Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The People
•
ติดตาม
24 ส.ค. 2021 เวลา 11:00 • หนังสือ
ขัปปะ: ความตายที่เหมือนกันของนิยายและชีวิตจริงของอะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ
/บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่องสั้น ‘ขัปปะ’/
ชายคนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากปีศาจในตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘ขัปปะ’ เขาอาศัยอยู่ที่เมืองของพวกมันในฐานะ ‘ผู้ได้รับการคุ้มครองพิเศษ’ ภายใต้การแต่งตั้งจากสภาออกกฎหมายของเมืองขัปปะ
ในโลกมนุษย์ ชายคนนี้คือคนไข้หมายเลข 23 ของโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง แต่ในโลกของขัปปะ เขาเป็นมนุษย์แปลกหน้าที่มีโอกาสเรียนรู้ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และเทคโนโลยีมหัศจรรย์พันลึกของขัปปะ ณ ที่แห่งนี้ เขาจึง
ได้สานสัมพันธ์กับปีศาจมากมายที่มีความรู้สึกนึกคิดในฐานะสหายสนิทและมิตรที่จริงใจที่ไม่อาจหาได้จากโลกมนุษย์
นี่คือเรื่องราวจากจินตนาการอันลึกล้ำและลึกลับซับซ้อนของราชาเรื่องสั้นนามว่า ‘อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ’
เรื่องสั้นขัปปะ เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของริวโนะสุเกะที่สะท้อนความหดหู่ในจิตใจมนุษย์ และเสียดสีสังคม-วัฒนธรรมของญี่ปุ่น นอกจากนี้ริวโนะสุเกะยังนำตัวเองเข้าไปผูกกับเรื่องราวผ่านตัวละคร เขาสะท้อนแนวคิด ความเชื่อ และปัญหาชีวิตของตนผ่านผลงานชิ้นสุดท้าย รวมไปถึงฉากจบในชีวิตจริงของตัวเอง
// ฉากจบสุดท้ายของราชาเรื่องสั้น
‘ข้าพเจ้า’ คือคำที่คนไข้หมายเลข 23 เรียกตัวเองตลอดการเล่าเรื่อง เขาเห็นชีวิตของขัปปะมากมายดำเนินไปข้างหน้าไม่ต่างจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั่วไป นั่นก็เพราะผู้เขียนอย่างริวโนะสุเกะต้องการให้ขัปปะเป็นตัวแทนมนุษย์จากหลากหลายกลุ่ม เช่นเดียวกับขัปปะตัวหนึ่งที่เป็นตัวแทนของริวโนะสุเกะเอง มันมีนามว่า ‘ทค’
ทคเป็นขัปปะนักกวีและศิลปินที่ไว้ผมยาวรุงรัง ชอบนั่งเขียนกลอนสลับกับการสูบบุหรี่ เขามีแนวคิดด้านศิลปะที่ไม่เหมือนใคร โดยทคเชื่อว่า ‘ศิลปะนั้นไม่อยู่ใต้อำนาจใด ๆ ถ้ารักจะเป็นศิลปินก็ต้องทำตัวเป็นซูเปอร์ขัปปะ อยู่เหนือความดีความเลวใด ๆ ทั้งสิ้น’ ซึ่งตรงกับความคิดของริวโนะสุเกะที่เขาอยากจะให้วรรณกรรมของญี่ปุ่นมีความสละสลวยของบทกวีมากขึ้น เพื่อแสดงถึงความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจ มากกว่าการยึดมั่นในโครงสร้างและรูปแบบงานเขียนที่ชัดเจน
ด้านชีวิตส่วนตัว ทคเป็นกวีเจ้าสำราญที่ไม่ต้องการมีภรรยา แต่เขามีขัปปะตัวเมียอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน พร้อมลูกอายุราว 2-3 ขวบ ทคเชื่อว่าการที่พ่อแม่ สามีภรรยา และพี่น้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในบ้านที่เป็นครอบครัว แท้จริงแล้วมันคือการสร้างความทุกข์ให้กันและกัน
นั่นคือความคิดในชีวิตจริงของริวโนะสุเกะ เพราะเขาต้องแบกรับภาระด้านการเงินของครอบครัวที่รวมไปถึงครอบครัวน้องสาว เนื่องจากน้องเขยของเขาได้ฆ่าตัวตายหนีหนี้สินไปก่อน ซึ่งแน่นอนว่าริวโนะสุเกะยังไม่พร้อมกับภาระที่หนักอึ้งนี้
1
จนกระทั่งฟางเส้นสุดท้ายขาดลง ทคนอนจมกองเลือดอยู่กลางบ้าน พร้อมปืนที่กำไว้ในมือ กระสุนเจาะที่ศีรษะของเขา และนำพาวิญญาณนักกวีออกจากโลกของขัปปะตลอดกาล ทคเลือกจะจบชีวิตของตัวเองลงจากความเครียด ความหดหู่ของชีวิต ความอ่อนแอของร่างกาย และความซึมเศร้า แต่ถึงแม้วิธีการจากโลกไปจะไม่เหมือนกัน ทคและริวโนะสุเกะกลับเลือกผลลัพธ์ที่เหมือนกันคือ ความตาย
ฤดูร้อนสุดท้ายของปี 1927 ริวโนะสุเกะใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างสงบ เขาเล่นกับลูก ๆ ตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงตอนเย็น พูดคุยกับเพื่อน พบปะนักอ่าน โดยไม่มีใครรู้ว่าใบหน้าของเขาได้ฉายแววแห่งความพ่ายแพ้ต่อชีวิตออกมาแล้ว
ริวโนะสุเกะลงมือเขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง เขาอธิบายเกี่ยวกับอัตวินิบาตกรรมที่เขากำลังจะทำ รวมไปถึงแผนการอย่างละเอียด ริวโนะสุเกะไม่ต้องการกระโดดน้ำ เพราะเขาว่ายน้ำเก่ง และเขาไม่ต้องการผูกคอตาย เพราะมันจะทำให้ศพไม่น่าดู ดังนั้นเขาจึงเลือกศึกษาเรื่องยา และเลือกการกินยาระงับประสาทเกินขนาดแทน
วันนั้นเป็นวันที่ฝนตกปรอย ๆ ในช่วงเช้า ความร้อนถูกแทนที่ด้วยความเย็นในอากาศ และความเย็นจากร่างกายที่ไม่มีลมหายใจอีกต่อไป
“ตอนนี้ผมอาศัยอยู่ในโลกโปร่งใสจากผู้ที่จิตใจขุ่นมัว ธรรมชาติดูงดงามกว่าที่มันเคยเป็นเสียอีก” ส่วนหนึ่งจากจดหมายของริวโนะสุเกะสะท้อนความต้องการสุดท้ายในชีวิต เขายอมรับว่าหวาดกลัวกับสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคต ประกอบกับอาการทางจิตของเขาที่เชื่อว่ามาจากกรรมพันธุ์ของแม่ ทำให้การจากโลกไปคือสิ่งที่เขาเลือก
// ชีวิตจริงที่ถูกเล่าผ่านตัวอักษร
ตัวละครสำคัญอย่างคนไข้หมายเลข 23 คือผู้ที่เล่าเรื่องราวทั้งหมด ตลอดการดำเนินเรื่องเราคิดเสมอว่าโลกขัปปะนั้นมีอยู่จริง แต่ในตอนจบ คนไข้หมายเลข 23 ได้กลับมาที่โลกมนุษย์อีกครั้ง แต่เขาต้องอาศัยอยู่ในโรงพยาบาล เขาบอกว่าเพื่อน ๆ ขัปปะอย่าง ‘ลัป’ นักศึกษา ‘คราบัค’ นักดนตรี ‘บัค’ ชาวประมง และ ‘ชัค’ หมอจากเมืองขัปปะได้แวะมาหาเขา และให้ของขวัญเป็นหนังสือรวมบทกวี ทั้งที่จริงแล้ว เขากำลังอ่านสมุดโทรศัพท์อยู่
จุดจบของความล้มเหลวในการปรับตัวเข้ากับโลกมนุษย์ คือสาเหตุที่ทำให้เขาต้องอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช ไม่ต่างจากการเดินทางกลับมาที่โตเกียวของริวโนะสุเกะก่อนที่เขาจะจบชีวิตลง แต่ก่อนหน้านั้นเขาพยายามพักรักษาตัว และรักษาความสัมพันธ์กับภรรยาโดยการเดินทางไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัด กระนั้น ภาระทางการเงินและความเครียดกลับกระตุ้นโรคทางจิตของเขาทำให้อาการแย่ลง ถึงขนาดเห็นภาพหลอน
ชีวิตของริวโนะสุเกะในช่วง 6 เดือนสุดท้ายคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นของยาฝิ่น เขาลงมือสร้างสรรค์ผลงานอีกหลายชิ้น โดยขัปปะคือเรื่องที่ใช้เวลาเขียนเพียง 2 อาทิตย์ แต่กลับเข้มข้นไปด้วยเนื้อหาสังคมและชีวิตที่หดหู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอกย้ำถึงพันธุกรรมอันเลวร้ายของมนุษย์
