27 ส.ค. 2021 เวลา 14:25 • การตลาด
#สรุปให้ในโพสต์​เดียว​ ทำไมเราต้องจ่ายเพิ่ม​ เมื่อ​ Facebook​ Ads​ เก็บภาษี​ VAT​ 7%
นับเป็นข่าวใหญ่ ข่าวด่วน ที่เหล่านักการตลาด หรือพ่อค้าเเม่ค้าออนไลน์ต้องรู้!!!
ในตอนนี้ Facebook ได้ออกมาระบุว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2021 นี้เป็นต้นไป โฆษณาบน Facebook ในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% เอาเเล้วสิ สงสัยไหมครับว่า ทำไมอยู่ดี ๆ ถึงมาเรียกเก็บภาษี VAT 7%
#สรุปให้ในโพสต์เดียว ทำไมเราต้องจ่ายเพิ่ม เมื่อ Facebook Ads เก็บภาษี VAT 7%
คำถามต่อมาก็คือ แล้วตกลงบุคคลธรรมดาอย่างเราต้องจ่ายจริง ๆ ไหม ?
เป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียนอย่างเดียวเหรือเปล่านะ ?
เเล้วเรื่องราวนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ? ทำไมอยู่ดี ๆ ก็ต้องมาจ่ายด้วย ?
ถ้าอยากรู้เเล้ว ตามผมมาเลยครับ มีทุกคำตอบอยู่ที่นี่แล้ว
ผมจะ #สรุปให้ในโพสต์เดียว
1.​ ในวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากกฎหมาย e-Service ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับกรมสรรพากร โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ เเละในขณะนี้ผู้ให้บริการเเพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติในไทยก็ทยอยกันมาลงการเสียภาษีผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) ของกรมสรรพากร อย่างต่อเนื่อง
2.​ อธิบดีกรมสรรพากร ได้บอกไว้ว่า จากการศึกษาตัวอย่างของประเทศที่เริ่มจัดเก็บภาษี e-Service ไปแล้ว 60 ประเทศทั่วโลก พบว่าภาษี e-Service จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น เช่น ที่ผ่านมาคนไทยที่ทำธุรกิจออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่แพลตฟอร์มต่างชาติกลับไม่เคยต้องเสีย ดังนั้น การมีภาษีตัวนี้ขึ้นมานอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ก็จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย และอาจจูงใจให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ หรือกระทั่ง Unicorn ของไทยก็เป็นได้
3.​ ทางกรมสรรพากรนั้นมองว่า การเรียกเก็บ VAT กับ e-Service จะเป็นหนึ่งในหนทางในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งทางสรรพากรเองก็คาดว่าการจัดเก็บภาษีนี้ จะสร้างรายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ไว้ที่ 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
4.​ ซึ่งทั้งนี้ ทั้งนั้น บริการทางออนไลน์เองก็มีเเนวโน้มที่จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่า 75 % ทั้งการดูหนัง ฟังเพลงผ่านช่องทางออนไลน์ การซื้อขายเพลงออนไลน์นั้นเติบโตขึ้นถึง 9% การซื้อขายเกมส์ก็เติบโตขึ้นถึง 7.8% เเละโฆษณาออนไลน์เองก็โตขึ้นถึง 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา ทำให้ในจุด ๆ นี้ในอนาคตจะเป็นแหล่งรายได้ที่ดีให้กับประเทศ
