Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
“มา” สิกขา - เชิญชวนคุณมาศึกษา
•
ติดตาม
25 ส.ค. 2021 เวลา 09:22 • การศึกษา
เราอาจจะเคยได้ยินคนพูดกันว่า
"รักมาก ทุกข์มาก" นะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้
แต่ว่า... พระพุทธเจ้าตรัสแบบนี้จริงหรือไม่
สมัยก่อนก็คิดว่าคงใช่ เพราะเป็นคนประเภทเออออห่อหมก ใครว่าอย่างไร ก็คงเป็นอย่างนั้นมั้ง
จนวันหนึ่ง ก็ได้ฟังพระสูตรเกี่ยวกับนางวิสาขา และมีคำในนั้น ที่ทำให้เกิดอาการ เอ๊ะ! ขึ้นมา
หรือว่านี่ จะเป็นพระสูตรต้นทางของคำว่า รักมาก ทุกข์มาก กันแน่
พระสูตรนั้นชื่อว่า "วิสาขาสูตร"
(
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=113
)
สรุปเป็นเนื้อหาสั้น ๆ ได้ว่า...
หลานรักของนางวิสาขาเสียชีวิต นางวิสาขาที่หน้าตาและผ้าผ่อนเปียกปอนไปด้วยน้ำตา ก็เลยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า
“วิสาขา ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ก็มีทุกข์ ๑๐๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๙๐ ก็มีทุกข์ ๙๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๘๐ ก็มีทุกข์ ๘๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๗๐ ก็มีทุกข์ ๗๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๖๐ ก็มีทุกข์ ๖๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๕๐ ก็มีทุกข์ ๕๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๔๐ ก็มีทุกข์ ๔๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๓๐ ก็มีทุกข์ ๓๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๒๐ ก็มีทุกข์ ๒๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐ ก็มีทุกข์ ๑๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๙ ก็มีทุกข์ ๙
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๘ ก็มีทุกข์ ๘
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๗ ก็มีทุกข์ ๗
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๖ ก็มีทุกข์ ๖
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๕ ก็มีทุกข์ ๕
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๔ ก็มีทุกข์ ๔
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๓ ก็มีทุกข์ ๓
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๒ ก็มีทุกข์ ๒
ผู้มีสิ่งเป็นที่รักเพียง ๑ ก็มีทุกข์เพียง ๑
ผู้ไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ก็ไม่มีทุกข์
ซึ่งเราเรียกว่า ผู้หมดความโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีความคับแค้นใจ”
แล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงเปล่งอุทานว่า
"ความโศก ความคร่ำครวญ และความทุกข์หลากหลายมีในโลกนี้
ย่อมเกิดมีได้เพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ความเศร้าโศกเป็นต้นเหล่านี้ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีสิ่งเป็นที่รักในโลกไหนๆ
จึงชื่อว่ามีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก
ดังนั้น ผู้ปรารถนาความไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี
จึงไม่ควรยึดสิ่งเป็นที่รักในโลกไหนๆ"
หลายคนอ่านเสร็จ คงรู้สึกว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนไม่ให้มีความรักเลยใช่ไหม
ให้อยู่แบบชีวิตแห้งแล้ง ซังกระตายไปในแต่ละวัน จะได้ไม่ต้องทุกข์ใจ ร้องไห้อะไรเลย แล้วชีวิตแบบนั้นมันจะมีความสุขไปได้อย่างไร
เดี๋ยวก่อน... ต้องเข้าใจคำว่า "ความรัก" แบบที่เรา ๆ เข้าใจกันก่อน