อย่างที่ทราบว่าแม่ของริวโนะสุเกะเป็นผู้ที่มีอาการวิกลจริต และจากไปตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็ก (
https://thepeople.co/akutagawa-ryunosuke/
) เขารู้ว่าความวิกลจริตนั้นถูกส่งต่อมาทางสายเลือดสู่ตัวเขา และเขาอาจส่งต่อมันให้กับลูกหลาน ซึ่งไม่ต่างจากการนำความทุกข์ไปให้ผู้อื่น ริวโนะสุเกะเผชิญกับความเจ็บปวดจากอาการทางจิตมาตลอด เขาเห็นภาพหลอน ตบตีตัวเอง และไม่อาจข่มตาหลับได้อย่างสบายใจ ซึ่งในเรื่องขัปปะก็ได้มีฉากที่แฝงแนวคิดของการหยุดส่งต่อ ‘พันธุกรรมเลว’ เอาไว้
“แรกทีเดียวหนูน่ะไม่อยากจะเกิดหรอก แค่คิดถึงกรรมพันธุ์ของพ่อที่หนูจะต้องได้รับถ่ายทอดมา เช่นโรคบ้าอย่างเดียวก็จะแย่แล้ว แถมหนูยังเชื่อว่าการเกิดเป็นขัปปะนั้นมันเลวร้ายอีกด้วย”
ลูกขัปปะที่อยู่ในท้องแม่ หรือภรรยาของบัค ชาวประมงผู้ช่วยชีวิตชายหนุ่มในเรื่องเอาไว้เอ่ยกับพ่อแม่ เพราะที่โลกของขัปปะ ผู้เป็นพ่อจะต้องตะโกนถามความสมัครใจของลูกใน ‘ครรภ์’ ว่าอยากจะเกิดมาหรือไม่ หากลูกไม่อยากเกิดด้วยเหตุผลทั้งปวง พวกเขาจะทำให้ท้องของตัวเมียแฟบลง ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการทำแท้งในโลกมนุษย์
ริวโนะสุเกะตอกย้ำเรื่องนี้ว่า เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญให้ดีเมื่อจะให้กำเนิดเด็กสักคนขึ้นมาบนโลก เพราะพ่อแม่บางคนไม่เพียงสร้างชีวิตเท่านั้น แต่พวกเขายังทำลายชีวิตของเด็กไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ตัว เช่น การปล่อยให้ลูกต้องทุกข์ทรมานจากกรรมพันธุ์ที่พวกเขาไม่ได้ต้องการตั้งแต่ต้น (ริวโนะสุเกะสื่อถึงความทรมานของตัวเองจากอาการทางจิต)
นอกจากแนวคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของริวโนะสุเกะจะถูกถ่ายทอดลงในผลงานได้อย่างแยบยลและหดหู่ถึงแก่นแล้ว เขายังสะท้อนความโหดร้ายในสังคมมนุษย์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านมุกตลกร้ายในสังคมขัปปะหลายอย่าง
// ขัปปะ ตัวแทนมนุษย์ในคราบปีศาจ
“ขัปปะกำเนิดจากความขยะแขยงของผมต่อหลาย ๆ สิ่ง ส่วนมากก็เป็นตัวผมเอง”
แนวคิด สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ดนตรี เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ในสังคมญี่ปุ่น คือสิ่งที่ถูกสอดแทรกอยู่ภายในเนื้อหาของเรื่องขัปปะ บางครั้งริวโนะสุเกะสะท้อนเรื่องราวในความคิดของเขาออกมาอย่างตรงไปตรงมา แต่ในบางครั้งก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างหนักในการไตร่ตรองความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใน
ยกตัวอย่าง ในยุคที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นตกต่ำหลังสงครามโลก รวมไปถึงช่วงที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แถบคันโต สภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นฝืดเคือง มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่กระนั้นก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ทำนาบนหลังคน เอาผลประโยชน์เข้าตัวเองอย่างออกนอกหน้า
