29 ส.ค. 2021 เวลา 08:10 • กีฬา
ดูบอลแบบแฟร์แฟร์ : เพจสาวน้อยผู้หลงรัก “ปีศาจแดง” ที่เปลี่ยนสงครามลูกหนังด้วยความมุ้งมิ้งสดใส | MAIN STAND
“ถ้าอยากเสพความสดใสในโลกฟุตบอลให้ติดตามที่เพจหนู”
คำเชิญชวนของ ภัคจิรา จิระวัฒนะภัณฑ์ หรือ “แฟร์” เจ้าของเพจ “ดูบอลแบบแฟร์แฟร์” เพจน้องใหม่ของสาวน้อยน่ารักที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้
2
สาวน้อยผู้หลงรักในทีม “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยากจะเปลี่ยนสังคมฟุตบอลที่เต็มไปด้วยคำด่าทอในโลกออนไลน์ สู่การสร้างเพจฟุตบอลที่นำเสนอเรื่องราวในมุมมองที่แปลกใหม่ ผ่านคาแรคเตอร์มุ้งมิ้งสดใสของตัวเธอเอง จนมียอดผู้ติดตามทางเฟซบุ๊กกว่า 36,000 คน และยูทูปอีก 3,900 คน
นอกจากนี้เธอยังเตรียมก้าวสู่บทบาทใหม่ ในการเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาในรายการ “เกาะสนามข่าวเช้า” ทางช่อง T-Sport ซึ่งจะออกอากาศในวันที่ 20 สิงหาคม 64 นี้ด้วยเช่นกัน
เรื่องราวของเธอจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ที่ Main Stand
บรรยากาศนำพาให้พบรักกับ “ปีศาจสีแดง”
ศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ นับเป็นการแข่งขันที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยมานานหลายสิบปี โดยมี 2 ทีมดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ที่เข้ามายึดหัวหาดครองหัวใจแฟนบอลชาวไทยเป็นอันดับต้น ๆ
แม้ปัจจุบันความยิ่งใหญ่ของ “หงส์แดง” จะครองความนิยมมีแฟนบอลชาวไทยติดตามเชียร์มากที่สุด แต่อิทธิพลความสำเร็จและมนตร์เสน่ห์ของ “ปีศาจแดง” ในช่วงทศวรรษ 90’s ยังคงไม่เสื่อมคลาย
ผลสำรวจจากเว็บไซต์ interactive.twitter ของโซเชียลมีเดียชื่อดัง ระบุว่า ลิเวอร์พูล คือทีมที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในประเทศไทย มากถึง 29.69% ตามด้วยอันดับ 2 แมนฯ ยูไนเต็ด 19.77% และอันดับ 3 เชลซี 18.95%
เมื่อความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมย่อม ๆ เราจึงได้เห็นหลายบ้านที่เลือกเชียร์ทีมเดียวกัน พร้อมใจกันใส่เสื้อสโมสรเดียวกัน มานั่งล้อมวงให้กำลังใจทีมรักผ่านหน้าจอโทรทัศน์
สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นที่บ้าน “จิระวัฒนะภัณฑ์” ด้วยเช่นกัน โดยมีคุณพ่อผู้หลงรักใน แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นโต้โผใหญ่ ดึงความเป็นสาวก “ปีศาจแดง” มาอยู่ในชีวิตประจำวัน จนบรรยากาศเหล่านั้นส่งต่อมาถึงลูกสาวที่แม้เวลานั้นเธอจะไม่รู้เรื่องฟุตบอลเลยก็ตาม
“ที่บ้านชอบดูฟุตบอล คุณพ่อกับพี่ชายซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องที่สนิทกันกับเรา จะมาดูฟุตบอลด้วยกันประจำ ทั้งสองคนจะเชียร์แมนฯ ยูไนเต็ด คุณพ่อจะมีทั้งเสื้อ หมวก กระเป๋า เข็มขัด ทุกอย่างที่ใส่ในชีวิตประจำวันจะเป็นลายสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด หมดเลย เหมือนเราโตมาพร้อมกับทีมนี้แล้วไม่ได้รู้จักทีมอื่นเลย เราเลยซึมซับบรรยากาศตอนนั้นมา” ภัคจิรา ย้อนความด้วยน้ำเสียงสดใส
“ตอนนั้นทีวีมีแค่เครื่องเดียว พอคุณพ่อเปิดฟุตบอลเราก็ต้องดูด้วย ก็รู้สึกว่ามันสนุกดี แต่มาสนุกจริง ๆ ต้องเป็นตอนที่มีแมตช์ใหญ่ ๆ ทั้งสองคนจะเชียร์ แมนฯ ยูไนเต็ด มีครั้งหนึ่งเป็นแมตช์ ‘แดงเดือด’ มีญาติมาดูด้วย เขาเชียร์ลิเวอร์พูล พอเชียร์ต่างกัน บรรยากาศมันก็ยิ่งคึกคักขึ้นไปอีก มีแซวกันมีอะไรกัน เราเห็นว่ามันสนุกดีก็เลยตามเลย เชียร์แมนฯ ยูไนเต็ด เหมือนกันไปเลย”
จากบรรยากาศที่นำพามาให้ได้พบเจอกัน “แฟร์” เริ่มหลงรักใน “ปีศาจแดง” ตนนี้มากขึ้น เมื่อต้องจับพลัดจับผลูได้เข้ามาอยู่ในแวดวงเพจกีฬาทางเฟซบุ๊กจากคำชักชวนของพี่ชาย
“พี่กับเพื่อนเขาเคยทำเพจเกี่ยวกับฟุตบอลมาก่อน แล้วมีช่วงที่ไลฟ์แจกของรางวัล เขาเลยชวนเรามาลองไลฟ์ดู พอทำไปได้สัก 2-3 ครั้งก็รู้สึกสนุกดี และคิดว่าเราน่าจะพอถูไถไปได้นะ พี่เลยชวนมาทำเพจเป็นของตัวเองดู ตั้งแต่ตอนอายุ 21”
“จากแค่เชียร์ตามคุณพ่อและพี่ เมื่อได้ลองมาทำเพจทำให้เราเริ่มศึกษาข้อมูลมากขึ้น เริ่มดูการแข่งขันหรือตามดูไฮไลท์มากขึ้น ค่อย ๆ หลงรักมันมากขึ้น ได้มองอีกมุมของเกมฟุตบอลมากขึ้น จากที่มองว่าเป็นแค่การแข่งขัน มีแพ้ มีชนะ ก็จบ แต่พอเริ่มศึกษามันเยอะขึ้นก็ได้เห็นมุมต่าง ๆ ได้เห็นแทคติค ได้เห็นว่าทำไมมันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราหลงใหล”
“ที่สำคัญมันมีเรื่องของมิตรภาพ เราเป็นคนที่ชอบเรื่องราวนอกสนามมาก ๆ เช่น ไม่ว่าทุกคนจะอยู่คนละทีม แต่พอนอกสนามเราจะได้เห็นนักเตะมาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หรือเวลามีนักเตะเก่าที่เคยอยู่สโมสรกลับมาเตะที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด แล้วทุกคนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เราชอบโมเมนท์แบบนี้มาก ๆ” แฟนบอลสาวที่ชื่นชอบ แดเนียล เจมส์ ปีกตัวจี๊ดทีมชาติเวลส์ กล่าว
และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของเพจ “ดูบอลแบบแฟร์แฟร์” เพจที่อยากจะเปลี่ยนสังคมฟุตบอลที่เต็มไปด้วยการด่าทอในโลกออนไลน์ สู่การสร้างเพจฟุตบอลที่นำเสนอเรื่องราวในมุมมองที่แปลกใหม่
เปลี่ยนสงครามที่ดุเดือดด้วยความมุ้งมิ้งสดใส
หากเปรียบฟุตบอลเป็นภาพยนตร์ คงจะเป็นภาพยนตร์ที่มีครบทุกอรรถรส ทั้งความสุข ความเศร้า ความโรแมนติก ที่พลอตเรื่องยากเกินคาดเดา ขณะเดียวกันยังมีบางมุมที่ไม่ต่างจากหนังสงคราม ที่ทุกทีมต่างต่อสู้ฟาดฟันกันในสนาม ทุ่มเททำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับชัยชนะ
บรรยากาศทั้งหมดจึงรายล้อมไปด้วยอารมณ์อันดุเดือดของทั้งนักกีฬาและแฟนบอลที่ติดตามชม
เมื่อทีมชนะแฟนบอลจะกู่ร้องดีใจกันอย่างสุดเหวี่ยง บรรยากาศคึกคักเต็มไปด้วยความสุขสนุกสนาน ทว่าเมื่อไหร่ที่ทีมแพ้ นอกจากความผิดหวังเสียใจแล้ว บางครั้งยังนำมาซึ่งความโกรธ ความเกลียด จนตามมาด้วยเสียงด่าทอที่มีต่อทีมตัวเองและทีมคู่แข่ง
ภัคจิราได้เห็นตัวอย่างเหล่านี้จากเพจฟุตบอลอื่น ๆ ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในยุคโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู ที่ใคร ๆ ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นสื่อคอยนำเสนอข่าวสารได้ด้วยตัวเอง และเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงมันโดยใช้ความมุ้งมิ้งสดใสของตัวเธอ
“เพจฟุตบอลมีเยอะแยะ แต่ผู้หญิงที่มาทำเพจฟุตบอลอาจจะไม่เยอะมาก เลยอยากจะใส่มุมมองส่วนนี้เข้าไป ผู้หญิงก็ดูบอลนะ เป็นอีกมุมมองนึง” แฟร์ เผยถึงคอนเซปต์ในการก่อตั้งเพจดูบอลแบบแฟร์แฟร์
“ตอนแรกคุยกันกับพี่ แนวทางหลัก ๆ เลยอยากให้คนได้เห็นมุมมองของผู้หญิงในการดูบอล เป็นเพจอัปเดตข่าวสารกีฬาทั่วไป โดยใส่ความคิดเห็นของเราลงไปด้วย อยากสร้างสังคมการดูบอลที่ไม่ใช่แนวด่าทอกัน”
“บางคนอาจจะดูบอลแล้วอินมาก พอมันแย่ก็จะมีความโกรธแล้วด่า ๆ ๆ ๆ ไรเงี้ย แต่เราอยากรู้ว่าทำไมมันถึงเล่นไม่ดี มันเกิดจากอะไร เรารู้สึกว่าด้วยความเป็นผู้หญิง ส่วนตัวเราอาจจะมีความใจเย็นกว่านิดนึง มีความมุ้งมิ้ง ๆ กว่าหน่อย อยากสร้างตรงนั้นเป็นคาแรคเตอร์ของเรา เป็นสิ่งที่อยากพยายามสื่อออกไป”
“เรามองว่าเพจของเราเป็นเพจโลกสวย แต่ไม่ใช่ในความหมายในเชิงที่ไม่ดีนะ ไม่ได้หมายความว่าฉันต้องปิดกั้นทุกอย่างที่เป็นแง่ด้านลบนะ แต่เราอยากพยายามทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น พยายามจะมีมุมมองที่มันละเอียดขึ้น ถ้ามันไม่ดี มันเกิดจากอะไร เราเข้าใจนะที่จะโกรธจะไม่พอใจ แต่เราอยากให้ลองกางกันดูว่ามันเกิดจากอะไร ทำไมเกมนี้มันถึงไม่ดีอะไรแบบนี้” สาวน้อยวัย 23 ปี เผย
หลังจากมีจุดยืนที่แน่วแน่ และสามารถใช้จุดเด่นของตัวเองสร้างสิ่งที่แตกต่างได้ กระแสตอบรับของเพจ “ดูบอลแบบแฟร์แฟร์” ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมียอดติดตามในเฟซบุ๊กมากถึง 34,493 คน รวมถึงแชนแนลในยูทูบที่เพิ่งเปิดขึ้นมาใหม่ได้ไม่นาน ในชื่อช่อง “แบบแฟร์แฟร์” อีก 3,300 คน
“พอเราเป็นผู้หญิงทุกอย่างมันเลยดูซอฟต์ลง ทุกคนให้กระแสตอบรับที่ดี แต่มันก็มีทั้งคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบ มีคนติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่โดยรวมก็ถือว่าดีเลย”
“เท่าที่สัมผัสตั้งแต่เปิดเพจมา ไม่ค่อยมีคนเข้ามาเกรียนใส่เยอะเท่าไหร่ น่ารักเกือบทุกคน พอมันมาเป็นสังคมเดียวกัน คุยเรื่องเดียวกัน ทุกคนไนซ์มาก แฟนบอลหลายคนดูบอลมาก่อนเรา เขาก็มาช่วยแชร์ประสบการณ์ บางเรื่องที่เราไม่รู้ เวลาเราถามไปในไลฟ์ ทุกคนก็พยายามช่วยตอบ ได้รับแรงซัพพอร์ทจากทุกคนเยอะมาก ไม่ได้เป็นแค่เรื่องฟุตบอล แต่เหมือนเราได้เพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง”
“จุดพีคจริง ๆ ที่ทำให้เพจเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นช่วงที่เราถูกชวนไปอยู่ในกลุ่ม Red Cafe ซึ่งเป็นกลุ่มของคนที่ทำเพจ แมนฯ ยูไนเต็ด มารวมตัวกัน มี 9 เพจ แล้วทุกสัปดาห์ก็จะมีมาไลฟ์มาคุยกันในเรื่องต่าง ๆ ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น เพราะอีก 8 เพจที่ทำด้วยก็เป็นพี่ ๆ ที่มีคนรู้จักเยอะอยู่แล้ว เป็นเหมือนบายพาสให้เรา รวมถึงได้เริ่มรู้จักพี่ ๆ ในวงการกีฬาเยอะขึ้น ทุกคนก็ช่วยเหลือเรา ช่วยแชร์ ช่วยแนะนำ ช่วยโปรโมท” แฟร์ เผย
การได้รู้จักคนในวงการกีฬามากขึ้น ทำให้เธอได้ก้าวขึ้นมาอีกสเต็ป จากการเป็นเพียง “อินฟลูเอนเซอร์” ในโซเชียลมีเดีย ขยับขึ้นสู่บทบาทใหม่ที่ท้าทายมากขึ้น...
แต่ก่อนจะข้ามไปถึงจุดนั้น เราอยากให้ทุกท่านรับรู้ถึงความยากลำบากที่เธอต้องเผชิญเสียก่อน เพราะการที่เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งจะมาทำเพจฟุตบอลจนได้รับความนิยม มีคนติดตามหลายหมื่นคนได้นั้น ไม่ใช่ได้มาง่าย ๆ
ผู้หญิงกับเพจฟุตบอลไม่ใช่เรื่องง่าย
แม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราจะได้เห็นผู้หญิงเริ่มให้ความสนใจในกีฬาฟุตบอลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยที่ทีมชาติไทยมี “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เป็นโค้ช ตลอดจนได้เห็นดารานักแสดงสาวหลายคนปรากฏบนหน้าจอทีวีตามรายการกีฬาต่าง ๆ แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะเลือกใช้ชีวิตอยู่กับมันจริง ๆ
การจะทำเพจฟุตบอลให้ได้รับความนิยมได้นั้น ต้องแลกมาด้วยพลังชีวิตที่ต้องทุ่มเทให้กับมันไม่ต่างจากการประกอบอาชีพอื่น ๆ เพราะโลกฟุตบอลนั้นหมุนตลอด 24 ชั่วโมง มีข่าวสารความเคลื่อนไหวอัปเดททุกนาที ไม่รวมถึงการที่จะต้องแข่งขันกับเพจอื่น ๆ อีกมากมาย…
สิ่งเหล่านี้ “แฟร์” ได้พบเจอกับตัวเอง และได้รับรู้ว่าการเป็นเพียงคนดูที่คอยเสพข่าวสารอย่างเดียว กับการลงมือทำเองนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
“แบ่งเวลาชีวิตยากมาก การจัดการเวลาเป็นเรื่องยากมากกกกกก (ลากเสียงยาว) ส่วนตัวเป็นคนที่ไม่เก่งเรื่องการจัดเวลาการทำอะไรเลย พอมีเพจทำให้เราต้องเริ่มมีวินัยมากขึ้น” แฟร์ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
“ช่วงแรกที่ทำเพจแล้วต้องเรียนไปด้วย โอ๊ยยยยย หรรษามาก (หัวเราะ) มันเหมือนกับว่า แรก ๆ เราก็ต้องพยายามทำให้เพจเราแอคทีฟตลอดเวลา ตอนเริ่มทำเพจหนูเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 4 ถ้าวันไหนที่มีบอลแข่ง กลับจากมหาวิทยาลัยเราก็ต้องมาไลฟ์ก่อนเกม หรือถ้าแข่งดึกมากเราก็อาจจะไม่ได้ดูเพราะว่าอีกวันต้องไปเรียนตอนเช้า ถ้าวันไหนได้ดูก็ต้องเก็บข้อมูล นู่นนี่นั่น เพื่อมานำเสนอในเพจ”
“มันยากมาก ๆ สำหรับหนู การที่ต้องมาไลฟ์คนเดียว นั่งพูดกับกล้อง เพราะเราไม่ใช่คนพูดเก่ง เป็นคนพูดไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย รวมถึงการลงข่าวที่มันมีอะไรมากกว่าแค่เขียนแล้วก็ลง มันมีดีเทลอื่น ๆ ยิบย่อยอีกเยอะมาก เพราะเราต้องการให้ข่าวที่ลงไปต้องเป็นข่าวที่เชื่อถือได้ เราพยายามคัดข่าวที่มีแหล่งที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่พวกข่าวเต้าข่าวเรียกกระแส จากคนที่ชอบดูกลายมาเป็นคนที่มาทำจริงมันต่างกัน มันคนละแบบเลย จากที่เราแค่นั่งดูข่าว ต้องมาเลือกข่าวเอง มันคนละอารมณ์กัน”
“มีหลายครั้งที่รู้สึกว่ามันจะรอดหรือเปล่า อีก 2 เดือน ถ้ามันยังไม่ดีขึ้นหรือเราดูแล้วว่ามันไม่หน้าไหว เราจะเลิกทำแล้วนะ แต่โชคดีที่มีพี่ชายและพี่ ๆ ในกลุ่มคอยช่วยเหลือตลอด คอยแนะนำว่าให้ทำแค่ไหนพอ เน้นให้ทำแล้วมีความสุขที่สุด เพราะบางทีเราไปโฟกัสว่าหนึ่งวันจะต้องลงให้ได้ 7-8 ข่าวอะไรแบบเนี้ย ซึ่งจริง ๆ แล้วบางทีมันก็ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น พยายามทำอะไรที่เป็นตัวเองที่ทำแล้วมีความสุข แทรกความเป็นเราลงไปให้ได้มากที่สุด”
“ตอนนี้เรียนจบแล้วก็เริ่มดีขึ้น เริ่มโฟกัสกับมันได้มากขึ้น เป้าหมายของหนูคือ อยากให้คนที่เป็นแฟนแมนฯ ยูไนเต็ด เวลานึกถึงเพจผู้หญิงที่เชียร์แมนฯ ยูไนเต็ด แล้วนึกถึงเรา ทุกวันนี้ก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จระดับนึงแล้วนะ เพราะว่าตอนแรกเราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ อยากขอบคุณทุกโอกาส ทุกกำลังใจจากคนครอบครัว พี่ ๆ คนรอบตัว และก็ตัวเองที่วันนั้นไม่ยอมแพ้” แฟร์ เปิดใจ
เมื่อความไม่ถอดใจทำให้เธอก้าวข้าวอุปสรรคมาได้ ขวากหนามที่เธอเคยเผชิญจึงเปลี่ยนเป็นกลีบกุหลาบโปรยเป็นพรมแดงให้เธอได้ก้าวต่อไป
บทบาทใหม่ที่ท้าทายมากขึ้น
หลังจากทำเพจ “ดูบอลแบบแฟร์แฟร์” จนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้แฟร์มีโอกาสได้รู้จักกับคนในวงการกีฬามากขึ้น จนได้โอกาสจากผู้ใหญ่ที่มองเห็น ดึงไปร่วมงานในบทบาทอื่น ไม่ว่าจะเป็น พิธีกรในรายการ "มอร์นิ่ง คัพ" (Morning Cup) พูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ ในแวดวงฟุตบอลไทยหลังจบการแข่งขันทุกเช้าวันจันทร์ ทางเพจ Main Stand
รวมถึงในศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ “ยูโร 2020” ที่ผ่านมา ซึ่งเธอได้ร่วมเป็นพิธีกรในรายการ Here Comes The Time : EURO 2020 เกาะติดการแข่งขันตลอดทัวร์นาเมนท์ ทางเพจ Thairath Sport - ไทยรัฐสปอร์ต และช่องยูทูบไทยรัฐ ร่วมกับ จิตกร ศรีคำเครือ นักเล่าเรื่องฟุตบอลจากรายการ Footballista ของ Main Stand และ ไมเคิล โธมัส เบิร์น อดีตนักฟุตบอลต่างชาติชื่อดังที่เคยโลดแล่นกับสโมสรชั้นนำในไทยลีก สิ่งเหล่านี้ได้เพิ่มประสบการณ์ให้เธอมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
“พอทำเพจมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มอินกับมันมากขึ้น แล้วเพจก็เป็นเหมือนใบเบิกทางให้เราได้ไปทำในด้านอื่น ๆ ต่อ เช่น ได้สัมภาษณ์นักฟุตบอล ได้เป็นพิธีกรในรายการที่เกี่ยวกับฟุตบอลไทยและฟุตบอลยูโร จากเดิมที่เราตามข่าวสารแมนฯ ยูไนเต็ด เป็นหลัก การได้มาทำตรงนี้ทำให้เราต้องพยายามเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ขยันขึ้น รวมถึงได้เจอแต่คนเก่ง ๆ รอบตัว ประสบการณ์ของพี่ ๆ ที่ได้ร่วมงานด้วย มันยิ่งช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้เรามากขึ้นจริง ๆ" แฟร์ เผย
ด้วยความน่ารักสดใสที่มาพร้อมประสบการณ์ที่มากขึ้นนี่เอง ทำให้ “แฟร์” ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ประกาศข่าว ในรายการ “เกาะสนามข่าวเช้า” ที่เจาะลึกเกาะติดทุกความเคลื่อนไหวในโลกกีฬา ทางช่อง T-Sport ร่วมกับ “พีชชี่” วรันธร สมกิจรุ่งโรจน์ พิธีกรรายการกีฬาสาวสวย พร้อมด้วย “โอปอล์” ณัฐชา เสนาบุตร หรือ โอปอล์ AF 9 และ “อ๊อฟ” ชัยนนท์ จันทร์เต็ม อดีตสองนักร้องจากเวทีประกวดผู้ผันตัวเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา
“รายการนี้จะอัพเดทเรื่องราวกีฬาทุกชนิด ไม่ใช่เพียงแค่ฟุตบอล โดยพวกเราทั้ง 4 คนจะสลับหมุนเวียนกันทำหน้าที่ คอยให้ความสดใสยามเช้าแก่ทุกคน ออกอากาศทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-09.00 น. ฝากทุกคนติดตามกันด้วยนะคะ หนูจะทำให้เต็มที่ที่สุด” แฟร์ ทิ้งท้าย
เรื่องโดย ชมณัฐ รัตตะสุข
โฆษณา