5.​ เเละถ้ามองในอีกมุมมองหนึ่ง การเก็บภาษีออนไลน์กับบริษัทไอทีต่างชาตินั้นก็มีส่วนช่วยในการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในไทย อย่างที่บอกไปว่า บริษัทออนไลน์ไหนในไทยที่มีเเนวโน้มของธุรกิจเติบโตไปในทางที่ดี บริษัทเหล่านี้ก็ต้องเสีย VAT เป็นเรื่องปกติอยู่เเล้ว ในขณะที่เเต่ก่อนนี้บริษัทต่างชาตินั้นไม่ต้องเสีย VAT ในการดำเนินธุรกิจเลย ในกรณีนี้เลยถือว่าเป็นการช่วยสร้างความเท่าเทียมในไทย
6.​ โดยเงื่อนไขการเก็บภาษีนี้นะครับ จะมีผลต่อผู้ลงโฆษณาที่ตั้งค่า ‘เป้าหมายการขาย’ กับธุรกิจหรือที่อยู่ใด ๆ ก็ตามที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และในการตั้งค่าการชำระเงิน ผู้ใช้จะต้องเพิ่มหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นการแสดงบนใบเสร็จค่าโฆษณา
7.​ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใช้โฆษณา Facebook ต้องทำ คือ ไปกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ในหน้าตั้งค่าการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเอาไว้
8.​ เพราะอะไรถึงต้องกรอก ประเด็นอยู่ตรงนี้ สำหรับผู้ที่เพิ่มหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไว้แล้ว ทาง Facebook จะไม่บวก VAT ในการซื้อโฆษณาบน Facebook ของผู้ใช้ หมายถึง ใช้เท่าไหร่ เสียเงินเท่านั้นตามที่ซื้อโฆษณาไว้
9.​ แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบในการประเมินตนเองและการจ่าย VAT ภายใต้การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยเอง​ (นั่นก็คือ​ ภพ.36)​ ซึ่งถ้าเราไม่ได้มียอดขายถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเอาไว้ ถึงกรอกไปเพื่อจะหลบเลี่ยงโดนเก็บเพิ่มจาก Facebook​ ทันที​ แต่ก็จะต้องจ่ายภาษีนี้อยู่ดี​ เพราะเชื่อว่าสรรพากรคงหาทางเก็บย้อนหลังจากคนที่กรอกเลขภาษี​ (แต่ไม่ยอมไปยื่น​ภพ.​36​ จ่ายภาษีเพิ่ม)​ ได้อยู่ดี​
10.​ ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้เพิ่มหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี จะมีการเรียกเก็บ VAT เพิ่มทุกครั้งที่ผู้ใช้ถูกเรียกเก็บค่าโฆษณา ไม่ว่าจะซื้อโฆษณาบน Facebook เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรือส่วนตัวก็ตาม และในการเรียกเก็บเงิน ผู้ใช้งานจะไม่ถูกเรียกให้ชำระเงินเร็วขึ้น แต่อาจถูกเรียกเก็บเงินมากกว่าเกณฑ์การชำระเงิน
11.​ สรุปคือ Facebook จะบังคับให้เราต้องกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเพิ่มทุกคน ถ้าไม่กรอกก็ต้องจ่ายเพิ่ม 7% สถานเดียว แต่ถ้ากรอกแล้วเลขประจำตัวผู้เสียภาษีนั้น ไม่ได้อยู่ในฐานการชำระภาษี 7% (ยอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาท และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ อันนี้เพิ่มเติมก่อนว่า อาจโดนเรียกเก็บย้อนหลังก็เป็นได้)
12.​ แล้วบุคคลธรรมดาจะไปเอาเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมาจากที่ไหน ถ้าจะลองเอามากรอกเพื่อให้​ Facebook​ ไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม​ 7% คำตอบก็คือ ใช้เลขตามบัตรประจำตัวประชาชนได้เลย​ แต่ย้ำอีกทีนะว่า​ น่าจะโดนเรียกเก็บย้อนหลังถ้าจะลักไก่กรอกไป