แน่นอนว่า มันห้ามไม่ได้หรอก เวลาที่ เรา ๆ จะมีความรักกัน
ถ้ารักแบบแฟน ตอนแรกมันก็หวานชื่น กระนุ้งกระนิ้ง ตุเอง ตะแว้ว ภาษาต่างดาวอะไรมามากมาย แบบชนิดที่ว่าผู้ใหญ่ตามไม่ทัน เหมือนเป็นโค้ดลับระหว่างเขาและเธอสองคน
หลังจากนั้นมา มันก็ห้ามไม่ได้อีก ที่จะเกิดความรู้สึก อยากได้เขามาครอบครองเพียงคนเดียว ไม่อยากแบ่งเขาไปให้ใครอื่นได้ใช้ร่วมกัน
"เธอคุยกับใคร..." "เลิกงานแล้วไปไหนต่อ..." "ทำไมยังไม่กลับบ้าน" "ไปกับเพื่อนจริงเหรอ" "เปิดหน้ากล้องคุยได้มั้ย" "เพื่อนคนไหนนะ... ทำไมเราไม่เคยได้ยินชื่อ" สารพัดสารเพแห่งความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ
แล้วก็จะตามมาด้วยความหึงหวง ไม่เข้าใจกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง ลากเอาอดีตมาปั่นปัจจุบันไม่หยุดไม่หย่อน
"ทำไมเธอเปลี่ยนไป" "เธอไม่รับโทรศัพท์เราเหมือนเดิม" "อะไรจะทำงานทั้งวันเลยเหรอ โทรหาเราแค่ห้านาทีไม่ได้เหรอไง" "อย่าให้รู้นะว่าโกหก"
บางคู่ หากปรับกันเข้าใจได้ ประนีประนอม ประคับประคองกันไป ก็รอด
แต่หลายคู่ ก็ไม่รอด
หากลองมองในรูปแบบความรักในอีกแบบ คือความรักแบบพ่อแม่ลูก หรือคนในครอบครัว
ความรักแบบนี้ก็ห้ามไม่ได้อีกเช่นกัน ที่จะมีความอยาก อยากให้ลูกเรียนเก่ง ๆ อยากให้ลูกเป็นที่รักของคนทั่วไป อยากให้ลูกเป็นหมอ อยากให้ลูกเป็นคนดี อยากให้ลูกเล่นกีฬาเก่ง ๆ อยากให้ลูกปลอดภัยในทุก ๆ วัน อยากให้ลูกไม่เป็นโควิด...
ลูก... คือแก้วตาดวงใจ
หรือ อยากให้แม่สุขภาพดี อยากให้พ่อกับแม่อยู่แบบนี้นาน ๆ อยากให้พ่อกับแม่ดุให้น้อยลง อยากให้ตาไม่ต้องเป็นมะเร็ง เป็นต้น
ทุกความรักที่ยกตัวอย่างมา ล้วนประกอบไปด้วย "ความอยาก"
เมื่อความรัก มาพร้อมกับความอยาก (ซึ่งแทบจะแยกกันไม่ได้เลย) มันเลยทุกข์
พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า
"อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์"
"ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข
ความพลัดพลากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์"
"ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง
มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์"
ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัก มักจะอยากให้เขาเป็นอย่างนั้น อยากให้เขาไม่เป็นอย่างนี้
จนแล้วจนรอด มันเลยทุกข์
เพราะ "ความอยาก เป็นเหตุเกิดทุกข์" (อริยสัจจะข้อที่ ๒) นั่นเอง
ความรักแบบนี้ต่างหาก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ก็ทุกข์ ๑๐๐...
ผู้ไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ก็ไม่มีทุกข์
ซึ่งเราเรียกว่า ผู้หมดความโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีความคับแค้นใจ”
แล้วเราจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไรกัน หากความรักทำให้ทุกข์
ไม่ยากค่ะ พระพุทธเจ้ามีคำตอบให้ในเรื่อง "พรหมวิหาร ๔"
ที่หลาย ๆ คนรู้จักกันว่า เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา
แต่! พรหมวิหาร ๔ ก็มีทั้ง
เมตตาจริง vs เมตตาปลอม
กรุณาจริง vs กรุณาปลอม
มุทิตาจริง vs มุทิตาปลอม
อุเบกขาจริง vs อุเบกขาปลอม
หากรู้จักเรื่อง จริง-ปลอม ก็จะสามารถแยกแยะได้ และจะทำให้รักได้อย่างไม่ทุกข์
วันนี้ยาวมากแล้ว
ขอต่อในบทความถัดไป
ขอเชิญชวนคุณมาศึกษาไปพร้อมกัน
กับธรรมะที่ฝังใจว่ายากและล้าหลัง
ทว่าจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องทันสมัย และไม่ยากหากอธิบาย
แต่สำหรับวันนี้ลาไปก่อน
สวัสดีค่ะ
บันทึก
1
7
1
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย