Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เจ๊ะเหหวานเจี๊ยบ (ตูน ตาปีนิ)
•
ติดตาม
25 ส.ค. 2021 เวลา 04:17 • การศึกษา
ลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาเจ๊ะเห
ภาษาเจ๊ะเหเป็นภาษาที่มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นต่างจากภาษาใต้ทั่วๆไป มีท่วงทำนองการพูดที่ช้าๆ เนิบๆ อ้อยสร้อย ไม่ห้วน วันนี้ตูนเลยพาทุกคนมาดูลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาเจ๊ะเห ซึ่งถ้าได้ยินลักษณะการพูดการจาด้วยถ้อยคำเหล่านี้ จะทราบทันทีว่าเป็นคนแหลงภาษาเจ๊ะเหค่ะ
คำแรกคือคำว่า ละหมี คำนี้เป็นประโยคคำถาม มีความหมายว่า หรือยัง ต่างกับประโยคคำถามในภาษาถิ่นใต้ทั่วไปซึ่งใช้คำว่า แล้วมาย เช่น กินข้าวแล้วหมี ก็หมายความว่า (กินข้าวแล้วหรือยัง) สูมานานแล้วหมี หมายความว่า (เธอมานานแล้วหรือยัง)
คำว่า หมี และคำว่า มิ เป็นคำลงท้าย แทนคำว่า ไหม ของภาษาไทยภาคกลาง เช่น ช่ายหมี แปลว่า (ใช่ไหม) ต้องมิ แปลว่า (ถูกต้องไหม) สูจิไปกับเราหมี แปลว่า (เธอจะไปกับชั้นไหม) อิ่มมิ แปลว่า (อิ่มไหม)
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าได้ยินคำลงท้ายประโยคว่า มิ หมี เมื่อไหร่ รู้ทันทีเลยค่ะว่าเป็นคนแหลงภาษาเจ๊ะเห
คำต่อมาคือ คำว่า มายไหร มีความหมายว่า ไม่เป็นไร เช่น เราเห็นเพื่อนคนหนึ่งหน้าบูดหน้าบึ้ง เราก็ถามไปว่า สูเป็นอิไหร จิได๋เท่หน้าบูดพันนั่น ถ้าเค้าไม่ได้เป็นอะไร เค้าก็จะบอกว่า มายไหรที ซึ่งคำนี้บางคนก็ออกเสียงว่า มายได๋ มายได๋ ก็หมายความว่า ไม่เป็นไร
คำต่อมา คำว่า มายโร้ มีความหมายว่า ไม่รู้ เช่น ม่ายโร่จิทำพันไหนแล้ว แปลว่า (ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว) ม่ายโร่ว่าค่ำนี้จิทำอิไหรกิ๋น (ไม่รู้ว่าเย็นนี้จะทำอะไรกิน)
คำต่อไปคือคำว่า ห่ามาย ถ้าดูความหมายในพจนานุกรม คำนี้เป็นคำไทยโบราณ มีความหมายว่า เปล่า หรือว่า ไม่เป็นเช่นนั้น ใช้คร่อมคำกริยาอีกทีหนึ่ง เราจะได้ยินการใช้คำเหล่านี้บ่อยๆ ในละครพื้นบ้านหรือละครย้อนยุค ที่มีการพูดจาด้วยภาษาแบบโบราณๆ เช่น หาเห็นไม่ (ไม่เห็น) หาเลี้ยงไม่ (ไม่เลี้ยง)
สำหรับคำว่า ห่ามาย ในภาษาเจ๊ะเหนั้น มีความหมายความว่า ไม่ หรือไม่มี ค่ะ เช่น หามายอิไหรซึสิ่ง (ไม่มีอะไรสักอย่าง) เดือนนี้ฝนกัดตกทุกวัน ยางกัดตัดม่ายด้าย หามายเบียแล้วโอ่ย (เดือนนี้ฝนก็ตกทุกวัน ยางก็กรีดไม่ได้ ไม่มีเงินแล้วเนี่ย)
ข้อสังเกตอีกอย่างของภาษาเจ๊ะเหคือ มีการใช้และเติมพยางค์หน้าต่างจากภาษาถิ่นใต้ทั่วไป และพยางค์ที่เติมนี้ จะเป็นสำเนียงที่บ่งบอกว่าผู้พูดอยู่ในท้องถิ่นใด เช่น กะ กึ กือ / ยะ ยึ ยือ / สะ สึ ซือ / ตะ ตึ ตือ / ปะ ปิ ปึ ปือ /
เช่น คำว่ากระบอก ก็มีการใช้ทั้ง กะบ๊อก กึบ๊อก / คำว่าปุ๋ย ก็มีการใช้ทั้ง กึยา บือยา พือยา / คำว่าสะพาน ก็มีการใช้ทั้ง กือพาน ตือพาน สึอพาน / คำว่า สวรรค์ ก็มีการใช้ทั้ง กือหวัน สึหวัน
แตไม่ว่าจะใช้คำไหน เราก็จะฟังเข้าใจค่ะ เพราะเป็นคำในความหมายเดียวกัน ต่างกันแค่การออกเสียงพยางค์หน้า และยังมีคำบางคำแม้จะเอาพยางค์หน้าออกไป ก็ไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น คำว่ายาม ที่แปลว่าเวลา จะใช้ กึย๋าม ปีย๋าม หรือว่ายามเฉยๆ ก็ได้ คำว่าด่วน ออกเสียงว่าด๊วน ใช้ กะด๊วน กือด๊วน หรือว่า ด๊วนเฉยๆ ก็ได้
การเติมพยางค์หน้านี้เอง ที่ทำให้ภาษาเจ๊ะเหมีความอ้อยสร้อย เนิบช้า เพราะกว่าจะพูดจบแต่ละประโยค ก็มีคำพ่วงหน้าพ่วงหลังมากมาย คนต่างถิ่นเมื่อมาได้ยินก็เลยเกิดความพิศวงงงงวย และไม่คุ้นหู แต่ส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นภาษาที่ไพเราะมากๆ แม้แต่คำดุด่าก็ไม่รู้สึกเจ็บ อันนี้ตูนขอคอนเฟิร์มอีกเสียงค่ะ
เพื่อนๆ สามารถรับชมคลิป ฟังลักษณะสำเนียงและการออกเสียงได้ในยูทูบ ตามลิงก์นี้เลยค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=SrAS43PELPo
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย