28 ส.ค. 2021 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านไม้สไตล์ปักษ์ใต้ที่เกิดขึ้นจากภาพความทรงจำในวัยเด็กของเจ้าของที่มีต่อบ้านหลังเดิมของคุณตาคุณยาย ผ่านการออกแบบให้เหมาะกับการอยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน จนเกิดเป็นเรือนปักษ์ใต้ร่วมสมัยที่เชื่อมโยงคนสามรุ่นไว้ด้วยกัน
บ้านไม้หลังนี้เริ่มต้นมาจากการที่คุณพ่อปรีชาและคุณแม่สมทรง รอดสุด คุณพ่อคุณแม่ของคุณวิวัฒน์ รอดสุด ผู้ทำหน้าที่จัดการการสร้างบ้านหลังนี้ คิดที่จะสร้างบ้านเพื่อเป็นที่ระลึกเเด่คุณตาคุณยายจากไม้เก่าที่เหลือจากการรื้อบ้านเดิม เชื่อมโยงเเละส่งต่อความผูกพันจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน จนเป็นที่มาของการตั้งชื่อบ้านว่า “เรือนพินรัตน์” ซึ่งเป็นชื่อของคุณตาวิรัตน์และคุณยายพิน ศิริธร นั่นเอง
ฉะนั้นเรือนหลังนี้จึงเป็นเสมือนบ้านส่วนกลางของครอบครัวสำหรับเหล่าลูกหลานเมื่อได้มาที่พัทลุงก็มักจะมาพักอาศัยที่เรือนหลังนี้ได้ โดยมีพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ใช้สำหรับรับประทานอาหาร หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัว โดยเจ้าของวางแผนไว้ว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะปรับเปลี่ยนที่นี่ทำเป็นโฮมสเตย์ต่อไป แต่ในปัจจุบัน “เรือนพินรัตน์” ยังคงทำหน้าที่เป็นเรือนรับรองของครอบครัวรอดสุด ที่ทุกคนต่างมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาเยือนเเละพักผ่อนร่วมกัน
ในส่วนของผังที่ได้ปรับปรุงจากเดิม คือการที่สร้างพื้นที่ Buffer ระหว่างกลุ่มบ้านในพื้นที่ให้เกิดเป็นลานส่วนกลางที่เชื่อมถึงกัน มุมมองที่ต่อเนื่องจากลานนั้นจะต้องผ่านกึ่งกลางของเรือนพินรัตน์ออกไปยังพื้นที่สวน เน้นย้ำเส้นนี้ด้วยการเลือกใช้บานกระจกมาสร้างความโปร่งใสให้แตกต่างไปจากส่วนอื่น ๆ ของบ้าน สร้างการเชื่อมโยงระหว่างบ้านเก่า เรือนพินรัตน์ และสวนรอบบ้านไว้ด้วยกัน
การเปิดพื้นที่แบบดับเบิลวอลลุ่มนั้น นอกจากการปรับพื้นที่ให้โปร่งโล่งและร่วมสมัยขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศของการรำลึกด้วยการแขวนภาพของคุณตาคุณยายไว้ให้สามารถมองเห็นได้จากทุก ๆ ส่วนของเรือนพินรัตน์ เกิดเป็นพื้นที่ในเชิงความทรงจำให้กับครอบครัว
เมื่อขึ้นมายังชั้นสองจะได้พบกับพื้นที่ส่วนตัวที่สามารถนอนเอกเขนกได้สบาย เป็นพื้นที่ซึ่งประยุกต์มาจากสเกลการนั่งพื้นอย่างไทย และการนั่งแบบสากลเข้าไว้ด้วยกัน เห็นได้ชัดอย่างห้องนอนที่คุณวิวัฒน์บอกว่าต้องการมองเห็นวิวสวนเเละพื้นที่รอบ ๆ บริเวณได้ สถาปนิกจึงทำห้องนอนเป็นเเบบยกพื้นและวางฟูกกลายเป็นที่นอนบรรยากาศเรียบง่าย สามารถลุกขึ้นมานั่งมองวิวยามเช้าได้ทันทีที่ตื่นนอน
การสร้างบ้านไม้อย่างเรือนพินรัตน์มีส่วนสำคัญคือ การหาช่างที่เข้าใจในงานก่อสร้าง จนมาเจอช่างอย่างน้าเชน (บุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต) โดยเขาเป็นช่างที่เคยทำบ้านให้กับคุณพ่อของคุณวิวัฒน์มาก่อน จึงมีความเข้าใจในงานก่อสร้าง เเละสนิทกับเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าน้าเชนมีความเป็น Craftmanship หรือผู้เชี่ยวชาญเรือนพื้นถิ่นเลยทีเดียว
“ถ้ามองในมุมของงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ก็อาจจะเรียกว่าไม่เหมือนแบบนี้ เพราะทำออกมามันก็เหมือนกันหมด แต่งานช่างสมัยก่อนอย่างการขัดไม้แต่ละชิ้นนี่ก็ไม่เหมือนกัน ความละเอียดที่บรรจงทำงานเป็นสิ่งที่ยากจะหาได้ในยุคสมัยนี้ อย่างบ้านหลังนี้ที่เราอยากจะเก็บแนวตงของชั้นสองไว้ เพราะช่างฝีมือดี พอได้ช่างฝีมือดีก็สามารถเปิดเผยสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อย่างสวยงาม
"นอกจากนี้ งานไม้ เเละกระเบื้องหลังคาดั้งเดิมยังถูกนำมาใช้ ด้วยเอกลักษณ์ที่มีเท็กซ์เจอร์เเละลวดลายเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับผนังที่เราพยายามเลือกให้ใกล้เคียงกับสมัยก่อนให้มากที่สุด ส่วนเหตุผลที่ใช้ปูนเปลือยเพราะบ้านเดิมชั้นล่างนั่นเป็นผนังปูน อาจจะมีร่องรอยบ้าง ไม่ได้เนี้ยบมาก แต่ก็ความสมบูรณ์ในแบบของมัน ความยากคือเราพยายามให้ไม่เป็นลอฟต์ แต่พยายามทำให้เหมือนบ้านสมัยก่อน เราจึงเลือกใช้ Color Cement ของจระเข้ แต่ไม่ได้ทา คือใช้วิธีฉาบเอาเพื่อให้ได้เท็กซ์เจอร์ที่เหมือนบ้านเดิมมากที่สุดทั้งเสาและผนังเลย”
และนี่ก็คือบ้านที่สร้างขึ้นมาจากความทรงจำของครอบครัว “รอดสุด” ให้กลายเป็นเรือนพื้นถิ่นร่วมสมัยที่น่าสนใจอีกหนึ่งหลัง การผสมผสานทั้งวัสดุ แนวคิด และวิถีชีวิตนั้น ทำให้เรือนพินรัตน์เป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับใครก็ตามที่อยากจะกลับไปสร้างบ้าน “ต่างจังหวัด” เป็นของตัวเอง
เจ้าของ : ครอบครัวรอดสุด
สถาปนิก : ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ และ อรวี เมธาวี
ก่อสร้าง : บุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต(น้าเชน)
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3lScv2d
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : อรรคพล ธนารักษ์
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา