26 ส.ค. 2021 เวลา 02:44 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“ตำรวจเลว” ใน หนังดี
#พลอยเล่าเรื่อง #พลอยเล่าหนัง #หนัง #ตำรวจ #ภาพยนตร์
ในปี 2019 จากการสำรวจประชาชนชาวอเมริกัน ตำรวจเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในสายตาคนอเมริกัน น่าเชื่อถือมากกว่าสภาคองเกรส, นักข่าว และผู้นำทางศาสนาเสียอีก แต่หลังจากกรณีขอ จอร์จ ฟลอยด์ ที่ตายด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ คลื่นการประท้วงความโหดร้ายของตำรวจกระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกา
เราบอกไม่ได้หรอกว่า “ตำรวจ” ปรากฏตัวในหนังเรื่องแรกเมื่อไหร่ หลายทศวรรษที่คนทำหนังนำเสนอภาพลักษณ์ชั้นดีของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ในปี 1910 เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่อเมริกา หาทางที่จะประณามอุตสหกรรมภาพยนตร์ เพราะวิธีการนำเสนอภาพลักษณ์ของตำรวจ ในตอนนั้นหนังทำให้อาชญากรรมดูเป็นเรื่องสนุก และน่าหลงใหล โดยบางครั้งทำให้ตำรวจดูเป็นคนตลกๆ ไม่เอาอ่าว จับคน้รายไม่ได้
ตามมาด้วยตำรวจในฐานะนักคอร์รัปชั่นในเครื่องแบบ ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ในช่วงปลายศาตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตำรวจไม่ต่างไปจากอาชญากรในครื่องแบบ ทำตัวไม่ต่างจากแก็งอันธพาล ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ต้องทำการปฏิรูปกรมตำรวจของนิวยอร์ก เราจึงเห็นหนังที่นำเสนอเรื่องราวในช่วงเวลาดังกล่าว ตำรวจเป็นคนไม่ดี ทำทุกทางเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
หลายทศวรรษของการปฏิรูป ภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสายตาผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มหันมาจับมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสร้างหนัง ทางหนึ่งเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการนำเสนอ และเลี่ยงการต่อว่าจะเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ เอาตำรวจมาเป็นที่ปรึกษา อีกทางคือ เพราะต้องการใบอนุญาตในการยิงปืนในหนัง ภาพลักษณ์ของตำรวจที่ไม่เอาอ่าว หรือตำรวจเลว เริ่มหายไปจากภาพยนตร์ ยุคของ ฮีโร่ในเครื่องแบบ เริ่มต้นขึ้น
ในปี 2016 อดัม จอห์นสัน นักเขียนชื่อดัง ใช้คำว่า Copraganda (Cop+propaganda) เพื่ออธิบายถึงสื่อแขนงต่างๆ ที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ หรือ ไม่ช่วยให้การปฏิรูปองค์กรตำรวจเกิดขึ้น” นิยามนี้ถูกนำมาใช้กับหนัง และซีรีส์ หลายเรื่องที่พูดถึงตำรวจในทางที่ดีเสียเหลือเกิน ฮีโร่ในเครื่องแบบเต็มไปทั้งจอเงินและจอแก้ว แต่ก็ใช่ว่าภาพลักษณ์ของตำรวจในหนังจะดีไปทั้งหมด หนังหลายเรื่องเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตำรวจเลวๆ ที่ช่วยให้เรามองตำรวจในมุมอื่นๆ
Bad Lieutenant หนังปี 1992 พูดเรื่องของ ฮาวีย์ คีเทล เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร้ายสมชื่อหนัง เล่นยาหลังจากไปส่งลูกๆที่โรงเรียน เพิกเฉยเมื่อเห้นอาชญากรรมเกิดขึ้นตรงหน้า เมาปลิ้น เล่นการการพนัน และอีกสารพัด ใน The Departed ปี 2006 หนังของมาร์ติน สกอร์เซซี ที่เอา Infernal Affairs หนังฮ่องกงมาสร้างใหม่ ตัวละคร จอห์น ซัลลิแวน ที่แสดงโดย แมตต์ เดม่อน ทำเอาเราอึดอัดกับผู้ร้ายในคราบตำรวจคนนี้ จริงๆอยากต่อยหน้าพี่แมตต์เลยทีเดียว
Filth ปี 2013 หนังจากบทของ ไอรีน เวลช์ ผู้เขียน Trainspotting ซึ่งเชี่ยวชาญในการสร้างตัวละครที่ไม่น่ารัก เข้าขั้นน่ารังเกียจ หนังนำแสดงโดย เจมส์ แม็คอะวอย ตำรวจที่รู้ตัวเองว่าเลว และสนุกกับการมีอำนาจเหนือคนอื่น The Place Beyond the pines (ปี 2013 ) แบรดลีย์ คูเปอร์ รับบทตำรวจคอร์รัปชั่น อำนาจทำให้คนดีอ่อนแอและทำสิ่งแย่ๆได้ Training Day หนังที่ทำให้ เดนเซล วอร์ชิงตัน คว้ารางวัลออสการ์ ตัวละครอลอนโซ แฮร์ริส เป็นตำรวจเลวเต็มขั้น ที่ทำให้เราเห็นว่า คุณสามารถสูญเสียตัวเองให้งานที่ทำ
นอกจากนี้ยังมีหนังที่มีตัวละครตำรวจชั้นเลวมากมาย เช่น Narc, Wild Things, Street Kings, L.A. Confidential, Gone Baby Gone, Triple 9 และ Rampart ถ้าในทางของซีรีส์ Line of Duties จากอังกฤษ หาดูได้ทาง Netflix พูดเรื่องหน่วยงานปราบปราบคอร์รัปชั่นในหมู่ตำรวจของอังกฤษ แต่ละซีซั่นพูดเรื่องตำรวจทำผิด ตำรวจตามจับตำรวจ
หลายคนบอกว่า ตำรวจก็เหมือนอาชีพอื่นๆ มีคนดีและไม่ดีปะปนกันไป อย่าเหมารวมคนที่ทำดี แต่เอาจริงๆนะ อาชีพตำรวจควรจะมีแต่คนดีไม่ใช่หรือ ควรจะเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนไม่ใช่หรือ
จุดจบของตำรวจเลวในหนัง ส่วนใหญ่ลงเลยแบบไม่ตายก็ติดคุก บางทีก็บรรลุว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นผิด พยายามแก้ตัว แต่น้อยครั้งที่จะหลุดรอด ลอยตัวแบบฟรีๆ ต้องรอดูว่าเรื่องจริงที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ตำรวจทรมานผู้ต้องหาจนตาย ตอนจบของเรื่องนี้จะเป็นแบบไหน หรือจะเป็นอีกครั้งที่ เงินจะมีอำนาจ ทำได้ทุกอย่างในประเทศนี้
ฝากไลค์ 👍
ฝากแชร์ 🤝
ฝากกดติดตามเพจกันด้วยนะคะ 🤟
โฆษณา