.
.
“เด็กสมัยนี้รักสบาย สมัยก่อนลำบากกว่านี้ตั้งเยอะ”
“แค่นี้ก็เครียดแล้วเหรอ เรางานหนักกว่ายังไม่เครียดเลย”
“โตไปเหนื่อยกว่านี้อีก”
.
.
งานที่กองท่วมหัว ทำเท่าไรก็เหมือนจะไม่มีวันหมด จนไฟที่มีแทบจะมอดดับลงหมดไปก่อนแล้ว บางครั้งก็อยากจะตะโกนออกมาว่า “เหนื่อย!” ใส่เจ้านายสักครั้ง แต่แน่นอนว่าทำไม่ได้ เลยทำได้แค่เพียงกดพิมพ์ข้อความ ระบายความรู้สึกอัดอั้นภายในใจลงไปบนมือถือ อัปโหลดลงพื้นที่ส่วนตัวในโซเชียล ไม่นานนักก็จะมีใครสักคนเข้ามาตอบกลับ แล้วต่อด้วยการสาธยายถึงความยุ่งยากลำบากของชีวิตตัวเอง พร้อมทั้งตบท้ายด้วยว่า “ฉันเหนื่อยกว่าอีก”
.
จากความรู้สึกเหนื่อยใจในตอนนั้น ตอนนี้กลายเป็นความรู้สึกหงุดหงิดใจขึ้นมาแทนในทันที
.
.
6
งานแข่งขันความลำบากแห่งชาติ
.
ถึงงานโอลิมปิกจะเพิ่งจบลงไป แต่ก็ยังมีงานโอลิมปิกระดับชาติที่พบเจออยู่ได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องรอถึง 4 ปีครั้ง เพราะคุณอาจเจอหรือเข้าไปอยู่ในการแข่งขันนี้ได้ทุกวันรอบตัวคุณ นั่นก็คือ ‘Oppression Olympics’ หรือการแข่งขันการถูกกดขี่
.
กติกาของเกมนี้มีอยู่ข้อเดียวง่ายๆ คือ “ใครลำบากกว่าคนนั้นชนะ”
.
คำว่า Oppression Olympics เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยต้นศตวรรษที่ 90 โดย Elizabeth Martínez ในตอนแรกมีเพื่ออธิบายถึงการที่คนสมัยนั้นใช้แข่งกันเล่าว่า “ใครถูกกดขี่มากกว่ากัน” มักเป็นการพูดถึงเรื่อง เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ชายขอบ’ ในสังคม เช่น หากมีคนบอกว่า “การเป็นคนผิวสีนั้นใช้ชีวิตลำบาก” ก็จะมีคนพูดต่อว่า “แต่การเป็นผู้หญิงผิวสีลำบากกว่า” แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
.
1
ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่ควรมีการแข่งขันว่าการเป็นแบบไหนลำบากกว่ากัน แต่ควรมองลึกไปถึงสาเหตุของความไม่เท่าเทียมนั้น และช่วยกันร่วมหาทางแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้มากกว่า การบอกว่าใครเหนื่อยกว่าใครยิ่งเป็นเหมือนการยอมรับการถูกกดขี่นั้นและเพิกเฉยถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง
.
แต่ต่อมาคำนี้ก็มีการปรับใช้อธิบายไปถึงการแข่งขันความลำบากในชีวิตทั่วๆ ไปร่วมด้วย เช่น การแข่งกันว่า ‘ใครเหนื่อยกว่ากัน’ แบบที่เจอกันบ่อยๆ ในปัจจุบัน
.
.
4
เพราะการอวดมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ‘การอวดชีวิตที่ดี’ มีงาน มีเงิน มีคนรักที่ดี เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปบนโลกโซเชียล เพราะคนส่วนใหญ่ก็ย่อมอยากนำเสนอชีวิตในแง่มุมที่ดีของตัวเองให้คนอื่นรับรู้กันมากกว่าทั้งนั้น แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ตรงข้ามกันเลยก็คือ ‘การอวดความลำบากในชีวิต’ เช่น บ่นว่า “ช่วงนี้งานหนักไม่ไหว” พร้อมอัปโหลดรูปตารางงานแน่นเอี๊ยดตลอดทั้งสัปดาห์ หรือถ่ายหน้าจอคอมพิวเตอร์กับแคปชัน “ยันหว่าง” แล้วแปะฟีเจอร์ Timestamp บอกเวลาเกือบ 6 โมงเช้าของอีกวัน หรือการโพสต์ว่า “เสาร์อาทิตย์ยังต้องทำงาน” พร้อมแนบรูปออฟฟิศว่างเปล่าในวันหยุด
.
แต่ทำไมเราต้องอยากอวดความลำบากในชีวิตกันด้วยล่ะ?
.
ทั้งที่มองในหลักความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าใครก็อยากให้คนอื่นเห็นด้านดีๆ ในชีวิตของตัวเองกันทั้งนั้น แต่ทำไมบางครั้งคนเรา (หรือตัวเราเอง) ต้องอยากให้คนอื่นรับรู้ว่าชีวิตตัวเองลำบากแค่ไหนกันด้วยล่ะ?
.
2
นอกจากความต้องการ ‘บ่น’ หรือ ‘ระบาย’ เพราะต้องการกำลังใจแล้วนั้น ยังมีอีกนัยยะหนึ่งที่แอบแฝงอยู่ในการบ่นนั้นก็คือ ทำไปเพื่อให้ตัวเองได้รับ ‘ความชื่นชม’ เพราะการที่ปัจจุบันเราอยู่ในโลกทุนนิยม สังคมบีบบังคับให้คนเราต้อง Productive อยู่ตลอดเวลา เวลาคือเงิน เงินคืองาน งานคือตัวขับเคลื่อนองค์กร ผู้คนจึงให้คุณค่ากับคนที่ขยันทำงาน แต่ความขยันกลับถูกผูกโยงไปกับการทำงานหนัก คนที่มีงานเยอะถึงจะเป็นคนที่ถูกมองว่าตั้งใจทำงาน ทำให้ผู้อื่นประทับใจว่าสามารถจัดการงานได้หลายอย่าง เป็นคนเก่งและมีความสามารถ
.
ทั้งที่ความจริงแล้ว ความขยันแบบนี้ไม่ดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวพนักงานเลย เราไม่ควรสนับสนุนความ Productive ที่มากเกินไปแบบนี้ ทำไมเราจะเป็นคนขยัน หรือเป็นคนเก่งไม่ได้ ถ้าเราทำงานเลิกตรงตามเวลา ไม่ต้องทำงานจนดึก ไม่ต้องทำงานวันเสาร์อาทิตย์ หรือมีเวลาพักผ่อนเป็นของตัวเอง?
.
2
จึงไม่แปลกที่ว่า ทำไมเวลาใครสักคนบ่นว่า “เหนื่อย” เมื่อไร ก็จะมีใครสักคนที่มักจะมาตอบกลับว่า “ฉันเหนื่อยกว่า” เสมอ ถ้าคุณยอมเข้าไปในการแข่งขันนี้ด้วยการสู้กลับว่า “ฉันต่างหากเหนื่อยที่สุด” โดยการเล่าเรื่องที่ลำบากกว่า แน่นอนว่าการแข่งขันนี้ก็จะไม่มีวันจบง่ายๆ และการแข่งขันนี้จะไม่มีทางจบลงได้ เพราะความเหนื่อยไม่มีเกณฑ์อะไรในการตัดสิน ไม่มีค่าวัดใดๆ ได้ว่าใครเหนื่อยกว่าใคร หรือต่อให้สุดท้ายคุณชนะการแข่งขันนี้ แต่สุดท้ายคุณก็พ่ายแพ้ให้กับตัวเองอยู่ดี กับการที่คุณต้องมาทำงานหนักกว่า เหนื่อยกว่า ลำบากกว่า แล้วทำไมคุณต้องอยากไปเอาชนะอะไรแบบนั้นกันด้วยล่ะ?
.
เพราะความลำบากไม่ใช่เรื่องที่น่ายกย่อง คนที่สามารถทำงานได้พอดีกับตัวเอง แบ่งเวลางานและเวลาส่วนตัวได้อย่างเหมาะสมต่างหากน่ายกย่องที่สุด
.
.
6
หยุดจัดลำดับความลำบากของคนอื่น เจอนั่นมาจะเหนื่อยกว่าแบบนี้ ต้องยอมรับว่าทุกคนมีความลำบากเป็นของตัวเอง ความลำบากเป็นสิ่งที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ เรื่องแค่นี้ของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน เพราะคนลำบาก เครียด เหนื่อย มีอยู่ในทุกช่วงวัย เด็กกว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเรื่องให้คิดมากไปมากหรือน้อยกว่าผู้ใหญ่เลยเหมือนกัน
.
.
แต่ถ้าบางครั้งเรารู้สึกเหนื่อยจนทนไม่ไหว การระบายออกมาก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร อาจเลือกพูดออกมาให้ใครสักคนฟังก็ได้ หรือถ้าต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังปัญหาของคนอื่น ก็ต้องรู้จักการเป็น ‘ผู้ฟังที่ดี’ ด้วยเช่นกัน พยายามทำความเข้าใจอีกฝ่าย ช่วยกันแชร์ความคิดเห็น แต่ไม่ขัดจังหวะ และระมัดระวังคำพูดเพื่อไม่ให้บั่นทอนจิตใจหรือทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่ายกันด้วยนะ
.
.
หลังจากนี้มาเปลี่ยนคำพูดเปรียบเทียบ เป็นการให้กำลังใจเพื่อให้ทุกคนผ่านวันแย่ๆ แบบนี้ไปด้วยกันแทนดีกว่า!
.
.
1
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
- “เรื่องแค่นี้เอง” หยุดเถอะนะการเปรียบเทียบ เพราะคำว่า ‘แค่นี้’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน https://bit.ly/3mD2SVJ
- งานรุ่ง รักปัง! กับการเป็น Active Listener เพราะการเป็นผู้ฟังที่ดีคือสกิลที่สำคัญ https://bit.ly/3Djkrjs
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
1
โฆษณา