28 ส.ค. 2021 เวลา 05:02 • ครอบครัว & เด็ก
ชมลูกมากเกินไป มีแต่เสียกับเสีย‼️
เคยสังเกตกันมั้ยคะว่าพ่อแม่ฝั่งตะวันตกชอบชมลูกแบบเกินจริง แทบจะเข้าขั้นโอเวอร์แอคติ้งเลยทีเดียว
.
.
แต่เดี๋ยวก่อนค่ะหากคุณคิดจะทำตาม ลองอ่านบทความนี้ดูแล้วคุณจะเปลี่ยนความคิดอย่างแน่นอน
งานวิจัยที่นำมาเผยแพร่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Child Development ปี 2017
(Source: ภาพพื้นหลังจาก Conttonbro, Pexels)
ในช่วงปี 1970-1980 ผู้คนเริ่มคำนึงถึงประเด็นความภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) โดยเฉพาะสังคมยุโรปที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้มากจนลามไปถึงในกลุ่มเด็กด้วย เนื่องจากการเชื่อมั่นในตัวเองต่ำของเด็กก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวมากมาย และวิธีที่จะสร้างมันขึ้นมาได้คือการชมเชยนั่นเอง
.
แต่การชมก็ไม่ได้ส่งผลดีทุกครั้งไป อย่างในกรณีที่พ่อแม่ชมลูกเมื่อทำกิจกรรมที่ง่ายๆ ได้ ลูกจะรู้สึกด้อยค่ากว่าถูกชมเมื่อทำกิจกรรมที่ยากได้
.
เช่นเดียวกับการชมความสามารถ (เช่น ฉลาดมาก!) แทนที่จะชมความพยายาม (เช่น ทำได้ดีมาก!) จะทำให้เด็กคิดว่าความสามารถเป็นสิ่งตายตัวไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาไม่ลองทำกิจกรรมที่ท้าทาย และยิ่งถ้าเขาทำพลาดนั่นแปลว่าเขาขาดความสามารถ
.
และเมื่อพ่อแม่คิดว่าการชมเป็นเรื่องที่ดีพวกเขาเลยทำให้มันเวอร์กว่าเดิม เช่น แทนที่จะชมว่า “ดี” ก็กลายเป็น “สุดยอด” หรือ “ทำได้ดี” เป็น “ทำได้ยอดเยี่ยม” เพราะคิดว่ายิ่งใช้ภาษาที่เกินจริงเท่าไรลูกก็จะรู้สึกดีมากเท่านั้น
(Source: Yan Krukove จาก Pexels)
🔹แนวคิด “Self-deflation” ชี้ว่าการอวยมากเกินไปจะทำให้ลูกไปไม่ถึงมาตรฐานที่ตั้งไว้ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ลูกเสียความเชื่อมั่นในตัวเองโดยเฉพาะเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ เพราะความพยายามและความล้มเหลวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
.
นอกจากนี้เมื่อลูกเคยได้รับคำชมจากการทำอะไรได้อย่างยอดเยี่ยม เขาก็จะฝังใจว่าเขาจะต้องทำสิ่งนั้นให้อยู่ในระดับที่ยอดเยี่ยมไปตลอด เด็กก็จะรู้สึกกดดันได้เหมือนกันค่ะ
.
🔹ในขณะที่แนวคิด “Self-inflation” ชี้ว่าลูกจะซึมซับคำอวยจนนำไปสู่ภาวะหลงตัวเอง เพราะเขาจะเก็บคำชมไปปรับเป็นชุดความคิดว่าเขาเป็นตามที่คนอื่นบอกจริงๆ
.
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความคิดว่าเด็กที่หลงตัวเองอาจมีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ และเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงอาจไม่ค่อยหลงตัวเองได้ค่ะ
หลงตัวเองหรือเชื่อมั่นในตัวเองสูง?
🔸หลงตัวเอง: ลักษณะสำคัญของเด็กที่หลงตัวเองคือ เขาต้องการได้รับคำชมหรือความเคารพจากคนอื่นอยู่เสมอ และเมื่อได้รับเขาจะรู้ว่าตัวเองเป็นที่หนึ่งและเหนือกว่าใคร แต่หากเขาไม่ได้รับเขาจะรู้สึกอับอายหรือแสดงออกด้วยความก้าวร้าวและโกรธเคือง
.
🔸เชื่อมั่นในตัวเอง: ในทางกลับกันเด็กที่ความเชื่อมั่นในตัวเองสูงจะรู้สึกยินดีเมื่อตนได้รับคำชมแต่จะไม่คิดว่าตนอยู่เหนือใคร และเขาต้องการจะสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและใกล้ชิดกับคนอื่นมากกว่าเสาะหาคำชม มันจึงส่งผลถึงด้านอารมณ์ที่ว่าเด็กเหล่านี้จะอารมณ์ดีและมีความเสี่ยงของการกังวลใจและซึมเศร้าต่ำค่ะ
.
สรุปได้ง่ายๆ ว่า การหลงตัวเองทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่แต่ความเชื่อมั่นในตัวเองส่งผลให้สุขภาพจิตดีนั่นเอง
(Source: Monstera จาก Pexels)
การวิจัยนี้ทดลองกับคู่พ่อแม่-ลูก 120 คู่ ซึ่งเด็กจะมีอายุ 7-11 ปีเนื่องจากเป็นวัยที่การหลงตัวเองและการภูมิใจในตัวเองปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกและมีความองค์ความรู้พอในการประเมินตนเอง โดยเด็กจะถูกประเมินว่าหลงตัวเองหรือมีเชื่อมั่นในตัวเองสูง และต้องทำโจทย์คณิตศาสตร์โดยที่ผู้ปกครองห้ามช่วยเหลือค่ะ
จากการวิเคราะห์พบว่า การชมลูกมากเกินนำไปสู่การลดคุณค่าในตัวเองของเด็กได้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งไม่ว่าระดับความเชื่อมั่นของเด็กจะเริ่มจากจุดไหนก็ตาม แต่ในแง่ของคำชมที่นำไปสู่การหลงตัวเอง เงื่อนไขนั้นมีโอกาสเกิดได้ก็จริงแต่จะมีโอกาสเกิดได้มากในเด็กที่เชื่อมั่นใจในตัวเองสูงค่ะ
.
แต่ถึงอย่างนั้น ลักษณะของพ่อแม่ก็จะถ่ายทอดไปสู่ลูกเช่นกันค่ะ เพราะลูกที่หลงตัวเองก็มีส่วนมาจากพ่อแม่ที่หลงตัวเองค่ะ เพราะผู้ปกครองบางคนจะรู้สึกอิ่มเอมใจเมื่อลูกของตนเองโดดเด่นกว่าใครๆ
ดังนั้นนอกจากจะต้องชมลูกอย่างเหมาะสมแล้ว ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกกันด้วยนะคะ
เพราะ The apple doesn't fall far from the tree ลูกไม้ตกไม่ไกลต้นค่ะ :)
1
อ้างอิงงานวิจัย
When Parents’ Praise Inflates, Children's Self-Esteem Deflates
(Brummelman et al., 2017)
โฆษณา