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดา ใช้เลขเดียวกับเลขบัตรประชาชน
13.​ ซึ่งไม่ใช่แค่ Facebook รายเดียวเท่านั้น ผู้ให้บริการ Social Media ต่าง ๆ ในไทย อย่างเช่น Google, TikTok เอง ก็ต้องเรียกเก็บค่า VAT 7% ตามกฎหมาย e-Service นี้เพิ่มเช่นกัน
14.​ แล้วใครบ้างน่าจะได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ คำตอบที่ชัด ๆ ก็จะเป็นภาครัฐ ที่เก็บภาษีในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ส่วน Facebook และ Social Media อื่น ๆ ที่เข้าข่ายกฏหมาย e-Service ไม่ได้เสียประโยชน์ใด ๆ จากเรื่องนี้ เพราะเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ใช้งาน
ทุกแพลตฟอร์มเริ่มเก็บ VAT กันถ้วนหน้า 1 ก.ย. 21
15.​ ส่วนกรณีของธุรกิจที่ซื้อสื่อบน Facebook Ads และ Social Media อื่น ๆ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ เพราะเดิมที ธุรกิจที่ซื้อสื่อเหล่านี้ ก็นำต้นทุนนี้มาหักค่าใช้จ่ายกันเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งแต่ก่อนยังไม่มีกฎหมาย e-Service นี้ การจะนำต้นทุนนี้มาหักค่าใช้จ่ายทางบัญชีได้ ก็จะต้องใช้วิธีจ่ายเงิน VAT 7% ให้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าโฆษณาที่สื่อต่าง ๆ เรียกเก็บมา​ ผ่าน​ ภพ.36​
16.​ ดังนั้นตามข้อ 8 ที่ระบุว่าธุรกิจที่เพิ่มเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไว้แล้ว ทาง Facebook จะไม่บวก VAT ในการซื้อโฆษณา ธุรกิจนั้นจะได้ประโยชน์ไม่ต้องจ่าย VAT ก็ได้หรือไม่นั้น คำตอบอยู่ที่ข้อที่ 15 คือ ถ้าเค้าจะเอาต้นทุนนี้มาหักค่าใช้จ่าย ก็จะต้องไปยื่น ภ.พ.36 และนั่นก็หมายถึงก็ต้องจ่าย VAT อยู่ดี
17.​ หากใครกำลังสงสัยว่า ทำไมการนำต้นทุนนี้มาใช้หักค่าใช้จ่ายทางบัญชีถึงสำคัญมากจนต้องยอดจ่ายภาษี VAT 7% เพิ่มเข้าไป ก็ต้องบอกว่า มันมีผลต่อตัวเลขกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายทางบัญชี เพราะหลังจากนั้น มันจะนำไปคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมันมีตัวเลขถึง 20% ของกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายเลยทีเดียว​ (กรณี​ SME​ ที่ยอดขายไม่ถึง​ 30​ ล้านบาทต่อปี​ จะไม่เสียภาษีนี้​ หากกำไรไม่เกิน​ 300,000 บาท​ หากเกินก็จะมีภาษีแบบขั้นบันได)​
ถ้าเกิดใครมีข้อสงสัยหรือมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเก็บภาษีทาง Facebook เขาไม่สามารถให้คำแนะนำด้านภาษีได้นะครับ ผมเเนะนำว่าให้ติดต่อกรมสรรพากรในประเทศไทยดีกว่า เพื่อความเข้าใจเเละความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
เสาร์นี้​ เวลา​ 17.30​ น.​ ผมจะมาอธิบายเรื่องนี้ในไลฟ์นะครับ​ มาฟังพร้อม​ ๆ​ กันได้ที่นี่ https://fb.me/e/5m1HIsVk1
#นินจาการตลาด #SMEneedtoknow
#Facebook #VAT7% #Ads
.
ติดตาม สาระความรู้ต่าง ๆ ด้านการสื่อสารการตลาดดิจิทัลจาก #นินจาการตลาด ได้ที่นี่
.
หรือร่วมพูดคุย/ ถามปัญหา ด้านการสื่อสารการตลาดดิจิทัลได้ที่
LINE OpenChat: http://bit.ly/2WiwBHg
โฆษณา