ริวโนะสุเกะมองว่ามันคือการที่ ‘คนกินเนื้อคน’ และสะท้อนแนวคิดนี้ผ่านเนื้อหาตลกร้าย ขณะที่ชายหนุ่ม (คนไข้หมายเลข 23) เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานของ ‘เกล’ ขัปปะนายทุนที่มีธุรกิจหลายอย่างในมือ เกลบอกกับชายหนุ่มว่า เครื่องจักรของเขาสามารถผลิตสิ่งของที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพวาด หรือเครื่องดนตรี ได้มากกว่าแรงงานขัปปะหลายเท่า ทำให้เขาปลดคนงานออกราว 40,000 ตัวทุกเดือน
แต่การปลดพนักงานจำนวนมากขนาดนั้นก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการประท้วงใด ๆ เพราะขัปปะเหล่านั้นถูก ‘กิน’ หมดแล้ว และเมื่อเนื้อขัปปะถูกส่งไปทำเป็นเนื้อสำหรับรับประทาน ราคาเนื้อจริง ๆ จึงถูกลง ความรู้สึกรับไม่ได้ของชายหนุ่มถือเป็นตลกร้ายในเรื่อง เพราะในสังคมจริง มนุษย์ต่างเอารัดเอาเปรียบ และเฉือนเนื้อกันเองอย่างไม่รู้ตัว
และอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือการประหารชีวิต ประเทศขัปปะไม่มีการแขวนคอดั่งเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นมี ที่เมืองแห่งนี้แทบจะไม่ใช้การช็อตไฟฟ้าเสียด้วยซ้ำ เพราะเพียง ‘ประกาศชื่อ’ ของผู้ที่กระทำความผิด ขัปปะเหล่านั้นก็สิ้นใจตายแล้ว
ริวโนะสุเกะสะท้อนความละเอียดอ่อนทางความรู้สึกของมนุษย์ผ่านตัวขัปปะ หากต่อว่าขัปปะด้วยคำรุนแรง เช่นคำว่า ‘แกน่ะเป็นหัวขโมย’ และหากสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นความจริง ขัปปะตัวนั้นจะรู้สึกแย่อย่างรุนแรง พวกมันอาจมีอาการโรคหัวใจกำเริบ หรืออาจเสียชีวิตทันที เช่นเดียวกับการ ‘ฆาตกรรม’ ด้วย ‘คำพูด’ มนุษย์หลายคนมองว่าคำพูดไม่ใช่สิ่งที่มีอิทธิพล แต่หารู้ไม่ว่าสำหรับบางคน คำพูดเป็นดั่งดาบที่บั่นหัวใจจนขาดกระจุย
จากเรื่องสั้น ‘ขัปปะ’ ผลงานชิ้นสุดท้ายของอะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ ผู้อ่านจะได้เห็นความหดหู่ของชีวิต และการตีความสังคมในสายตาของนักเขียนที่เปี่ยมด้วยจินตนาการและปัญหาชีวิต แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความตายของริวโนะสุเกะ และเรื่องราวส่วนตัวที่ฝากเอาไว้ในงานเขียน กลับได้มอบคุณค่าให้หนังสือเล่มนี้เป็นดั่งกระจกสะท้อนความมืดมิดในสังคม และในทางกลับกันก็เป็นดั่งแสงสว่างที่จะทำให้คนเข้าใจ และเริ่มพิจารณาความเป็นมนุษย์ให้ถ่องแท้มากยิ่งขึ้น
อ่านเรื่องราวของ ขัปปะ: ความตายที่เหมือนกันของนิยายและชีวิตจริงของอะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ ในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่
https://thepeople.co/kappa-ryunosuke-akutagawa/
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ที่มา:
หนังสือเรื่อง ‘ขัปปะ’ เขียนโดย อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
ที่มาภาพ:
หนังสือเรื่อง ‘ขัปปะ’ เขียนโดย อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม
https://en.wikipedia.org/wiki/Ry%C5%ABnosuke_Akutagawa
#ThePeople #Culture #AkutagawaRyunosuke
4 บันทึก
7
3
4
7
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย