29 ส.ค. 2021 เวลา 04:49 • หนังสือ
ไอน์สไตน์ ชายผู้พลิกจักรวาล
Einstein : The Man, The Genius, and The Theory of Relativity
Walter Isaacson เขียน กิตติศักดิ์ โถงสมบัติ แปล
สำนักพิมพ์ยิปซี
ในหนังสือเล่าประวัติตลอดชีวิตของชายผู้พลิกโลกผู้นี้ ตั้งแต่กรอบคิด การใช้ชีวิต ผลงาน ความสำเร็จ ตลอดจนความผิดพลาดในชีวิต เป็นการถ่ายทอดออกมาทั้งในมุมมองผู้ยิ่งใหญ่ และมุมมองของคนธรรมดาคนนึงที่มีทั้งด้านดี และไม่ดี
หนูน้อยไอน์สไตน์ถือกำเนิดในวันที่ 14 มี.ค. 1879 ที่เมืองอูล์ม แห่งอาณาจักรไรค์ของเยอรมนี โตมาด้วยความกังวลของพ่อแม่เกี่ยวกับอาการพัฒนาการด้านการพูดเชื่องช้า แต่เมื่อโตขึ้น ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเขา ไอน์สไตน์เริ่มหัดเล่มไวโอลินตั้งแต่ 6 ขวบ ซึ่งได้เป็นของขวัญจากแม่ ส่วนพ่อของเขาเคยมอบเข็มทิศให้ ด้วยการถูกมองว่าพัฒนาด้านการพูดช้า แท้จริงแล้วเขาเป็นคนที่ชอบใช้จินตนาการ นั่นคือการคิดเป็นภาพมากกว่าการคิดเพียงบรรยายถ้อยคำ ซึ่งนำมาสู่ทฤษฎีสัมพัทธภาพในอนาคต
นอกจากนี้ไอน์สไตน์ยังมีแนวคิดขบถ ปฏิเสธที่จะยอมรับแนวคิดวิทยาศาสตร์ดั้งเดิม แต่พร้อมที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงใหม่ๆ ตอนเด็กเขาก็เห็นว่ารูปแบบการสอนด้วยการท่องจำและไม่ให้ตั้งคำถามได้เป็นสิ่งน่ารังเกียจ แต่ควรเข้าใจอย่างลุ่มลึกผ่านการสังเกตและการทดลอง ทั้งยังรังเกียจแนวคิดทางทหาร มีท่าทีต่อต้านเผด็จการ ตอนเด็กๆ ไอน์สไตน์ร้องไห้เมื่อเห็นขบวนทหาร เขาบอกว่า"ใครที่ยอมรับแนวคิดเหล่านั้นโดยไม่ตั้งคำถาม สำหรับเขาแล้วมีค่ามากกว่าเพียงเล็กน้อย"
หลังจากที่ไอน์สไตน์สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอาเรา ก็ได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาที่สถาบันโพลีเทคนิคแห่งซูริค และได้พบกับมิเลวา มาริช นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ชาวเซอร์เบีย ภรรยาคนแรก
เมื่อเรียนจบได้เข้าทำงานเป็นเสมียนจดสิทธิบัตรในสวิตเซอร์แลนด์ระหว่างนั้นภรรยาของเขาได้ให้กำเนิดลูกสาวคนแรก แต่ไอน์สไตน์ไม่ได้สนใจใยดี ทั้งยังทำงานอยู่คนละที่และเนื่องด้วยลูกของเขามีอาการผิดปกติแต่กำเนิดจึงทำให้เสียชีวิตตั้งแต่เกิดมาได้เพียงไม่นาน ไอน์สไตน์ไม่เคยเจอลูกคนแรกของเขาแม้แต่ครั้งเดียว
การทำงานตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นทักษะที่เขาทำได้ดีมาตั้งแต่เด็กนั่นคือการตั้งคำถามกับหลักการทั้งหมด ตรวจสอบสมมติฐาน และจินตนาการว่าแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนั้นๆ ทำงานในความเป็นจริงอย่างไร ประกอบกับทักษะการคิดเป็นภาพ การใช้ความคิดและจินตนาการทำให้ในที่สุดสิ่งเหล่านี้สั่งสมให้เกิดทฤษฎีสำคัญใน "ปีมหัศจรรย์" ของเขา
ทั้งทฤษฎีควอนตัม ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ และทฤษฏีสัมพัทธภาพทั่วไปในเวลาต่อมา
ทฤษฏีเหล่านี้ถือว่าได้ปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ ในผลงานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าแสงไม่ได้เป็นเพียงคลื่น แต่บังมีคุณสมบัติเป็นอนุภาคที่เรียกว่า ควอนตา (ต่อมาเรียกว่า โฟตอน) ต่อมาไอน์สไตน์ได้แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพจสกการศึกษาความสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างมวลของวัตถุกับพลังงานที่อยู่ในวัตถุนั้น จนกลายเป็นสมการที่โด่งดังที่สุดของเขา นั่นคือ E = MC^2
แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันท่านนึงได้กล่าวว่า "นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงลึกลงไปถึงระดับรากฐานของฟิสิกส์ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครคาดคิดและรุนแรงมากซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญทั้งหมดทั้งมวลของอัจฉริยะหนุ่มและมีหัวคิดก้าวหน้า"
ไอน์สไตน์กลายเป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียง จน 4 ปีต่อมาจึงได้นับตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นครั้งแรก และได้ให้กำเนิดลูกชายอีกสองคนคือ ฮันส์ อัลเบิร์ตและ เอดูอาร์ด ก่อนที่จะเริ่มมีปัญหากับภรรยาจนต้องหย่ากันในที่สุด และได้พบกับเอลซา ไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นญาติของเขาเอง อย่างไรก็ตามเอลซาก็ได้แต่งงานกับไอน์สไตน์
ในปี 1921 ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ หลีงจากได้รับการเสนอชื่อถึง 14 ครั้ง เนื่องด้วยข้อถกเถียงว่ารางวัลนี้ไม่ควรถูกมอบให้ผู้ที่คิดค้นในทางทฤษฎี ยากแก่การนำไปใช้จริงหรือเห็นเป็นรูปธรรม เขาจึงได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานการค้นพบกฏของปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก แทนที่จะเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพอันเลื่องชื่อ
ต่อมาไอน์สไตน์ได้เดินทางมาบรรยายในสหรัฐอเมริกา ในยุคสมัยที่สงครามโลกครั้งที่ได้ได้ปะทุขึ้น และฮิตเลอร์กำลังแผ่อำนาจในยุโรป ต่อมาหลังจากสละสัญชาติเยอรมัน ลี้ภัยไปเบลเยี่ยม ไอน์สไตน์ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาอาศัยในสหรัฐอเมริกาอย่างถาวร และได้รับสัญชาติอเมริกันในเวลาต่อมา
ระหว่างนั้นไอน์สไตน์ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาระเบิดของเยอรมนี รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ลูกโซ่ ทำให้เขาตกตะลึงมาก จึงได้แจ้งเตือนไปยังประธานาธิบดีรูสเวลต์ของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ก็ได้นำแนวคิดนี้มาอาวุธพลังทำลายล้างสูงนี้เสียเอง แต่ไอน์สไตน์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการอันเป็นความลับนี้ โดย FBI มองว่าเขาไม่ได้รับความไว้วางใจมากพอให้เข้าร่วมงานนี้
ไอน์สไตน์เคยบอกไว้ว่า 'เขารู้ว่าคุณการสร้างระเบิดปรมาณูของประเทศเยอรมนีจะล้มเหลว เขาจะไม่เตือนรูสเวลต์ถึงความจำเป็นการพัฒนาระเบิดปรมาณูของประเทศสหรัฐอเมริกา"
ตลอดช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในภาวะสงคราม ไอน์สไตน์สลับสนุนหลักเสรีภาพ และต่อต้านความรุนแรงมาโดยตลอด ยกเว้นช่วงที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจจนไม่อาจต้านทานได้เขาจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อต้านทานความรุนแรงและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หลังสงครามฌลกครั้งที่ 2 เขาสนับสนุนให้มีระบบการปกครองหนึ่งเดียวของโลก ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโลก แต่ก็ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้ เขาเคยกล่าวว่า "ตราบใดที่ยังมีผู้คนอยู่ สงครามก็ยังจะมีอยู่ต่อไป"
ไอน์สไตน์เคยถูกเสนอให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอิสราเอล แต่เขาปฏิเสธและอาศัยอยู่ที่พรินซ์ตัน สหรัฐฯ โดยมีภาระกิจตามหาทฤษฎีสนามรวมที่ยังไม่สำเร็จ จนกลางดึกวันที่ 18 เม.ย. 1955 อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ได้จากไปด้วยอาการเส้นเลือดโป่งพอง และแตกในที่สุด โดยเขาไม่ยอมรับการผ่าตัด เนื่องจากมองว่าการยื้อชีวิตไว้ด้วยวิธีที่ไม่เป็นธรรมชาติเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา เขารู้สึกว่าเขาได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว และถึงเวลาที่เขาพร้อมจะจากไปอย่างสง่างาม
หลักคิดของไอน์สไตน์
1.โฟกัสกับงานที่สนใจ
ในสมัยนั้นคนมักมองว่าเขาขี้ใจลอย ซึ่งแท้จริงแล้วเขาหมกมุ่นอยู่กับงานวิจัยจนไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว จนลืมอาหารกลางวัน ซึ่งก็คือสภาวะ "Flow" นั่นเอง
2.จงรับฟังคนรุ่นใหม่
ความคิดแบบวัยเยาว์ หรือคนรุ่นใหม่ เป็นความคิดที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คือยังมีความสามารถในการคิดอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะค่อยๆ ลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น และเริ่มมีชื่อเสียง ซึ่งเป็นมายาคติแห่งความน่าเคารพนับถือให้กับจิตวจที่ชราขึ้น โดยสร้างความดื้อรั้นและการปกป้องแนวคิดที่ฝังแน่นของตนซึ่งจะปิดกั้นความคิดใหม่ๆ ที่เข้ามาท้าทาย
3.การยอบรับข้อผิดพลาดอย่างตรงไปตรงมา และพร้อมปรับปรุงแก้ไข
นอกจากอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์แล้ว ในช่วงชีวิตเขาถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไม่เพียงแต่วงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่ว่าจะ ปาโปล ปิกัสโซ่ หรือซิกมันด์ ฟรอยด์ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดหลากหลายวงการที่ทลายระบบคิดดั้งเดิม และสร้างเสริมสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก
สุดท้ายผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางความคิดนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เพียงแต่ยุคสมัยของไอน์สไตน์ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอแม้ในปัจจุบัน
โฆษณา