29 ส.ค. 2021 เวลา 13:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“อุตสาหกรรมรถยนต์” กับอิทธิพลต่อเศรษฐกิจเยอรมนี
“อุตสาหกรรมรถยนต์” กับอิทธิพลต่อเศรษฐกิจเยอรมนี
ถ้ามีการพูดถึงรถเยอรมัน ภาพที่คนส่วนมากจะนึกถึง คือ รถยนต์ราคาแพง คุณภาพและสมรรถนะสูง เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย รวมถึง ความน่าเชื่อถือ ความน่าไว้วางใจ ส่วนแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี คือ Mercedes-Benz, BMW, Audi ,Porsche และ Volkswagen (VW) วันนี้ผมจะมาเล่าให้ผู้อ่านฟังถึง อิทธิพลของอุตสาหกรรมรถยนต์ต่อเศรษฐกิจประเทศเยอรมนี ประวัติความเป็นมา เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจอื่น ๆ และ ความเสี่ยงจากรถยนต์ไฟฟ้าและการแข่งขันจากประเทศจีน กันครับ
2
📌 ความสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ต่อเศรษฐกิจเยอรมนี
อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนี สามารถสร้างรายได้ได้ถึงร้อยละ 20 ของรายได้รวมของภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ในปี 2020 รายได้ของอุตสาหกรรมรถยนต์มีมูลค่าถึง 379.3 พันล้านยูโร (คิดเป็นเงินบาทคือ 14.5 ล้านล้านบาท ในขณะที่ GDP ของทั้งประเทศไทยในปี 2020 อยู่ที่ 15.7 ล้านล้านบาท)
4
ประเทศเยอรมนี เป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป รองรับประมาณร้อยละ 25 ของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศเยอรมนี ส่วนอีกร้อยละ75 เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ในปี 2020 ยอดการผลิตรถในประเทศเยอรมนีอยู่ที่ 4.7 ล้านคัน นับเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน (25.7 ล้านคัน) สหรัฐอเมริกา (10.9 ล้านคัน) ญี่ปุ่น (9.7 ล้านคัน) ถ้านับทั่วโลก รถ 1 ใน 5 คันจะเป็นรถที่ติดแบรนด์เยอรมัน
2
ในปี 2020 VW เป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในโลก โดยมียอดการผลิตถึง 9.33 ล้านคัน แต่จะสลับระหว่างอันดับ 1 และ 2 กับกลุ่มโตโยต้า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
1
อุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี ยังเป็นผู้นำด้าน การวิจัยและพัฒนา โดยมีการจดสิทธิบัตรทางปัญญาถึงร้อยละ 40 ของการจดทั้งประเทศเยอรมนี และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ถึง 25 พันล้านยูโร คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 35 ของเม็ดเงินลงทุนด้าน R&D ของทั้งประเทศด้วย
1
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมาก ในปี 2020 มีการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมนี้ ถึง 809,000 คน แต่มีธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมรถยนต์ อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ภาควิศวกรรม ภาคอุตสาหกรรมโลหะ ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้มีการประมาณว่า มีแรงงานเยอรมันกว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของตลาดแรงงานทั้งหมดในเยอรมนี ที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของรถเยอรมันต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศเยอรมนี
3
📌 จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเยอรมนี
เมื่อ 135 ปี ก่อน Carl Benz วิศวกรชาวเยอรมันเป็นคนแรกที่คิดค้น รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) ได้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรทางปัญญาครั้งแรกในปี 1886 และบริษัทเดมเลอร์ Daimler ได้มีการนำรถ Mercedes ออกจำหน่ายในปี 1901 โดยใช้ชื่อว่า Mercedes ซึ่งเป็นชื่อลูกสาวของนักธุรกิจและนักการตลาด Emil Jellinek และนำรถ Mercedes ไปเข้าร่วมการแข่งรถด้วยจึงทำให้ รถ Mercedes เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มไฮโซของทวีปยุโรป
4
แต่ในช่วงแรก ๆ นั้น อุตสาหกรรมรถยนต์ได้โดนทางสหรัฐอเมริกาครอบครอง โดยเฉพาะจากบริษัท Ford และ General Motors และสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมันอย่างหนัก ยกตัวอย่างเช่น BMW ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1916 แต่ไม่ได้เริ่มผลิตรถยนต์จนกระทั่งถึงปี 1928 ในช่วงแรกของการก่อตั้งนั้น BMW ผลิตเครื่องยนต์ของเครื่องบิน โลโก้ของ BMW จึงใช้สัญลักษณ์ของใบพัดหมุนเครื่องบินเพื่อสะท้อนจุดเริ่มต้นของบริษัท
2
หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและช่วงที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างหนัก (Great Depression) อุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมันเกือบเอาตัวไม่รอด จากกว่า 86 บริษัทในช่วงทศวรรษ 1920 ในช่วง 1930 มีเหลือเพียงแค่ 12 บริษัทเท่านั้น
📌 จุดเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถเยอรมัน
ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 หลังจากที่ฮิตเลอร์และพรรคนาซี ได้ก้าวเข้าสู่อำนาจปกครองเยอรมนี ทางรัฐบาลนาซีจึงได้เริ่มแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยนโยบาย Motorization โดยการต้องการให้ทุกครอบครัวสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ จึงได้มีความคิดที่จะผลิตรถยนต์สำหรับประชาชนทั่วไป (People’s car) ที่ราคาไม่แพง โดยในปี 1937 คนเยอรมันส่วนใหญ่ไม่มีรถเป็นของตนเอง ฮิตเลอร์ได้ออกนโยบายว่ารถคันนี้ต้องสามารถรองรับ ผู้ใหญ่สองคนและเด็กสามคน และมีความเร็วถึง 100 กม. ต่อชั่วโมง ต้องราคาย่อมเยา และห้ามแพงกว่า ราคามอเตอร์ไซต์
4
นักออกแบบรถของประชาชนนี้ ก็คือ แฟร์ดินานด์ พอร์เชอ (Ferdinand Porsche) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ Porsche ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน และรถของประชาชนที่ได้รับการออกแบบก็คือ รถโฟล์คเต่า นั้นเอง คำว่า People’s car ในภาษาเยอรมันก็คือ Volkswagen หรือ VW นั่นเอง
4
นอกจากนั้น อีกนโยบายที่มาด้วยกัน คือ การขยายเครือข่ายถนนที่ดังไปทั่วโลกที่เรารู้จักกันดี ชื่อ ออโต้บาห์น (Autobahn) ทีมีคุณภาพดีและไม่จำกัดความเร็ว (แต่ในความเป็นจริง คือมีแค่บางช่วงออโต้บาห์นเท่านั้นที่ไม่จำกัดความเร็ว ) เพราะถ้าประชาชนส่วนใหญ่มีรถ จึงจำเป็นว่าจะต้องมีถนนรองรับ
2
แต่ในปี 1939 สงครามโลกได้อุบัติขึ้น จึงทำให้การผลิตรถเต่าที่เป็นความคิดริเริ่มของฮิตเลอร์ต้องหยุดชะงัก และการผลิตรถยนต์สำหรับประชาชนจึงต้องยุติลง เปลี่ยนไปเป็นการผลิตรถเพื่อการสงคราม
1
📌 อุตสาหกรรมรถยนต์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม ตั้งใจจะรื้อถอนโรงงาน VW เพื่อเอาไปใช้หนี้ปฏิกรรมสงคราม แต่ พันตรี ไอวาน เฮิรสท์ (Major Ivan Hirst) ประเมินว่ารถเต่ามีศักยภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเยอรมนี โดยในเดือนกันยายน 1945 ทางกองทัพอังกฤษ ได้สั่งรถเต่า 20,000 คันเพื่อนำมาใช้ในการปกครองเยอรมนีหลังสงคราม โดยทาง VW ได้ผลิตคันแรกในเดือนธันวาคม 1945 และ ได้มีการผลิตรถเต่ากว่า 1 ล้านคันในปี 1955 และยอดการผลิตรวมถึง 10 ล้านคันในปี 1965 และกลายเป็นรถแห่งศตวรรษในที่สุด
3
📌 นโยบายการค้าที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดปาฏิหาริย์แม่น้ำไรน์
จากบทเรียนจากความไม่เป็นธรรมของสนธิสัญญาแวร์ซาย ที่ทำให้เป็นชนวนของการก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้ ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามได้ออกกฎการค้าที่ตกลงที่กรุงลอนดอน (London Trade Act) ในปี 1953 ที่จะช่วยให้ทางเศรษฐกิจเยอรมันตะวันตกฟื้นตัวจากสงครามโลกได้ โดยมีนโยบายที่ให้ทางเยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามไม่เกินร้อยละ 3 ของรายได้ส่งออกทั้งหมด และหลังจากมีนโยบายนี้ออกมา จึงทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีเติบโตอย่างรวดเร็วโดยโตเฉลี่ยปีละ 7.5% ในช่วงทศวรรษ 1950 ในปี 1946 หลังสงครามโลก GDP ของเยอรมนีมีมูลค่าเพียง ร้อยละ 34 ของ GDP สหราชอาณาจักร และ เพียงร้อยละ 65 ของ GDP ฝรั่งเศส แต่ภายในปี 1959 เศรษฐกิจเยอรมนีได้ไล่ตาม GDP ของ ฝรั่งเศสได้ทัน และตาม GDP ของสหราชอาณาจักรได้ทันในปี 1970 ซึ่งอัตราการเติบโตนี้สูงสุดในยุโรป และได้ถูกขนานนามว่าเป็น “ปาฏิหาริย์แม่น้ำไรน์”
6
📌 การขยายอิทธิพลไปทั่วโลก
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนีทำให้ ชื่อเสียงกระจายไปทั่วโลก มี การเริ่มการขยายการผลิตออกนอกประเทศ เช่น การไปตั้งโรงงาน VW ที่ เม็กซิโกและประเทศจีน และทำให้บริษัทรถยนต์เยอรมนี ได้ไปซื้อกิจการรถยนต์ของประเทษอื่นๆ เช่น กลุ่ม BMW ได้ไปซื้อ MINI และ Rolls-Royce ของอังกฤษ และ กลุ่ม VW ได้ไปครอบครองยี่ห้อรถต่างชาติ เช่น Bentley, Bugatti, Lamborghini, SEAT, Skoda เป็นต้น และกลุ่ม Daimler ได้ไปซื้อ Chrysler ของสหรัฐอเมริกา ในปี 1998 และในปัจจุบัน ทั้ง VW, Daimler และ BMW ได้มีการขยายการผลิตไปในหลายประเทศทั่วโลก เช่น VW มีโรงงานใน 31 ประเทศและมีช่องทางการขายในกว่า 153 ประเทศทั่วโลก
2
📌 วิกฤตศรัทธาและความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนี
1
ในปี 2015 ได้มีกรณีอื้อฉาวว่า กลุ่ม VW ปลอมผลการทดสอบไอเสียซึ่งมีค่าสารพิษเกินมาตรฐาน และขายรถที่ไม่ได้มาตรฐานออกไปได้กว่า 13 ล้านคัน ที่ VW ได้ขายออกไปและอ้างว่าได้มาตรฐาน จึงทำให้เกิดผลเสียหายต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ VW และอุตสาหกรรมรถเยอรมัน ว่ารัฐบาลได้ทำร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อตกแต่งข้อมูล แถมยังมีข่าวความใกล้ชิดระหว่างนักการเมืองกับกลุ่มยานยนต์ทำให้มีนโยบายที่เอื้อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดเวลา อย่างเช่น ในปี 2009 รัฐบาลเยอรมนีได้ออกนโยบาย รถเก่าแลกรถใหม่ โดยรัฐตีราคารถเก่าที่ 2500 ยูโร และนำไปใช้ในการซื้อรถใหม่ได้ โดยมีรถที่นำมาใช้นโยบายนี้ถึง 2 ล้านคัน หมดเงินงบประมาณกว่า 5 พันล้านยูโร ทำให้ประชาชนเริ่มไม่พอใจว่ารัฐบาลดูแลแต่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นพิเศษ
5
ยิ่งไปกว่านั้น ความเสี่ยงต่อกลุ่มยานยนต์เยอรมนี ก็คือ รถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle ที่กำลังจะมาทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมัน ที่เยอรมนีมีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากว่า 100 ปี ซึ่งในขณะนี้ ผู้ผลิตรถไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือ จีน และผู้บริหารกลุ่มรถไฟฟ้าของจีน ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าให้ไปผลิตรถสันดาปภายในแข่งกับเยอรมนี แข่งอย่างไรก็สู้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องรถ EV ทางจีนมีโอกาส และจีนมีความตั้งใจว่าจะเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของโลก และในตลาดหุ้นเอง ก็ตีมูลค่าบริษัท Tesla สูงกว่ากลุ่มรถเยอรมัน ทั้ง VW , Daimler และ BMW
8
ในขณะที่เกิดความกดดันทั้งจากจีนและอเมริกา รวมถึงรถไฟฟ้าแบรนด์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมรถเยอรมันจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายนี้ได้หรือไม่ หากไม่ได้เศรษฐกิจเยอรมนีคงเปรียบเสมือนรถที่พยายามจะขึ้นเขาด้วยเกียร์ถอยหลัง
4
#รถหรู #อุตสาหกรรมรถยนต์ #เยอรมัน #เศรษฐกิจเยอรมัน #germany
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
2
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา